ถ้าคุณค่าของความรู้อยู่ที่เกรด แล้วการศึกษาไทยจะเดินไปทางไหน ?


หลังจากเกรดภาคเรียนที่ ๑/๖๑ ออกมาได้ไม่กี่นาที โทรศัพท์สายหนึ่งก็ดังขึ้นมา
เสียงในสาย คือ นักศึกษาหัวหน้าห้องสาขาวิชาภาษาอังกฤษ บอกมาว่า 

"เกรดออกแล้วนะครับ ทำไมห้องผมได้เกรดน้อยจังครับ ได้ C ได้ C+ กันโดยเฉลี่ย
ทำไมอีกห้องหนึ่งถึงได้ A เยอะแยะมากมาย"

"ครูเคยสอนให้เธอ อย่าเปรียบเทียบกับคนอื่นแล้วไม่ใช่เหรอ
แล้วอีกอย่างหนึ่ง เธอรู้ได้ยังไงว่า การได้ A ของห้องนั้น
มันมีคุณค่ากับ C+ ที่เธอได้จากการเรียนกับครู"

ตอนนี้เสียงจากปลายสายเริ่มเงียบลง เหมือนจะมีเสียงคนร้องไห้
ผมก็เลยบอกไปว่า "ใครสงสัยว่า ตัวเองได้คะแนนเท่าไหร่
ให้มาพบครูเพื่อขอดูคะแนนได้"

ผมฟังเรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดาของทุก ๆ ครั้งที่เกรดออกมา
ตามสายตาของคนที่สอนหนังสือมาเกิน ๑๐ ปี

อีกใจก็รู้สึกเศร้าใจกับวงการการศึกษาไทยอย่างมาก
ที่เด็กไทย เห็นคุณค่าของตัวคะแนนหรือเกรด มากกว่า
ประสบการณ์การเรียนรู้ที่พวกเขาได้รับจากครู

ใครไปสอนเขาว่า คะแนนที่ได้คะแนนเยอะ คือ
คนที่มีคุณค่าที่สุดในโลกกัน

เกรดไม่ได้วัดความเป็นคนดีอะไรได้เลย
วัดความรู้แค่่ช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น

..

ผมย้อนคิดต่อไปว่า หากเกรดที่สูงมันสำคัญกับเขามากขนาดนั้น
แสดงว่า ตอนที่เขียนระดับประถม มัธยม เขาคงจะได้เกรดดี ๆ มา
เช่น A หรือ B ถึงจะเรียกว่า ดีสำหรับเขา แต่ถ้าได้เกรดต่ำกว่านั้น 
คือ แย่ที่สุด อย่างนั้นเลย

เราต้องยอมรับกันว่า เมื่อการเข้ามหาวิทยาลัยมีการนำเกรดมาเป็นเกณฑ์
ในการตั้งเป็นกำแพงการสอบเข้า เช่น ที่คณะผลิตครู เด็ก ม.๖ ที่จะมาสอบ
ต้องมีเกรดเฉลี่ย ๒.๗๑ ขึ้นไป จึงจะมีสิทธิ์สอบได้

คุณไม่คิดหรือว่า จะไม่มีการ "ปล่อยเกรด" กันในระดับมัธยม เพื่อให้เด็กมีคุณสมบัติ
ที่จะเข้าสอบได้ ... ผมเชื่ออย่างไม่มีข้อสงสัย ถึงแม้จะไม่เป็นกันทุกโรงเรียน
แต่วัฒนธรรมแบบนี้มันเริ่มขยายวงกว้างออกไปทุกที

..

ย้อนกลับมาที่อีกห้องที่ได้ A กันสนั่นลั่นห้อง

อาจารย์ที่มาสอนวิชานี้มีหลายคน แต่ละคนมีความเป็นครูในตัวเองไม่เท่ากัน
บางคนก็คิดว่า ความเมตตาของครู คือ การให้เกรด A B+ B แก่เขา
บางคนแทบไม่วัดอะไรเลยว่า เขาสมควรได้เกรดนั้นจริงหรือเปล่า

เกรดที่เหมาะสม ย่อม วัดการเรียนรู้และประสบการณ์ที่เขาได้รับจริง ๆ ได้
ไม่ใช่ได้เกรด A แต่มีค่าเท่ากับ C ของอีกห้องหนึ่ง ความน้อยเนื้อต่ำใจ
กับคนที่เห็นคุณค่าในเรื่องเกรดก็จะเกิดขึ้น

มันดูเป็นเรื่องตลกร้ายในสังคมการศึกษาไทย แต่เป็นเรื่องจริง

..

ประสบการณ์ที่ผมสอนให้เขามากกว่าห้องอื่นอีกเป็นร้อยเท่า
แต่เขาก็ไม่ได้เห็นคุณค่าของมัน มากกว่า ตัวอักษรตัวหนึ่ง
ที่เขาคิดว่า มันมีค่ามากกว่า

เรื่องนี้ไม่ได้เพิ่งเกิด แต่เกิดมาหลายสิบปีแล้ว
แต่มันกลับแย่ลงเรื่อย ๆ ในสิ่งที่เด็กรุ่นใหม่คิดและเป็น

..

..

สมัยก่อน หลังจากการสอบวิชาหนึ่งเสร็จสิ้น เกรดออกมา
ผมได้เกรด C ผมดีใจสุด ๆ ว่า เราเรียนวิชานี้ไม่ตกแล้ว
ตอนแรกนึกว่าจะแย่กว่านี้อีก พอรอดก็ดีใจ

ในขณะหันไปดูเพื่อนอีกคนกำลังนั่งร้องไห้
เลยเข้าไปถามว่า เธอได้เกรด D หรือ ถึงได้ร้องไห้
ปรากฎว่า เขาได้เกรด B แต่เขาไม่พอใจ อยากได้เกรดที่สูงกว่านี้

ผมได้แต่ "เฮ้อ" ในใจ ถ้าเป็นผม ผมฉลองใหญ่ไปแล้ว

..

อีก ๒๐ - ๓๐ ปีต่อมา เรื่องนี้ก็ยังคงเกิดขึ้นอีก
ซ้ำรอยไปเรื่อย ๆ

..

สิ่งที่เขาควรคิด คือ

การที่เราได้เกรด C+ นั้น เหตุผลใดที่ทำให้เราต้องได้เกรดนี้
เขาต้องย้อนกลับมาดูตัวเองว่าเรียนอย่างไรไป ทำอะไรไม่ดี
สิ่งใดเป็นข้อบกพร่อง เพื่อวิชาต่อไปจะได้แก้ไขได้

แต่สิ่งที่เขาคิดแบบมักง่าย คือ

อาจารย์เป็นคนให้เกรดเขา อาจารย์ให้สิ่งไม่ดีแก่เขา
อาจารย์ผิด อาจารย์ไม่ดี

"การโทษคนอื่น" เป็นธรรมชาติของมนุษย์ผู้ไร้ปัญญา
ใช้มันเป็นข้อแก้ตัวมานานแสนนาน

เรามักจะไม่เคยคิดว่า ตัวเองผิด แต่คิดว่า คนอื่นผิดก่อนเสมอ

..

นี่เป็นเรื่องเศร้าที่เกิดขึ้นวงการการศึกษาไทย

"การปล่อยเกรด"

"การโทษคนอื่น"

"การสอนเด็กไปทางที่ผิด"

"วัฒนธรรมอันเลวร้ายที่กำลังหล่อหลอมเด็กไทย"

..

..

การเป็นครูที่สอนครูในคณะผลิตครู คือ ต้องมีจิตวิญญาณแห่งความเป็นครูที่แท้จริง
ไม่ใช่ ทำอะไรก็กลัวเด็กจะไม่รัก กลัวเด็กจะเกลียด

บางคนก็ทำแต่งานวิจัยเพื่อหาเงินเข้ากระเป๋า งานห่วย ๆ กับเงินทุนดี ๆ

บางคนก็มีแต่ข้ออ้างไม่ค่อยเข้าสอน

บางคนก็เอาแต่สอบ แต่ไม่เคยให้เด็กทำอะไรเลย นอกจากเปิดหนังสือ

ฯลฯ

วันหนึ่งเมื่อเด็กพวกนี้จบเป็นไปครู สิ่งที่มันย้อนกลับมา ก็คือ
ครูที่ไร้จิตวิญญาณและคุณภาพ
ครูที่มีแต่ความเห็นแก่ตัว เห็นเงินคือพระเจ้า

ผมคิดว่า เราเจอสิ่งพวกนี้แล้ว กับเด็กที่มาเรียนครู

ผมรู้ว่า ผมไม่สามารถไปเปลี่ยนทัศนคติของครูพวกนี้ได้
แต่ผมก็ยังยืนยันในสิ่งที่ตัวเองทำทุกวันนี้ว่า

ผมจะทำหน้าที่ของครูตราบลมหายใจสุดท้าย
ใครไม่ทำ ผมทำ อย่างน้อยได้ครูดี ๆ ออกไปสู่สังคมสักคนก็ยังดี

ผมเชื่อเรื่อง "กรรม คือ ผลแห่งการกระทำ"
ใครทำสิ่งใด ย่อมได้สิ่งนั้นเสมอ
แม้กระทั่งการสอนของผม ก็สอนสิ่งเหล่านั้นเอาไว้
ขึ้นอยู่ว่า พวกเขาจะมองเห็นสิ่งนี้หรือไม่ เท่านั้น

..

บันทึกนี้จะยังเป็นจริงเสมอ

บุญรักษา ทุกท่าน ;)...

..

หมายเลขบันทึก: 657546เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2018 00:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2018 10:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบพระคุณนัก ๆ ครับ คุณแม่มด ;)…

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท