ชีวิตที่พอเพียง 2325. ครุ่นคิดเรื่องอาหารคนชรา



ในแต่ละปี ผมจะมีช่วงวันอยู่ประมาณเกือบ ๑ เดือน    ที่มีชีวิตแบบ “อยู่ดีกินดี” ที่นอกบ้าน    ได้กินอาหารอร่อย และแพง บนเครื่องบินบ้าง  ตามโรงแรมบ้าง  ในงานเลี้ยงบ้าง ให้ความรู้และความบันเทิงแก่คนแก่ที่ติดจริตเด็กบ้านนอกในวัยเด็กอย่างผมเป็นอันมาก  

แต่ข้อเรียนรู้ที่ได้มากกว่าคือตอนกลับมาอยู่บ้านแล้วกินอาหารตามปกติที่บ้าน    รู้สึกว่าได้กิน “อาหารสุขภาพ” อย่างที่ต้องการ    กินแล้วร่างกายท้องใส้เบาสบาย    เหมาะแก่สุขภาพมากกว่าอาหารหรู

“อาหารหรู” ที่กินนอกบ้าน    กลับเป็นอาหารที่ไม่ค่อยจรรโลงสุขภาพ    แม้จะจรรโลงลิ้น 

“อาหารสุขภาพ” ที่ผมกินที่บ้านยัง “จรรโลงกระเป๋า”   และ “จรรโลงสังคม”  อีกด้วย

กับข้าวที่สาวน้อยกับผมกิน  มักได้จากการที่ผมเดินไปซื้อในตอนเช้าที่ตลาดหมู่บ้านเอื้ออาทร     ห่างจากบ้านผมประมาณ ๓๐๐ เมตร    ที่คุณอ้อแม่ค้าข้าวแกงเจ้าประจำ     ถุงละ ๒๕ บาท    มักจะกินได้ ๒ มื้อ    กินกับข้าวกล้องที่เราหุงเอง     บางสัปดาห์ “หมอแต้ว” ลูกสาวคนโตที่เป็นหมอฟัน    ก็มาพาแม่ไปซื้อกับข้าวที่ตลาดวัดศาลเจ้า () ที่มีอาหารและขนมอร่อยๆ มากมาย    เช่นห่อหมก (ซึ่งคิวยาวมาก ต้องใช้วิธีให้แม่ค้าขนมเบื้องช่วยไปเขียนใบจองคิวให้)   ร้านกับข้าวที่ทำหม้อใหญ่โตมโหฬาร เช่น แกงส้ม   แกงเขียวหวานลูกชิ้นปลากราย    แกงใบขี้เหล็ก    ร้านขายหมูสามชั้นทอดกรอบ (เราไม่ซื้อมากินนานเป็นปีแล้ว เพราะมันแสลงพุง)    และอื่นๆ    ขนมที่ไปทีไรเป็นซื้อมาทุกทีคือขนมนางเล็ด    

เรามักเลือกกับข้าวที่มีผักมาก    และไม่นิยมของทอดหรือปิ้งย่าง    ตอนแก่รสนิยมมันเปลี่ยนไปเอง    ตอนไปซื้อของที่ตลาดหมู่บ้านเอื้ออาทร ผมจะต้องซื้อแตงกวาลูกเล็กๆ มาเก็บใส่ตู้เย็นไว้เสมอ    สำหรับกินคู่กับแกง    หรือกินคู่กับกับข้าวอย่างอื่นก็ได้    สำหรับผม แตงกวาเป็นตัวช่วยปรุงรส    ผมไม่ใช้นำจิ้มหรือน้ำปรุงรสทั้งหลายใส่อาหารมานับสิบปีแล้ว     เพื่อเลี่ยงทั้งความเค็มและความหวาน    เพราะผมเป็นทั้งความดันและเบาหวาน   

จะเห็นว่า เราใช้จ่ายเรื่องอาหารน้อยมาก     ที่มากกว่าคือค่าซื้อผลไม้    สาวน้อยขาดไม่ได้เลย    เข้าเดือนพฤศจิกายน หมดฤดูลองกองไปนานแล้ว เธอยังสั่งลูกสาวให้หาซื้อลองกองให้      

ผมชอบเดินไปซื้อกับข้าวและผลไม้ที่ตลาดหมู่บ้านเอื้ออาทร    เพราะได้เดินออกกำลังไปในตัว     แล้วยังได้สังเกตชีวิตความเป็นอยู่ และพฤติกรรมของคนที่มีฐานะยากจนกว่าเรา     ถือเป็นโอกาสไปเรียนรู้เชิงสังคม    เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน  สังเกตเห็นความคึกคักที่หน้าแผงขายล็อตเตอรี่    มีคนเดินหรือขี่มอเตอร์ไซคล์มาเป็นระยะๆ     เสียงพูดคุยส่อความคาดหวังโชคลาภ    ซึ่งผมและน้องๆ รวม ๗ คน ไม่มีจริตเรื่องนี้เลย    เราถูกพ่อแม่ทำเป็นตัวอย่างเรื่องความขยันขันแข็งในการงาน ไม่รอโชคลาภ    เราจึงไม่เสียเวลากับการซื้อหวยหรือการบนบานขอลาภจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์    มุ่งใช้เวลาทำงานให้เกิดประโยชน์แท้จริง     แล้วโชคลาภมันก็ตามมากับผลงานและการเรียนรู้ที่สั่งสมไว้    

ที่เล่ามานี้เป็นเพียงนิดเดียวที่ผมได้เรียนรู้จากสังคมคนจน   

คนชรา เดินไปซื้ออาหารในดงคนจน    ได้กำไรการเรียนรู้ด้านสังคม อย่างไม่จบสิ้น   

วิจารณ์ พานิช


หมายเลขบันทึก: 658693เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2018 21:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2018 21:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

This… ‘the walk in markets’…where we can observe lives - less fortunate than us … may be facts but sounds politically demeaning.

We are witnessing (food or hospitality) services by ‘free enterprising people’ who work hard for their families and livelihoods. They will not receive ‘pension’ for years of services to people and the nation (economy). In contrast, many public servants who leech and corrupt… and rewarded for their years of disservices…

Let us have equity and income support for these less fortunate service providers.

อาจารย์เป็นตัอย่างที่ดีในการใช้ชีวิตมากเลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท