โรคมือเท้าปากในเด็ก


1. ลักษณะโรค มือ เท้า ปาก

          เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่ม Enteroviruses ที่พบเฉพาะในมนุษย์ ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ มักพบการติดเชื้อในกลุ่มทารกและเด็กเล็ก ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการป่วย หรืออาจพบอาการเพียงเล็กน้อย เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ปวดเมื่อย เป็นต้น จะปรากฏอาการดังกล่าว 3-5 วัน แล้วหายได้เอง แต่บางรายจะมีอาการรุนแรง ขึ้นอยู่กับชนิดของไวรัสที่มีการติดเชื้อ ส่วนใหญ่โรค HFMD โดยเฉพาะที่เกิดจาก coxsackie A16 มักไม่รุนแรง เด็กจะหายเป็นปกติภายใน 7-10 วัน ส่วนที่เกิดจาก EV71 อาจมีอาการทางสมองร่วมด้วย ในการระบาดที่ไต้หวันพบสูงถึงร้อยละ 30 อาจเป็นแบบ aseptic meningitis ที่ไม่รุนแรง หรือมีอาการคล้ายโปลิโอ ส่วนที่รุนแรงมากจนอาจเสียชีวิตจะเป็นแบบ encephalitis ซึ่งมีอาการอักเสบส่วนก้านสมอง (brain stem) อาการหัวใจวาย และ/หรือมีภาวะน้ำท่วมปอด (acute pulmonary edema) โรค HFMD ส่วนใหญ่พบในเด็กอายุน้อยกว่า 10 ปี โดยเฉพาะอายุต่ำกว่า 5 ปี มีอาการไข้ร่วมกับตุ่มเล็กๆ เกิดขึ้นที่ผิวหนังบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และในปาก ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง หายได้เอง ส่วนน้อยอาจมีอาการทางสมองร่วมด้วย ซึ่งอาจทำให้รุนแรงถึงเสียชีวิตได้ โรค Herpangina ส่วนใหญ่พบในเด็กอายุ 1-7 ปี ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อ coxsackievirus A1 และ EV71 ผู้ป่วยจะมีไข้ฉับพลันและมีแผลเปื่อยเล็กๆ ในลำคอบริเวณเพดาน ลิ้นไก่ ทอนซิล มีอาการเจ็บคอมากร่วมกับมีน้ำลายมาก ยังไม่เคยมีรายงานการเสียชีวิต และอาจมีอาการกลืนลำบากปวดท้องและอาเจียน โรคจะเป็นอยู่ 3 - 6 วัน และมักจะหายเอง

2. การวินิจฉัยโรค มือเท้าปาก  

           ในการวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุของเด็กที่เป็นโรคมือเท้าปากนั้น มักจะวินิจฉันได้จากลักษณะอาการของโรคที่แสดงออกมาและการตรวจผู้ป่วยดังต่อไปนี้

          -ผู้ป่วยมีไข้สูง 38 - 39 องศาเซลเซียส
          -พบจุดนูนแดง ตุ่มน้ำใส หรือแผลที่เยื่อบุปาก ลิ้น และเหงือ
          -พบจุดแดงราบ ตุ่มนูน หรือตุ่มน้ำที่มือ เท้า ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และแก้มก้น
          -ในผู้ป่วยรายที่มีอาการแทรกซ้อนอย่างรุนแรง แพทย์อาจจะทำการตรวจเชื้อไวรัสจากสิ่งคัดหลั่งที่บริเวณคอหอย อุจจาระ หรือน้ำเหลืองจากตุ่มน้ำบนผิวหนังเพิ่มเติม เพื่อเป็นการยืนยันว่าเป็นการติดเชื้อในกลุ่มนี้ โดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ เนื่องจากว่าการตรวจในลักษณะนี้ไม่จำเป็นต้องทำในผู้ป่วยทุกราย อีกทั้งยังมีราคาแพง และในบางสถานการณ์ก็ไม่สามารถทำได้อันเป็นเหตุมาจากอุปสรรคทางเทคนิคต่างๆ อาทิ การตรวจหายีนของไวรัสด้วยวิธี Polymerase chain reaction (PCR) ที่จะใช้เวลาในการตรวจและรายงานผลที่ได้ประมาณ 1 - 3 วัน , การตรวจด้วยการเพาะเชื้อไวรัส (Virus culture) ใช้เวลาในการตรวจและรายงานผลที่ได้ประมาณหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการตรวจที่จะให้ผลได้เร็วภายใน 1 - 2 ชั่วโมง  (กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ , ออนไลน์)

3. สาเหตุ โรค มือเท้าปาก

          เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มที่อยู่ในลำไส้ของคน (enteroviruses) มีหลายสายพันธุ์สำหรับสายพันธ์ที่ก่อโรค HFMD ได้แก่ coxsackievirus group A, type 16 (พบบ่อย) และ group A type 4, 5, 9 และ 10 ; group B type 2 และ 5 และ enterovirus 71สายพันธ์ที่ก่อโรค Herpangina ได้แก่ coxsackievirus, group A, type 1-10; 16 และ 22 และ enterovirus 71ความทนทานของเชื้อ enteroviruses ถูกทำลายโดยแสงอุลตราไวโอเล็ต ในสภาพที่แห้งเชื้อจะมีชีวิตอยู่ไม่นานถูกทำลายโดยการต้มที่ 50 องศาเซลเซียส นาน 30 นาที แต่ถ้ามีเกลือ magnesium อยู่ด้วย จะยังทนอยู่ได้ เชื้อมีชีวิตอยู่ได้หลายวันในอุณหภูมิห้องและเมื่ออยู่ในสภาพที่มีโปรตีนผสมอยู่ด้วย เช่น ในน้ำนม ไอศกรีม หรือครีม จะมีชีวิตอยู่นานกว่าในน้ำ การทำให้น้ำนมปราศจากเชื้อ โดยวิธี pasteurization สามารถทำลายเชื้อได้คลอรีนผสมน้ำ 0.1 ppm, (part per million) สามารถทำลายเชื้อได้ หากทำลายเชื้อในอุจจาระจะต้องใช้คลอรีนที่เข้มข้นมากกว่านี้ ฟอร์มาลินขนาด 0.3% สามารถทำลายเชื้อได้เชื้อนี้ค่อนข้างทนทาน ไม่ถูกทำลายโดยอีเธอร์ แอลกอฮอล์ และสาร deoxycholate

4. การติดต่อ โรคมือเท้าปาก

          กินเชื้อผ่านเข้าปากโดยตรงจากมือที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย และอุจจาระของผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อ (ซึ่งอาจจะยังไม่มีอาการ) หรือน้ำในตุ่มพองหรือแผลของผู้ป่วย และโดยการหายใจเอาเชื้อที่แพร่กระจายจากละอองฝอยของการไอ จาม ของผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อ ( droplet spread) การแพร่เชื้อมักเกิดได้ง่ายในช่วงสัปดาห์แรกของการป่วย ซึ่งมีเชื้อออกมามาก เชื้อจะอยู่ในลำคอ ประมาณ 2-3 สัปดาห์ ไวรัสเข้าสู่ร่างกายทางเยื่อบุของคอหอยและลำไส้ เพิ่มจำนวนที่ทอนซิลและเนื้อเยื่อของระบบน้ำเหลืองบริเวณลำไส้ และเชื้อจะออกมากับอุจจาระ ยังไม่มีหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่า การแพร่กระจายของโรคเกิดจากแมลง น้ำ อาหาร หรือขยะ

5. ระยะติดต่อ

          ตั้งแต่เริ่มมีอาการ และอาจยาวนานหลายสัปดาห์

6. ระยะฟักตัว

          ปกติ 3-5 วัน

7. อาการและอาการแสดง

          HFMD มีอาการไข้สูงอาจเกิน 39 องศาเซลเซียส 2 วันแล้วจะมีไข้ต่ำๆ ประมาณ 37.5 - 38.5 องศาเซลเซียส อีก 3-5 วัน บางครั้ง อาจบ่นเจ็บในปากกลืนน้ำลายไม่ได้ ไม่กินอาหาร พบตุ่มแผลในปาก ส่วนใหญ่พบที่เพดานอ่อนลิ้น กระพุ้งแก้ม อาจมี 1 แผล หรือ 2-3 แผล ขนาด 4-8 มิลลิลิตร เป็นสาเหตุให้เด็กไม่ดูดนม ไม่กินอาหารเพราะเจ็บ อาจมีน้ำลายไหล พบตุ่มพอง (vesicles) สีขาวขุ่นบนฐานรอบสีแดง ขนาด 3-7 มิลลิเมตร บริเวณด้านข้างของนิ้วมือ นิ้วเท้า บางครั้งพบที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ส้นเท้า ส่วนมากมีจำนวน 5-6 ตุ่ม เวลากดจะเจ็บ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยแตกเป็นแผล จะหายไปได้เองในเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ในเด็กเล็กๆ บางครั้งจะพบมีผื่นนูนสีแดงเล็กที่ก้น ส้นเท้า ส่วนใหญ่จะไม่เป็นตุ่มพอง หายไปได้ภายใน 1-3 วัน อาการและอาการแสดง : Herpangina จะมีไข้อย่างเฉียบพลัน บางครั้งไข้อาจสูงมากกว่า 40 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ในเด็กโตจะบ่นปวดศีรษะ ปวดหลัง อาจมีอาเจียน เจ็บคอ น้ำลายไหล จากนั้นจะพบตุ่มพองใส ขนาด 1-2 มิลลิเมตร 2 ข้างของบริเวณเหนือต่อมทอนซิล (anteriar fauces) ซึ่งอาจแตกเป็นแผล หลังจากระยะ 2-3 วันแรก แผลจะใหญ่ขึ้นเป็น 3-4 มิลลิเมตร จะเห็นเป็นสีขาวเหลืองอยู่บนฐานสีแดงโดยรอบ ทำให้มีอาการเจ็บคอหรือกลืนลำบากเวลาดูดนมหรือกินอาหาร เด็กจะมีอาการน้ำลายไหล ส่วนใหญ่จะหายได้เองภายใน 3-6 วัน ยังไม่เคยมีรายงานการเสียชีวิต

          ในรายที่เป็นโรคมือเท้าปาก ในช่วงวันแรกๆอาจดูไม่ค่อยมีอาการผิดปกติอะไรมาก นอกจากเจ็บปาก มีแผลในปากโดยจะเห็นเป็นแผลเล็กๆหลายจุดในส่วนเพดานปากด้านในใกล้ทอนซิล และอาจมีไข้ร่วมด้วย ต่อมาจะเริ่มเห็นจุดน้ำใสๆตามฝ่ามือฝ่าเท้า และบางครั้งจะเห็นตามตัวเช่น บริเวณก้นในรายที่เป็นไม่มากและไม่มีโรคแทรกซ้อนอื่นมักจะดีขึ้นเองในช่วง 4-5 วันต่อมา แต่แม้ว่าเด็กทำท่าว่าจะดีขึ้นแล้ว ก็ยังมีโอกาสเกิดปัญหาแทรกซ้อนด้านอาการทางสมองและหัวใจเกิดขึ้นได้ เนื่องจากอาการแทรกซ้อนทางด้านสมองและหัวใจนั้นอาจเกิดขึ้นในช่วง 1-2 สัปดาห์ของอาการป่วยด้วยโรคมือเท้าปาก แม้ในขณะนั้นจะดูว่าผื่นและแผลในปากหายแล้วก็ตามดังนั้นผู้ป่วยจึงจำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก เช่น ให้พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ซนออกกำลังหรือเดินทางมากจนเหนื่อยเพลียเกินไป ในการดูแลผู้ป่วยที่เพิ่งแสดงอาการของการติดเชื้อเอนเทอโรไวรัส แพทย์อาจไม่สามารถบอกได้โดยง่ายว่าใครจะมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนที่รุนแรงได้เมื่อไร เพราะถ้าเป็นจากเชื้อสายพันธุ์ที่ไม่ดุก็จะไม่ค่อยมีอะไร ไม่กี่วันก็หายเป็นปกติ แต่ในทางกลับกัน ถ้าเป็นจากเชื้อที่มักก่อเกิดโรคแทรกซ้อนที่รุนแรงเช่น ไวรัส EV71จะมีอาการดังนี้     

                    -ผู้ป่วยอาจมีอาการกระสับกระส่าย สะดุ้ง หรือผวาบ่อยๆ
                    -มือสั่นๆ ยืนเดินไม่ค่อยไหว เดินเซหรือสั่นๆ ซึ่งแม่บางคนที่อยู่กับลูกตลอดจะรู้สึกว่าลูกมีอาการเปลี่ยนไป แปลกๆบอกไม่ถู                               

                    -ถ้าสามารถจับชีพจรและ/หรือวัดความดันโลหิต และดูการไหลเวียนของเลือดที่มือและเท้าได้ ก็อาจพบว่ามีชีพจรที่ไม่คงที่เดี๋ยว

เร็วเดี๋ยวช้า
                    -ความดันโลหิตที่ไม่คงที่ เดี๋ยวสูงเดี๋ยวต
                    -มือเท้าซีดเย็นและอุ่นสลับไปมา

          การมีอาการแสดงเช่นนี้อาจเป็นเพราะไวรัสเริ่มเข้าสู่เซลล์สมองและเริ่มรบกวนการทำงานของสมองโดยเฉพาะส่วนของก้านสมองโดยมักเข้าทำลายศูนย์ควบคุมการหายใจและศูนย์ควบคุมการเต้นของหัวใจที่อยู่ในบริเวณก้านสมอง(brainstem encephalitis) จนต่อมาทำให้เกิดภาวะการหายใจและหัวใจล้มเหลว เกิดน้ำท่วมปอด (pulmonary edema) หัวใจหยุดเต้น และเสียชีวิตได้ฉับพลัน ในกรณีของรายที่ไม่เกิดการทำลายของศูนย์ที่ก้านสมอง ก็อาจเกิดการอักเสบของเยื่อหุ้มสมองและเนื้อสมองบางส่วน (aseptic meningitis, viral encephalitis)ไขสันหลังอักเสบ(transverse myelitis) กล้ามเนื้ออ่อนแรง (flaccid paralysis) ทำให้มีอาการปวดศีรษะโดยในเด็กโตอาจร้องไห้บอกว่าปวดหัวมาก ปวดทนไม่ไหว หรืออาจมีอาการพูดเพ้อไม่รู้เรื่อง สลับกับการซึมลง หรือเห็นภาพแปลกๆ ปวดต้นคอ คอแข็ง มีการรู้สติสับสน ซึมลง และอาเจียน เนื่องจากมีการอักเสบของเซลล์สมองและเยื่อหุ้มสมอง เกิดความดันสูงในสมอง ในกรณีเช่นนี้ยังมีโอกาสที่จะช่วยให้การรักษาดูแลใกล้ชิด และประคับประคองให้ภาวะการอักเสบของสมองและเยื่อหุ้มสมองนี้ลดลง ซึ่งจะช่วยให้ความดันในสมองและภาวะสมองบวมนี้ค่อยลดลงกลับสู่สภาวะปกติได้ในอีกหลายวันต่อมา แต่ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีการชัก ซึม หมดสติและสมองบวมมากซึ่งอาจหยุดหายใจได้เช่นกัน

          ทั้งนี้ จากรายงานอาการและอาการแสดงของเด็กที่มีอาการรุนแรงมักพบว่าอาการแสดงอาจขึ้นกับอายุของเด็กและปัญหาแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ซึ่งได้แก่ ในเด็กเล็กจะมีอาการซึมหงอยลง ไม่เล่น ไม่กินนมหรืออาหารเท่าไร บางทีจะมีอาเจียนและมีอาการท้องเสีย ถ่ายเหลวร่วมด้วย ในเด็กโตที่พอจะบอกอาการของตนเองได้ จะบ่นว่าปวดหัว เวียนหัว บางรายอาจมีอาการเพ้อ พูดหรือมีท่าทางแปลกไป หรือจะพบว่าเด็กมีตัวสั่นๆ แขนหรือมือสั่นบ้าง บางครั้งไม่มีแรงยืนหรือเดินเซบ้าง ส่วนอาการทางเดินหายใจอาจมีอาการไอ หายใจเร็ว ดูเหนื่อยๆ หน้าซีดๆ เสมหะเยอะได้ โดยจะมีไข้ร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ และ อาการแทรกซ้อนก็ไม่ได้สัมพันธ์กับจำนวนแผลในปากหรือตุ่มที่พบตามฝ่ามือฝ่าเท้า หลายคนที่มีอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงอาจพบว่ามีแผลไม่กี่จุดในลำคอหรือไม่กี่ตุ่มที่ฝ่ามือฝ่าเท้าได้ และบางทีอาจเป็นช่วงที่ดูเหมือนว่าเด็กมีอาการที่ทำท่าว่าทรงตัวหรือกำลังดีขึ้นแล้ว ( บำรุงราษฎร์ , ออนไลน์ )

8. ระบาดวิทยาของโรค

          เกิดขึ้นทั่วโลก มีลักษณะเกิดกระจัดกระจายหรือระบาดเป็นครั้งคราว มักมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูร้อนต่อต้นฤดูฝน (พฤษภาคม - มิถุนายน) มักเป็นกับเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี ไม่ค่อยพบในวัยรุ่น การระบาดมักเกิดขึ้นบ่อยในกลุ่มเด็ก เช่น สถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียนอนุบาล กลุ่มเสี่ยงต่อโรค โดยเฉพาะกลุ่มอายุต่ำกว่า 15 ปี และพบสูงสุดในเด็กกลุ่มอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ไม่ถูกสุขลักษณะ อยู่กันอย่างแออัด และมีฐานะยากจน และถ้ามีการระบาดเป็นระยะเวลานานจะทำให้มีโอกาสที่จะแพร่ไปสู่เด็กที่มีอายุมากขึ้นจนถึงวัยรุ่น และความรุนแรงของโรคก็จะเพิ่มมากขึ้น ประเทศไทยได้ดำเนินการเฝ้าระวังโรคจาก entero virus ทางห้องปฏิบัติการตั้งแต่มิถุนายน 2541 โดยสำนักระบาดวิทยาทำการสอบสวนโรคและเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ซึ่งในระยะแรกเป็นการเฝ้าระวังเฉพาะพื้นที่ใน 14 โรงพยาบาลและขยายเป็นการเฝ้าระวังทั่วประเทศใน พ.ศ. 2544 ความไวรับและความต้านทานต่อโรค : โดยทั่วไปจะไวรับต่อการติดเชื้อได้ ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจะจำเพาะต่อเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุโดยที่อาจมีหรือไม่มีอาการก็ได้ แต่ไม่ทราบช่วงเวลา การติดเชื้อครั้งที่สองอาจเกิดได้จากการติดเชื้อ coxsackie virus group A ชนิดที่ต่างไป

9. การรักษา

          เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มียาที่มีฤทธิ์ต้านหรือทำลายเชื้อไวรัสนี้ และยังไม่มีวัคซีนที่จะได้ผลในการป้องกันเชื้อไวรัสในกลุ่มนี้ ดังนั้นการรักษาจึงเป็นการรักษาอาการทั่วๆ ไปตามแต่อาการของผู้ป่วย เช่น เจ็บคอมาก กินอะไรไม่ได้ เด็กดูเพลียจากการขาดอาหารและน้ำ ก็จะให้พยายามป้อนน้ำ นมและอาหารอ่อนที่กินได้ ในรายที่เพลียมากอาจให้นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลและให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด ร่วมกับให้ยาลดไข้แก้ปวด และ/หรือหยอดยาชาในปากเพื่อลดอาการเจ็บแผลในปาก เฝ้าระวังสังเกตอาการของโรคแทรกซ้อนทางสมองและหัวใจ ส่วนรายที่เริ่มมีอาการทางสมอง เช่น ซึมลงมาก อาเจียนเยอะ มีอาการผวา สะดุ้งบ่อยๆ แม้เวลานอนอยู่เฉยๆ หรือในเด็กโตที่สามารถบอกได้ว่าปวดหัวมาก หรือมีอาการเพ้อ พูดจาสับสน ฯลฯ ก็จะต้องระวังมากขึ้น ส่วนในกรณีที่เด็กมีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งสังเกตได้จากเด็กมีอาการเหนื่อยง่าย เดินไม่ไหว ให้อุ้มตลอดหรือหายใจดูเหนื่อยๆ หายใจเร็ว ชีพจร (อัตราการเต้นของหัวใจ) เบาเร็ว ปลายมือปลายเท้าดูซีดๆ เย็นๆ ความดันโลหิตต่ำ ก็จะต้องรีบย้ายผู้ป่วยเข้าไอซียูเพื่อการติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด

          สิ่งสำคัญในการดูแลผู้ป่วยในสภาวะวิกฤตแบบนี้จำเป็นต้องมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายแขนงมาร่วมกันดู และต้องการการดูแลพยาบาลอย่างใกล้ชิด ผู้ป่วยจึงต้องอยู่ในหออภิบาลผู้ป่วยหนัก ในต่างจังหวัดหรือในโรงพยาบาลขนาดเล็กที่อาจไม่มีบุคลากรทั้งแพทย์ พยาบาล และอุปกรณ์เครื่องมือที่พร้อมก็อาจจำเป็นต้องทำการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่มีความพร้อมมากขึ้น เช่น โรงพยาบาลประจำจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ และโรงเรียนแพทย์ที่มีประจำอยู่ในทุกภาค แต่ปัญหาก็คือบางครั้งผู้ป่วยที่อยู่ในสภาวะวิกฤตจะไม่สามารถส่งต่อไปยังที่อื่นๆ ได้ เนื่องจากอาจทำให้เกิดอันตรายจากการเดินทางและผู้ป่วยอาจไม่สามารถทนต่อความยากลำบากจากการเดินทางได้ จึงอาจจำเป็นต้องอยู่ในการดูแลที่โรงพยาบาลนั้นๆ จนกว่าอาการจะพ้นสภาวะวิกฤตก่อน นอกเหนือจากการดูแลอย่างใกล้ชิดด้วยการช่วยหายใจด้วยออกซิเจนทางหน้ากากและ/หรือเครื่องช่วยหายใจ รวมถึงการรักษาด้วยยา เช่น ยาที่จำเป็นในการช่วยการเต้นของหัวใจและความดันโลหิต ยาปฏิชีวนะในการรักษาและป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อน แพทย์อาจพิจารณาให้สารภูมิคุ้มกันแอนติบอดีที่เป็นอิมมูโนโกลบูลินทางหลอดเลือดที่เรียกว่า intravenous immunoglobulin (IVIG) คือ การบำบัดรักษาด้วยอิมมูโนโกลบูลินซึ่งมีรายงานว่าอาจช่วยลดการลุกลามของปัญหาแทรกซ้อนและลดอัตราตายของผู้ป่วยลงได้บ้าง โดยมีประเด็นว่า ภูมิคุ้มกันโดยรวมที่ได้จากอิมมูโนโกลบูลินเหล่านี้จะมีบางส่วนที่เป็นภูมิคุ้มกันจำเพาะที่สามารถหยุดยั้งการดำเนินโรคที่เกิดจากไวรัส EV71 นี้ได้บ้าง แต่ทั้งนี้ผลที่ได้จะขึ้นกับปัจจัยร่วมอีกหลายประการ เช่น ปริมาณระดับแอนติบอดีที่จำเพาะต่อเชื้อไวรัส EV71 ที่มีอยู่ในแต่ละ Lot. ของอิมมูโนโกลบูลินที่ให้ และสถานะของผู้ป่วยในขณะนั้นว่าเป็นอย่างไร

10. การป้องกันและควบคุมโรค

          โดยปกติแล้วเชื้อเอนเทอโรไวรัสจะมีการระบาดไปเรื่อยๆ ในสภาวะอากาศที่เหมาะสม เช่น ช่วงฤดูฝนถึงฤดูหนาว ซึ่งก็เป็นช่วงเดียวกับที่ไวรัสทางเดินหายใจอีกหลายชนิดระบาดเช่นกัน เช่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่ ไวรัส RSV (respiratory syncytial virus) และไวรัสหวัดชนิดอื่นๆ พ่อแม่จะรู้สึกว่าลูกนั้นป่วยเป็นหวัดตลอด กินยาจนหมดไปหลายขวดแล้วก็ยังมีไอ น้ำมูกไหล ฯลฯ ซึ่งก็เป็นไปตามฤดูกาล และเนื่องจากไวรัสเหล่านี้อาจมีการดำเนินโรคที่ไม่รุนแรงนัก แพทย์จึงมักแนะนำเพียงว่าให้ผู้ป่วยพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านสัก 4-5 วันก็กลับไปเรียนได้ แต่ในกรณีที่เกิดการติดเชื้อโรคมือปากเท้าชนิดที่มีอาการรุนแรงโดยเฉพาะมีการเสียชีวิต เช่น EV71 ก็จำเป็นต้องใช้มาตรการที่เข้มข้นขึ้น เช่น

                     -การปิดทั้งโรงเรียนเป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ และทำความสะอาดห้องเรียนและของเล่นต่างๆ รอจนไม่มีเด็กคนอื่นๆ มีอาการป่วยด้วยโรคมือปากเท้า แล้วจึงเปิดเรียนใหม่ แต่มาตรการเหล่านี้อาจได้ผลไม่ดีนักเพราะเมื่อมีการเปิดเรียนและให้เด็กๆ กลับมาเรียนใหม่ ถ้ายังมีเด็กคนไหนที่ยังมีเชื้อไวรัสอยู่ก็อาจนำเชื้อกลับมาแพร่กระจายให้เด็กคนอื่นๆ ทำให้เกิดการป่วยได้อีก เนื่องจากปัญหาคือการคลุกคลีกับคนหมู่มาก เด็กบางคนแม้ทางโรงเรียนจะปิดไป 2 สัปดาห์ แต่ก็ยังอาจไปทำกิจกรรมกับเด็กอื่นๆ ที่สถานที่อื่นๆ ทำให้อาจได้รับเชื้อมาได้อีก บางโรงเรียนใช้นโยบายปิดสลับกันไปทีละห้องเมื่อพบว่าเด็กป่วยด้วยโรคมือปากเท้า ซึ่งก็อาจได้ผลในการชะลอการแพร่ระบาดของเชื้อให้ไม่กระจายไปเร็วนักแต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งการเกิดโรคได้ดีนัก

                     -การคัดแยกเด็กป่วยออกตั้งแต่ตอนที่เดินเข้าที่หน้าประตูโรงเรียน โดยมีครูที่ชำนาญไปยืนดูในลำคอเด็กว่าคนไหนมีแผลในปากก็จะรีบส่งกลับบ้านไม่ให้เข้าเรียน อาจได้ผลในระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะเด็กหลายคนอาจเริ่มมีเชื้อในลำคอและเริ่มแพร่เชื้อได้ก่อนที่จะเห็นแผลในลำคอได้อย่างชัดเจนล่วงหน้าหลายวัน

                     -การหมั่นล้างมือ การเช็ดถูทำความสะอาดห้องเรียนและของเล่นต่างๆ ก็จะช่วยลดการแพร่ระบาดของไวรัสได้ในระดับหนึ่งเช่นกัน ( Bureau of Epidemiology , ออนไลน์ )

          จากการนำเสนอวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องจะเห็นได้ว่า โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคที่มักจะระบาดในเด็กปฐมวัย และจะแสดงอาการคือจะมีไข้อย่างเฉียบพลัน บางครั้งไข้อาจสูงมากกว่า 40 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ในเด็กโตจะบ่นปวดศีรษะ ปวดหลัง อาจมีอาเจียน เจ็บคอ น้ำลายไหล จากนั้นจะพบตุ่มพองใส ขนาด 1-2 มิลลิเมตร 2 ข้างของบริเวณเหนือต่อมทอนซิล (anteriar fauces) ซึ่งอาจแตกเป็นแผล แต่สามารถป้องกันได้โดยการปิดทั้งโรงเรียนเป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ และทำความสะอาดห้องเรียนและของเล่นต่างๆ รอจนไม่มีเด็กคนอื่นๆ มีอาการป่วยด้วยโรคมือปากเท้า แล้วจึงเปิดเรียนใหม่ การคัดแยกเด็กป่วยออกตั้งแต่ตอนที่เดินเข้าที่หน้าประตูโรงเรียน โดยมีครูที่ชำนาญไปยืนดูในลำคอเด็กว่าคนไหนมีแผลในปากก็จะรีบส่งกลับบ้านไม่ให้เข้าเรียน


เอกสารอ้างอิง


กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ. (2561).  การวินิจฉัยโรคมือเท้าปาก. (ออนไลน์). Available:

      https://www.sanook.com/health/3981/. สืบค้นเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2561.

บำรุงราษฎร์. (2561). สาเหตุโรคมือเท้าปาก การติดต่อ โรคมือเท้าปาก ระยะติดต่อ ระยะฟักตัว อาการและอาการแสดง. (ออนไลน์). Available:

         https://www.bumrungrad.com/healthspot/January-2014/hand-foot-mouth-disease. สืบค้นเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2561.

พบแพทย์. (2561).  โรคมือเท้าปาก. (ออนไลน์). Available:

          https://www.pobpad.com/%E0%B9%82%E0%B8%A3. สืบค้นเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2561.

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ. (2561). กรมควบคุมโรคเตือน..ป้องกันโรคมือเท้าปากในเด็กนักเรียน.  (ออนไลน์). Available:       

          https://udonthani.nhso.go.th/nhso8/brnews_detail.php?newsid=392. สืบค้นเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2561.

Bureau of Epidemiology. (2561). ระบาดวิทยาของโรค การรักษา การป้องกันและควบคุมโรคมือเท้าปาก.  (ออนไลน์). Available: 

           http://www.boe.moph.go.th/fact/Hand-Foot-Mouth.htm. สืบค้นเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2561.



หมายเลขบันทึก: 657637เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2018 21:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2018 11:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท