๘๒๓. โรงเรียนคุณภาพ..ประจำตำบล


โรงเรียนเล็กๆเหล่านั้น เขาแทบจะไม่มีโอกาสเป็นโรงเรียนคุณภาพต้นแบบ และเขาก็ไม่อยากได้ เพราะครูไม่ครบชั้น งานก็ไม่เข้าตา แต่เขามีคุณูปการกับชุมชน เป็นศูนย์รวมใจ เป็นภูมิสังคมที่สร้างความรักความอบอุ่น เป็นต้นทุนศิลปวัฒนธรรมและ “ความพอเพียง”

        วันนี้..ติดตามข่าว พบนโยบาย “การศึกษา” โดยบังเอิญ บางท่านอาจจะไม่ได้อยู่ในวงการ จึงต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ แต่ท่านที่เป็นครูและผู้บริหาร จะมองออก ก็คงเข้าใจและก็คงมีทั้งเห็นด้วยกับไม่เห็นด้วย..

    ที่ไม่เห็นด้วย แต่ก็คงทำอะไรไม่ได้หรอก ก็แค่ระบายคลายเครียด หรือบันทึกไว้ เพื่อสักวันหนึ่งอาจจะได้มาอ่านเล่นขำๆ สำหรับผมแล้วนโยบายการศึกษา ไม่ได้ทำให้ผมเสียขวัญและกำลังใจ แต่ผมเสียดายงบประมาณและเสียดายความรู้ความสามารถของรัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ

    ผมเหลือเวลาอีก ๕ ปีจะเกษียณ ดังนั้นนโยบายการศึกษาของรัฐ..ผมได้เห็นผลงานแน่ แต่จะออกมาในรูปไหน หลายคนคงมองไม่ออก แต่ผมอ่านทะลุเลย

        รัฐบาลจะให้มี “โรงเรียนคุณภาพประจำตำบล” ในเร็ววันนี้ ตำบลละ ๑ โรงเรียน ประเด็นสำคัญต้องคัดเลือกจากโรงเรียนประชารัฐก่อน..

        คราวนี้ย้อนกลับไป..เดิมนั้นมันมีอยู่แล้ว คือ “โรงเรียนดีศรีตำบล” ซึ่งก็ไม่มีใครพูดได้ชัดเจนว่าดีจริง ไม่มีงานวิจัยใดมารองรับ และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก็มิได้โดดเด่น เป็นที่รู้กัน

        แต่..โรงเรียนดีศรีตำบล มักอยู่ใจกลางชุมชนใหญ่ อยู่ในเขตศูนย์กลางการคมนาคม หรืออาจพูดได้ว่า เป็นโรงเรียน(ประถม)ขนาดใหญ่ประจำอำเภอนั้นๆและใหญ่ที่สุดของตำบลนั้น...ก็ว่าได้

        ปีสองปีมานี้ แทบจะไม่พูดถึงโรงเรียนดีศรีตำบล..แต่จะพบชื่อใหม่เมื่อปี ๒๕๖๐ คือ “โรงเรียนประชารัฐ” เท่าที่ผมเห็นก็มาจากโรงเรียนดีศรีตำบลนั่นแหละ และก็เป็นโรงเรียนใหญ่ในชุมชนที่มีความพร้อม แต่เอาล่ะด้วยนโยบายประชารัฐ ผมก็ยังเห็นว่า..สอดคล้องกันอยู่..

        วันนี้..ก็ยังจะจัดนโยบายทับซ้อนกันไปอีก เป็น “โรงเรียนคุณภาพประจำตำบล” เอาคำว่าดีออกไป เอาคำว่า “คุณภาพ” เข้ามา...

        คิดอะไรกันก็ไม่ว่าหรอก เป็นมงคลทั้งนั้น แต่ถ้าคิดกันแบบนี้ มันทำให้สังคมการศึกษาเสียสมดุลและคนทำงานในระดับรากหญ้า มันจะเหนื่อยมากมาย..

        อาจมีบางคนสงสัย เหนื่อยอะไร?..เขาให้งบประมาณมากมาย.. คือเมื่อเปลี่ยนนโยบายหรือเปลี่ยนชื่อโครงการ..งานการเงินและงบประมาณก็จะสะพัด อันนั้นมันก็จริง..แต่ก็ได้อยู่โรงเรียนเดียวในตำบลนั้น..

        ลองลำดับภาพก็จะเข้าใจ ที่มักจะอยู่ในโรงเรียนเดียวกันเสมอ  จาก..โรงเรียนประจำอำเภอ โรงเรียนดีศรีตำบล และโรงเรียนประชารัฐ..เป็นโรงเรียนต้นแบบที่มีความพร้อมอยู่แล้ว โดยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน...

        แล้ววันนี้..ด้วยหลักเกณฑ์ต่างๆก็จะกลายเป็น “โรงเรียนคุณภาพประจำตำบล”ขึ้นมาอีก ก็จะมีการเสกสรรค์ปั้นแต่งด้วยงบประมาณ จนมีคุณภาพเลิศเลอในทุกด้าน

        แต่ละตำบลก็มีจะโรงเรียนประมาณ ๕ – ๑๐ โรงเรียน ปัจจุบันมากมายหลายตำบลทั่วประเทศ มีโรงเรียนเล็กๆ เด็กไม่ถึงร้อยคนกระจายอยู่ในหมู่บ้านรอบๆตำบลนั้นๆ...

        โรงเรียนเล็กๆเหล่านั้น เขาแทบจะไม่มีโอกาสเป็นโรงเรียนคุณภาพต้นแบบ และเขาก็ไม่อยากได้อยากดี  เพราะมีครูไม่ครบชั้น งานก็ไม่เข้าตา แต่เขาตั้งใจทำงานมีคุณูปการกับชุมชน เป็นศูนย์รวมใจ เป็นภูมิสังคมที่สร้างความรักความอบอุ่น เป็นต้นทุนศิลปวัฒนธรรมและอยู่บนรากฐาน “ความพอเพียง”

        แทนที่ภาครัฐจะคิดนโยบายกระจายโอกาส ที่เป็นทางเลือกและให้ความสุขเล็กๆ เพื่อให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะครูและผู้ปกครอง ได้เห็นช่องทางที่จะพัฒนาคนให้แผ่นดิน ไม่ทิ้งถิ่นฐาน นำมาซึ่งการรักบ้านเกิด..

        วันนี้..การคมนาคมในตำบล โยงใยไปมากันสะดวกสบายแล้ว เมื่อรัฐทุ่มงบประมาณไปให้โรงเรียนในตำบลเพียงหนึ่งเดียวนั้น..โรงเรียนลูกหรือโรงเรียนรอบนอก จะสูญเสียเอกภาพทันที..นักเรียนจะลดน้อยถอยลงไปเป็นลำดับ

        หรือเป็นนโยบายอันแยบยลที่รัฐตั้งใจจะยุบโรงเรียนขนาดเล็กอยู่แล้ว ก็ถือว่าเข้าทางเลย แต่ถ้าไม่ใช่..โรงเรียนเล็กๆต้องทำงานเหนื่อยเป็นสิบเท่าเลยนะ ถึงจะเอาอยู่...แต่ที่แน่ๆจะอยู่ยาก

        ผมจึงมองว่า..การสร้างโรงเรียนต้นแบบไปเรื่อยๆ ใช้งบประมาณเยอะประโยชน์มันน้อย..มันทำให้การศึกษาสะดุด และขับเคลื่อนไม่เป็นรูปขบวน

        โรงเรียนที่อ่อนแอ..ก็ฟื้นตัวยาก ต้องทำงานในท่ามกลางความเสียดทาน ครูและผุ้บริหารหากทำงานบนความกดดัน..”คุณภาพ” จะเหลืออะไร?

        ๑๐ ปีที่ผ่านมา ผมต้องใช้วิทยายุทธการสอนทุกรูปแบบ เหนื่อยสายตัวแทบขาด เพื่อทำโรงเรียนให้คงอยู่ และทำให้นักเรียนจากโรงเรียนดีศรีตำบล(ว่าที่โรงเรียนคุณภาพประจำตำบล)ย้ายมาเรียนบ้าง..ก็พอจะสำเร็จเป็นรูปธรรม..

        วันนี้..รุปเกมเปลี่ยนอีกแล้ว ต้องวิ่งสู้ฟัดตลอด จริงๆก็ไม่ได้ถอดใจและก็สู้ได้ แต่อยากให้คิดถึงในภาพรวมของประเทศ..มันจะได้ไม่เท่าเสียนะ..เพราะมันไม่ใช่เรื่องเล็กๆ แต่เป็นเรื่องของความรู้สึกของหัวใจครูทั่วประเทศและนักเรียนหลายหมื่นคน..ที่อาจนำพาไปสู่หายนะทางการศึกษาและล้มทั้งระบบ..เชื่อผมเหอะ

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๙  พฤศจิกายน  ๒๕๖๑


       

หมายเลขบันทึก: 657742เขียนเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2018 22:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2018 08:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรียน อาจารย์ เป็นบันทึกที่ดีมากนะคะ เป็นหลักฐานเชิงข้อมูล ผู้ที่สมควรเป็นนักบริหารประเทศต้องหลุดจากกรอบความคิดเดิมๆ มิเช่นนั้น ประเทศชาติไม่สามารถก้าวผ่านวังวนปัญหาได้ นอกจากแก้ไขปัญหาผิดจุด ยังสร้างปมปัญหาใหม่ๆมากมาย โลกกำลังเปลี่ยนแปลง เกิดกลุ่มมหาอำนาจใหม่ ประเทศไทยมีชัยภูมิที่ดี แต่กลับเป็นตัวตลกในการจัดการประเทศชาติ จนถูกนำไปสร้างมุขขำขันในต่างประเทศ เช่น ประเทศไทยมีระบบจัดการศึกษาดีกว่าญี่ปุ่นมาก เด็กกะเหรี่ยงชาวดอยในชนบท ยังสามารถใช้บทสนทนาภาษาอังกฤษอย่างฉะฉานคล่องแคล่วกับชาวต่างชาติในสถานการณ์กู้ภัยฉุกเฉิน เป็นต้น

ขอแสดงความนับถือคุณลิขิต

อ่านบทความแล้ว…เป็นแนวคิดที่สะท้อนปัญหาอย่างชัดเจนกับนโยบายใหม่ของ ศธ ค่ะ เบื้องบนน่าจะเข้าใจผู้ปฎิบัติงานเบื้องล่างบ้าง โลกเปลียน แต่การศึกษาไทย….

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท