วิชาการเพื่อการตัดสินใจโดยมีข้อมูลหลักฐานประกอบ (Evidence-Informed Policy-Making)



เช้าวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๖๑ ผมไปร่วมประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ HITAF   ที่เป็นกลไกสังคมในการทำงานวิชาการโดยมีองค์กรภาคประชาชน (คือมูลนิธิ) เป็นฐานรองรับ    ไม่ใช่หน่วยงานวิชาการภาครัฐ แต่เป็นหน่วยงานวิชาการภาคประชาชน   แต่ก็อิงหน่วยงานภาครัฐ คือกระทรวงสาธารณสุข    คือสถานที่ตั้งอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข    ขอใช้ส่วนหนึ่งของอาคารกรมอนามัยเป็นที่ทำงาน โดยจ่ายค่าสถานที่  

HITAP ดำรงอยู่แบบทำงาน (วิชาการ) เลี้ยงตัวเอง    งานที่ทำก่อคุณประโยชน์ทั้งต่อประเทศไทยและต่อโลก หรือประเทศใกล้เคียง    การทำงานที่มีคุณค่า (ภายใต้ความสามารถหรือฝีมือระดับสูง) นั่นเองเป็นตัวก่อรายได้   

วาระสำคัญที่สุดคือการนำเสนอวิสัยทัศน์ขององค์กร ที่พนักงานร่วมกันทำกระบวนการมาอย่างต่อเนื่อง    และยังไม่เสร็จ   นำผลมาเสนอเพื่อขอคำแนะนำ    ฟังแล้วผมให้ความเห็นว่าสุ้มเสียงของรายงานยังเป็น inside-out มากไป    หมายความว่าเอา HITAP เป็นหลักมากไป   น่าจะมีวิธีคิดแบบ outside-in ให้มากขึ้น    คือเอาภาคีในระบบสุขภาพ และผู้ได้รับประโยชน์จากระบบสุขภาพไทย    และเอาประเทศ partner เป็นตัวตั้งให้มากขึ้น    ซึ่งจะช่วยให้การทำงานมีพลังยิ่งขึ้น  

 นพ. สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ และ รศ. นพ. เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ แนะนำให้เขียนให้สั้นลง  ให้มีพลัง motivate และ inspire คนในองค์กร    อย่าให้พลังของวิสัยทัศน์ถูกบดบังโดยรายละเอียด     

ดร. สีลาภรณ์ บัวสาย แนะนำให้มองไปข้างหน้า ที่ระบบสุขภาพจะถูกกระทบโดย digital health system มาก    

ในการประชุมตอนหนึ่ง  เป็นการนำเสนอผลงานของส่วนที่เรียกว่า HIU (HTA International Unit)    ที่ร่วมมือกับต่างประเทศ คือโครงการที่เรียกว่า iDSI (International Decision Support Initiative)    ได้รับทุนสนับสนุนจาก Bill & Melinda Gates Foundation, กระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร และมูลนิธิร็อกกี้เฟลเล่อร์    ดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๖  จนปีปัจจุบันจะจบโครงการระยะที่ ๒    และจะมีโครงการระยะที่ ๓ ปี ๒๕๖๒ – ๒๕๖๔      

เท่ากับ HITAP ทำหน้าที่พัฒนาและเชื่อมโยง HTA ให้ก่อผลต่อระบบสุขภาะของประเทศในบริเวณใกล้เคียงด้วย นอกเหนือจากทำงานให้แก่ประเทศไทย     

กรรมการมูลนิธิมีหน้าที่ด้านกำกับดูแล (governance) ให้มูลนิธิทำหน้าที่ได้ดีตามเป้าหมายในตราสารที่จดทะเบียนไว้กับกระทรวงมหาดไทย     ไม่ทำอะไรที่ผิดกฎหมาย    รวมทั้งดูแล “สุขภาพ” ขององค์กร ทั้งในปัจจุบันและอนาคต    ซึ่งมีรายละเอียดซับซ้อนมาก   

“สุขภาพ” ด้านสำคัญที่สุดขององค์กร คือเรื่องคน    ที่ทำงานอย่างมีความสุขและมีผลงานดี    หน่วยงานในประเทศไทย มีประเด็นที่ต้องเอาใจใส่คือเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคน    กรรมการมูลนิธิต้องคอยช่วยประคับประคองอยู่ห่างๆ    ไม่เข้าไปล่วงล้ำฝ่ายบริหารที่นำโดยเลขาธิการมูลนิธิ (นพ. ยศ ตีระวัฒนานนท์) และผู้อำนวยการ HITAP (ดร. ภญ. พัทธรา ลีฬหวรงค์)    กรรมการที่คอยทำหน้าที่ “วัดปรอท” ในเรื่องนี้คือคุณหมอสุวิทย์ รองประธานมูลนิธิ แล้วคอยเอาข้อมูลมาบอกผมในฐานะประธาน    สรุปได้ว่าสถานการณ์ดีขึ้น 

ฟังรายงานการดำเนินการ HIU  ในประเทศ อินโดนีเซีย  เวียดนาม  ฟิลิปปินส์  เนปาล  ภูฏาน  เมียนมาร์  ศรีลังกา  ติมอน์ เลสเต  และ บรูไน ซึ่งมีผลงานน่าชื่นชมมาก

นี่คือหลักการสำคัญสำหรับคนในหน่วยงานที่ไปช่วยเหลือผู้อื่น    หากไม่ระวัง จะไปด้วยท่าทีเหนือกว่า     ทำให้ความสัมพันธ์ไม่แน่นแฟ้น    และยิ่งร้ายกว่านั้น ทำให้ตนเองมีการเรียนรู้น้อย     การไปทำงานในต่างประเทศควรเป็นพื้นที่เรียนรู้ ที่เพิ่มขึ้นจากการทำงานในประเทศ    และควรหาทางเรียนรู้จากนักวิจัยหรือพัฒนาในต่างประเทศ ที่เขาเก่งกว่าเราในบางเรื่อง    ซึ่งคุณหมอสุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ได้ช่วยย้ำเรื่อง humility หรือความอ่อนน้อมถ่อมตน ในการทำงานร่วมกับผู้อื่น   

ดร. สีลาภรณ์ บัวสาย แนะนำการทำงานเพื่อเป้าหมายในมิติที่ลึก หรือคุณค่าสูง คือการลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่ไม่จำเป็น    ที่ความรู้ความเข้าใจของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ     การสื่อสารสาธารณะให้ไปถึงชาวบ้านทั่วๆ ไปให้ได้    เพื่อให้ภาคประชาชนลดค่ารักษาพยาบาลที่ไม่จำเป็น    รวมทั้งไม่ให้มีการเรียกร้องผิดๆ    ผมตีความว่า นี่คือ “HTA (Health Technology Assessment) ภาคประชาชน”  

การมี ดร. สีลาภรณ์ ร่วมเป็นกรรมการมูลนิธิอยู่ด้วย เป็นประโยชน์ต่อประเทศมาก    เพราะเวลานี้ท่านทำหน้าที่กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการยุทธศสาตร์ชาติด้านความเสมอภาคทางสังคม    งาน HTA มีความสำคัญยิ่งต่อเป้าหมายนี้   ท่านจะได้นำมิตินี้ไปใส่ไว้ในแผนดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ               

วิจารณ์ พานิช

๕ ต.ค. ๖๑


หมายเลขบันทึก: 657485เขียนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2018 20:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2018 20:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท