วิจัยชั้นเรียนเปลี่ยนครู : 10. บทส่งท้าย


บันทึกชุด วิจัยชั้นเรียนเปลี่ยนครู นี้ ตีความจากหนังสือ Enhancing Practice through Classroom Research : A teacher’s guide to professional development (2012)  เป็นหนังสือที่เขียนด้วยครูในประเทศไอร์แลนด์ ๔ คน    หนังสือนี้ไม่มีดาวใน Amazon Book  แต่เมื่อผมอ่านแล้ววางไม่ลง เพราะเป็นหนังสือที่ให้มุมมองใหม่ต่อการวิจัยชั้นเรียน    และให้มุมมองใหม่ต่อชีวิตความเป็นครู

ตอนที่ ๑๐ บทส่งท้าย นี้ ตีความจาก บท Conclusion ของหนังสือ

 เรื่องราวของบันทึกชุด วิจัยชั้นเรียนเปลี่ยนครู นี้ เล่าเรื่องราวของครูประจำการ ๔ คน    ที่ครูท่านอื่นๆ ก็สามารถทำได้    คือครูโดยทั่วไปสามารถทำงานวิจัยโดยใช้ห้องเรียนที่ตนสอนนั่นเองเป็น “สนามวิจัย”    ใช้กระบวนวิธีวิจัยแบบ “วิจัยปฏิบัติการศึกษาตนเอง” (self-study action research) ตามที่เล่าในบันทึกชุดนี้    จะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับรากฐาน (transformation) ขึ้นในตัวครูเอง เป็นระยะๆ    กระบวนการตามที่สาธยายในบันทึกชุดนี้ จึงเป็นกระบวนการของ “การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง” (transformative learning) ที่มีพลังยิ่ง

การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงนี้ เกิดขึ้นทั้งในระดับบุคคล (ครู และนักเรียน  และอาจครอบคลุมไปยังพ่อแม่ของนักเรียน)   ระดับโรงเรียน  ชุมชน  และสังคม   รวมทั้งวงการวิชาชีพครู   และวงการนโยบายการศึกษาของประเทศ   โดยที่การเปลี่ยนแปลง (transformation) ที่สำคัญยิ่งของวงการศึกษาและวงการครูคือ  คนในวิชาชีพครูต้องทำวิจัยไปพร้อมๆ กันกับทำการสอน   และยึดถือการวิจัยปฏิบัติการศึกษาตนเองเป็นเครื่องมือสำคัญที่สุดในการพัฒนาครู    ในกระบวนทัศน์ใหม่ ชีวิตการทำงานประจำวันของครู มีทั้งการใช้และสร้างความรู้อยู่ด้วยกันอย่างแยกกันไม่ออก     

ผู้เขียนบอกว่า พวกตนเขียนหลังสือเล่มนี้เพื่อชักชวนเพื่อนครู ให้ใช้เครื่องมือ “วิจัยปฏิบัติการศึกษาตนเอง” นี้   เป็นเครื่องมือยกระดับสมรรถนะความเป็นครูของตนเอง และยกระดับวิชาชีพครู  

หัวใจสำคัญยิ่งคือการพัฒนาสมรรถนะของครูประจำการ ควรมาจากการดำเนินการของตัวครูเองเป็นส่วนใหญ่    มาจากการกำหนดจาก “เบื้องบน” เป็นส่วนน้อย    หากเป็นเช่นนี้ได้จริง วงการวิชาชีพครูก็จะมีอิสรภาพ มีศักดิ์ศรี    เรื่องราวในบันทึกชุดนี้ คือวิธีการพัฒนาสมรรถนะของครูประจำการที่ดีที่สุด    เพราะดำเนินการในห้องเรียนที่ครูทำอยู่เป็นประจำนั่นเอง

การวิจัยปฏิบัติการศึกษาตนเองของครู นี้    เป็นการวิจัยชีวิตจริง ปฏิบัติงานสอนจริง    ชีวิตจริงเป็นสิ่งที่ซับซ้อน และไม่แน่นอน   ครูที่ทำวิจัยแนวนี้จึงต้องเตรียมพร้อมที่จะเผชิญความไม่แน่นอน    ไม่มีสูตรตายตัว     เตรียมพร้อมที่จะบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง อย่างซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา    นำมาใคร่ครวญสะท้อนคิดอย่างจริงจัง    ตรวจสอบกับข้อมูลของเพื่อนร่วมวิชาชีพในโรงเรียนเดียวกัน    และตรวจสอบกับข้อคิดเห็นของนักเรียนของตน    เพื่อตีความทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นจากหลากหลายมุมมอง    เพื่อให้เกิดข้อเรียนรู้ขึ้น ได้ผลผลิตความรู้ออกมา    เป็นความรู้ที่ครูสร้างจากความพยายามปรับปรุงปฏิบัติการสอนของตนเอง    เป็นความรู้จากการปฏิบัติ    หรือที่วงการจัดการความรู้เรียกว่า “ปัญญาปฏิบัติ” (phronesis)    ข้อพิสูจน์ความถูกต้องน่าเชื่อถือของความรู้นั้น อยู่ที่ผลของการนำความรู้นั้นไปใช้ปฏิบัติ  

หากมีการดำเนินการวิจัยปฏิบัติการแนวนี้อย่างกว้างขวาง    ในที่สุดจะเกิดกระบวนทัศน์ใหม่ในวงการศึกษาของโลก   ว่าครูสามารถสร้างความรู้ขึ้นใช้เองได้    เสริมหรือต่อยอดจากความรู้เชิงทฤษฎีที่มีผู้ทำวิจัยไว้แล้ว    โดยที่ในการทำวิจัยนี้ ศิษย์จะได้รับประโยชน์โดยตรง    และตัวครูผู้วิจัยก็ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาตนเองด้วย    ถึงกับมีผู้กล่าวว่า การวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนเพื่อศึกษาตนเองของครู นี้    จะทำให้โลกน่าอยู่ยิ่งขึ้น    หรือลดหลั่นลงมา ทำให้สังคมน่าอยู่ยิ่งขึ้น

โรงเรียนก็จะเป็น “สถานที่ทำงานอย่างมีความสุข” (happy workplace)    เพราะงานวิขัยแบบนี้อยู่บนฐานของปฏิสัมพันธ์แนวระนาบ  ผู้คนเคารพให้เกียรติซึ่งกันและกัน  ลดปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจ    รวมทั้งต้องพึ่งพาอาศัยช่วยเหลือซึ่งกันและกันด้วย

ที่สำคัญยิ่ง นักเรียนจะอยู่ในบรรยากาศการเรียนรู้อย่างมีความสุข  สนุก  และเกิดการเรียนรู้ครบด้าน และเกิดการเรียนรู้อย่างลึกและเชื่อมโยง หรือการเรียนรู้ระดับสูง (higher order learning)       

นอกจากโรงเรียนเป็นสถานที่แห่งความสุขแล้ว ยังจะเป็น “องค์กรเรียนรู้” (learning organization)  อีกด้วย    โดยมีการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์  ร่วมมือหลายฝ่าย  และอย่างเป็นองค์รวม  

กลไกสำคัญที่สุดเพื่อบรรลุเป้าหมายเหล่านี้คือ การใคร่ครวญสะท้อนคิดอย่างลึกซึ้งจริงจังและตรงไปตรงมา ต่อสิ่งที่ตนปฏิบัติ    โดยมีการบันทึกรวบรวมข้อมูลจากการสังเกตอย่างละเอียดถี่ถ้วนเป็นวัตถุดิบของการใคร่ครวญสะท้อนคิด

วิจารณ์ พานิช        

๘ ก.ค. ๖๑



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท