ชีวิตที่พอเพียง 3323. ความเสียสละเป็นสิ่งไม่ดี



หนังสือชื่อ In Defense of Selfishness : Altruism is a harmful doctrine that propagates self-sacrifice and subordination    ชื่อเรื่องท้าทายให้อ่าน    ยิ่งผู้เขียนคือ Peter Schwartz เคยเป็น ประธานบอร์ดของ Ayn Rand Institute (1)  ยิ่งน่าสนใจว่าเขามีมุมมองเชิงปรัชญาอย่างไร    ชื่อ Rand อาจชวนไขว้เขวคิดไปถึง RAND Corporation ที่เป็นหน่วยรับทำวิจัย

สาระในเล่มไม่รุนแรงเท่าชื่อหนังสือ    ผมชอบอ่านหนังสือแบบนี้ เพราะมันช่วยให้เรามองเรื่องหรือประเด็นต่างๆ ด้วยมุมมองที่แตกต่างไปจากเดิม    ช่วยให้ความคิดไม่คับแคบ  กล่าวในทางตรงข้ามคือ ช่วยฝึกความใจกว้าง

สาระหลักคือ ความเห็นแก่ตัว (ในลักษณะที่ไม่สุดโต่ง และไร้คุณธรรม) เป็นเรื่องดี    นำไปสู่การให้และการรับอย่างสมดุล    ส่วนการเสียสละในรูปแบบที่มีการรณรงค์ทางการเมืองหรือทางศาสนา    นำไปสู่ลัทธิการปกครองแบบเผด็จการ และสูญเสียความเป็นตัวตนของปัจเจก   

ผู้เขียนโต้แย้งว่า ในบางครั้ง การแบ่งแยก (discrimination)  เป็นเรื่องดี   ตัวอย่างคือ กฎของสายการบิน ที่ห้ามคนตาบอดนั่งในที่นั่งแถวประตูฉุกเฉิน   ซึ่งเป็นการแบ่งแยกที่ถูกต้อง    เพราะเราต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้โดยสารเครื่องบินทั้งลำ    มากกว่าสิทธิของคนตาบอด    

ความเห็นแก่ตัวมีเหตุมีผลกว่าความเสียสละสุดขั้ว การเรียกร้องการเสียสละสุดขั้วมักมากับการอ้างผลประโยชน์สาธารณะ    ซึ่งมากับลัทธิรวมหมู่ (collectivism)    ที่เป็นพื้นฐานความคิดของรัฐสมัยใหม่    ที่มนุษย์เรามีเอกลักษณ์ที่ส่วนที่เป็นปัจเจก และส่วนที่เป็นสมาชิกกลุ่ม    ผลร้ายคือ ทำให้คนเราต้องพึ่งพาสังคมที่ตนเป็นสมาชิก    ไร้เอกลักษณ์ส่วนที่เป็นตนเอง     ผมขอเถียงข้อความส่วนนี้ในหนังสือว่า    มนุษย์เรามีความสามารถอยู่กับและดำรงความซับซ้อนได้ดีกว่าที่เราคิด    เราอยู่กับความย้อนแย้งในสังคม และในความสัมพันธ์ต่างๆ ได้มาก    การบอกว่าการเป็นสมาชิกกลุ่มลบล้างความเป็นปัจเจก จึงไม่น่าเชื่อ

ความเสียสละสุดขั้ว นำไปสู่สังคมของคนไร้จิตใจ   อ่านถึงตรงนี้ ผมก็พอจะเข้าใจผู้เขียนว่า    เขาตีความ altruism ในลักษณะสุดขั้ว    ที่จะต้องพร้อมยอมมอบใจมอบกายให้แก่ “สิ่งสูงสุด”    โดยยกตัวอย่างคำพูดของ Hermann Goering ผู้ก่อตั้งตำรวจเกสตาโป ของนาซีเยอรมัน     กล่าวว่า “หากท่านผู้นำ (ฮิตเล่อร์) ต้องการ  สองคูนสองเป็นห้าได้”    

ผู้เขียนบอกว่า การเสียสละเพื่อคนจน    ทำให้คนจนไม่ขวนขวาย    ช่วยเท่าไรก็อยู่ในสภาพ “ถมไม่เต็ม” ไม่สามารถดึงตัวเองหลุดออกจาก วังวนของความยากจนได้    ตรงนี้ผมเถียงเต็มที่    คนที่คิดอย่างนี้ ไม่เข้าใจสภาพสังคมและความเป็นอยู่ของคนจน    ที่ไม่ใช่แค่มีรายได้ต่ำ    แต่เขามีสภาพสังคมและความเป็นอยู่ที่ไม่เอื้อ    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงสร้างสังคมที่เอื้อต่อคนรวย    และเอาเปรียบคนจน   

คนที่เชื่อใน “ความเสียสละ” (altruism) เข้าใจ “ความเห็นแก่ตัว” (selfishness) ผิด    ผู้เขียนบอกว่า ความเห็นแก่ตัวเป็นคุณสมบัติของความเป็นมนุษย์ ที่จะต้องรักษาชีวิตของตนเหนือสิ่งอื่นใด    การเห็นแก่ตัวจึงเป็นการรักษาคุณค่าส่วนตนไว้     อ่านแล้วผมตีความว่า ผู้เขียนเปรียบเทียบความเห็นแก่ตัวแบบไม่จัด กับความเสียสละแบบสุดขั้ว    และบอกว่า ความเห็นแก่ตัวนำไปสู่ ระบอบทุนนิยมที่ใช้การได้ดี    ส่วนความเสียสละนำไปสู่ระบบทาสที่ไร้ผลิตภาพ    

เป็นวิธีมองสองขั้วตรงกันข้ามแบบนักวิชาการทุนนิยมโดยแท้    โดยเขาไม่เอ่ยถึงความเห็นแก่ตัวแนวพุทธเลย   

ทำให้ผมนึกถึงวลี Greed is good ในหนัง  (1)    เขายกระดับความเห็นแก่ตัวเป็นความโลภ          

วิจารณ์ พานิช

๒ พ.ย. ๖๑


หมายเลขบันทึก: 658648เขียนเมื่อ 10 ธันวาคม 2018 18:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 ธันวาคม 2018 18:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

I am reminded of a book by Thomas Friedman (The Lexus and the Olive Tree) in which he praises capitalism (in the guise of ‘shareholders’ (under his term ‘electronic herd’). Thailand can still remember the Financial crisis (ต้มยำกุ้ง) and George Zoros. That book highlights the evil of capitalism in self-interest modes.

The book says “Damn the people, but save a few bucks!”

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท