การประชุมประจำปี การพัฒนาการศึกษาของวิชาชีพสุขภาพ ครั้งที่ ๕ : ปาฐกถาเกียรติยศ



สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีทรงแสดงปาฐกถาเกียรติยศ

เนื่องในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดการประชุมวิชาการระดับชาติ การพัฒนาการศึกษาสำหรับบุคลากรด้านสุขภาพครั้งที่ ๕ 



(Annual Health Professional Education Reform Forum: ANHPERF 2018)

ผนึกพลังภาคี ปฏิรูประบบสุขภาพ (Synergizing partners: the key for health systems reform)

ณ โรงแรม เซนทารา เซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชัน เซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ

วันที่ ๑๒-๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๑

    


  ที่มานี่ก็คืออาจารย์วิจารณ์บอกว่าให้มาเล่าเรื่องต่าง ๆ ที่เป็นประสบการณ์ มาในงานนี้ก็กลัวเหมือนกัน เพราะว่าในนี้เข้าใจว่าคนในงานเป็นผู้ที่มีบทบาททางการแพทย์และการสาธารณสุขอยู่ทุกกลุ่มทุกสาขาวิชาชีพ จะมาพูดอะไรก็เหมือนสอนหนังสือสังฆราชคือว่าหมายความว่าสอนคนที่มีความรู้อยู่แล้ว แต่ก็น่าจะลองดูเพราะว่าท่านอาจารย์ให้พูดก็แปลว่าเราควรจะพูดได้ เริ่มกันที่เมื่อนึกถึงบุคลากรต่าง ๆ ที่ท่านรัฐมนตรีได้กล่าวถึง มีสัตวแพทย์ด้วย ทำให้นึกถึงว่าปัจจุบันนี้มีอีกแง่หนึ่งที่ดูแลสุขภาพเขาเรียกว่าสุขภาพหนึ่งเดียว ไม่ใช่แค่สุขภาพคนอย่างเดียว แต่ว่าเป็นสุขภาพสัตว์ด้วย เพราะว่าปัจจุบันโรคที่สัตว์เป็นไปติดคนได้มีหลายอย่าง และโรคที่คนเป็นก็ไปติดสัตว์ ทำให้เขาไม่สบายก็มีเหมือนกัน และนอกจากคน สัตว์  พืชก็เช่นเดียวกัน พืชก็มีสุขภาพเหมือนกัน เรียกว่าสุขภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพคน สุขภาพสัตว์ สุขภาพสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัว เราต้องดูแลสิ่งแวดล้อมด้วย ต้องดูแลป่าเขา ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทบสุขภาพ สุขภาพคน และสุขภาพสัตว์ เหมือนกัน และสุขภาพหนึ่งเดียวของหนึ่งเดียวคือประเทศที่อยู่ใกล้กัน ก็ประเทศไทยหรือประเทศเพื่อนบ้านที่ติดกันก็ต้องเรียกว่าสุขภาพหนึ่งเดียว เห็นหลายแห่งที่เขาทำกันคือในประเทศไทยที่อยู่ต่อชายแดนประเทศลาว บุคลากรสาธารณสุขของลาวและกับบุคลากรการแพทย์สาธารณสุขของไทยก็มาร่วมมือทำงานเพื่อความปลอดภัย ความมีสุขภาพดี ของประชาชนทั้งสองฝั่งชายแดนนี้ เป็นต้น ก็เรียกว่าสุขภาพหนึ่งเดียวอีกอย่างหนึ่ง ก็เลยคิดว่าที่จริงแล้วเป็นเรื่องนี้ด้วย เรื่องนี้ก็สร้างขึ้นมาแล้วเมื่อกี้ลืมไปเพราะว่าท่านพูดถึงสัตวแพทย์ก็นึกขึ้นมาได้

          ที่มาพูดนี้ก็เกี่ยวข้องกับการดูแลอนามัยประชาชนอยู่บ้างจากการโดยเสด็จพระราชดำเนินร่วมกับพร้อมด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถไปที่ถิ่นทุรกันดาร อะไรก็ทรงใช้สอยเป็นคราว ๆ ไป หลังจากนั้นก็ได้ทำโครงการเอง แรงบันดาลใจก็ได้จากการไปตามเสด็จแล้วก็ได้เห็นความจริงหลายๆ อย่าง ซึ่งถ้าไม่ออกไปก็ไม่เห็น ได้พยายามทำโครงการที่เรียกว่าเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน จริง ๆ แล้วก็ไม่อยากเรียกอย่างนั้นเลย บางคำแค่อาหารกลางวันก็ไม่เหมาะ ก็หมายความว่า ควรจะเป็นอาหารที่พอเพียงทั้งปริมาณและคุณภาพให้คนได้ว่าตลอดวันควรมีอาหารเท่าไหร่ ในช่วงชีวิตควรมีอาหารเท่าไหร่เพื่อบำรุงร่างกาย ก็เรียกว่างานโภชนาการก็แล้วกัน

          ที่อยากทำเรื่องพวกนี้เพราะตอนที่ตามเสด็จก็เรียกว่าปกติ ก็ตามตั้งแต่เล็ก ๆ ที่เริ่มรู้สึกคิดก็อายุประมาณ ๑๖-๑๗ บางที่ตามเสด็จ โดยรถพระที่นั่งก็จะทรงทราบอยู่องค์เดียวว่าจะไปไหน ไปถึงจะมีคนเจ็บป่วยคนพิการมากมาย คนพิการนี้ตอนนั้นไม่เคยเห็นคนพิการในชุมชน เคยเห็นแต่ในสถานสงเคราะห์ คนพิการหรือในโรงเรียน ไปตามโรงเรียนก็มีเด็กที่ป่วย อาหารไม่สมบูรณ์ ชาวบ้านเองก็ช่วยเหลือกันเท่าที่มีกำลัง ต่างคนต่างก็จน สังเกตว่าพวกต่างคนต่างก็จนนี้จะมีเมตตาที่จะแบ่งปันและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน บางทีก็จะมากกว่าคนที่มีด้วยซ้ำไป ไปตามโรงเรียนที่มี เท่าที่จำได้ท่านก็จะตั้งหน่วยแพทย์ตรวจ จะคร่าวๆ จะให้ยาที่รักษาเบื้องต้น ซึ่งพวกเราที่ไม่ใช่แพทย์ก็ช่วยกันสัมภาษณ์ จดข้อมูล ที่สำคัญที่สุดก็คือที่อยู่ เพราะบางทีไปกันเร็วๆ มากแค่คุยให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ ที่อยู่ก็จดไว้และก็เป็นอะไรและรอบหน้าถ้ามีเวลาก็สัมภาษณ์กันต่อ มีลูกเท่าไหร่ เรียนอยู่กี่คน ถ้าเป็นคนพิการชนิดที่แก้ไขไม่ได้จริง ๆ ก็ให้ความช่วยเหลือหลายๆ อย่าง เช่น อาชีพของบิดามารดา การเล่าเรียนของลูกคนอื่น ๆ ถ้ามีเวลาก็คุยต่อ ทำมาหากินอะไร มีที่ดินรึเปล่า ปลูกอะไร เลี้ยงอะไร มีแหล่งน้ำ การคมนาคมสะดวกมีภัยอันตราย ดูที่ ๆ สัมภาษณ์ถ้ามีภัยอันตรายหรือห่างไกล สภาพก็จะยิ่งแย่ ในช่วงที่มีปัญหาทางการเมืองหรือหลังตอนปัญหาที่ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยคนที่เอามาก็จะเป็นผู้ที่ดูน่าสงสารมาก เขาสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างไป เมื่อจดได้แล้ว ก็มอบให้หัวหน้า มีหัวหน้าข้าราชบริพาร ที่จะไปเองหรือจะจัดคนไปหาข้อเท็จจริงเป็นรายละเอียด หรือนำผู้ป่วยไปส่งโรงพยาบาลที่เหมาะสม คือแพทย์ที่ไปจะรักษาได้เพียงเบื้องต้นแต่ก็ต้องมีการรักษาในระยะยาว เวลาไปส่วนมากจะไปขอแรงตำรวจตระเวนชายแดน รวบรวมคนไปส่งไว้หน้าอำเภอรวมกันก่อนจึงจัดพาหนะไปส่งโรงพยาบาลที่เหมาะสมอีกต่อหนึ่ง เพลงฮิตในตอนนั้นคือเพลงนัดพบที่หน้าอำเภอ หลายท่านน่าจะรู้จักเพลงนี้ พบหน้าอำเภอแล้วก็พากันไปต่อ กรณีฉุกเฉินที่บางครั้งเคยผ่านมาก็มีใช้เฮลิคอปเตอร์ในขบวนเสด็จนั่นแหละนำไปส่งโรงพยาบาลตรวจก็มี ตอนหลังก้มีบุคลากรที่ช่วยในเรื่องนำส่งชาวบ้านซึ่งเป็นเรื่องที่หนักมาก เพราะไปถึงโรงพยาบาลส่วนใหญ่ก็จะได้รับรักษาที่ดี แต่ตอนที่เดินทางไปให้ถึงก็ลำบากมาก ก็มีบุคคลต่าง ๆ  เช่น เหล่ากาชาด กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม)  สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พมจ) พวกท้องถิ่น เช่น อบต อบจ เทศบาล เป็นต้น ร่วมมือกันดีในการที่พยายามจะพาคนไปถึงโรงพยาบาลให้ได้ โรงพยาบาลใหญ่ ๆ หลายแห่งก็มีเงินพระราชทานที่ให้ไว้ที่ถ้าไปถึงก็จะเบิกค่าเดินทางกลับได้ ไปที่ไรก็ไม่ใช่ว่าจะไปคนเดียวก็มีคนไปเป็นเพื่อน ที่เขาไปกันเรียกว่าเหมารถ เหมารถนี้บางทีแพงมาก เขาเรียกว่าเหมาเพราะว่าต้องใช้ทั้งคัน แต่ว่าบางทีก็ไปคนสองคน คน ๆ เดียวอาจเป็นหลายโรค โรค ก. แผนกผู้ป่วยนอกออกวันจันทร์ โรค ข. ออกวันอังคาร โรค ค. ออกวันพุธ ก็เลยต้องอยู่ไปตั้งนาน หลายวัน ตอนหลังมีการสื่อสาร มีโทรศัพท์มือถือ ก็ตกลงกับโรงพยาบาลเรื่องการให้คำแนะนำในการไปพบแพทย์ เพื่อความเหมาะสมสะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เรื่องพวกนี้พระราชทานเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เวลาเราไปก็ต้องรับประทานอาหารมีข้าวห่อให้ผู้ที่ตามเสด็จไปด้วย ก็มีคนถาม เข้าใจว่าถามในสภาว่าเหตุใดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้เงินเปลืองเช่นนี้ ทำไมเปลืองอย่างนี้ ก็ไม่มีใครมีโอกาสอธิบาย แต่ว่าไม่มีใครมาตัดเงิน ก็แปลว่าก็พอไหว เราก็ต้องระวังมันเป็นเครื่องสัญญานเตือนแล้วว่าการใช้จ่ายในส่วนตัวต้องระมัดระวังมากที่สุด แต่เรื่องการที่ให้หรือบริการประชาชนนี้ก็ต้องทำให้ดีที่สุด ของท่านไม่ให้เพราะว่าคนนี้จนเอาแบบลวก ๆ ก็ได้  คนนั้นสำคัญ คนนี้ไม่สำคัญ เป็นเรื่องห้ามเด็ดขาด คนทุกคนสำคัญเท่ากัน ถ้าเราสามารถช่วยเราต้องช่วยให้ดีที่สุดทุก ๆ คน

          นอกจากภาวะเรื่องโภชนาการแล้วเรื่องอื่นก็น่าจะไม่ค่อยมีความสามารถเท่าไหร่ แต่เรื่องโภชนาการนี้รู้สึกว่ามั่นใจว่าทำได้เพราะเรียนมาตั้งแต่ชั้นประถม อาหาร ๕ หมู่แบบนี้ที่กระทรวงศึกษาสอนเอาไว้นี่คือสิ่งที่สังเกตได้ชัดหลายอย่างเช่น โรคพยาธิ ก็รู้สึกว่าคนบางที่ก็เป็น เราต้องทำโครงการอาหารกลางวันมาแล้วหลายปี แต่ทำไมผลออกมายังไม่ดีเท่าที่ควร ก็เลยตั้งสมมติฐานขึ้นมาเองว่าเด็กมีปัญหาเป็นโรคพยาธิ หรือฟันไม่ดี เคี้ยวไม่ออก กลืนแล้วไม่ย่อย ตอนนั้นเสื้อก็จะมีกระเป๋าใหญ่ ๆ เหมือนกับที่ใส่วันนี้หรือใส่ทุก ๆ วัน ออกแบบเองก็จะเอา มียาขวดกลม ๆ ที่ชื่อว่า คอมแบนทริน (conbantrin) ก็ไม่ทราบตอนนี้ไม่ค่อยเห็นตามตลาดแล้ว  ที่เป็นคอมแบนทรินน้ำ ก็ไปเอาพอเห็นเด็กท้องป่อง แขนขาลีบ ก็ไปลากตัวมา แล้วก็เอาไปถ่ายยาโดยการบีบจมูก ให้เด็กอ้าปากร้อง แล้วให้จับยาใส่ปากไปเลย ก็สำเร็จได้รวดเร็ซ แต่มีเรื่องหนึ่งที่ชอบเล่าให้ใครฟังบ่อยมาก วันหนึ่งก็ใส่ปากเข้าไป สักพักเด็กอาเจียนออกมาเป็นหนอนตัวยาวเชียว ประทับใจมากอยู่ในความทรงจำ ลองถามอาจารย์ว่าเป็นเพราะพยาธิหรือเป็นเพราะฟันไม่ดี อาจารย์บอกว่าถูกทั้งสองอย่าง พยาธินี่ไม่ใช่แค่เอาคอมแบนทริมจนใส่ปากแบบนั้น คือต้องใช้มาตรการหลายอย่าง คือแก้ไขกับเด็กคนเดียวไม่พอ คือต้องแก้ไขทั้งหมู่บ้าน เอาสิทำอย่างไร ต้องทำสร้างส้วมหรือสุขา พยายามโฆษณาเรื่องการล้างมือหลังเข้าห้องน้ำและก่อนรับประทานอาหาร พยายามสวมรองเท้า พูดอย่างนี้ฟังดูง่ายแต่ว่าปฏิบัติยาก เพราะว่าคนบางที่ก็ไม่ได้อยู่แถวบ้านหรือแถวที่มีห้องน้ำตลอดเวลาเขาก็ไปไหน ๆ บ้าง เรื่องฟันไปไหนก็มีทันตแพทย์อาสา หมอฟันบอกว่า โครงการสหกรณ์นั้นแหละเป็นตัวต้นเหตุเพราะมีขนมหวานขาย รู้สึกว่าเราผิดแล้ว เราบอกคุณหมอว่าเราไปโรงเรียนเราไปด้วยเรื่องอื่นนะ ไปสร้างสถานที่ให้โรงเรียนที่น้ำท่วม ก็ไปดูโรงเรียนที่ให้เงินสร้าง ก็ไปเห็นก็เข้าใจว่านักเรียนฟันผุ ๑๐๐% ก็เชิญทันตแพทย์ไปดู ทันตแพทย์กลับมาบอกว่ารู้สึกจะมีเหา ๑๐๐% ด้วย ไปถึงก็ต้องมีการกำจัดเหา ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ อีกเหมือนกัน มีการใช้ยาหลายอย่าง ยาพื้นบ้าน ยาบางอย่างที่ต้องหมักอยู่บนศีรษะเป็นเวลานาน คนที่ถูกหมักก็รำคาญ บางครั้งก็ไม่ค่อยได้ผล บางครั้งยาบางอย่างก็เป็นอันตรายได้ ก็ต้องลองดูลองคิด แค่เหาก็ไม่ง่าย มีหิดด้วย มียาที่เรียกว่าฮิตโลชั่นทามือ แต่ตอนนี้ทำมาเท่าที่เห็นดูน้อยลง ถ้าไม่ระวังก็จะติดเอาเองด้วย

          แต่ก่อนนี้เห็นเด็กขาดอาหารก็ทำเรื่องขาดอาหาร และมีอีกอย่างทำควบคู่กันไป อีกเรื่องหนึ่งคือวัคซีนป้องกันโรค เวลาตามเสด็จไปก็มีหน้าที่หยอดโปลิโอ ก็จะลากคุณหมอหรือคุณพยาบาลให้เดินคู่กันไป คุณหมอและคุณพยาบาล ก็จะฉีดยา เพราะว่าไม่กล้าฉีด ก็ดีแล้วที่ไม่กล้า คือว่าฉีดยาไม่เป็น ก็จะจดชื่อเด็ก ชื่อผู้ปกครอง ที่อยู่ เพื่อให้ผู้ที่มีหน้าที่ดำเนินการต่อ ที่จริงก็หวังผลไม่ได้เพราะสถานที่เด็กอยู่มักไม่ค่อยปลอดภัยหรือห่างไกล สมัยนั้นจะไม่มีใครกล้าไป แต่ก็จะมีปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือคิดเอาเองว่ายาพวกนี้ที่จริงต้องได้สามครั้ง ได้ครั้งหนึ่งก็อาจจะดีกว่าไม่ได้เลยสักครั้ง จริงรึเปล่าก็ยังไม่แน่ใจ เพราะอาจจะไม่มีประสิทธิภาพก็ได้ เรื่องใครมีหน้าที่ดูแลเด็กหรือแม้แต่ผู้ใหญ่ก็ตามให้ได้รับวัคซีนป้องกันโรค เป็นหน้าที่ของใครไม่รู้ แต่ก่อนจำได้ว่าครูเป็นคนจัดการสมัยเด็ก ๆ จะมีวันฉีดยาและครูก็จะเขียนบันทึกและสมัยนั้นก็จะมีเข็มซึ่งไม่ใช่เข็มใช้แล้วทิ้งเหมือนปัจจุบัน เสร็จแล้วก็ต้องต้มแล้วต้มอีก ทื่อมาก เจ็บมาก น่ากลัว และบางที่ก็มีที่เขาเรียกว่าปืนยิงยิงไป ปัจจุบันมีครูเล่าให้ฟังว่าผู้ปกครองมีหน้าที่จัดการกันเอง พาลูกไปหาหมอ แล้วเขาจะพาไปรึเปล่าก็ไม่ทราบ โรงเรียนจะดูแลเป็นบางเรื่อง นี่ครูโรงเรียนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า การฉีดป้องกันมะเร็งปากมดลูก ไวรัสตับอักเสบ บาดทะยัก ก่อนนี้มียาป้องกันหัดเยอรมัน ฉีดให้เด็กหญิง ป.๖ ที่จริงโรคนี้เขาบอกว่าอันตรายสำหรับหญิงตั้งครรภ์ ออกลูกมาจะพิการ หมอท่านหนึ่งได้เล่าให้ฟังว่าถ้าปีไหนโรคนี้ระบาด อีก ๓ ปี ศูนย์เด็กเล็กก็จะมีเด็กพิการเข้ามามาก เราจะรู้เลยและเราก็จะเตรียมตัวไว้ก่อน เป็นหน้าที่ของใคร ฝ่ายสาธารณสุข โรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ อสม. แต่โรงพยาบาลน่าจะยากเพราะว่าไกล แต่ก่อนนี้ที่ ๆ มีสถานีกาชาด คนชอบมา สถานีกาชาด รพ.สต. ก็น่าจะดี แต่บางตำบลเป็นตำบลใหญ่ เดินทางยาก ก็แม้แต่ไป รพ.สต. บางครั้งก็ยาก

          ปัจจุบันนี้ตอนแก่แล้วก็มีความรู้ใหม่ขึ้นมาว่า ผู้สูงอายุก็ต้องฉีดยาเหมือนเด็กฉีด ซึ่งเลิกไปตั้งนานแล้ว ซึ่งเขาบอกว่าโตแล้วก็ต้องฉีด เช่น คอตีบ ไอกรน เป็นต้น เขาบอกว่าตอนนี้มีคนแก่เป็น ก็เลยต้องโดนฉีด แต่บาดทะยักก็โดยเป็นครั้งคราวเมื่อไปทำอะไรเป็นแผล ล้ม โดนตะปูตำ แมวกัด หมากัด และต้องฉีดกลัวน้ำด้วย เดินออกกำลังกายในบ้านตอนเย็นๆ ที่บ้านมีต้นไม้เยอะ ก็มีค้างคาวถ่ายปัสสาวะออกมาแล้วมันกระเด็นเข้าตา หมอก็จับฉีดยาบาดทะยักเพราะในค้างคาวก็มี ตอนนี้เวลาเดินตอนเย็นๆ ก็ใส่หมวก คนก็ดูแปลก

          เมื่อหลายปีก็มีประสบการณ์อีกอย่างหนึ่งที่เคยประสบผ่านมา มีผู้อพยพสมัยนั้นมีผู้อพยพชาวกัมพูชา ก็เป็นเรื่องสำคัญ ก็คือมากันมาก ๆ เลยทีเดียว เราก็ไปดูและจัดการให้ เรื่องใหญ่ก็คือสร้างที่อยู่ที่ถูกอนามัยแบบมีลมโกรก สร้างห้องน้ำ ห้องส้วมนี่เป็นเรื่องสำคัญมาก ให้อยู่เป็นที่เป็นทาง และที่ต้องทำทันทีอีกอย่างหนึ่งคือ จัดการฉีดวัคซีนโรคสำคัญๆ และก็เรื่องอาหารก็สำคัญ ต้องให้อาหารคนที่อดอาหารมาเป็นเวลานาน ต้องให้ทีละน้อย ๆ ส่วนมากเราก็จะให้ ถั่วเขียวต้มน้ำตาล ข้าวบ้าง แต่ว่าก็มีชาวต่างประเทศหวังดี ให้อาหารชาวแบบฝรั่ง ให้อาหารสำเร็จรูป เขาก็ทานไม่ลง แต่พอให้อาหารคนไทยหรือคนกัมพูชารับประทานกัน เขาจะทานอาหารจากเรามากกว่าอาหารฝรั่ง

          ตอนนี้เราก็มีเรื่องความที่เดินทางไม่ค่อยได้ การใช้แพทย์ทางไกลโดยใช้คอมพิวเตอร์ติดต่อกับโรงพยาบาล แต่เดิมก็ทำกับโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด) แต่ว่าก็เคยทำงานที่นั่นอยู่นานก็รู้จักกัน ตำรวจก็ได้รับการอบรมเรื่องสุขภาพอนามัยไว้บ้างแล้ว จะเข้าใจ มีชาวบ้านที่เข้ามารับการอบรมพิเศษ แต่ต่อมาก็ได้ทำกับศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน) ฝึกเจ้าหน้าที่ให้ใช้เครื่องได้ มีความรู้ด้านสุขภาพบ้าง แม้แต่ในโรงพยาบาลขนาดเล็ก ก็สามารถใช้อุปกรณ์เข่นนี้ปรึกษาในโรงพยาบาลใหม่ที่ต้องเขียนซอฟแวร์เอง ซึ่งของในท้องตลาด เช่น ไลน์ อาจรบกวนแพทย์ท่านอื่น เพราะว่าท่านอยู่ในไลน์กลุ่ม พอมีไลน์มีเรื่องอะไรก็ได้รับกันไปหมด ทุกคนเกี่ยวกับตัวหรือไม่เกี่ยวกับตัวก็ตาม เราเขียนซอฟแวร์ให้แยกสำหรับคนที่ต้องใช้งานโดยเฉพาะ หรือหากใช้ไม่ได้ อีกอย่างที่ต้องมีชอฟแวร์เป็นพิเศษเพราะว่าเพื่อป้องกันความเป็นส่วนตัวของผู้ป่วยซึ่งมีคนมาปรารภเรื่องนี้ขึ้น

          งานเกี่ยวกับสุขภาพยังมีเรื่องน้ำสะอาด เป็นหลักขององค์การอนามัยโลกที่ว่าคนต้องมีน้ำสะอาด โดยเฉพาะน้ำดื่ม เจ้าหน้าที่ขององค์การอนามัยโลกที่มาตรวจในประเทศไทยเขาปรารภว่า คนไทยนี้ยากดีมีจนใช้น้ำขวดมากเกินไปแทนที่จะใช้น้ำจากธรรมชาติ แต่ว่าน้ำจากลำห้วยในปัจจุบันนอกจากจะมีเชื้อโรคแล้วยังมียาเคมีที่ปราบศัตรูพืชที่เกษตรกรใช้ เช่น ยาฆ่าหญ้าในสวนยาง แล้วก็มีสายแร่จากเหมืองที่เขาทำแล้วขุดแล้ายแร่ก็แพร่กระจายไปทั่ว เรื่องนี้จะมีมากน้อยอย่างไร สาธารณสุขกับหน่วยงานวิชาการทั้งท้องถิ่นที่มา ราชภัฎ เขาก็มาตรวจ แล้วบางที่ก็ไม่ได้มีมากอย่างที่ชาวบ้านกลัว คนนั้นก็กลัว ก็ไม่แน่ใจ แล้วก็เชื้อโรค เช่นนกถ่ายมูลในรางน้ำฝน เราก็บอกให้ปิดทางน้ำฝน น้ำฝนเดี๋ยวนี้นอกจากมีมลภาวะแล้วก็ยังมีนกถ่ายมูลลงไป ก็มีเชื้อโรค แล้วก็มีสัตว์ถ่ายในบ่อน้ำตื้น บ่อบาดาล เรียกว่าเราต้องทราบว่าเครื่องกรองแบบใดจะใช้ได้นานแค่ไหน การต้มควรต้มนานมากน้อยเพียงใด เพราะตอนสมัยเด็ก ๆ อยู่โรงเรียนก็จะมีภารโรงเขาเป็นต้มน้ำให้ ภารโรคชื่อลุงสายหยุด ลุงสายหยุดมีหน้าที่ต้มน้ำให้ แต่เขาก็มีวิธีต้มน้ำ คราวนี้พอไปบอกให้โรงเรียนต้มน้ำ ต้มจนระเหยหมดจนเหลือน้ำขลุกขลิกอยู่ตรงก้นหม้อนิดเดียว ก็ไม่ได้หรือบางทีถ้าต้มเกินไปบางทีมีพวกสารเคมีก็จะข้นเข้าไปอยู่ที่ก้นหม้อ จะอันตรายยิ่งขึ้น การใส่คลอรีนถ้าเจ้าหน้าที่ทางสาธารณสุขใส่ก็ไปอย่าง แต่บางทีคนที่ใส่ก็ไม่ได้มีความรู้พอ ใส่มากใส่น้อยอาจทำให้อันตรายได้ ก็จะมีสาธารณสุขมีอนามัยคอยมาตรวจน้ำให้ แล้วตอนนี้ก็ค่อย ๆ แนะนำ อบรมกันไป ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ แล้วก็เรื่องสุขาภิบาลก็จะเป็นเรื่องแยกขยะ ทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทางก่อนเก็บไปกำจัด หรือเอาขยะมาใช้ให้เป็นประโยชน์  เช่น ทำปุ๋ย ทำยาฆ่าแมลง ทำเป็นปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ ซึ่งใช้ประโยชน์ได้หลาย ๆ อย่าง

          ปัญหาที่ตอนนี้พูดกันถึงน้อยคือแสงสว่างในห้องเรียน แต่ก่อนนี้มีพวกอนามัยโรงเรียนเขาจะมาตรวจให้เสมอ ก็จะมีเครื่องวัดแสงว่ามีกี่ลักซ์ (lux) ก็เป็นพวกของกระทรวงสาธารณสุขจะดูว่าในห้องเรียน หรือในห้องสมุดว่ามีแสงเข้าพอไหม ทำให้ไม่เป็นอันตรายต่อสายตาของเด็ก หรือว่าเราก็จำแนะนำว่าถ้าแสงไฟไม่พอ หรือพวกไฟฟ้าไม่มี เราก็ใช้วิธีเอากระเบื้องหลังคาออกแล้วใส่กระเบื้องใสเข้าไป หรือว่าต้นไม้ที่มีกิ่งที่เข้ามาบังแสงหน้าโรงเรียนก็ลิดออกบ้าง  ครูบางคนก็โกรธบอกว่าตัดไม้ ทำลายป่า ทำไมไม่รักธรรมชาติอย่างนี้ ก็บอกว่านิดเดียวเพื่อให้มีแสงเข้ามา ก็จะช่วยได้

           อีกเรื่องคือเรื่องบ้านของผู้ป่วยและผู้สูงอายุ ควรปรับปรุงให้สะอาดและให้ปลอดภัย ไม่ต้องในชนบท  ในเมืองเห็นตอนนี้มีคนหกล้มเต็มไปหมดเลย แล้วก็ส่วนมากหกล้มในบ้านตัวเอง ไม่ได้ไปหกล้มที่ไหน เพราะว่าจะมีพื้นต่างระดับ มีที่ที่สะดุดได้ ส่วนมากก็ตาไม่ค่อยดี เดินไม่ค่อยระวัง หรือว่าบ้านของผู้ป่วยที่ต้องล้างไตทางหน้าท้อง ก็ต้องอาศัยความสะอาดหน่อย ถ้าล้างไตทางหน้าท้องนี้ได้รับความช่วยเหลือ แต่ล้างไตเลือดนี้ค่าใช้จ่ายค่อยข้างแพง แต่ว่าบางคนที่ต้องล้างไตทางหน้าท้อง ตาไม่ดี อยู่คนเดียว  บ้านก็สกปรก ต้องดูเป็นวิจารณญาณของคนที่ไปเจอ แล้วก็บุคลากรหลายๆ คนก็จะทำอุปกรณ์กายภาพ ราวสำหรับเดิน เดินออกกำลังหรือว่าโต๊ะเก้าอี้พิเศษของเด็กพิการ เขาจะมีนักวิชาการออกแบบให้แล้วก็ให้ช่างพื้นบ้านทำเอง ที่ชาวบ้านทำเองที่เคยเห็นชาวบ้านเขาทำเป็นเบาะกันแผลกดทับ มีวันหนึ่งก็ไปที่อีสาน มีนักดนตรีพิการมีเล่นดนตรีให้ คนที่เล่นได้เพราะมาก คนนั่งรถเข็น เดินไปหาจะไปชมเขา เขาบอกว่าเขาเคยเป็นแผลกดทับ แต่มาใช้เบาะที่ทำเองรองนั่ง ใส่ลูกบอลเข้าไปด้านใน ลูกบอลเด็กเล่น ตั้งแต่นั้นไม่เป็นอีกเลย ตามโรงพยาบาลต้องเป็นเพราะคนที่มาเป็นผู้ป่วย คนที่ต้องมาพลิกตัว เปลี่ยนแพมเพิสก็ไม่พอ วิ่งรอบหนึ่งก็ไม่ทันแล้ว ผู้ป่วยที่ต้องไปโรงพยาบาลบ่อยๆ นี้ต้องทำอย่างไร ก็คิด ก็เป็นคนพื้นถิ่นท้องที่ที่จะทำให้ ที่ต้องไปรักษาตามที่แพทย์นัด ซึ่งก็ไม่ใช่ที่นัดทันที หรือโรคบางโรค เช่น ผู้ป่วยเป็นธาลัสซีเมียที่ต้องให้เลือด อยู่บนภูเขาไกลโพ้น กว่าจะลงมาถึงข้างล่างที่มี ที่อำเภอก็ไม่มีที่ให้เลือด จะไปทีไกลกว่านั้นหน่อย ก็ต้องวางแผนกันดี ๆ  ว่าจะไปอย่างไร ตอนไหน ให้สตางค์ไว้อย่างไร ก็เป็นเรื่องที่เวลาไปต้องคิดทั้งนั้น โรคไตจะอยู่ที่การบริหาร จะทำอย่างไรให้เป็นโรคนี้น้อยลงไปไหม จะล้างไตอย่างไร ต้องฟอกเลือด เปลี่ยนไต จะต้องอยู่ใกล้ไกล บางทีโรงพยาบาลก็จัดให้ไม่ได้เพราะโรงพยาบาลที่ใกล้นั้นก็ไม่มีบุคลากรพอ พอจะเอาบุคลากรไปอบรมให้ พอไปอบรมระหว่างนั้นใครจะทำงาน เป็นเรื่องโลกแตกหลาย ๆ อย่าง จะไม่ให้เป็นก็ยาก เขาก็มาจากอาหารการกิน เขาก็เคยรับประทานกันอย่างนี้ จะเปลี่ยนก็ยาก

          มีอีกเรื่องที่มีประสบการณ์ผ่านมา คือป้องกันมาเลเรีย อบรมครูที่ใช้กล้องจุลทรรศน์ แต่ว่าในพื้นบ้านก็ใช้ dipstick ก็แพงหน่อย แต่ว่าคนไม่ต้องอบรมมาก ใช้ได้ใช้ง่าย เปลี่ยนสี แต่บางทีการดูเป็นมาเลเรียแบบไหน ก็แยกไม่ค่อยได้เท่ากล้องจุลทรรศน์ แต่กล้องจุลทรรศน์ก็แพง สมัยก่อนที่เคยทำก็ใช้การลงทุนซื้อมา ใช้ได้หลายอย่าง พยาธิก็ได้ ศึกษาวิชาอื่นก็ได้ เคยไปเอาจากศิริราชที่เขาไม่ใช้แล้ว เอามาเปลี่ยนหัวออยหน่อยก็ใช้ได้ เพราะเราไม่ได้ใช้แบบมากมายอย่างที่ตามโรงพยาบาล แล้วก็ได้มีคณะทำงานมาเลเลียที่กัมพูชาตามคำขอของท่านนายกรัฐมนตรีของกัมพูชาให้ไปทำที่รัตนบุรีและมณฑลคีรี ขณะนี้สถานการณ์เรื่องมาเลเรียดีขึ้นมาก บางคนบอกว่าที่สำเร็จเพราะป่าถูกตัดไปมากยุงก็เลยน้อย จริง ๆ แล้วก็ยังอยากคิดว่าเป็นผลงานของทีมงานเราที่ไปทำร่วมกับคนพื้นเมือง แต่แรกก็ไม่ได้ง่ายนัก เพราะเป็นเขตทุรกันดารมาก ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าเป็นเขตประเทศเขมร ส่วนใหญ่ก็จะไม่รู้ภาษาเขมร พูดได้แต่ภาษาท้องถิ่น แล้วก็ไม่ค่อยปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ ดำรงชีวิตด้วยการหาของป่า ทีมงานก็ได้ไปทำแผนที่ชุมชน ซึ่งเขาก็ไม่เคยลองทำว่าแผนที่บ้านที่หนึ่งที่สองที่สามอยู่ที่ไหน นอกจากจะใช้ประโยชน์ในเรื่องของมาเลเรียแล้วยังใช้ประโยชน์ทางด้านสาธารณสุขอื่น ๆ เช่น ฉีดยาป้องกันหรือยัง มีปัญหาเกี่ยวกับมารดาทารกหรือเปล่า ได้หลายๆ อย่าง คิดว่าเป็นงานที่ไม่ยากนัก แล้วก็ไม่ได้ใช่เงินแพงแต่ว่าได้ผลดี ได้ดูกำจัดมาเลเรีย ไข้เลือดออก แล้วก็สร้างส้วม สร้างบ่อน้ำมีเครื่องสูบน้ำแบบโยก ปัจจุบันประชาชนเห็นประโยชน์ของโครงการมาก แล้วมาใช้บริการที่สถานีอนามัยที่เราไปสร้าง แล้วก็ได้รับความรู้เรื่องการปลูกผัก พืชผักสวนครัว แล้วก็ต้องชวนเยาวชนทั้งชายหญิงมาเรียนวิชาพยาบาลที่ประเทศไทย เด็กพวกนี้พากเพียรมาก แล้วก็เรียนทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ แล้วเขาก็มีความหวังที่จะไปเรียนที่สูงขึ้น เรื่องที่นำมามีปัญหาอยู่บ้าง คือ บางทีถ้ากลับไปแล้วก็จะไม่มีตำแหน่งราชการ หรือไม่มีตำแหน่งเงินเดือนให้เขา ก็พยายามคุยเรื่องนี้กับรัฐมนตรีด้านกระทรวงสาธารณสุขกัมพูชา

           นอกจากกัมพูชาก็โครงการที่ทำมาก่อนเป็นโครงการอบรมเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุขสำหรับบุคลากรทางการแพทย์จากลาวซึ่งทำมาเกือบยี่สิบปีแล้ว ในที่นี้เข้าใจหลายท่านมีส่วนร่วมในโครงการนี้อย่างมาก มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหิดล จากโรงพยาบาลต่าง ๆ ในเขตส่วนมากจะเป็นชายแดนที่ใกล้กับสาธารณรัฐประชาชนลาว มีบุคลากร ครูบาอาจารย์ ในสาขาต่าง ๆ ซึ่งจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นทุกทีทุกที มีหลายอย่างแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล พยาบาลมีแยกเป็นหลักสูตร สูติศาสตร์ นรีเวชวิทยา หลักสูตรศัลยศาสตร์ หลักสูตรพยาบาลมารดาและทารก เวชศาสตร์ชันสูตร เวชศาสตร์  อบรมแม้แต่กระทั่งผู้อำนวยการโรงพยาบาล ซึ่งให้ไปดูงานทั้งโรงพยาบาลหลวง โรงพยาบาลสาธารณสุข โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลเอกชน แต่ละแห่งมีลักษณะพิเศษอย่างไร กายภาพบำบัดของอาจารย์ก็มี อบรมทุกวัน อาจารย์ก็ได้ไปตามที่ประเทศลาว ลาวก็มาที่ประเทศไทย ขณะนี้ก็ง่ายขึ้นเพราะมีเครื่องไม้เครื่องมือ มีเทคโนโลยี  social media ต่าง ๆ ที่จะช่วยเผยแพร่ความรู้ได้ แล้วก็ทางลาวทำงานแบบที่พูดคือทำงานแบบบูรณาการสหสาขา เอาปัญหาเป็นตัวตั้ง ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจะใช้ใครบ้างใช้บุคลากรด้านไหนที่มาระดมความคิด ร่วมกันทำงาน แล้วก็ระดมความคิดระหว่างไทยกับลาว ช่วยกันคิด ลาวก็อันนี้อยากรู้ก็มาถามบุคลากรหรือว่าอาจารย์ทางไทย  ทางไทยบางทีก็ไปดูสถานการณ์ แล้วก็ควรจะทำอย่างไร ก็ปรากฏว่าก้าวหน้ามาก แต่ก่อนนี้ก็ทำตามแขวงต่าง ๆ แล้วเราก็ขอร้องว่าใครที่มาอบรมแล้วก็ขอเปิดโอกาสให้คนอื่นเขามาบ้าง แต่ว่าตอนหลังนี้เราลงไปถึงระดับอำเภอ แพทย์ พยาบาล และบุคลากรของทางลาวมีความรู้มากและค้นคว้าหาความรู้เสมอ และคิดว่าเขาจะต้องการอะไรเพิ่มเติม เขาจะมาบอกกล่าว จะมีหลักสูตร เช่น หลักสูตรพัฒนางานอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน หลักสูตรที่เขาเห็นว่าสำคัญเขาก็จะบอกให้ เพราะบางทีเราก็จะไม่รู้เรื่องภายในของเขาทุกอย่าง เรื่องที่เหมาะสมกับวัฒนธรรม และเรื่องที่จะต้องพยายามแก้ไขความคิดเดิม ๆ ที่อาจจะทำให้เป็นอุปสรรคต่อการรักษาพยาบาล ค่อย ๆ แก้กันไป คิดว่าเป็นที่น่าภาคภูมิใจมาก

          ปัญหาสุขภาพของคนอยู่ในเมือง เช่น เดินทางลำบาก รถติด ไปถึงโรงพยาบาลไม่ทัน ก็มีหลายคนที่คลอดในรถ ก็มีโครงการให้บุคลากร เช่น ตำรวจจราจรให้สามารถทำคลอดได้ มีคนหนึ่งพี่สาวชื่อเสาวคนธ์ แล้วคนน้องคลอดในรถเลยให้ชื่อว่าเสาวรส ก็ดูเด็ก ๆ สองคนนี้ก็ดูรอดดี โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว ส่วนพวกที่ติดเตียงอยู่ที่บ้าน มีเรื่องที่ลำบากมาก เช่น เปลี่ยนสายปัสสาวะไม่ถูกต้องก็ติดเชื้อ อาหารการกินหายากกว่าในชนบทไปอีก

           พูดถึงโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันบ้างเล็กน้อย ความคิดเกิดมาจากการที่ว่าโรงเรียนเป็นศูนย์หน่วยงานราชการที่เป็นพื้นฐานที่สุดที่มีทุกแห่ง เด็กทุกคนต้องไปเพราะว่าเป็นการศึกษาภาคบังคับ จึงเป็นที่ที่ต้องช่วยเหลือคนได้มากที่สุด ตอนแรกไม่ได้คิดเรื่องการพัฒนาการศึกษาเลย คิดเรื่องสุขภาพก่อน  ได้ให้ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์และสอนเรื่องทำครัวโดยคิดถึงอาหาร ๕ หมู่ ที่เคยเรียนตอนชั้นประถมศึกษา แต่การทำโครงการเรื่องสื่อการศึกษากับอาจารย์ที่คณะครุศาสตร์จุฬา ต่อมาภรรยาท่านเป็นนักโภชนการก็มาช่วย สุดท้ายก็ได้ไปเรียนที่สถาบันอาหารที่มหิดล โครงการต่าง ๆ ก็งอกออกมาเรื่อย ๆ มีชื่อเสียงบ้างไม่มีบ้าง ช่วยเรื่องอาหารและสุขภาพที่โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็กก็มีอาหารจานเดียว ข้าวถั่วงาดำสูตรของสาธารณสุข ดูแลหญิงมีครรภ์ แม่และเด็ก นมโรงเรียนแก้ไขปัญหาน้ำหนักและส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์ ตอนหลังกลายเป็นเกินเกณฑ์ ส่วนสูงไม่ค่อยเกินเกณฑ์แต่น้ำหนักเกินเกณฑ์ ก็เลยต้องทำร่วมกับการออกกำลังกาย และมีอาหารสำหรับเด็กมัธยม เพราะว่าส่วนใหญ่ก็นึกถึงแต่เด็กประถม เด็กมัธยมก็น่าจะโตแล้วหากินเองได้ แต่จริง ๆ แล้วเด็กมัธยมต้องใช้พลังงานเยอะมากกว่าเด็กเล็กอีกและต้องใช้สมองมาก ถ้าไม่มีอาหารเพียงพอก็จะเป็นปัญหา อย่างงบก็ไม่มี อย่างที่ขายอาหาร ขายของภูฟ้านั่นแหละได้สตางค์ไปให้เด็กมัธยมกินข้าว ไอโอดีนผสมในเกลือและน้ำดื่มก็ต้องระวังเหมือนกัน ผสมกินไปกินมาเป็นโรคไต ในน้ำดื่มก็ได้ผลดี สมัยตอนนั้นอาจารย์ร่มไทรสอนมีการเอาเด็กไปวิ่งเล่นกลางแดดแล้วหิวน้ำให้กินน้ำที่ใส่ไอโอดีนนั้น การแก้ปัญหาเลือดจางที่จิรงแล้วการใช้ธาตุเหล็กให้ก็ไม่แพง แต่พูดเรื่องนี้คนไม่สนใจเท่าไอโอดีน แล้วบางทีบุคลากรบางท่านในบางที่บอกเราว่าได้รับคำสั่งให้ทำเรื่องไอโอดีนเรื่องเหล็กไม่ทำ ก็ไม่ทราบ ทำไมไม่สนใจก็ไม่ทราบ  ส่วนครูพยาบาลจะมีความรู้ทางสุขภาพ บางคนทำคลอดได้เวลาหมอตำแยไม่อยู่ เข้าเฝือกได้ เยี่ยมบ้านนักเรียน แต่ก่อนมีปัญหาว่าเวลาปิดเทอมภาวะขาดอาหารจะมากขึ้น เวลานี้ทำงานร่วมกับชุมชนในแง่การเกษตร ให้โรงเรียนเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชน พบภาวะขาดอาหารจะลดลง ภาวะเตี้ยยังมีอยู่บ้าง มีผู้ปกครองก็มาช่วยทำแปลง แล้วผู้ปกครองมารับพันธุ์พืชหรือพันธุ์สัตว์จากโรงเรียนแล้วนำไปขยายผลที่บ้าน เพราะฉะนั้นก็คิดว่าได้ผลเรื่องอาหารตลอดทั้งปี

ความที่ทำเรื่องการศึกษามาก ตอนที่ไปทำกับโครงการอาหาร world food program ก็ไปที่อินเดีย ก็บอกว่าฉันเป็นครู แต่คิดมาก่อนว่าจะต้องทำเรื่องอาหาร เรื่องโภชนาการ เรื่องสุขภาพต้องมาก่อน พอมีสุขภาพดีจะได้เรียนหนังสือได้ดี แต่บุคลากรที่ไปพบที่คุยกับเขานั้นเขาเป็นแพทย์ แต่เขากลับคิดว่าการศึกษามาก่อน ถ้าคุณแม่ของเด็กเป็นคนที่ได้รับการศึกษาดีก็จะดูแลลูกได้ดีขึ้น ก็จะมีสุขภาพดี ก็จะวนไปวนมาอยู่แค่นี้ ก็นอกจากในเขตทุรกันดาร ก็ทำในทุกระดับตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับมหาวิทยาลัย ตอนนี้ไม่ได้ทำเรื่องโรงเรียน เรื่องอาชีวะ ก็เอาหลักสูตรที่สำคัญเข้าไปในหลักสูตรของโรงเรียน บังคับให้ทุกคนเรียน คือ อาชีวอนามัย ได้แพทย์ได้พยาบาลอาสาสมัครมาเป็นวิทยากรมาช่วยสอน สอนทุกคน คือคนที่ทำงานอาชีวะ อาจต้องทำโรงงานหรือว่าเป็นหัวหน้าของโรงงาน ต้องดูว่าอะไรไม่ปลอดภัยในโรงงาน ไม่ใช่ไปดูคนงานทำงานด้วยเครื่องจักรแล้วเครื่องจักรตัดแขนตัดขาไป เรื่องอย่างนี้ต้องไม่ให้เกิดขึ้น ว่าของที่เป็นโทษ มีเชื้อโรค ไม่สะอาด หรือว่ามีสารเคมีที่เป็นอันตราย ทั้งฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ที่เป็นอันตราย ต้องเรียนหมด แม้แต่ตัวโรงงาน มองขึ้นไปเพื่อนที่เป็นสถาปนิกเคยชี้ให้ดู มันอันตรายนะโรงงาน กระเบื้องมุงหลังคาเป็นแร่ใยหิน asbestos มีสารก่อมะเร็ง เราก็พยายามเปลี่ยน

มาถึงเรื่องที่ประชุมกัน บุคลากรสุขภาพยุคใหม่ต้องทำอะไร  ในหนังสือวารสารสุขภาพ Lancet เมื่อ ๗-๘ ปีมาแล้ว คือเมื่อปี ๒๐๑๐ บทความเรื่องการศึกษาของบุคลากรทางการแพทย์ในศตวรรษที่ ๒๑ ได้ทราบจากอาจารย์วิจารณ์ ได้ใช้แนวคิดนี้มาจัดหลักสูตรบุคลากรทางสาธารณสุข วิทยากรที่มาพูดเมื่อเช้านี้ท่านเป็นคนหนึ่งในผู้เขียน และท่านก็สนับสนุนการจัดอบรมที่จัดมาทั้งห้าครั้งนี้ พอจำได้คร่าวๆ ว่าบทความนี้เป็นการ โอกาสที่จะปรับปรุงสุขภาพของคนทั่วโลก ผู้กำหนดหลักสูตรนี้ต้องมองการณ์ไกล จัดโปรแกรมต่าง ๆ ที่สนองตอบความจำเป็นของประชาชนในยุคปัจจุบัน ไม่ใช่เมื่อต้นศตวรรษที่ ๒๐ หรือจะ ๑๙ ด้วยซ้ำไป ทำให้ชุมชนดูแลสุขภาพได้เองมากขึ้น ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ต้องใช้พื้นฐานความรู้และใช้ชุมชนขับเคลื่อน

บุคลากรทางสาธารณสุขที่ในบทความนั้นใช้ชื่อว่า knowledge broker คือนายหน้าทางความรู้ คำนี้มาจากการเงิน คือ ตัวกลางระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อ ในที่นี้เป็นคนติดต่อระหว่างผู้ให้ความรู้และผู้รับความรู้ เป็นคนที่ผู้ป่วยกล้าพูดด้วย ก็มีผู้พูดว่าพยาบาลเป็น health knowledge broker นายหน้าทางความรู้สุขภาพที่ดีที่สุด แต่เอาเข้าจริงพยาบาลมีงานเยอะมาก เวลาไม่พอ อย่างที่โรงพยาบาลเองก็ต้องหาเจ้าหน้าที่ประจำวอร์ดมาช่วยงานที่ไม่เกี่ยวกับการพยาบาล พวกเครื่องมือสมัยใหม่ก็มีเจ้าหน้าที่มาช่วย ลดภาระงานของแพทย์พยาบาลได้ ในโรงพยาบาลก็จะมีปัญหาต่าง ๆ ที่อาจจะไม่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลนัก เช่น ยกตัวอย่างปัญหาเรื่องสัญชาติของผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาพยาบาลฟรีหลายๆ อย่าง แพทย์ก็ฉลาดมีวิธีการที่จะช่วยเหลืออย่างไรให้ได้ได้มีโอกาสได้รับการดูแล และนำนักกฎหมายมาช่วย ซึ่งช่วยได้มาก บุคลากรทางราชการมักไม่พอ คำนวณตามจำนวนประชากรคือประชากรจริงๆ แล้วน่าจะมีมากกว่าสถิติของทางราชการ เป็นประชากรแฝงที่เข้ามาอยู่ในชนบทแต่ไม่ได้จดไว้ หมอ พยาบาล นักกายภาพบำบัด ทันตแพทย์ เภสัช อะไรก็ตาม มักจะมีไม่พอ นอกจากรักษาในโรงพยาบาลแล้วก็ต้องไปวิ่งไปตามครัวเรือน มีใครไหมต้องการความช่วยเหลือ ติดที่เตียงก็มีไม่น้อย พวกนี้จริงๆ แล้วไม่ได้ทำอยู่ที่โรงพยาบาล ต้องวิ่งออกไปข้างนอกด้วย การทงานและการศึกษาของบุคลากรแพทย์สาธารณสุขก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อ 200 ปี หรือ 100 ปีก่อนมาก แต่ข้อดีก็มีคือการคมนามคมดีขึ้น มีพาหนะที่ดีขึ้น เครื่องมือการแพทย์ดีขึ้น เคยได้พบศาสตราจารย์ทางการแพทย์ชาวอินเดียที่มาสอนพิเศษคณะแพทยศาสตร์ในประเทศไทยบางแห่งเล่าให้ฟังว่านักศึกษาแพทย์มีอุปกรณ์มากมาย แต่ว่าต้องใช้ตนเอง ฝึกการใช้ตัวเอง ใช้มือ หรือใช้สมองตัวเองเยอะ ถึงแพทย์จะมีอุปกรณ์แต่ต้องใช้มือ การฝึกฝนใช้ความสามารถตนเอง ตรวจผู้ป่วยแบบเดิมๆ ได้ด้วย เดี๋ยวนี้มีอุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ เช่น คอมพิวเตอร์ใช้เก็บข้อมูล พิมพ์งาน ค้นหาความรู้ ก็เป็นข้อดีที่ช่วยให้เร็วขึ้นและมักไม่ค่อยหาย กระดาษแผ่นๆ บางทีก็ไม่รู้อยู่ไหน เอาไปพับทำถุงกระดาษไปแล้วหรืออะไรก็ไม่ทราบ หาไม่เจอ

สรุปว่าปัจจุบันต้องทำงานแบบบูรณาการสหสาขา ทุกคนต้องช่วยกันและส่งเสริมกัน ทุกคนสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน สังคมจึงเดินหน้าได้

สรุปโดย อาจารย์จุฬารัตน์ ห้าวหาญ


หมายเลขบันทึก: 658832เขียนเมื่อ 19 ธันวาคม 2018 07:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 ธันวาคม 2018 07:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

พระราชดำรัสของพระองค์ท่าน..แสดงถึงพระปรีชาญานในการรวบรวมและถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์สำหรับผู้ใส่ใจศึกษา..มีทุกแง่มุมที่สำคัญต่อบุคลากรทางสุขภาพ..ขอพระองค์ทรงพระเจริญ..เทอญ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท