พัฒนาการทางภาษา


ความหมายของภาษา
    วิไลวรรณ เกื้อทาน (2553). ภาษาเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ เป็นเครื่องมือช่วยทำให้มนุษย์ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่เป็นนามธรรมต่อกัน เช่นในแง่ภาษาศาสตร์ ภาษา หมายถึง ภาษาที่ใช้พูดเพื่อสื่อความหมายในชุมชนหนึ่ง ๆ ในด้านจิตวิทยา ภาษา หมายถึง ความสามารถในการติดต่อสื่อความหมาย หรือ เพื่อแสดงความรู้สึก และ ความคิด ภาษาจึงหมายถึงการพูด การเขียน ทำท่าทางประกอบการแสดงสีหน้า และการใช้ภาษาใบ้เป็นต้น ประเทิน มหาขันธ์ กล่าวว่า ภาษาเป็นสัญลักษณ์ที่มนุษย์สร้างขึ้นแทนความคิด เพื่อใช้สื่อความหมายทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน
     บุญยงค์ เกศเทศ (อ้างอิงถึงใน Yujin2553) กล่าวว่า ภาษาเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง เพื่อประโยชน์ในการดำเนินชีวิต ดำเนินชีวิตในสังคม

ความสำคัญของภาษา
  กาญจนา นาคสกุล  (อ้างอิงถึงใน Yujin. 2553) กล่าวว่า ภาษาเป็นหัวใจของมนุษย์ เพราะถ้าปราศจากภาษา มนุษย์ย่อมไม่ต่างจากสัตว์ เนื่องจากภาษาเป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารที่สัมพันธ์กับความคิด และการสร้างสรรค์ในสังคมมนุษย์ เป็นเครื่องมือที่ทำให้สังคมมนุษย์เจริญก้าวหน้ามาจนถึงปัจจุบัน และภาษาเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในกระบวนการพัฒนาคน เพราะเป็นปัจจัยหลักที่เกื้อกูลให้เกิดปัจจัยอื่น ๆ

นักทฤษฏีพัฒนาการได้ศึกษาความสำคัญของภาษาที่ว่าเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางสังคมและสติปัญญาของเด็กปฐมวัย

ดวงเดือน ศาสตรภัทร (2529: 214-215)กล่าวว่า ภาษามีความสำคัญ 3 ประการได้แก่
   1.เด็กสามารถจะใช้ภาษาเพื่อการติดต่อสื่อสารกับ บุคคลอื่นและเปิดโอกาสให้เกิดกระบวนการทางสังคมขึ้น

       2. เด็กสามารถใช้ภาษาเป็นคำพูดที่เกิดขึ้นภายในจากรูปแบบของการคิดโดยระบบของการใช้สัญลักษณ์ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการพัฒนาการทางภาษาในระดับต่อไป

       3. ภาษาเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นภายในตัวเด็ก ดังนั้นเด็กจึงไม่ต้องอาศัยการจัดกระทำกับวัตถุจริง ๆ เพื่อแก้ปัญหา เด็กสามารถสร้างจินตนาการถึงแม้นวัตถุนั้นจะอยู่นอกสายตาหรือเคยพบมาแล้ว เด็กสามารถทำการทดลองในสมองและทำการได้เร็วกว่าการจัดกระทำกับวัตถุนั้นจริง ๆ
     จะเห็นได้ว่า ภาษามีความสำคัญต่อกระบวนการพัฒนามนุษย์เนื่องจากเป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารกับบุคคลอื่น ทำให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาทางสติปัญญาและการพัฒนาทางสังคม

       ศรียา นิยมธรรม และประภัสสร นิยมธรรม (2541, หน้า 42-47) ได้พูดถึงองค์ประกอบ ที่มีอิทธิพลต่อพัฒนาการทางภาษา ดังนี้

       1. สุขภาพ การเจ็บป่วยเรื้อรังหรือรุนแรงในช่วงสองปีแรกของเด็ก มักทำให้การเริ่มพูด และการรู้จักประโยคช้าไปราว ๆ 1-2 เดือน เพราะการป่วยทำให้เด็กขาดโอกาสที่จะสมาคมกับเด็กอื่น นอกจากนี้การป่วยทำให้เด็กไม่อยากพูดจากับใคร ส่วนเด็กหูหนวกหรือหูตึงยิ่งเรียนพูดได้ช้า ทั้งนี้ เพราะเด็กไม่มีโอกาสได้ยินคนอื่นหรือแม้แต่คำพูดของตนเอง ทำให้ขาดตัวอย่างในการเลียนแบบ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญยิ่งในการเรียนรู้และพัฒนาภาษา

      2. สติปัญญา ความสำคัญระหว่างสติปัญญาและภาษาเกี่ยวเนื่องกันอย่างชัดเจนและ เพิ่มมากขึ้นจนอายุ 2 ขวบ หลังจากนั้นความสัมพันธ์จะเป็นไปอย่างแน่นแฟ้น เด็กที่มีสติปัญญาต่ำ เท่าใดภาษาพูดก็ยิ่งเลวเท่านั้น ส่วนเด็กที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดพบว่า มีปัญญาดีเยี่ยมทั้งในด้านศัพท์ และการใช้ประโยค

       3. ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม เด็กที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและ สังคมสูงได้มีของเล่น ได้พบเห็นหนังสือ ได้อ่านหรือฟังนิทานเล่าเรื่อง ได้มีโอกาสติดต่อเกี่ยวข้อง กับผู้ใหญ่ทำให้มีโอกาสจะพัฒนาภาษาได้ดีกว่าเด็กที่ถูกปล่อยอยู่ตามลำพังกับเพื่อน

      4. อายุและเพศ นับเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่มีผลต่อพัฒนาการ ทางด้านการใช้ภาษาของเด็ก หากสังเกตจะพบว่าเด็กผู้หญิงจะแสดงการใช้ภาษาพูดได้เหนือกว่า ดีกว่า และเร็วกว่าเด็กผู้ชาย 

      5. ความสัมพันธ์ในครอบครัว จากการศึกษาพบว่า เด็กในสถานสงเคราะห์เลี้ยงดู เด็กกำพร้ามักมีพัฒนาการล่าช้ากว่าเด็กทั่วไป เพราะเด็กเหล่านี้ขาดความสัมพันธ์ส่วนตัวกับแม่ หรือพี่เลี้ยง เด็กลูกสาวคนเดียวมักมีทักษะด้านภาษาสูงกว่าเด็กที่มีพี่น้องในทุกด้าน เพราะเด็ก ลูกคนเดียวอยู่ในความสนใจของแม่มากกว่าและไม่ต้องแข่งขันกับพี่น้อง

       6. การพูดหลายภาษาทำให้เด็กเกิดความสับสนในการพูด ไม่สามารถพูดได้โดยเสรี ต้องคิดอยู่ตลอดเวลาว่าจะพูดอย่างไร จะถูกในโอกาสใด เด็กจะรู้สึกว่ามีปัญหาในการปรับตัว กลัวถูกหัวเราะเยาะหรือเป็นที่รำคาญของคนอื่น ไม่กล้าพูดกับคนอื่นจนกลายเป็นคนเก็บตัว อันเป็นปัญหาทางด้านบุคลิกภาพ เด็กเหล่านี้จะรู้สึกดีขึ้นหากได้อยู่ในภาวะที่มีคนอื่น ซึ่งมีปัญหา คล้ายคลึงกับตนเอง

      7. สิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมนับว่ามีอิทธิพลต่อการพัฒนาด้านการใช้ภาษาของเด็ก เป็นอย่างมาก กล่าวคือ เด็กอยู่ในสิ่งแวดล้อมใด การใช้ภาษาของเด็กก็จะเป็นไปตามสิ่งแวดล้อมนั้น ยิ่งอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีเท่าใด เด็กก็ยิ่งมีโอกาสได้เรียนรู้คำศัพท์แปลกๆ ใหม่ๆ มากขึ้นเท่านั้น

     สรุปได้ว่า องค์ประกอบที่มีอิทธิพลต่อพัฒนาการทางด้านภาษานั้นมีปัจจัยหลาย ๆ อย่างด้วยกัน เช่น สุขภาพร่างกาย สติปัญญา ซึ่งไม่ว่าจะเป็นทางกรรมพันธุ์หรือสิ่งแวดล้อม รวมไปถึง การเรียนก็ล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางด้านภาษาของเด็กเป็นอย่างมาก ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการทางภาษา การที่เด็กแต่ละคนสามารถพัฒนาภาษาพูดและความสามารถในการฟังจนสามารถ ใช้ในการติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นได้นั้น ได้มีผู้ให้ความสนใจศึกษาและกำหนดเป็นทฤษฎีพัฒนาการทางภาษาไว้ดังนี้

       ศรียา นิยมธรรม และประภัสสร นิยมธรรม (2541, หน้า 31-35) ได้สรุปการศึกษาค้นคว้า ทฤษฎีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาษาไว้ดังนี้

     1. ทฤษฎีความพึงพอใจแห่งตน (The autism theory) หรือ(Autistic theory) ทฤษฎีนี้ ถือว่าการเรียนรู้การพูดของเด็กเกิดจากการเลียนเสียงอันเนื่องมาจากความพึงพอใจที่จะทำเช่นนั้น โมว์เรอร์(Mowrer) เชื่อว่าความสามารถในการฟังและความเพลินเพลินจากการได้ยินเสียงของผู้อื่น และเสียงของตนเองเป็นสิ่งสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาการ

      2. ทฤษฎีการเลียนแบบ (The limitation theory) เลวิส (Lewis) ได้ศึกษาเกี่ยวกับ การเลียนแบบในการพัฒนาการทางภาษาอย่างละเอียด ทฤษฎีนี้เชื่อว่าพัฒนาการทางภาษานั้น เกิดจากการเลียนแบบ ซึ่งอาจเกิดจากการมองเห็นหรือการได้ยินเสียง

       3. ทฤษฎีการเสริมแรง (Reinforcement theory) ทฤษฎีนี้อาศัยจากหลักทฤษฎีการเรียนรู้ ซึ่งถือว่าพฤติกรรมทั้งหลายถูกสร้างขึ้นโดยอาศัยการวางเงื่อนไขไรน์โกลด์ (Rhiengold) และ คนอื่น ๆ ศึกษาพบว่า เด็กจะพูดมากขึ้นเมื่อได้รับรางวัล หรือได้รับการเสริมแรง 

       4. ทฤษฎีการรับรู้(Motor theory of perception) ลิเบอร์แมน (Liberman) ตั้งสมมติฐาน ได้ว่าการรับรู้ทางการฟังขึ้นอยู่กับการเปล่งเสียง จึงเห็นได้ว่าเด็กมักจ้องหน้าเวลาเราพูดด้วย การกระทำเช่นนี้อาจเป็นเพราะเด็กฟัง และพูดซ้ำกับตนเองหรือหัดเปล่งเสียงโดยอาศัยการอ่าน ริมฝีปากแล้วจึงเรียนรู้คำ

       5. ทฤษฎีความบังเอิญจากการเล่นเสียง (Babble buck) ซึ่งธอร์นไดค์(Thorndike) เป็นผู้คิด โดยอธิบายว่าเมื่อเด็กกําลังเล่นเสียงอยู่นั้น เผอิญมีบางเสียงไปทำให้เด็กพัฒนาภาษา

        6. ทฤษฎีชีววิทยา (Biological theory) เลนเนเบอร์ก(Lenneberg) เชื่อว่าพัฒนาการ ทางภาษานั้นมีพื้นฐานชีววิทยาเป็นสำคัญ กระบวนการที่คนพูดได้ขึ้นอยู่กับการเปล่งเสียง เด็กจะเริ่มส่งเสียงอ้อแอ้และพูดได้ตามลำดับ

        7. ทฤษฎีการให้รางวัลของแม่ (Mother reward theory) ดอลลาร์ด (Dollard) และมิลเลอร์ (Miller) เป็นผู้คิดทฤษฎีนี้โดยย้ำเกี่ยวกับบทบาทของแม่ในการพัฒนาภาษาของเด็กว่าภาษาที่แม่ใช้ เป็นการเลี้ยงดูเพื่อสนองความต้องการของลูกนั้นเป็นอิทธิพลที่ทำให้เกิดภาษาพูดแก่ลูก

       สรุปได้ว่า ทฤษฎีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการทางภาษาได้พูดถึงการเรียนรู้ภาษาของเด็กเกิดจากหลายด้าน ได้แก่พื้นฐานทางชีววิทยาการเล่นเสยงการเลียนแบบ การหัดเปล่งเสียง แบบต่างๆ และสิ่งที่สำคัญคือการตอบสนองจากบุคคลใกล้ชิด ด้วยการโต้ตอบให้การเสริมแรง และเป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้ภาษา พัฒนาการทางภาษา ในการส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการทางภาษาที่ดีนั้น ครูและผู้ที่เกี่ยวข้องควรมีความรู้ เกี่ยวกับลำดับขั้นตอนในการพัฒนาของภาษาเพื่อหาวิธีส่งเสริมให้ถูกต้อง และเหมาะสมกับเด็ก ในแต่ละช่วงวัย

        นภเนตร ธรรมบวร (2544, หน้า 114-115) ได้กล่าวถึงพัฒนาการทางภาษาของ เด็กแรกเกิดถึง 6 ปีไว้ดังนี้ 19 ตารางที่1 แสดงพัฒนาการทางภาษาของเด็กตั้งแต่วัยแรกเกิดถึง 6 ปี อายุ พัฒนาการทางภาษา แรกเกิด 5-6 สัปดาห์ 3 เดือน 6 เดือน 9 เดือน 1 ปี 2 ปี 3-4 ปี - ปกติจะไม่ออกเสียง จะทำเสียงเมื่อร้องไห้ สะอึก จาม เรอ - เริ่มทำเสียง เล่นเสียงโดยเฉพาะเมื่อมีคนมาเล่น หยอกล้อ – ชอบเล่นเสียงและทำเสียงตอบผู้อื่น หยุดฟังขณะที่ผู้อื่นทำเสียงพูด - หัวเราะและส่งเสียงถ้ามีคนมาเล่นด้วย ถ้าไม่พอใจก็ร้องกรี๊ดกร๊าด ชอบเล่นเสียงและออกเสียง เช่น “เกอ” “เคอ” เป็นต้น - เลียนเสียงผู้ใหญ่ ชอบออกสียงเป็นคำ เช่น “หม่า หม่า” “ดา ดา” โดยออกเสียงช้าๆ กันบ่อยๆ – เริ่มเข้าใจความหมายของคำ เช่น “ส่งให้แม่” และออกเสียงคำที่มีความหมาย ได้ 1-2 คำ เช่น “แม่” “บ๊าย บาย” พูดได้ประมาณ 6-20 คำ - พูดได้ประมาณ 50 คำ และบางทีก็พูดเป็นประโยคสั้น ๆ ได้ เริ่มใช้คำแทน ตนเอง เริ่มตั้งคำถาม และเข้าใจเรื่องที่ผู้อื่นพูดด้วย – รู้จักคำศัพท์มากขึ้นนับเลขได้ - ช่างพูด บอกได้ว่าต้องการอะไร - เริ่มถามว่าอะไร อย่างไร เมื่อไร ทำไม - รู้จักทิศทาง เช่น บน ล่าง - เรียกชื่อสิ่งของที่คุ้นเคยได้ - สนใจหนังสือเกี่ยวกับสัตว์และนิทานต่างๆ - พูดจามีเหตุผล พูดมากขึ้น และมีคำศัพท์ใหม่ พูดประโยคยาวๆ ได้มากขึ้น รู้จักใช้สรรพนามแทนตัวเอง เช่น ผม หนู เป็นต้น – จำคำศัพท์ได้ประมาณ 1,550-1,900 คำ

        (เยาวพา เดชะคุปต์, 2542, หน้า 60-62) ได้แบ่งพัฒนาการทางภาษาออกเป็น 7 ขั้น คือ

       1. ระยะอ้อแอ้ (Random stage) เป็นระยะที่เด็กแรกเกิดถึง 6 เดือน ระยะนี้เป็นระยะที่เด็ก จะเปล่งเสียงธรรมชาติต่างๆ ที่ยังไม่มีความหมายออกมา เช่น อ้อแอ้ เสียงร้องไห้ การเปล่งเสียง ของเด็กในช่วงนี้ก็เพื่อบอกถึงความต้องการของเด็ก เช่น หิวจะร้องไห้ เสียงอ้อแอ้แสดงความพอใจ เมื่อได้รับการตอบสนอง

       2. ระยะแยกแยะ (Jargon stage) เป็นระยะที่เด็กอายุ 6 เดือนถึง 1 ปี สามารถแยกเสียงต่าง ๆ ที่เขาได้ยิน ถ้าเด็กรู้สึกพอใจที่จะได้ส่งเสียงและถ้าเสียงใดที่เขาเปล่งออกมาได้รับการตอบสนอง ในทางบวก เขาพอใจเขาก็จะเปล่งเสียงนั้นซ้ำอีก ในบางครั้งเขาจะเริ่มมีเสียงเล็กสูง ๆ ต่ำ ๆ ที่มีคน คุยด้วยเสียงที่เปล่งออกมายังไม่มีความหมาย

       3. ระยะเลียนแบบ (Imitation stage) เป็นระยะที่เด็กอายุ 1-2 ปี เริ่มเลียนเสียงต่าง ๆ ที่ได้ยินจากพ่อแม่ผู้ที่ใกล้ชิด เสียงที่เปล่งออกมาเริ่มมีความหมายมากขึ้นเป็นการเริ่มพัฒนา ทางด้านภาษา

       4. ระยะขยายความ (The stage of expansion) เป็นระยะที่เด็ก 3-4 ปี เด็กเริ่มหัดพูด โดยเริ่มเรียกชื่อคนที่ใกล้ชิด สัตว์ สิ่งของที่อยู่ใกล้ตัว เริ่มจะเข้าใจในสัญลักษณ์ในการสื่อความหมาย ส่วนมากเด็กจะเริ่มพูดคำนามโดด ๆ เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง หมา แมว นก ฯลฯ

       5. ระยะโครงสร้าง (Structure stage) เป็นระยะที่เด็กอายุ 4-5 ปี เริ่มพัฒนาความสามารถในการเรียนรู้ รับรู้ และการสังเกตการณ์พูดคำเป็นวลี เป็นประโยคสั้น ๆ เช่น กินข้าว ขอไปด้วย แม่ไปตลาด ไปเที่ยว ฯลฯ

       6. ระยะตอบสนอง (Responding stage) เป็นระยะที่เด็กอายุ 5-6 ปี เริ่มมีความสามารถ ในการคิดและการพัฒนาทางภาษาที่สูงขึ้น เป็นแบบแผนมากขึ้น เริ่มใช้ไวยากรณ์อย่างง่าย ๆ รู้จักคำมากขึ้น การสื่อความหมายในระยะนี้เป็นระยะที่เกิดขึ้นตามสิ่งที่เขามองเห็นและสิ่งที่เขารับรู้ เช่น การพูดคุยในสิ่งที่เกี่ยวข้องในขณะนั้น เช่น ขอโทษเมื่อทำผิดโดยไม่ตั้งใจ การรู้และใช้คำศัพท์ ในระยะนี้ประมาณ 3,000-3,500 คำ

      7. ระยะสร้างสรรค์ (Creative stage) เด็กอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป ระยะนี้เด็กเริ่มเข้าโรงเรียน เด็กมีการพัฒนาด้านภาษาไปอย่างรวดเร็ว เด็กจะสนุกกับคำศัพท์ต่าง ๆ เริ่มรู้จักถ้อยคำ สำนวน ที่สร้างสรรค์ไพเราะขึ้น เริ่มรู้จักพูดสิ่งที่เป็นนามธรรมมากขึ้น และจะเริ่มในการพูดและการเขียน ไปในขณะเดียวกัน เช่น เด็กบางคนชอบวาดรูปพร้อมกับอธิบายเล่นไปด้วย

       จากพัฒนาการทางภาษาจะเห็นได้ว่า เมื่อเด็กมีอายุมากขึ้น พัฒนาการทางภาษาจะสูงขึ้น คำศัพท์ที่เรียนรู้จะเพิ่มมากขึ้น ประโยคมีความซับซ้อนและใช้โครงสร้างของประโยคได้หลายรูปแบบ เด็กที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีการส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาจะมีการเรียนรู้คำศัพท์และรูปแบบ ประโยคที่เห็นได้อย่างชัดเจน 

       พัฒนาการทางภาษาด้านการอ่านของเด็กปฐมวัย Holdaway (1979)ได้จัดพฤติกรรมการอ่านของเด็กปฐมวัยตามลำดับพัฒนาการไว้ดังนี้

 ขั้นที่ 1 Emergent reading

     1. ดูหนังสือเรื่องที่ชอบ พูดข้อความในหนังสือด้วยภาษาของตน ทำท่าทางเหมือนอ่าน หนังสือ

     2. จับใจความและตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อเรื่องโดยการใช้ประสบการณ์ตรง

     3. ไม่สนใจข้อความตามลำดับของเรื่อง

     4. อ่านเรื่องสั้น ๆ ที่บอกให้ครูบันทึกให้

      5. อ่านและเขียนตัวขีดเขี่ย (Scribbles)

     6. อ่านด้วยตัวอักษรแล้วพยายามลอกหรือเขียนทับ

ขั้นที่ 2 Advanced emergent reading

     1. การกวาดตามองข้อความตามบรรทัด ดูข้อความที่มีตัวหนังสือใหญ่และเขียนเว้นคำ

     2. ตรวจสอบความถูกต้อง โดยการเดาจากประสบการณ์เดิมและจดสิ่งชี้แนะ

     3. อ่านข้อความที่มีตัวอักษรและคำที่เห็นกันอยู่เป็นประจำ

     4. หาคำที่มีตัวอักษรที่คล้ายคลึงกันโดยการตรวจสอบจากจุดที่เริ่มต้นของประโยค

 ขั้นที่ 3 Emergent to early reading

     1. รู้จักคำที่อยู่ในชีวิตประจำวันเมื่อเห็นคำนั้นในบริบทหรือสิ่งแวดล้อม

     2. คาดเดาคำใหม่โดยดูรูปประโยคและความหมาย

     3. กวาดสายตาถูกทิศทางเมื่อมองข้อความที่คุ้นเคย

     4. ชี้ และบอกชื่อของตัวอักษรส่วนใหญ่ได้

     5. พิจารณาตัวอักษรบางตัวเพื่อจะบอกว่าคือตัวอะไรแล้วพยายามลอกและตกแต่งรูปร่าง ของตัวอักษร

     6. จำคำบางคำที่มีพยัญชนะต้นเหมือนกันได้

 ขั้นที่ 4 Emergent reading

     1. ชี้หรือกวาดตามองจุดเริ่มต้นและจุดจบของคำบางคำ

     2. ใช้เสียงพยัญชนะต้นที่รู้จักในการคาดเดาและตรวจสอบคำที่จบ

     3. บอกข้อสังเกตที่แสดงว่ารู้คำว่าคำ ๆ เดียวกันสามารถผสมกับคำอื่นกลายเป็นคำใหม่ เช่น เด็กชาย เด็กหญิง แม่ค้า แม่น้า

     4. ลอกหรือเขียนสื่อความหมายโดยใช้ภาษาง่าย ๆ ของตนเองใช้รูปประโยคที่ถูกต้อง และกลับมาอ่านได้

     5. เล่นเกมโดยใช้บัตรคำที่มีคำคุ้นเคยหรือเรียงบัตรคำให้เป็นประโยคได้ถูกต้อง

     6. ชี้หรือกวาดตามองจุดเริ่มต้นและจุดลงท้ายของประโยค

ขั้นที่ 5 Advance early reading

     1. คาดเดาข้อความจากสิ่งชี้แนะโดยดูพยัญชนะตัวแรกของคำประกอบกับความรู้เดิม เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรูปตัวอักษรกับเสียงอักษร

     2. จำ และตรวจสอบตัวอักษรที่สัมพันธ์กับเสียงของคำ

     3. ตรวจสอบคำที่อ่านด้วยการชี้ตัวอักษรในคำพร้อม ๆ กับออกเสียงไปด้วย

     4. ใช้รูปและเสียงตัวอักษรเป็นหลักในการสะกดคำใหม่ที่ไม่รู้จักหรือคำที่ไม่แน่ใจ

      พัชรี ผลโยธิน และ วรนาท รักสกุลไทย (2543, หน้า 20-21) ได้อธิบายขั้นตอนของการอ่าน ของเด็กไว้ดังนี้

     ขั้นที่ 1 - คาดเดาภาษาหนังสือ - แก้ไขความผิดพลาดของความหมายด้วยตนเอง - พยายามใช้ประสบการณ์จากการพูดคุยกลับมาเป็นภาษาที่ใช้อ่าน 

     ขั้นที่ 2 - แก้ไขความผิดในประโยคด้วยตนเอง - ตระหนักว่าตัวหนังสือมีรูปร่างคงที่ – สามารถชี้บอกคำที่เหมือนกันซึ่งอยู่ในหน้าเดียวกัน - สามารถมองตามตัวอักษรบนแผ่นกระดาษขนาดใหญ่ได้

     ขั้นที่ 3 - จำคำที่คุ้นเคยได้ - คาดคะเนความหมายจากบริบท - ใช้วิธีการอ่านไปในทิศทางเดียวกันจนเป็นนิสัย - สามารถระบุและบอกชื่อตัวอักษรได้เกือบหมด

     ขั้นที่ 4 - เข้าใจเกี่ยวกับการเริ่มต้นและการลงโทษเมื่อนำมาใช้ในการเดาคำ – ใช้เสียงช่วงต้นของคำในการเดาคำใหม่ๆ ในบริบท - สามารถใช้คำที่รู้จักมาแต่งประโยคได้

     ขั้นที่ 5 - ในการแก้ปัญหาการอ่านคำ ใช้เสียงเริ่มต้นและเสียงควบกล้ำไปพร้อมกับคำบอกใบ้ ของบริบท – สามารถรู้ว่าเสียงของคำที่ได้ยินประกอบด้วยตัวอักษรอะไร – สร้างคำศัพท์จากสิ่งที่พบเห็นได้มากขึ้น

      สรุปได้ว่า พัฒนาการทางการอ่านของเด็กปฐมวัย หมายถึง การที่เด็กเชื่อมโยงความคิด จากภาพสัญลักษณ์ต่าง ๆ ด้วยการค้นหาความหมายจากตัวอักษรเพื่อสื่อความหมายออกมา โดยในขั้นแรกจะได้แก่ การคาดเดาภาษา การแก้ไขความผิดในประโยคด้วยตนเอง จนถึงการรู้จัก แก้ปัญหาในการอ่านคำ และสามารถสร้างคำจากสิ่งที่พบเห็นได้มากขึ้น พัฒนาการทางภาษาด้านเขียนของเด็กปฐมวัย การเขียนเป็นการถ่ายทอดความคิด ความรู้สึกและความเข้าใจของตนเองออกมาเพื่อสื่อ ความหมายให้ผู้อื่นเข้าใจและเป็นเครื่องมือสำหรับพัฒนาความคิดสติปัญญา ตลอดจน เจตคติ ด้วยการเขียนจึงเป็นทักษะการแสดงออกที่สำคัญและสลับซับซ้อน

     การเขียนของเด็กแต่ละวัยมีความแตกต่างกัน เริ่มจากการลากเส้นที่ยังไม่มีความหมายไป จนถึงการลากเส้นที่มีความหมายสร้างสัญลักษณ์และสื่อความหมายได้โลเวนเฟรต (Lovenfred, n.d. อ้างถึงใน สุภาพ กิตติสาร, 2530, หน้า 26)ได้กล่าวถึงพัฒนาการในการเขียนของเด็ก ดังนี้

      1. เด็กในช่วง 2-4 ปีจะมีพัฒนาการในการเขียนโดย หยิบจับ ขีดเขียนอย่างสะเปะสะปะ เพราะยังไม่สามารถบังคับมือได้จนกระทั้งประสาทมือเริ่มสัมพันธ์กับการควบคุมสายตาในงานที่ทำได้จะเริ่มเขียนลากเส้นที่สะเปะสะปะไปสู่เส้นโค้ง มีการวนซ้ำเส้นเดิม มีทั้งเส้นในแนวดิ่งและ เส้นแนวนอน และจะลากเป็นวงกลม จากนั้นเริ่มเล่าถึงการขีดเขียน เริ่มสนใจ และสำรวจสิ่งต่าง ๆ รอบตัว สามารถแสดงออกมาในเส้นที่ตนขีดเขียน

       2. เด็กวัย 4-7 ปีจะมีพัฒนาการในการเขียนโดยการขีดเขียนนั้นเริ่มมีความหมายชัดเจน ยิ่งขึ้นเป็นการเริ่มต้นสื่อสารด้วยภาพ เด็กเริ่มสร้างแบบในการวาดของตนแบบแผนหรือสัญลักษณ์แรกที่เด็กทำขึ้น ได้แก่คน เพราะเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเด็กมากที่สุด

      ทิศนา แขมมณี(2536, หน้า 76-77) ได้แบ่งพฤติกรรมการเขียนตามธรรมชาติของเด็ก ปฐมวัยออกเป็น 7 ลักษณะ ดังนี้

1. วาดแทนเขียน เด็กสื่อการคิดโดยใช้การวาดแทนเขียน

2. ขีดเขี่ยแทนเขียน เด็กพยายามที่จะเขียนหนังสือแบบผู้ใหญ่แต่การเขียนของเด็กคือ การขีดเขี่ยในระยะแรกเด็กอาจขีดเขี่ยไปทั่วหน้ากระดาษอย่างไม่มีระบบต่อมาเด็กจะรู้จักขีดเขี่ย จากซ้ายไปขวา สิ่งที่ขีดเขี่ยดูคล้ายตัวหนังสือมากกว่าภาพ

3. เขียนทำเครื่องหมายคล้ายตัวหนังสือเด็กพยายามเขียนตัวหนังสือบางตัวคล้ายตัวอักษร บางตัวก็ไม่คล้ายตัวอักษรแต่เป็นรูปร่างตัวอักษรที่เด็กคิดขึ้นเอง

4. เขียนตัวอักษรที่รู้จักด้วยวิธีที่คิดขึ้นเอง เด็กอาจเขียนคำที่เขียนได้แล้ว เช่น ชื่อ ของตัวเองด้วยการสลับที่ตัวอักษรหรืออาจเขียนตัวอักษรสลับ

 5. คัดตัวอักษร เด็กอาจคัดลอกตัวอักษรที่เน้นอยู่รอบตัว หรือบอกข้อความที่ต้องการ จะเขียนให้ผู้ใหญ่ช่วยเขียนให้แล้วจึงนำไปลอก บางครั้งอาจเป็นการลอกหมดทุกตัว บางครั้ง เป็นการลอกเฉพาะคำที่ต้องการไปผสมกับคำที่เขียนได้แล้ว

6. เขียนโดยคิดสะกดขึ้นเอง เด็กจะคิดวิธีสะกดขึ้นเองเมื่อเขาไม่ทราบวิธีสะกด แบบผู้ใหญ่ เช่น เด็กเขียน คม แทนคำว่า ดอกไม้

 7. เขียนสะกดคำใกล้เคียงหรือเหมือนกับวิธีสะกดของผู้ใหญ่ เช่น เขียนว่า “ขอบคุณค่ะ” โดยผสมพยัญชนะ และสระตามเสียงของคำที่เขาพูดหรือได้ยิน

      นิตยา ประพฤติกิจ(2539, หน้า 178-179) ได้แบ่งพัฒนาการทางการเขียนของเด็กปฐมวัย ได้ดังนี้ เด็ก 2 ขวบ ลากเส้นขยุกขยิกลากเส้นตามรูปวงกลมได้จับดินสอหรือปากกา โดยใช้ทั้งมือจับและทั้งแขนขยับเขยื้อนจะขีดเขียนจนเต็มหน้ากระดาษ พอใจกับรอยขีดเขียนตนเอง เด็ก 3 ขวบ ชอบเขียนตัวอักษรตัวโต ๆ ทุกหนทุกแบบชอบวาดและระบายสี  เด็ก 4 ขวบ จดจำอักษรบางตัวได้รวมทั้งจำชื่อตนเองได้อาจเขียนชื่อตนเองได้หรือเขียน ได้เป็นบางตัว ชอบวาดและระบายสีการวาดรูปคน วาดแค่เพียงเส้นตรงแนวตั้งและร่างแบบหยาบ ๆ แต่วาดรูปกลมและสี่เหลี่ยมได้ เด็ก 5 ขวบ เขียนชื่อตนเองได้การเขียนพยัญชนะตัวเลขอาจเขียนไม่เรียงลำดับ และบางที่เขียนหัวกลับก็มีสามารถเขียนตัวเลขได้แต่ตัวไม่เท่ากัน และมีขนาดพอดีๆ จับดินสอ ปากกา หรือพู่กันได้ดีขึ้น ชอบวาดและระบายสีสามารถวาดภาพที่ยกขึ้นได้และภาพมีความสมบูรณ์มากขึ้น ชอบเลียนแบบสามารถวาดรูปสี่เหลี่ยมและวงกลมเข้าด้วยกัน ชอบถามถึงตัวสะกดของคำ

       ราศี ทองสวัสดิ์(2527, หน้า 29) กล่าวว่าการสอนหนังสือในระดับปฐมวัยส่วนใหญ่นั้น จะเป็นในลักษณะที่ครูเริ่มสอน อ่าน-เขียน เร็วแต่เด็กมิได้เรียนรู้ไปด้วยการจะเรียนอ่านเขียนได้ช้า หรือเร็วย่อมเป็นไปตามพัฒนาการของเด็ก

     อิลลิส (Ellis, 1994, p. 277) กระบวนการเขียนของเด็ก ประกอบด้วย4 ขั้นตอนด้วยกัน คือ

     1. ขั้นก่อนเริ่มการเขียน (Prewriting) ขั้นนี้เป็นการเตรียมความพร้อมในการเขียนคิดเกี่ยวกับหัวข้อที่จะเขียน ครูสังเกตได้จากสิ่งที่เด็กมักชอบพูดถึง

     2. ขั้นร่าง (Drafting) ขั้นนี้มีความสำคัญมากคือการเปิดโอกาสให้เด็กพูดเกี่ยวกับสิ่ง ที่เขาคิดออกแบบที่จะเขียนและร่างงานเขียน

     3. ขั้นแก้ไข(Revising) เป็นขั้นให้เวลาเด็กตัดสินใจแก้ไขงานของตน ครูอาจให้คำแนะนำ โดยกระตุ้นให้เด็ดได้คิดหลายแง่มุม

      4. ขั้นปรับปรุง (Editing) เป็นขั้นสุดท้ายเด็กต้องอ่านทบทวนตรวจตัวสะกด รูปแบบ การเขียน เครื่องหมายต่าง ๆ และอื่น ๆ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจงานเขียนยิ่งขึ้น

   สรุปได้ว่า พัฒนาการด้านการเขียนเขียนของเด็กปฐมวัยจะเริ่มจากการวาดรูปเพื่อสื่อ ความคิดโดยการขีด ๆ เขียน ๆ การคิดแบบเขียนของตัวเองการคัดลอกตัวอักษรจากแบบ จนกระทั่ง สามารถเขียนและสะกดได้ถูกต้องตามแบบการเขียนจริง ซึ่งจะเหมือนการเขียนของผู้ใหญ่ กระบวนการเขียนของเด็ก และผู้ใหญ่แตกต่างกันที่วุฒิภาวะ พัฒนาการ และประสบการณ์ การเรียนรู้ทางภาษาของเด็กปฐมวัย ตามความเป็นจริงเด็กมีประสบการณ์ทางภาษาอย่างผิวเผิน จากการมีปฏิสัมพันธ์ โดยปราศจากการฝึกสอนเป็นพิเศษภายในเวลาอันสั้น ในขณะที่เด็กมีพัฒนาการทางสติปัญญา ขั้นแรกเริ่มของการใช้เหตุผลแต่เด็กสามารถเรียนรู้ภาษาในระดับลึกเป็นนามธรรมและมีโครงสร้างทางภาษาศาสตร์ที่ซับซ้อนอยู่ในระดับสูง นอกจากจะเรียนรู้โครงสร้างทางภาษาในชุมชนของตนแล้ว เด็กยังเรียนรู้กฎอันซับซ้อนซึ่งเป็นพื้นฐานการใช้ด้วย เด็กเรียนรู้ว่าจะพูดเมื่อไรอย่างไร พูดอะไร กับใคร

      (หรรษา นิลวิเชียร, 2535, หน้า 203-207) ทัศนะนักพฤติกรรมศาสตร์(The behaviorist view) กล่าวว่าการเรียนรู้ภาษาของเด็กเป็นการเรียนรู้ที่เกิดจากผลการปรับสิ่งแวดล้อมของแต่ละบุคคลที่มีอยู่ในตนเอง ในขณะที่เด็กเจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แรงเสริมในทางบวกจะถูกนำมาใช้เมื่อภาษาของเด็กใกล้เคียง หรือถูกต้อง ตามภาษาผู้ใหญ่ซึ่งนักพฤติกรรมศาสตร์มีความเชื่อเกี่ยวกับการเรียนภาษาของเด็กคือ

     1. เด็กเกิดมาโดยมีศักยภาพในการเรียนรู้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ โดยปราศจากความสามารถพิเศษด้านการเรียนด้านใดด้านหนึ่ง

      2. การเรียนรู้ซึ่งรวมทั้งการเรียนทางภาษา เกิดขึ้นโดยสิ่งแวดล้อมเป็นผู้ปรับพฤติกรรม ผู้เรียน

      3. พฤติกรรมทั่วไปรวมทั้งภาษาถูกปรับโดยแรงเสริมจากการตอบสนองที่เกิดจากสิ่งเร้า

      4. ในการปรับพฤติกรรมที่ซับซ้อนอย่างเช่นภาษา จะมีกระบวนการเลือก หรือทำให้ตอบสนองเฉพาะเจาะจงขึ้น โดยผ่านการให้แรงเสริมทางบวกถึงแม้ว่าการตอบสนองทั่วไป และชนิดง่ายๆ จะได้แรงเสริมทางบวกตั้งแต่ต้นแต่การให้แรงเสริมในระยะหลังๆ จะถูกนำมาใช้กับการตอบสนองที่ซับซ้อน และใกล้เคียงกับเป้าหมายทางพฤติกรรมสูงสุด ทัศนะของนักทฤษฎีสภาวะติดตัวโดยกำเนิด (The nativist view)

       นักทฤษฎีเชื่อเกี่ยวกับกฎธรรมชาติหรือกฎเกี่ยวกับสิ่งที่มีมาแต่กำเนิด มีความคิดเห็นเกี่ยวกับการเรียนรู้ภาษาของเด็กแตกต่างจากนักพฤติกรรมศาสตร์สองประการสำคัญ คือ

    1. การให้ความสำคัญต่อองค์ประกอบภายในบุคคลเกี่ยวกับการเรียนรู้ภาษา

    2. การแปลความบทบาทขององค์ประกอบทางสิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้ภาษา

     ชอมสกี้, แมคนีลและเล็นเบิร์ก(Chomsky, McNeill and Lenneberg, n.d. อ้างอิงถึงใน หรรษา นิลวิเชียร, 2535, หน้า 206) เป็นผู้ที่มีความเชื่อว่า เด็กเกิดมาด้วยความสามารถทางภาษา เด็กทุกคนเกิดมาโดยมีโครงสร้างทางภาษาศาสตร์อยู่ในตัว ซึ่งได้แก่โครงสร้างทางการเรียนรู้ทางด้านความหมาย ประโยคและระบบเสียง เด็กจะมีขั้นของการพัฒนาทางร่างกายและขั้นตอน ทางภาษาเกี่ยวโยงและสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด โดยที่ความสามารถทางการเรียนภาษาของเด็ก จะถูกวางโปรแกรมไว้ในตัวและมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมที่เด็กได้รับ ทัศนะของนักสังคมศาสตร์(The socialist view) หรือทฤษฎีวัฒนธรรมให้ความสนใจ เกี่ยวกับผลกระทบของสิ่งแวดล้อมทางภาษาของผู้ใหญ่ที่มีต่อพัฒนาการทางภาษาของเด็ก ผลการวิจัยกล่าวว่าวิธีการที่ผู้ใหญ่หรือพ่อแม่ปฏิบัติต่อเด็กมีผลต่อพัฒนาการทางภาษา และพัฒนาการทางสติปัญญาของเด็กวิธีการเหล่านั้นได้แก่การอ่านหนังสือให้เด็กฟังการสนทนา ระหว่างรับประทานอาหารการแสดงบทบาทสมมุติการสนทนา เป็นต้น

     หรรษา นิลวิเชียร(2535, หน้า 204) ได้สรุปหลักการไว้4 ประการ ดังนี้

     1. สิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับวิธีการเรียนรู้ของเด็กการส่งเสริมให้เด็กได้สำรวจ ปฏิบัติจริงกระทำด้วยตนเองอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นอิสระรู้จักสังเกต ตั้งสมมติฐาน ผู้ใหญ่ ไม่ควรเป็นผู้ออกคำสั่งอย่างเดียวควรให้เด็กเป็นผู้ตั้งคำถามบ้าง

    2. สิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กและบุคคลรอบข้าง เด็กควรได้สื่อสาร แบบสองทางซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการสื่อสาร บุคคลที่เด็กมีปฏิสัมพันธ์ด้วยได้แก่พ่อแม่ เพื่อน ญาติพี่น้อง เป็นต้น

    3. สิ่งแวดล้อมที่เน้นความหมายมากกว่าด้านรูปแบบ พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ควรยอมรับ การสื่อสารของเด็กในรูปแบบต่าง ๆ กัน โดยคำนึงถึงความหมายที่เด็กต้องการจะสื่อออกมา เป็นสิ่งสำคัญกว่าการพูดด้วยรูปแบบไวยากรณ์ที่ถูกต้องเรียงภาษาจากง่าย ๆ ไปสู่ที่ซับซ้อน

    4. สิ่งแวดส้อมที่ประกอบด้วยความหลากหลาย ทั้งด้านวาจาและไม่ใช่วาจาเด็กควรจะได้รับประสบการณ์และการมีปฏิสัมพันธ์ในหลาย ๆ รูปแบบเพราะประสบการณ์จะมีส่วนช่วย ด้านการแสดงออกทางภาษา จะเห็นได้ว่าการเรียนภาษาของเด็กจะต้องจัดสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้อง กับการเรียนรู้ของเด็กให้เด็กมีโอกาสได้มีปฏิสัมพันธ์ได้ลงมือกระทำ ได้สังเกตสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบ ๆ ตัวเพราะสิ่งแวดล้อมจะช่วยปรับพฤติกรรมที่เรียนให้เกิดการเรียนรู้ต่อไปได้อย่างรวดเร็ว และมีความก้าวหน้าทางด้านภาษาต่อๆ ไป ในการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้นำทัศนะของนักทฤษฎีหลาย ๆ ท่านมาวิเคราะห์เพื่อเป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมเพื่อให้เด็กมีประสบการณ์การเรียนรู้ทางภาษาที่หลากหลาย และนำหลักพัฒนาการทางภาษาในเด็กวัย 5-6 ปี มาใช้เป็นเกณฑ์ในการพัฒนาทักษะทางภาษาด้านการอ่านและการเขียน ของเด็กปฐมวัย

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

       จีรวรรณ นนทะชัย (2555, หน้า 73) ได้ศึกษาเกี่ยวกับความสามารถทางด้านการพูดของเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดประสบการณ์เล่านิทานประกอบการวาดภาพ ผลการวิจัยพบว่าหลังการทดลองระดับความสามารถทางด้านการพูดของเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมการแสดงประกอบการเล่านิทาน โดยรวมและรายด้านอยู่ในระดับดีทั้งสามด้าน ได้แก่ ด้านการพูดคำศัพท์การพูดประโยค และการพูดเรื่องราว มีค่าสูงกว่าก่อนจัดกิจกรรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ .01

       ณัฐวดี ศิลากรณ์ (2556, หน้า 58-59) ได้ศึกษาเกี่ยวกับ ความสามารถทางการพูดของเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเล่านิทานประกอบหุ่น ผลการวิจัยพบว่า หลังการทดลองระดับความสามารถด้านการพูดของเด็กปฐมวัยหลังการจัดกิจกรรมเล่านิทานประกอบหุ่นมีค่าสูงกว่าก่อนการจัดกิจกรรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01

       มยุรี กันทะลือ (2543, หน้า 60) ได้ศึกษาผลของการจัดกิจกรรมการอ่านตามแนวการสอนภาษาแบบธรรมชาติต่อพัฒนาการด้านการอ่านภาษาไทยของเด็กปฐมวัยที่พูดภาษาถิ่นอายุระหว่าง 5-6 ปี จำนวน 10 คน ผลการวิจัยพบว่าหลังการทดลอง เด็กปฐมวัยมีพัฒนาการด้านการอ่านภาษาไทยสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

       รัชนี หลงขาว และสุวลัย มหากันทา(2556)ได้ศึกษาผลของการใช้นิทานที่มีต่อการรับรู้ความมีระเบียบวินัยของเด็กปฐมวัยเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดประสบการณ์โดยใช้นิทาน มีการรับรู้ความมีระเบียบวินัยหลัง การจัดประสบการณ์สูงกว่าก่อนการจัดประสบการณ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

       วรรณิษา หาคูณ และคณะ(2559) ได้ศึกษาพฤติกรรมการอ่านของเด็กปฐมวัยเด็กปฐมวัยที่ได้รับกิจกรรมหนังสือนิทาน ก่อนการทดลองระหว่างการทดลอง และหลังการทดลอง มีค่าคะแนนเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ ระดับ .01

บรรณานุกรม

จีรวรรณ นนทะชัย. (2555). ความสามารถทางด้านการพูดของเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดประสบการณ์เล่านิทานประกอบการวาดภาพ.ปริญญา                  นิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต,สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย, บัณฑิตวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

ณัฐวดี ศิลากรณ์. (2556). ความสามารถทางการพูดของเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเล่านิทานประกอบหุ่น. ปริญญานิพนธ์การศึกษา                มหาบัณฑิต, สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย, บัณฑิตวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

ทิศนา แขมมณี. (2536). หลักการและรูปแบบการพัฒนาเด็กปฐมวัยตามวิถีชีวิตไทย (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

นภเนตร ธรรมบวร. (2544). การประเมินผลพัฒนาการเด็กปฐมวัย (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

นิตยา ประพฤติกิจ. (2539). การพัฒนาเด็กปฐมวัย: Developing young children. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.

บุษบง ตันติวงศ์. (2535). มิติใหม่การสอนระดับปฐมวัย. กรุงเทพฯ: คณะครุศาสตร์ สถาบันราชภัฏจันทรเกษม.

พัชรี ผลโยธิน และวรนาท รักสกุลไทย. (2543). มิติใหม่ในการส่งเสริมภาษาและการรู้หนังสือของเด็กปฐมวัย. ม.ป.ท. 

มยุรี กันทะลือ. (2543). ผลการจัดกิจกรรมการอ่านตามแนวการสอนภาษาธรรมชาติต่อพัฒนาการด้านการอ่านภาษาไทยของเด็กปฐมวัยที่พูดภาษาถิ่น. ปริญญานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต, สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย, บัณฑิตวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

เยาวพา เดชะคุปต์. (2542). การจัดการศึกษาสาหรับเด็กปฐมวัย. กรุงเทพฯ: เอพีกราฟฟิกส์ ดีไซน์. วิทยาลัย, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

รัชนี หลงขาว และสุวลัย มหากันทา. (2556). ผลของการใช้นิทานที่มีต่อการรับรู้ความมีระเบียบวินัยของเด็กปฐมวัย. AL-NUR บัณฑิตวิทยาลัย,            (ฉบับที่ 15), 31-45.

ราชบัณฑิตยสถาน. (2546). พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. กรุงเทพฯ: นานมีบุ๊คพับลิเคชั่นส์.

วรรณิษา หาคูณ และคณะ. (2559). การส่งเสริมพฤติกรรมการอ่านของเด็กปฐมวัย โดยใช้กิจกรรมหนังสือนิทาน. ปีที่ 22 (ฉบับพิเศษ), 268.

วิไลวรรณ เกื้อทาน. (2553).  ผลของการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ภาษาแบบธรรมชาติในมุมหนังสือที่มีต่อความเชื่อมั่นในตนของเด็กปฐมวัย ที่มาจากโรงเรียนในเขตเทศบาล และ นอกเขตเทศบาล:  กรุงเทพ:มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒประสานมิตร.

ศรียา นิยมธรรม และประภัสสร นิยมธรรม. (2541). พัฒนาการทางภาษา (พิมพ์ครั้งที่ 2).กรุงเทพฯ: ภาควิชาการศึกษาพิเศษ มหาวิทยาลัย                   ศรีนครินทรวิโรฒ.          

ศุภมาส จิรกอบสกุล. (2559.) ทักษะทางภาษาด้านการอ่านและการเขียนของเด็กปฐมวัยที่ได้รับ การจัดกิจกรรมการอ่านนิทานร่วมกัน.                          วิทยานิพนธ์หลักสูตรการศึกษามหาบัณฑิต สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน: คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา.                         

หรรษา นิลวิเชียร. (2535). ปฐมวัยศึกษาหลักสูตรและแนวปฏิบัติ. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.

Holdaway, D. (1979). The foundation of literacy. New Hampshire: Heinemann.

Yujin. 2553. ทฤษฎีทางภาษา. ค้นจาก http://yujin-wwwyujinbook-yujin.blogspot.com

หมายเลขบันทึก: 658553เขียนเมื่อ 6 ธันวาคม 2018 14:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 ธันวาคม 2018 15:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท