ความร่วมกันเหนือขั้วคิดต่าง ผ่านเพลง‘ประเทศกูมี’กับ‘สังคม 4.0 ด้วยอำนาจรัฐ 0.4’


ในขณะที่สังคมไทยกำลังเกิดความคาดหวังต่อการสร้างพัฒนาการของสังคมอีกก้าวหนึ่งผ่านการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศ หลายอย่างเริ่มเกิดความเคลื่อนไหวที่มีนัยยะเชิงการเมืองทั้งโดยตรงและโดยอ้อม การเคลื่อนไหวส่วนหนึ่งนั้น มีความสัมพันธ์กับการที่กลุ่มประชาชนคนรุ่นใหม่ที่จะมีส่วนต่อการชี้ขาดผลการเลือกตั้งทั่วประเทศมากยิ่งขึ้น โดยกฎหมายรัฐธรรมนูญได้มีการกำหนดการให้สิทธิแก่ผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไป สามารถลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง และผู้มีอายุ 25 ปีขึ้นไปมีสิทธิลงสมัครเข้ารับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎร 

ประชาชนกลุ่มอายุ 18 ปีขึ้นไปนั้น ก็คือกลุ่มเยาวชนที่กำลังศึกษาระดับมัธยมปลายและระดับมหาวิทยาลัยนั่นเอง ดังนั้น ความเคลื่อนไหวในสื่อหลายอย่างในห้วงเวลานี้และเกี่ยวข้องกับกลุ่มฐานมวลชนดังที่กล่าวถึงนี้ จึงมีส่วนต่อการก่อให้เกิดสิ่งต่างๆ ที่ต่างออกไปจากห้วงเวลาทั่วไป เช่น การพบปะกับวงนักร้องวัยรุ่นเกาหลีของผู้นำรัฐบาล การเกิดประเด็นกำหนดช่วงเวลาการสอบที่สำคัญตรงกับช่วงเวลาเลือกตั้ง มาจนถึงการเกิดเพลงและมิวสิควิดีโอเพลง 'ประเทศกูมี' เพลงสื่อสะท้อนการเมืองและสะท้อนปัญหาสังคม ซึ่งเป็นเพลงวัยรุ่น และเป็นภาพของคนรุ่นใหม่ที่มีทรรศนะวิพากษ์ต่อสังคมและการเมืองของประเทศ สิ่งเหล่านี้ เป็นทั้งความเคลื่อนไหวในเชิงการเมืองและเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงการทำให้เป็นการเมืองในกลุ่มเยาวชน ว่ามีความสำคัญมากขึ้น ซึ่งย่อมจะส่งผลกระทบถึงระบบการศึกษาของประเทศอย่างลึกซึ้งและตลอดไป

เพลงประเทศกูมีนี้ ไ้ดรับการตอบรับเป็นอย่างสูง โดยมีผู้ได้รับชมและร่วมส่งต่อกันผ่านเครือข่ายการสื่อสารออนไลน์เป็นจำนวนมากกว่า 6 ล้านครั้งการชมในระยะเวลาเพียง 2-3 วัน และภายใน 1 สัปดาห์ก็มีผู้เข้าชมกว่า 17 ล้านครั้ง นับว่าก่อให้เกิดมิติใหม่หลายประการต่อความเคลื่อนไหวทางสังคม ขณะเดียวกัน ก็ได้รับความสนใจและเกิดปฏิกริยาสืบเนื่องทั้งเชิงบวกและเชิงลบ รวมทั้งการตอบโต้และสร้างประเด็นในการพิจารณาให้เป็นปัญหาเพื่อดำเนินการด้วยวิธีการแบบเดิมซึ่งมักนำไปสู่การปะทะกันของขั้วความคิดและขั้วการใช้อำนาจ ซึ่งทำให้สังคมเกิดวงจรปัญหาแบบเดิมและเสียโอกาสการสร้างพัฒนาการที่ดีของสังคมให้สอดคล้องกับมิติใหม่ของสังคมหลายประการที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ข้อเขียนนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเอาเพลงประเทศกูมีและปรากฏการณ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกันมาวิเคราะห์ เพื่อยกระดับประเด็นความน่าสนใจและชี้ให้เห็นแนวปฏิบัติของทุกฝ่ายที่จะมีความเหมาะสมมากขึ้น

เพลงและ MV ประเทศกูมี ในแง่ของความกล้าคิดริเริ่ม กล้าแสดงออก เทคนิคสื่อ การผลิต และการนำเสนอนั้น ยอดเยี่ยมมาก แต่ในแง่การสร้างสาร และการสื่อสารนั้น มีหลายแง่มุมที่จะต้องคิดให้มากเพื่อจะได้สามารถเห็น เข้าใจ และเลือกสรรสิ่งที่จำเป็นต้องใช้จินตนาการสูงมากกว่านี้ ....

ประการที่ 1 เนื้อเพลงและลีลาของเพลงประเทศกูมี เต็มไปด้วยความเกลียดชัง เกรี้ยวกราด โกรธแค้น ชิงชัง แบบหาถูกผิดและสร้างนัยประหวัดให้สำรวจหาตัวคนผิดคนชั่ว มากกว่าสร้างประเด็นชวนถกเถียงโต้แย้งเชิงหลักการหรือวิธีคิด เพื่อสร้างกระบวนการสื่อสารและพัฒนาการเรียนรู้อย่างกว้างขวาง ให้สังคมเท่าทันความเป็นจริงต่างๆมากขึ้น

ประการที่ 2 มุ่งสื่อสารไปยังกลุ่มผู้มีอำนาจและกลุ่มที่เบียดบังอำนาจรัฐในการกระทำมิชอบ แต่กลับใช้วิธียั่วยุ ท้าทาย อยู่หลังกำแพงมวลชน

ประการที่ 3 การเผยแพร่บนสื่อใหม่ (New media) และสื่อออนไลน์ ทำให้การส่งออกความเกลียดชัง แพร่กระจายไปทั่วโลก ในขณะที่กลุ่มรับสารและเกิดความรู้สึก กลับรับรู้ได้เพียงการถูกกระทบ ถูกจาบจ้วงคุกคาม

อาจเรียกได้ว่าล้มเหลวในการสื่อสารสร้างความร่วมมือทางสังคม แต่มีความสำเร็จในการเผยแพร่และสร้างความเกลียดชัง หรือ Hate speech ที่น่าจะทำโดยวิธีอื่นที่ดีมากกว่านี้

ดูจากเรื่องราวในเนื้อเพลงและพิจารณาจากรุ่นวัยของกลุ่มคนทำเพลงแล้ว เชื่อว่าได้แรงบันดาลใจต่อเหตุการณ์ที่มิใช่มาจากประสบการณ์เชิงสังคม แต่อาจจะได้จากหลายๆแหล่งที่มิใช่ประสบการณ์ตรงต่อโลกรอบข้าง เช่น อาจจะได้จากการรับรู้ข่าวสารทางสื่อ การรู้สึกต่อเรื่องเล่าปากต่อปากในวงสนทนา การถ่ายทอดผลิตซ้ำจากหนังสือเรียนและการเรียนรู้ทางสังคมบนการพบปะผู้คนหลากหลายที่มีโอกาสแลกเปลี่ยนความสนใจกัน

ความน่าสนใจและคำถามที่ต้องทำงานความคิดให้มากขึ้นก็คือ ปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ เป็นของจริงที่จะช่วยยืนยันให้คนทั่วๆไปแน่ใจได้ว่า สื่อ กระบวนการเรียนรู้ กระบวนการศึกษาของสังคม รวมไปถึงในมุมกลับ การควบคุมปิดกั้นทางสังคม เหล่านี้ เป็นสิ่งที่สามารถทำให้กลุ่มชนและคนรุ่นใหม่เกิดสำนึกความผูกพันทางสังคม (Social engagement) อย่างได้ผลและทรงพลังมาก

แต่สิ่งที่จะต้องคิดก็คือ เมื่อผูกพัน เกิดความรู้สึกแรงเข้มข้นจนมากพอที่จะปลดปล่อยพลังต่างๆออกมา ทำไมจึงเข้มข้นไปในด้านความแรงของการระบายและกระแทกอารมณ์ ทำไมไม่นำไปสู่การเกิดความสนใจอยากรู้ความจริงและพิสูจน์หาปัญญาการปฏิบัติต่อสิ่งต่างๆด้วยตนเอง แล้วนำไปสู่การมีส่วนร่วมทางสังคม และสร้างสรรค์สิ่งที่มากกว่าการระบายอารมณ์ ที่เพียงแต่รับรู้ ก็เกิดความเกลียดชังและระบายออกมาเสียแล้ว ...

เราใส่ใจและจริงจังกับการสร้างสังคม หรือกำลังเป็นผู้รับรู้สื่ออย่างเจ้าอารมณ์ ซึ่งอย่างหลังนี้ยังนับว่าห่างไกลจากการมีส่วนร่วมทางสังคมบนความเป็นจริงอีกหลายเรื่อง

แง่มุมดังกล่าวนี้ แง่มุมแรก บวกกับความสำเร็จของเพลงประเทศกูมี บอกแก่เราว่า การมาถึงของยุคการสื่อสารและการศึกษาแบบเครือข่ายบูรณาการมวลมหาชน (Integrated networks of mass) ปัจเจกและสังคมจะต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงร่วมกันอย่างไร

แง่มุมที่สอง บอกแก่เราว่า กระบวนการทางการศึกษา การพัฒนาการเรียนรู้ เพื่อการเตรียมพลเมืองในยุคใหม่ รองรับการมีส่วนร่วมทางสังคมและการอยู่กับสิ่งแวดล้อมด้านการสื่อสารอันท่วมท้นทรงพลังยิ่งนั้น ยังขาดหายอะไรบ้างและสิ่งที่จะต้องส่งเสริมการแสดงออกในทางปฏิบัติ  จะต้องคิดและทำอะไรให้มากขึ้น

อีกแง่มุมหนึ่ง วิถีวัฒนธรรมเพลงแร๊พนั้น เป็นการยกระดับการแสดงออกบนพื้นที่สาธารณะของวัยรุ่น บนถนน บนแหล่งสาธารณะและแหล่งชุมนุมชน ทำสิ่งที่มีความหมายเชิงลบ สิ่งที่ถูกตีตราเชิงลบ ถูกหมิ่นแคลน ชายขอบ นอกกรอบ ให้ยกระดับเป็นความหมายเชิงสร้างสรรค์ สนุก เป็นเบ้าหลอมชีวิตส่วนรวมที่ไม่ถูกมองเชิงลบ จึงเป็นวิธีการเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและเลือกสรรการแสดงออกให้ดีขึ้น แต่เมื่อนำมาบอกเล่าเรื่องราวเหมือนกับนำมาใช้สื่อสารทางการเมือง (Political communication) ดังเพลงประเทศกูมี กลับลดทอนลงมาให้เป็นเพียงสื่อระบายอารมณ์และถ่ายทอดความเกลียดชังให้แพร่กระจายวงกว้างในยุคสื่อสะพัดโลก

ความทรงพลังของสื่อและการสื่อสาร จึงกลับไม่ได้ช่วยเคลื่อนไหวการเพิ่มพูนความจริง แต่ช่วยระเบิดความแรงและแพร่กระจายวิธีสร้างความเกลียดชังโดยไม่มีจุดหมาย ทำให้กระแสนิยมและการมีอารมณ์ร่วมของสาธารณชนเกิดภาวะตื่นไหวไปตามๆกัน จนเกิดวาระร่วมวงกว้าง โดยที่ก็ไม่ได้รู้อะไรมากไปกว่าเดิมพอกัน

หากมุ่งสื่อสารสร้างอุดมคติทางการเมืองและสร้างการมีส่วนร่วมทางการเมืองสู่วงกว้าง มิใช่เพียงการระบายอารมณ์ อยากให้ลองเทียบเคียงจินตภาพในบางเพลง เช่น เพลง Imagine ของวงสี่เต่าทองหรือ The Beatles เพลง Blowing in the wind ของ Bobdylan หรือเพลง Where have all the flower gone ของ Jaon Baez ซึ่งโคตรแรง และมุ่งเรียกร้องสำนึกร่วมทางสังคมให้กดดันแนวนโยบายแห่งรัฐอย่างเจาะจง แต่สร้างการน้อมใจรับฟังและเป็นเพลงบูรณาการหลอมรวมอุดมคติคนหนุ่มคนสาวทั่วโลกมาจนกระทั่งบัดนี้

ยิ่งไปกว่านั้น ความแรงอันเต็มไปด้วยความเกลียดชังนี้ เป็นการส่งความแรงออกมาจากหลังกำแพงมวลมหาชน ซึ่งโดยวิธีดังกล่าวนี้ ผู้ที่จะเผชิญกับความเป็นจริงอันเป็นผลจากความแรงและอาจจะตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์ของการเล่นความแรงกันบนโครงสร้างอำนาจเชิงปะทะแบบต่างๆนั้นก็คือมวลชนที่ไหลไปกับกระแสอารมณ์ร่วมนั่นเอง

โลกยุคเก่าในอดีตนั้น วิธีการอย่างนี้ จะทำให้เกิดกระแสกดดันและกลุ่มกดดัน (Pressure group) ซึ่งขั้วการปะทะและกลุ่มช่วงชิงความหมายเพื่อสวมบทบาทภาวะการนำทางสังคมไม่หลากหลายซับซ้อน วิธีจุดประกายให้เกิดคลื่นความนิยมไหลไปตามๆกันแบบนี้จึงเป็นเหมือนเลนส์นูนรวมแสง รวมพลังงานแผ่วเบาที่กระจัดกระจาย ให้เกิดหลอมรวมเข้มข้นไปเผาไหม้ กดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังที่พึงประสงค์ได้

แต่โลกทุกวันนี้ สิ่งที่เราจะสามารถรู้ด้วยข้อมูลต่างๆชุดใดชุดหนึ่งนั้น แม้ดูยิ่งใหญ่ แต่สิ่งที่อยู่นอกการรับรู้นั้นจะมากกว่าอย่างเทียบไม่ได้ ยิ่งแยกกันรับรู้ ก็จะยิ่งน่ากลัวและกลับยิ่งไม่รู้่ว่าตกอยู่ท่ามกลางอันตรายมากเข้าไปอีก การตื่นตัวและไหวไปด้วยกันเป็นมวลมหาชน ใหญ่โตและขยายตัวรวดเร็วยิ่งกว่าในอดีตหลายเท่า ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเชื่อมโยงหลอมรวมพลังไปกดดันสร้างสิ่งอันเป็นจุดหมายร่วมกันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น แต่กลับจะเกิดสิ่งที่อยู่นอกขอบเขตการรับรู้ เกิดการใช้ประโยชน์ แทรกแซง และชิงความหมาย นำไปใช้เพื่อบรรลุจุดหมายอื่น แต่แอบอิงให้ด้านต้องรับผลเชิงลบ กลับไปตกเป็นของผู้อื่นที่พ้นตัวผู้ได้ประโยชน์อย่างง่ายดาย วิธีแบบนี้จึงล้าหลังและไม่เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบันทั้งของสังคมไทยและโลกแล้ว

กลุ่มทำเพลงประเทศกูมี รวมไปจนถึงผู้ที่ชอบกระแสเรตติ้งแบบนี้ ก็อย่าเพิ่งไปเชื่อว่ากระแสนิยมของสังคมมากมายที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนั้นเป็นเรื่องดี เพราะบางทีกลับจะเป็นยิ่งกว่าความว่างเปล่า อีกทั้งอาจจะปิดบังมุมมอง อันทำให้มองไม่เห็นวิถีทางที่ควรทำและโอกาสที่ดีกว่าที่ควรจะได้อีกด้วย เช่น คนรุ่นใหม่และกลุ่มผู้ชื่นชมอาจจะรับรู้ผิดว่า การด่าอำนาจรัฐอย่างหยาบคาย ท้าทาย และยั่วยุ อยู่หลังกำแพงมวลชนนั้น เป็นการแสดงออกทางการเมืองและการสร้างการมีส่วนร่วมทางสังคมที่เก่งกล้า ซึ่งโลกทุกวันนี้ ทำได้ดี เหมาะสม และดีกว่าด้วยวิธีการแบบนี้มาก ต้องคิดใหม่อีกเยอะ

ในส่วนของผู้ที่เป็นอำนาจรัฐ ซึ่งพยายามควบคุม ลากเข้ามุมกฎหมายเอาผิด และแสดงการผูกขาดความเป็นเจ้าของประเทศชาติ ผูกขาดการให้ความหมายความมั่นคง ในขณะที่กำลังชูวาระอนาคตการนำประเทศไปสู่ประเทศไทย 4.0 ทางด้านการพัฒนาในทุกด้าน แทนที่จะเห็นศักยภาพและความตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ในการสร้างและกำกับวาระความสนใจของมวลมหาชน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่คนรุ่นใหม่ริเริ่มและทำได้นั้น ก็สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาลอย่างยิ่ง และใช้ได้ผลมากกว่ารัฐบาลพยายามทำเสียอีก

นอกจากนี้ ก็ควรที่จะถือโอกาสสร้างประเด็นและข้อชวนสนทนาสาธารณะของสังคม (Public dialogue) ให้เกิดกระบวนการสร้างความฉลาดรู้สื่อ ส่งเสริมให้สังคมโต้แย่ง หยิบยกมาวิเคราะห์สรา้งปัญญา หรืออาจจะอาศัยเป็นพลังประชามติ หนุนการเข้าดำเนินการกับสิ่งที่ไม่ถูกต้องไม่ชอบธรรม อันเป็นอารมณ์ร่วมของมวลมหาชนประเทศกูมี ก็จะเกิดแรงสนับสนุนจากสังคมอย่างถูกกับสถานการณ์มาก

แต่ผู้ใช้อำนาจรัฐ แทนที่จะถือเป็นโอกาสดำเนินการอย่างนั้น ก็กลับหันมาพยายามปิดกั้น ลดทอนประเด็นที่มีนัยสำคัญต่อสิ่งต่างๆใหญ่โตมากของสังคม ให้กลายเป็นข้อพิจารณาในกรอบแคบๆของกฏหมาย และลากประเด็นจัดให้มีตัวผู้เล่น (Appointed Actors) เช่น ตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่ความมั่นคง ซึ่งก็ย่อมพลัดเข้าไปติดกับดัก กลายเป็นเหยื่อและตัวแทนเชิงสัญลักษณ์ความเกลียดชังที่คนพอจะนึกภาพออกอยู่แล้วในเพลง ออกมารับหน้า ทั้งที่หากเป็นในนามตนเอง ก็อาจจะชอบและรู้สึกร่วมไปกับเพลงก็ได้

แทนที่จะสร้างวาระให้ผู้เล่นอื่นที่จะสามารถสร้างการสื่อสารและสร้างปัญญาสาธารณะ ให้ออกมาช่วยกันพูดคุยสร้างความเข้าใจและสื่อสารสร้างความจริง เกิดความฉลาดรู้มากยิ่งๆขึ้นในสังคม ซึ่งนอกจากจะทำให้ตนเองและกลุ่มผู้ใช้อำนาจรัฐซึ่งก็เป็นกลุ่มที่กำลังอ่อนแอและเป็นเหยื่อของสถานการณ์แวดล้อมต่างๆพอกันพ้นจากการตกเป็นตัวแทนความน่าเกลียดชังดังที่เพลงโน้มน้าวโดยไม่จั้งใจให้จินตนาการถึงแล้ว ก็จะทำให้เรื่องราวพลิกไปในมุมกลับ โดยแทนที่จะมุ่งกระทำให้กลุ่มคนทำเพลง ทำ MV ตลอดจนกลุ่มผู้ชมและผู้แชร์ต่อๆกันไปอีกในสื่อออนไลน์ สามารถเอาผิดด้วยเครื่องมือทางกฎหมายและการใช้กำลังอำนาจแบบคับแคบให้ได้ ก็จะกลายเป็นการส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยในเชิงวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมและส่งเสริมโลกยุคใหม่ของประเทศไทย 4.0 สอดคล้องที่ภาครัฐเองก็ต้องการอยู่แล้ว

ยิ่งไปกว่านั้น .... ต้องไม่พยายามมองปัญหาในระดับเดิมและมุมเดิม แล้วเข้าไปควบคุมหรือเข้ากระทำ คุกคามและทำลายล้างต่อไปอีก เพราะวิธีการอย่างนี้นั่นเองที่ได้สร้างเพลงประเทศกูมีให้เกิดขึ้น เพลงไม่ใช่เพียงนำเอาสิ่งที่มีอยู่แล้วในสื่อและกระแสรับรู้ของสังคมมาย้ำเฉยๆเท่านั้น แต่เป็นตัวแทนของเสียงที่ผู้คนอยากได้เสรีภาพในการแสดงออกต่อสังคม แต่ถูกปิดกั้น ถูกใช้ความรุนแรง และเพิ่งมีช่องทางในโลกการสื่อสารยุคใหม่ให้ทำได้

การปิดกั้น การสาดกระสุนจากกระบอกปืน และไม่เปิดออกไปสู่การส่งเสริมการมีส่วนร่วมด้วยการพากันค่อยเรียนรู้ การไม่เปิดกว้างต่อการสื่อสาร ไม่ใจกว้างต่อการร่วมสร้างปัญญาฉลาดรู้ ผูกขาดความหมายความรักชาติบ้านเมืองอยู่กับความคับแคบ อย่างที่กำลังจะทำแบบที่เคยทำนั่นเอง จึงได้ทำให้คลื่นใหม่เพื่อสังคม 4.0 ซึ่งเป็นตัวแทนอนาคตของสังคมไทย ต้องล้าหลังไปกว่าที่ควรจะเป็น มันเป็นผลพวงที่อำนาจรัฐและหลายระบบไม่เปิดโอกาสให้สังคมเกิดพัฒนาการมานานมากแล้ว

หาวิธีคิดและวิธีมองใหม่ ที่มิใช่เพียงหยุดอยู่ที่การต่างก็สร้างความเกลียดชังและต่างก็มุ่งหาคนถูกผิดจากต่างขั้วต่างมุม แล้วสังคมก็หยุดนิ่งอยู่กับความรุนแรงแบบเดิมมาครึ่งค่อนศตวรรษ เท่ากับอายุของประชาธิปไตยไทย ในขณะที่โลกรอบข้างเคลื่อนไหวไปข้างหน้ามากมายแล้ว

ไม่มีคนผิด ไม่มีคนถูก ไม่มีประเทศกู ไม่มีประเทศมึง .....
มีแต่การต้องลุกขึ้นมาช่วยกันสื่อสารพูดคุย สร้างปัญญา สร้างทรรศนะการมองสิ่งต่างๆใหม่ และหาจุดร่วมเพื่อเดินไปข้างหน้า เป็นพลังร่วมของสังคมไทยบนความแตกต่างหลากหลายเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในโลกของเรา.

หมายเลขบันทึก: 656616เขียนเมื่อ 29 ตุลาคม 2018 10:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 ตุลาคม 2018 20:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ได้ยิน แรฟ ใหม่ ..ชื่อ ครู มี…รึยังคะ…

“แรฟ..เป็น กระจก และ หน้าต่าง ในเวลาเดียวกัน เดินผ่านไม่ได้..แค่กระโดดหนี ออกได้..”

ยายธีครับ น้อมคารวะครับผม ขึ้นไปทางเหนือ เขียนรูป ปั้นดิน ทำงานดินเผา แล้วตั้งวงเผาข้าวหลามนั่งสนทนากันครับข้างบ้านผมมีคนทำงานปั้นและงานดินเผา 2 สตูดิโอเลย เป็นโฮมสตูดิโอ ทำชิ้นงานเป็นงานศิลปะและงานเชิงความคิด ฝีมือสุดยอดครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์

อาจารย์ห่างหายไปนานมากนะคะ

ยอดเยี่ยม. ลึกซึ้ง รอบด้านค่ะอาจารย์. ขอบพระคุณค่ะ

สวัสดีครับคุณหมอครับ

แวะมาติดตามอ่านอยู่เสมอๆครับ แต่มาเขียนนี่พอได้เขียนบ้างเป็นระยะๆครับ คุณหมอสบายดีนะครับ วันนี้เชียงใหม่ เริ่มรู้สึกได้ว่าเข้าหน้าหนาวแล้ว ปีนี้ … ตลอดชีวิต ตั้งแต่เกิดมา ผมเพิ่งเคยเห็นว่าทางราชการโดยกรมอุตุฯ ออกประกาศการเข้าสู่ฤดูหนาว ไม่เคยเห็นเลย แล้วก็แม่นยำมากอีกด้วย ประกาศออกมาไม่กี่วัน หนาวจริงๆ คงมีความเชี่ยวชาญ มีเครื่องมือ และมีระบบข้อมูล ที่ดีมากขึ้น น่าทึ่งดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท