สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ในศตวรรษที่ ๒๑


น่าจะหาทางใช้โอกาสเฉลิมฉลอง ๕๐ ปี ในการริเริ่มพัฒนา platform ใหม่ของการทำงานวิชาการสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์ ในบริบทไทย โดยน่าจะเริ่มด้วยการทำ mappingว่ามหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศไทย (และในต่างประเทศ) ได้จัดตั้งคณะและวิชาเอกในสาขาวิชาทั้งสองในลักษณะของการบูรณาการ และการเชื่อมสู่ภาคทำมาหากินสมัยใหม่อย่างไรบ้าง

บ่ายวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๖๑ ผมไปร่วมประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล   นับเป็นครั้งแรกที่คณะนี้มีคณะที่ปรึกษา   ตั้งแต่ก่อตั้งคณะมาจะครบ ๕๐ ปีในปีหน้า     กรรมการชุดนี้มีผมเป็นประธาน   กรรมการประกอบด้วย ศ. ดร. ทวีทอง หงส์วิวัฒน์, ศ. ดร. สุริชัย หวันแก้ว, ศ. ดร. สุวรรณา สถาอานันท์, ศ. ดร. อเนก เหล่าธรรมทัศน์, นพ. สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์, ดร. อุทัย ดุลยเกษม, และมีท่านคณบดี รศ. ดร. ลือชัย ศรีเงินยวง เป็นกรรมการและเลขานุการ, ผศ. ดร. อริศรา เล็กสรรเสริญ รองคณบดีฝ่ายแผนยุทธศาสตร์และประกันคุณภาพ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

ทางคณะส่งเอกสาร รายงานประจำปี ๒๕๖๐, รายงานประเมินตนเอง EdPEx,และรายงานการตรวจประเมิน ตามเกณฑ์ EdPEx ของมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี ๒๕๖๑ มาให้กรรมการอ่านล่วงหน้าหลายเดือน  

ในการประชุม ท่านคณบดี นำเสนอข้อมูลและข้อวิเคราะห์ “อดีต ปัจจุบัน และอนาคต” ของคณะ เพื่อขอให้คณะกรรมการที่ปรึกษาให้คำแนะนำ “ทิศทางการขับเคลื่อนคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงฉับพลัน(disruptive change”   

ผมจึงได้โอกาสไปเป็น “นักเรียน”นั่งฟังความเห็นของคนระดับ “กูรู” ในวงการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์   โดยซ่อนตัวอยู่ในคราบของประธานการประชุม   คือคอยยุยงให้คนพูด และต่อเติมเล็กๆ น้อยๆ จากมุมมองเดียวกัน และต่างมุม   โดยผมบอกที่ประชุมว่า ต้องการประชุมกันแบบ “ทำให้ฟุ้ง ไม่มุ่งหาข้อสรุป”    ให้ทางผู้บริหารคณะไป reflect หาประเด็นดำเนินการกันเองในภายหลัง      

คณะวิชานี้ เป็น Graduate School    แต่มีหลักสูตรปริญญาตรีด้านเวชระเบียนที่เกิดที่ศิริราช แล้วโอนมาสังกัดคณะนี้    มี ๔ ภาควิชา คือ สังคมศาสตร์  มนุษยศาสตร์  ศึกษาศาสตร์ และ สังคมและสุขภาพ    นักศึกษา (ระดับบัณฑิตศึกษา) รวม ๘๕๖ คน  ในจำนวนนี้เป็น นศ. ต่างชาติ ๘๑ คน   อาจารย์ ๘๙ คน   จำนวนหลักสูตรทั้งหมด ๒๒ หลักสูตร    และเมื่อท่านคณบดีลือชัยมารับหน้าที่ มีการตั้งสำนักวิจัยและบริการวิชาการขึ้นมาจัดการงานวิจัยเชิงรุก   ซึ่งก็ยังไม่รุกชัดเจนนัก   

ปีการศึกษา ๒๕๕๙นศ. เข้าใหม่ ๗๗ +๕๙ คน (เอก+โท)     จบการศึกษา ๓๑ +๑๐๗ คน   แนวโน้มจำนวนนักศึกษาสมัครเข้าเรียนไม่เปลี่ยนแปลง  แต่คุณภาพลดลงเล็กน้อย    

งานวิจัยของคณะปีละกว่าร้อยล้าน  แต่ส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยเชิงพัฒนา หรืองานประเมิน ที่หน่วยงาน (ส่วนใหญ่เป็นหน่วยราชการ) ว่าจ้าง    และส่วนที่เป็นงานวิจัยแท้ก็กำหนดทิศทางโดยแหล่งทุน    จึงมีข้อแนะนำ (๑) หาทางทำให้งานประเมิน หรืองานวิจัยตอบโจทย์ ได้ผลเป็นการสร้างความรู้ใหม่เชิงวิชาการด้วย  (๒) ศึกษาแนวโน้มที่เป็นที่ต้องการทางสังคม หรือมี social relevance(เช่นจากยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี   จาก SDG   จากหนังสือ 21 Lessons for the 21stCentury   เอามากำหนดโจทย์โปรแกรมวิจัยระยะยาวกับแหล่งทุนวิจัยและหรือกับหน่วยงานวางแผนพัฒนาประเทศ    เพื่อให้ได้รับหลักการอนุมัติทุนวิจัยเป็นชิ้นเป็นอันและมีimpact สูงต่อประเทศและสังคม    ซึ่งจะสอดคล้องกับโจทย์ disruptive change ที่ทางคณะต้องการปรึกษา 

ผมแนะนำให้ศึกษาแนวทางบูรณาการ STEMM เข้ามาในสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ตามแนวทางในหนังสือ The Integration of the Humanities and Arts with Sciences, Engineering and Medicine in Higher Education : Branches From the Same Tree (1)   เป็นทิศทางของวิชาการที่จะต้องทำงานอย่างบูรณาการศาสตร์มากขึ้นเพื่อจัดการประเด็นที่ซับซ้อน   

ศ. ดร. ทวีทอง แนะว่า ควรกำหนดประเด็นวิจัยร่วมหลายประเทศ หาทุนจากแหล่งทุนต่างประเทศ   เพื่อจะได้ทำงานวิจัยได้อย่างเป็นชิ้นเป็นอันและระยะยาว เชื่อมโยงกับบัณฑิตศึกษา    และใช้โจทย์วิจัยสร้างshared vision ระหว่างประเทศ   

ดร. อุทัย แนะนำว่า ควรหาทางจัดการศึกษาให้ตรงความต้องการตามยุคสมัย ที่คนสมัยนี้ต้องการเรียนข้ามศาสตร์   มีความรู้หลายด้าน  ท่านเล่าการไปประชุม World Summit ที่Copenhagen เมื่อปี ค.ศ. 1985 ว่าโลกมีวิกฤติใหญ่ ๔ ด้านคือ income inequality, ecological depletion,family and community discohesiveness, และ ethical deteriorationเวลาผ่านมา กว่า ๓๐ ปี ปัญหายิ่งรุนแรงขึ้น   เป็นความท้าทายของสังคมศาสตร์   และหลักคิดคือทำงานวิชาการที่ socially relevant   และสร้างผลงานที่มีคุณภาพ     

ท่านวิพากษ์งานวิจัยท้องถิ่นของ สกว. ว่า    จุดมุ่งหมายดีมาก คือต้องการ empowerประชาชน    แต่การดำเนินการไปไม่ถึงเป้าหมาย  หยุดอยู่ที่นักวิจัย   

ท่านเสนอให้ร่วมกันฟื้นพลังสังคมศาสตร์ โดยคิดร่วมกันกับมหาวิทยาลัยอื่น    

ศ. ดร. สุวรรณา สถาอานันท์ เสนอความย้อนแย้งของกติกาวัดผลงานวิชาการด้านสังคมศาสตร์  ที่ social relevance กับ academic impact ที่ใช้กันอยู่ ไม่ไปด้วยกัน หรือขัดกัน    และชี้ให้เห็นว่า โจทย์วิจัยด้านสังคมศาสตร์อยู่ที่ disruptive change นั่นเอง    คือทำวิจัยแก้ปัญหา disruptive change   เสียดายที่ท่านไม่ได้ขยายความ และผมก็ไม่ทันได้ตั้งคำถามให้ท่านขยายความ    แต่ผมกลับมาคิดต่อที่บ้าน ว่าโจทย์อันโอชะของสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์คือการเปลี่ยนแปลง     ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี และด้านการเปลี่ยนรุ่นของคน   โจทย์นี้จะเป็นพลวัต คือเมื่อเวลาผ่านไป ทำวิจัยโจทย์เดิมได้    แต่วิธีวิทยาการวิจัยอาจสะดวกขึ้น โดยใช้ไอทีช่วย    โดยเฉพาะ big data technology 

ศ. ดร. สุริชัย หวันแก้ว เสนอประเด็น “ความเข้าใจตัวเอง”  ทำความเข้าใจสภาพที่มนุษย์ตกอยู่ในกับดัก    สภาพที่นักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ตกอยู่ในกับดักของ การประเมิน,  impact,  ความไม่สามารถเรียนรู้ได้เอง เช่นวิทยาศาสตร์ในสภาพความเหลื่อมล้ำ   ท่านเรียกร้องการร่วมกันเรียนรู้ประเด็นเชิงสังคม   ร่วมกันหา“ตัวตน”ของสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์   ท่านเอ่ยถึง “เอกภาพขององค์ความรู้”    ในปีหน้า UNESCO จะจัดการประชุมนานาชาติเรื่องEthics of Science and Technologyในประเทศไทย    ในเรื่องการหาตัวตน (ของสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์) นี้ ท่านผู้รู้ทั้ง ๔ ท่านดูจะกล่าวไปในทางเดียวกัน

ในประเด็นการเฉลิมฉลอง ๕๐ ปี ของคณะฯ    มีคำแนะนำให้สร้างโจทย์วิจัยร่วม ให้คนจากหลายสาขาวิชาเข้าร่วมได้    เช่น สังคมที่สร้างเทคโนโลยี กับเทคโนโลยีที่สร้างสังคม 

ดร. อุทัยเสนอมุมมองประเด็นเชิงสังคมในเรื่อง conformity – diversity, interdependent กับ collectivism, self-regulated constant change  

สำหรับผมแล้ว เวลาสามชั่วโมงใน “ห้องเรียน”นี้ ประเทืองปัญญายิ่ง   และเกิดความคิดว่า น่าจะหาทางใช้โอกาสเฉลิมฉลอง ๕๐ ปี   ในการริเริ่มพัฒนา platform ใหม่ของการทำงานวิชาการสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์ ในบริบทไทย    โดยน่าจะเริ่มด้วยการทำ mappingว่ามหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศไทย (และในต่างประเทศ) ได้จัดตั้งคณะและวิชาเอกในสาขาวิชาทั้งสองในลักษณะของการบูรณาการ และการเชื่อมสู่ภาคทำมาหากินสมัยใหม่อย่างไรบ้าง     

วิจารณ์ พานิช

๔ ต.ค. ๖๑

 

หมายเลขบันทึก: 655487เขียนเมื่อ 13 ตุลาคม 2018 05:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ตุลาคม 2018 05:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท