ว่าด้วยการอบรมสัมมนาท้องถิ่นที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก


ว่าด้วยการอบรมสัมมนาท้องถิ่นที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก

12 ตุลาคม 2561

ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]  

ว่าด้วยระบบอุปถัมภ์ของ อปท.

ในชีวิตของข้าราชการส่วนท้องถิ่น อันหมายรวมถึงลูกจ้างประจำและพนักงานจ้าง ต้องมั่นคงและปลอดภัย ความมั่นคงหมายถึง ในอาชีพที่ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเมื่อต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา นอกจากนี้หน่วยตรวจสอบ ก็ต้องตรวจหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน มิใช่มุ่งแต่จับผิดคนท้องถิ่น เป็นคำกล่าวของแกนนำข้าราชการส่วนท้องถิ่นคนหนึ่ง [2] เชื่อว่า คำกล่าวข้างต้น ก็คือ การทุจริตคอร์รัปชั่นของท้องถิ่น ในที่นี้ผู้เขียนขอเหมารวมถึง “ผลประโยชน์ทับซ้อน” หรือ ที่เรียกกันตามรัฐธรรมนูญว่า “การขัดกันแห่งผลประโยชน์” (Conflict of Interest : COI) [3] ด้วย ที่มาเกี่ยวพันกับ “ระบบอุปถัมภ์” เพื่อนพ้องพรรคพวกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ว่ากันว่า อปท. ลอกเลียนแบบและถูกปลูกฝังระบบอุปถัมภ์นี้มาจากระบบของข้าราชการพลเรือน  ทหาร ตำรวจ ที่ไม่รวมข้าราชการตุลาการ อัยการ ที่เป็นองค์กรที่มีบริบทที่แตกต่างกัน มีข้อสังเกตจากการเปิดสอบแข่งขันข้าราชการส่วนท้องถิ่นของ อปท.ในรอบหลายปีที่ผ่านมา ที่มักมีข่าวการทุจริต ซึ่งในรายงานของคณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่นสภาปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้รายงานยืนยันถึงปัญญานี้แล้ว [4] เพราะมีการเพิกถอนบัญชีการสอบ มีการดำเนินคดีอาญา และ คดีปกครองเป็นจำนวนมาก ในการเปิดสอบแข่งขันข้าราชการส่วนท้องถิ่นดังกล่าว เบื้องหน้าการสอบแข่งขันเป็นแบบเปิดเป็นการทั่วไป มีความโปร่งใสเชื่อถือได้ในมาตรฐานการสอบ เพราะใช้หน่วยจัดสอบเป็นมหาวิทยาลัย แต่เบื้องหลังการสอบก็ยังมีผู้ที่วิ่งเต้นด้วยระบบเส้นสายการฝาก มีข้อมูลลับว่าบุคคลที่วิ่งเต้นมากที่สุดก็คือ ลูกหลานของครู บุคลากรทางการศึกษา รองลงมาคือลูกหลานของตำรวจ  นอกนั้นกระจายไป รวมลูกหลานชาวบ้านบางรายด้วย แม้แต่บรรดาสมาคมของ อปท.ก็มีฝาก ทั้งนี้ไม่นับรวมการฝากของนายอำเภอท้องถิ่นจังหวัด และยังไม่นับรวมสายการเมืองที่ติดต่อผ่านนายกอปท. จะว่าไปเหมือนเอาเรื่องจริงมาพูดเล่น เพราะระบบอุปถัมภ์มันก็มาจากคนในของเรานี่เอง

ระบบเสียเน่ากลวงในอปท.มันแค่ปลายเหตุ แต่ต้นธารหรือต้นเหตุหนัก ๆ ส่วนหนึ่งมาจากส่วนกลางอาทิเช่น เงิน กบข.กลวง  เงินธนาคารกลวง  เงินประกันสังคมถูกดึงออก  นี่ไม่รวมถึงเงินประกันชีวิต เศรษฐกิจตกต่ำแย่เป็นหนี้เป็นสินยังไม่แย่ถึงขนาดบราซิล อาร์เจนตินา แต่ดีที่ “เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9” [5] ได้ช่วยไว้ได้ ที่ผ่านมารัฐบาลมักเดินตามแบบกรมส่งเสริมการเกษตร  กรมการพัฒนาชุมชนเป็นหลักที่ในการขับเคลื่อนการพัฒนา การใช้นโยบายการกระจายเม็ดเงินแบบประชารัฐ ประชานิยมยังใช้จ่าย เพราะการยึดประชาชนเป็นหนทางหนึ่งในการบริหารประเทศที่ยังสร้างความพึงพอใจให้แก่ประชาชนได้ ในขณะเดียวกันการสร้างความนิยมจากกลุ่มการกีฬา  การสร้างกิจกรรมดึงคนต่างประเทศให้มาลงทุนและท่องเที่ยวก็เป็นอีกทาง เพื่อให้สังคมระหว่างประเทศเชื่อถือรับรอง อย่างไรก็ตามในอนาคตตามแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปีนั้น มีการ “ห้ามใช้นโยบายประชานิยม” [6] การพัฒนาต้องเป็นไปตามกรอบยุทธศาสตร์ที่กำหนด จะนำนโยบายที่เป็นลักษณะประชานิยม และ การลดแลกแจกแถมหรือการให้เปล่า หรือการให้แบบมีเงื่อนไขใด ๆ แก่ประชาชนมิได้

 

ประสิทธิภาพการเบิกจ่ายงบประมาณอย่างคุ้มค่า

          มีข้อสังเกตเรื่องค่าใช้จ่ายการอบรมสัมมนาฯ ก่อนสิ้นปีงบประมาณที่หนักหน่วงมาแต่ต้นปี โดยเฉพาะห้วงเดือนสิงหาคม – กันยายน 2561 ที่ผ่านมาจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นประเทศไทย สำหรับ “โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเตรียมความพร้อมบุคลากรที่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการจัดการเลือกตั้ง” หรือ การจัดการอบรมเพื่อเตรียมการเลือกตั้งท้องถิ่นของ สถ. ร่วมกับคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดการอบรมเป็นที่วิพากษ์ในค่าใช้จ่าย ความเหมาะสม ความทันสมัย การนำไปใช้ได้ ว่ากันง่าย ๆ ก็คือ เรื่องการคุ้มประโยชน์สมประโยชน์แก่ท้องถิ่นในภาพรวม [7] ในประสบการณ์เมื่อใกล้สิ้นปีงบประมาณก็จะมีการเร่งรัดการเบิกจ่าย เพื่อการแสดงผลงานการใช้จ่ายงบโครงการแบบละเลงงบให้หมดไปเป็นปีมักมีให้พบเห็นอยู่ หลายโครงการอาจได้ผลไม่ได้ผลบ้าง  มีหลายโครงการที่นำโครงการของเอกชนที่ทำดีอยู่แล้วมาเป็นตัวอย่าง ซึ่งเป็นโครงการปัจเจกชนทำเอง คิดเอง แม้ไม่ได้งบประมาณส่งเสริมโดยตรงก็ตามมาเป็นตัวอย่างเพื่อแก้ขัด และประชาสัมพันธ์รายงานข่าว ได้ผลงานไป การใช้งบประมาณแบบไฟไหม้ฟาง จึงยังมีอยู่ เพราะสามารถทำข่าวเห็นผลสร้างภาพได้ง่ายถือเป็นปัญหาในการบริหารจัดการโครงการอย่างคุ้มค่าในเชิงงบประมาณที่ใช้สอยอย่างประหยัด คุ้มค่า กล่าวคือ “มีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ”

 

ผู้กำกับดูแลกับผลประโยชน์ทับซ้อนในการอบรมสัมมนา

          มีข้อกังขาในการบริหารกำกับดูแลของ มท. และ สถ. เกี่ยวกับ “ประโยชน์ทับซ้อน” หรือ “ความมีส่วนได้เสีย” ว่ามีส่วนได้เสียใน อปท. แต่ทางกลับกัน อปท. กลับไม่มีส่วนร่วมในส่วนได้เสียนั้น หรือที่เรียกว่า “คนทำไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ทำ” ที่โยงไปถึงผลงานที่ปรากฏด้วยว่าเป็นผลงานของใครระหว่าง อปท. กับ สถ. ถือว่าเป็นการ “เข้ามาครอบงำระบบคุณธรรม” หรือไม่ เพียงใด เช่น ปลัด อปท. ระดับสูง ต้องเข้ารับการอบรมเพื่อเตรียมการแต่งตั้งฯ การเรียก อปท. เข้ารับการอบรมหลักสูตรต่าง ๆ ในกรณีที่มีการปรับเปลี่ยนระเบียบใด ๆ หรือมีกระแสใด ๆ ก็ตามก็จะเรียกอบรม ที่ผ่านมาได้แก่ การอบรมการเตรียมการเลือกตั้งท้องถิ่น (อาจรวมถึงการเลือกตั้งระดับชาติด้วย)

เพียงแค่การร่างกฎหมาย ร่างระเบียบ สถ. ก็สามารถจัดการฝึกอบรมสัมมนาแก่ อปท.ได้แล้วอย่างน้อย 1 รอบจากจำนวน อปท. 7,852 แห่งทั่วประเทศ พอตรากฎหมายเสร็จ ระเบียบเสร็จ ก็จัดอบรมฯรอบของ อปท. โดย สถ. 1 รอบ และรอบของ สถจ. อีก 1 รอบ แล้วยังมีรอบของสถาบันการศึกษาหรือมหาวิทยาลัยในโครงการร่วมมือ หรือ อิสระเปิดอบรมไซด์ไลน์ได้อีก 1 รอบ โดยวิทยากรคนใน สถ. หรือจากส่วนราชการเกี่ยวข้องหน้าเดิม และคน อปท. ที่เข้าอบรมก็หน้าเดิม หมายถึงกลุ่มหมายเดิมจัดอบรมเป็นรุ่น ๆ ภาค ๆ เวียนกันไปทั้งรอบกรมรอบท้องถิ่นจังหวัด รอบไซด์ไลน์ (ร่วมมหาวิทยาลัย) ซึ่งมีข้อสังเกตว่า (1) รอบ สถ.จัดค่าลงทะเบียนสูงมาก รอบท้องถิ่นจังหวัดและไซด์ไลน์ย่อมเยาว์ลงมา (2) ระเบียบบางตัวใช้ได้ไม่นาน ก็ปรับเปลี่ยนใหม่ อปท.บางแห่งยังไม่เคยได้ใช้ด้วยซ้ำ ก็ปรับระเบียบใหม่แล้ว (3) ระเบียบเดิมๆ อาจใช้อบรมได้หลายรอบ (4) ส่วนกลาง สถ. มักปรับเปลี่ยนระเบียบบ่อย (5) คนเป้าหมายเข้าอบรมก็หน้าเดิมเป็นข้ออ้างไปพักผ่อน  (5) นอกจากนี้ในการจัดฝึกอบรมสัมมนาวิชาการที่มีการมอบใบประกาศนียบัตรหรือวุฒิบัตรก็สามารถระบุกำหนดสถาบันผู้ดำเนินการฝึกอบรมได้ เรียกว่าล็อคหน่วยฝึกอบรมได้ แม้ว่าระบบการศึกษาทั่วไปจะเปิดกว้างสถาบันอื่นใดก็ได้

 

ความเหมือนกับส่วนราชการอื่นที่แตกต่าง 

ในการอบรมต่าง ๆ ในระบบราชการหน่วยใหญ่ ๆ มักจะมีหน่วยฝึกอบรมของตนเองโดยเฉพาะ เพื่อเพิ่มสมรรถนะ เพิ่มประสิทธิภาพ  หรือเพิ่มวิทยะฐานะ เช่น โรงเรียนฝึกของทหาร โรงเรียนนายสิบทหารบก โรงเรียนชุมพลจ่าทหารเรือ โรงเรียนจ่าทหารอากาศ โรงเรียนตำรวจภูธรภาค  และหลักสูตรจู่โจม หลักสูตรพลร่ม หลักสูตรลาดตระเวนไกล หลักสูตรยกพลขึ้นบก การซ้อมรบต่าง ๆ  หลักสูตรคอมมานโด  ส่วนพลเรือน เช่น หลักสูตรปลัดอำเภอ  หลักสูตรนายอำเภอ  นปส. ครูก็มีหลายหลักสูตร ฯลฯ ล้วนแล้วแต่ เป็นระบบราชการทั้งนั้น จากรุ่นพี่ฝึกให้รุ่นน้อง  แต่พอมองของข้าราชการส่วนท้องถิ่น ที่มีความหลากหลาย ที่มีสารพัด หลักสูตร ระยะปานกลาง ระยะสั้น ที่ สถ. จัดให้ หลายอย่างไม่ตอบตรง แก้ปัญหาอะไรให้ อปท.มากนักมองว่าเป็นการดึงคน อปท.ไปสู่ศูนย์กลาง  แต่ก็ไม่ได้มีกลุ่มก้อน กลุ่มรุ่นที่เข้มแข็ง มีทิศทางอะไรได้มากนัก เหมือนดังเช่นหลักสูตรของข้าราชอื่น ประกอบกับท้องถิ่น เปรียบเหมือนต้นไม้ ต้องคอยผลัดใบ ความต่อเนื่องของคนที่รับการฝึก ก็ไม่ได้สนองตอบอะไรกับท้องถิ่นอะไรมากนัก บางครั้งอาจเพิ่มภาระค่าใช้จ่าย เสียเวลา เสียกำลังคน ที่ต้องไปเข้าฝึกอบรม งานในหน้าที่มากมายก็ลดลงไป หมดหลักสูตรหนึ่ง ก็มีหลักสูตรใหม่มาแทน วนเวียนกันไป พอให้สิ้น ๆ ปีงบประมาณ หากเทียบกับสถานประกอบการธุรกิจอาจล่มจมได้ เพราะการทำงานที่ไม่เกิดผล ยิ่งมีเทศกาล เปลี่ยนแปลงระเบียบใหม่ ยิ่งหนักมากขึ้น ของเก่ายังไม่ได้ใช้ ของใหม่ก็มาแทนอีกแล้ว เต็มไปด้วยการอบรมสัมมนา สิ้นปีงบประมาณ ไปเป็นปี ๆ คิดแล้ว ทั้งเวลา ทั้งงบประมาณ ทั้งกำลังคน  มากมาย ผลตอบรับในความคุ้มค่าด้อยค่า หากจะเลื่อนระดับตำแหน่ง ต้องผ่านหลักสูตรอบรม โดยไม่มองถึงผลงานที่ทำให้เกิดประจักษ์ในหน้าที่ อปท.ไทยจะหาความน่าเชื่อถือจากประชาชนและองค์กรภายนอกได้อย่างไร เป็นไปได้ไหมว่าควรจะมีการอบรม สัมมนา เฉพาะในประเด็นที่เป็นปัญหาติดขัดในระเบียบกฎหมาย  ในด้านช่องว่าง ในการแสวงหาความร่วมมืออื่น ๆ ของ อปท.ที่ทำกิจการร่วมกัน [8] ซึ่งจะเกิดประโยชน์มากกว่า ภายใต้สมมติฐานว่า (1) อปท. เอาเงินทำงานมากกว่าการแสวงหาความร่วมมือ (2) การสร้างทักษะ และวิธีการร่วม ในภารกิจของ อปท.สำคัญกว่า (3) การหากิจกรรมที่พัฒนาร่วมระหว่าง อปท.และหน่วยอื่น ๆ รวมทั้งเอกชน ที่เกิดเห็นผล มากกว่าการเสนอภาพกลวง ๆ อย่างที่เป็นอยู่ เอาหลัก 4 M มาจับได้ (4) การให้ อปท. ใช้อำนาจให้น้อยลงโดยเฉพาะให้เป็นการใช้ดุลยพินิจร่วม และแสวงหาความร่วมมือร่วม ดีกว่าการต่อรองหางบประมาณมารับเหมาหาประโยชน์ ฯลฯ

 

หน้าที่ในการจัดการฝึกอบรมแก่บุคคลากรส่วนท้องถิ่น

ในการพัฒนาศักยภาพแก่บุคลากรส่วนท้องถิ่นทั้งฝ่ายข้าราชการประจำ และฝ่ายการเมืองยังเป็นสิ่งจำเป็นที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของสถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น” (สบ.พถ.) [9] กรมส่งเสริมการปกครองการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) เพื่อให้ความรู้ด้านต่างๆ แก่อปท. ปฏิบัติตามหนังสือสั่งการ ระเบียบฯ กฎหมาย อาทิ งานบริหารบุคคล งานแผนฯ งานการคลัง การศึกษา สาธารณสุข ฯลฯ หรืออื่นใด เหตุใด สถ. จึงไม่ดำเนินการโดยสถาบันของกรมฯ (สบ.พถ.) ที่สร้างมาด้วยเงินมหาศาล แต่กลับให้มหาวิทยาลัยดำเนินการและเป็นผู้รับผิดชอบโครงการอบรม นัยว่ามหาวิทยาลัยเป็นผู้รู้หรือว่าชำนาญงานเฉพาะทางเหล่านั้น แต่ลืมไปว่า สถ. เป็นคนคิด ร่าง เขียน เสนอ ฯ ระเบียบสั่งการฯ นั้น ๆ ฉะนั้นจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่วิทยากรหลักของการประชุมอบรมในลักษณะเช่นนี้ ก็ต้องอาศัยบุคลากรของ สถ. เช่นเดิม การดำเนินการในลักษณะเช่นนี้มีการย้อนคำถามว่าเหมาะสมเพียงใด หรือไม่ อย่างไร มีความจริงใจกับ คน อปท.หรือไม่ มีผลประโยชน์แอบแฝง ผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ การกำกับดูแล อปท. ในบริบทของ สถ. เหมาะสม เพียงพอแล้วหรือยัง เพราะ อปท. มีจำนวน และปริมาณงานที่เกินกว่า สถ. จะรับผิดชอบ ตรงนี้ สถ. และ มท. ยอมรับความจริงหรือไม่ อย่างไร ฉะนั้น ในระยะยาวเห็นว่าควรมีการวางแผนงานการฝึกอบรมโดย สบ.พถ. สร้างหลักสูตรขึ้นมาเอง แล้วจ้างผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหานั้น ๆ มาเป็นวิทยากร จะประหยัดงบประมาณ และได้ประโยชน์เต็มที่กว่า เช่น การอบรมการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น การอบรมการพัสดุฯ เป็นต้น

 

การทักท้วงการเบิกจ่ายการสัมมนาอบรมทัศนศึกษาดูงานของ อปท.

ลองมาดูกรณีการจัดทำโครงการของ อปท. มักได้รับการทักท้วงจาก สตง.บ่อยครั้งว่า “ไม่ใช่อำนาจหน้าที่” [10] จึงเป็นการใช้งบประมาณโดยไม่ชอบ ไม่ถูกต้อง การจัดทำโครงการของหน่วยงานกำกับดูแล เช่นจังหวัดจัดโครงการไหว้พระ 9 วัด โดยให้คน อปท.ไปลงทะเบียน รายละ 8 พันบาท แม้จะใช้เงินมากแต่ อปท. ก็ยินยอมลงทะเบียนพากันไปไหว้แถวจังหวัดอยุธยา และจังหวัดภาคอีสานทั่วไป ซึ่ง สตง.ทักท้วงการลงทะเบียนของ อปท. แต่ไม่ได้ลงโทษหน่วยงานที่จัด เพราะหากเป็นหน่วยงาน อปท. จัด สตง.ทักท้วงว่าผิดเต็ม การจัดทำโครงการที่ส่อแนวทุจริตคอร์รัปชั่นที่สวนทางกับโครงการที่มีประสิทธิภาพประสิทธิผล หรือมีการดำเนินโครงการแบบมีประโยชน์ทับซ้อน ชงเองกินเอง รับเหมาเอง งานไม่ได้สเปคแล้วโครงการจะสำเร็จได้อย่างไร

 

ในข้ออ้างการอบรมเลือกตั้ง เตรียมการเลือกตั้งท้องถิ่น ด้วยนโยบายเร่งด่วน มีการจัดตั้งหน่วยงานภายใน สถ. เพื่อเตรียมการเลือกตั้งท้องถิ่นในระยะเวลากันใกล้ แต่กาลปรากฏว่าระเบียบกฎหมาย แนวทางปฏิบัติที่ไม่มีความชัดเจน แม้รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีจะบอกว่าต้องมีการอบรมการเลือกตั้งท้องถิ่น [11] แต่ก็เป็นคำกล่าวที่เพิ่งออกมาทีหลัง ฉะนั้น การอบรมการเลือกตั้งของท้องถิ่นที่ผ่านมา องค์กรภายนอก และ อปท. ต่างมองว่าความสมประโยชน์ไม่สอดคล้องกับต้นทุน ในมุมมองนี้ก็น่าสงสารประเทศไทยที่อะไรต่อมิอะไรมันช่างอึมครึมไปเสียหมด พอจะทำอะไรสักอย่างไม่ต้องไปพูดถึงประสิทธิภาพหรือความคุ้มค่ากันเลย

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine, Municipality Officer ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 66 ฉบับที่ 5 วันศุกร์ที่ 12 -  วันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม2561, เจาะประเด็นร้อน อปท.หน้า 66 

[2]อ้างจาก พิพัฒน์ วรสิทธิดำรง   

[3]คู่มือผลประโยชน์ทับซ้อน, ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (ศปท.), 24 กุมภาพันธ์ 2560, http://www.stopcorruption.moph...คู่มือประโยชน์ทับซ้อน%20ปีงบประมาณ%20พ_ศ_%202560.pdf

& การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวม หรือ ผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest), เอกสาร การบินไทย thaiairways ปีที่ 5 ฉบับที่ 10 ประจำเดือนตุลาคม 2559, http://www.thaiairways.com/abo...   

[4]รายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูป ด้านการปกครองส่วนท้องถิ่น สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.), 18 สิงหาคม 2559,  http://edoc.parliament.go.th/g...รายงานโครงสร้างและอำนาจหน้าที่.pdf&download=1    

… (4) กำหนดมาตรการหรือแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติในการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  โดยมุ่งเน้นการสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารงาน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการตรวจสอบ เฝ้าระวัง เพื่อสกัดกั้นมิให้เกิดการทุจริตประพฤติมิชอบให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.  2546 กรณีการจัดซื้อจัดจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้มอบหมายให้หัวหน้าหน่วยงาน ผู้บริหาร หรือผู้กำกับดูแล  มีหน้าที่ในการควบคุม กำกับดูแลการดำเนินงานให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณขององค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า มีความโปร่งใสอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ดี รวมทั้งมีการป้องกันและปราบปรามไม่ให้มีการใช้จ่ายงบประมาณในทางที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงให้ผู้มีอำนาจกำกับดูแลตามกฎหมายติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นไปตาม กฎหมาย ระเบียบ แบบแผนของทางราชการ นโยบาย ประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งกำหนดไว้ในกฎหมาย...

[5]เศรษฐกิจพอเพียง, มูลนิธิชัยพัฒนา (The Chaipattana Foundation), 2559, www.chaipat.or.th/site_content...

& ศาสตร์พระราชา, 2 กุมภาพันธ์ 2560, https://www.gotoknow.org/posts...   

[6]ห้ามทำประชานิยมกฎหมายการเงินฯคุมครม.จัดงบก่อหนี้ต้องแจงสาธารณะ, 20 เมษายน 2561,  https://www.thaipost.net/main/...7459

พรบ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ประกาศใช้แล้ว มีผลบังคับ 20 เม.ย. 2561, มาตรา 9 บัญญัติว่า “คณะรัฐมนตรีต้องรักษาวินัยในกิจการที่เกี่ยวกับเงินแผ่นดินตามพระราชบัญญัตินี้อย่างเคร่งครัดในการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบายการคลัง การจัดทำงบประมาณ การจัดหารายได้ การใช้จ่าย การบริหารการเงินการคลัง และการก่อหนี้ คณะรัฐมนตรีต้องพิจารณาประโยชน์ที่รัฐหรือประชาชนจะได้รับความคุ้มค่า และภาระการเงินการคลังที่เกิดขึ้นแก่รัฐ รวมถึงความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐอย่างรอบคอบ คณะรัฐมนตรีต้องไม่บริหารราชการแผ่นดินโดยมุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว”

เป้าหมายของแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปีที่ประกาศใช้ระหว่างปี 2560 ถึงปี 2579 นั้นเป็นการวางกรอบให้ 20 กระทรวงของประเทศไทยปฏิบัติตามเป้าหมายของประเทศและเป็นการป้องกันไม่ให้นักการเมืองที่จะเข้ามาบริหารประเทศในอนาคตหลังการเลือกตั้งใช้นโยบายประชานิยมแบบรัฐบาลระบอบทักษิณ

ดูเพิ่มเติมใน (1) '7ก.ค.'เคาะยุทธศาสตร์20ปี, ไทยโพสต์, 16 มิถุนายน 2561, https://www.thaipost.net/main/...   & (2) แผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ20ปี ป้องกัน‘นโยบายประชานิยม, ผ่าประเด็นร้อน, 11 กรกฎาคม 2561, https://www.naewna.com/politic...

[7]จัดอบรมงบร้อยล้าน เอาไปใช้ได้จริง? จั๊ด ซัดทุกความจริง ข่าวช่องวัน one31, 26 กันยายน 2561,

ข่าวการอบรมเลือกตั้งท้องถิ่นรุ่น 33 คนหายเหลือแต่เก้าอี้ที่โรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดอุดรธานี ทำให้หลายคนสงสัยว่า การอบรมลักษณะนี้จะสามารถนำไปใช้ได้จริง หรือแค่ถลุงงบประมาณท้องถิ่นกว่า 186 ล้าน   

[8]เช่น สหการ (syndicats) เป็นการรวมกลุ่มกันของเทศบาล (commune) ตั้งแต่สองเทศบาลขึ้นไปเพื่อดำเนินการจัดทำบริการสาธารณะใน อปท. ถือเป็นความร่วมมือระหว่าง อปท.ในประเทศไทยตามกฎหมายประเภทหนึ่ง แต่มีข้อจำกัดในการดำเนินกิจการพาณิชย์ หรือ กิจการเชิงพาณิชย์ที่ อปท.ดำเนินการ 6 ประเภท ได้แก่ (1) กิจการด้านสุขภาพ (2) กิจการด้านการท่องเที่ยว (3) กิจการด้านการกีฬา (4) กิจการด้านการศึกษา (5) กิจการด้านพลังงาน และ (6) กิจการด้านสาธารณูปโภค ที่แตกต่างกันแต่มีลักษณะร่วมกัน คือ เป็นกรณีปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best Practice) ที่สำคัญ ควรมีการปรับปรุงจัดสรรความร่วมมือระหว่างท้องถิ่นให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ อาทิเช่น ศูนย์ความร่วมมือด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ศูนย์ความร่วมมือด้านการกำจัดขยะมูลฝอยรวม (Cluster) ความร่วมมือด้านการแพทย์ฉุกเฉิน (EMS : Emergency Medical Service) ตาม Public Participation Spectrum ที่แบ่งเป็น 5 ระดับ ให้ถึงจุดระดับที่ 4 การมีส่วนร่วมในระดับสร้างความร่วมมือ (To Collaborate)และ  การมีส่วนร่วมในระดับเสริมอำนาจประชาชน (To Empower) ที่อาจดำเนินการเป็น “องค์การมหาชน” ตามที่ปรากฏในพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 มีที่มาจากแนวความคิดและหลักกฎหมายองค์การมหาชนของประเทศฝรั่งเศส ดู

(1) โกวิทย์ พวงงาม, ความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย, สถาบันพระปกเกล้า, 2546, http://www.kpi.ac.th/media/pdf...7_46.pdf

(2) พัฒน์พงษ์ แพนพัฒน์, การประกอบกิจการพาณิชย์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, ThaiJO,มหาวิทยาลัยขอนแก่น, วารสารบริหารท้องถิ่น ปีที่ 9 ฉบับที่ 2 (เมษายน-มิถุนายน 2559), https://www.tci-thaijo.org/ind...88241/69372/

(3) พรทิพย์ แก้วคำมูล, การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ, https://www.opdc.go.th/special...2&content_id=156

(4) องค์การมหาชนคืออะไร, ฝ่ายวิชาการ ศูนย์ข้อมูลกฎหมายกลาง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (กันยายน 2548), http://web.krisdika.go.th/acti...68&head=4&item=n5     

[9]สถาบันพัฒนาบุคลากรส่วนท้องถิ่น (สบ.พถ.)   กรมส่งเสริมการปกครองการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.), จัดตั้ง 9 ตุลาคม 2545, http://www.lpdi.go.th/index.ph...    

[10]บทบัญญัติ 7 ประการ เก็บเอาไว้ตอบข้อทักท้วงของ สตง.(1) อำนาจหน้าที่ (2) งบประมาณ (3) การเบิกจ่าย (4) แนวปฏิบัติซ้ำซ้อน (5) ดุลยพินิจ (6) ประโยชน์สาธารณะ (7) โปร่งใสตรวจสอบได้, https://www.dropbox.com/s/c6rf...บัญญัติ7ประการตอบสตง..pdf?dl=0   

[11]'บิ๊กตู่'สั่งจัดหลักสูตรก่อนเลือกตั้งให้'ขรก.-ชาวบ้าน-ท้องถิ่น'คุยทิศทางบ้านเมือง, 10 กันยายน 2561 , https://www.thaipost.net/main/...17212  & ให้ท้องถิ่นดูเลือกตั้ง เตือนอย่าวุ่นวาย, 18 กันยายน 2561, www.thairath.co.th/content/137...     

หมายเลขบันทึก: 655481เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2018 23:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ตุลาคม 2018 23:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท