ลึกแต่แคบ กับ ลึกและกว้าง



ผลลัพธ์การศึกษาที่เราไม่ต้องการคือ ตื้นเขิน

เราต้องการผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ลึก  บัณฑิตต้องคิดลึกเป็น ที่เรียนว่า deep thinking    แต่คิดลึกได้ แต่แคบ เชื่อมโยงไม่เป็น ก็ไม่ดี    ยิ่งในยุคศตวรรษที่ ๒๑ ยิ่งไม่ดี    เพราะบัณฑิตแห่งศตวรรษที่ ๒๑ ต้องคล่องแคล่วในโลกและสังคม VUCA (V = Volatile, U = Uncertain, C = Complex, A = Ambiguous)  

หนังสือ The Integration of Humanities and Arts with Sciences, Engineering and Medicine in Higher Education : Branches from the Same Tree (1) บอกว่าอุดมศึกษา ทั้งระดับปริญญาตรี และบัณฑิตศึกษา    ต้องพิจารณาและพัฒนาวิธีการจัดการเรียนรู้ที่บูรณาการศาสตร์    คือยุคนี้ต้องเน้นการเรียนแบบ integration ระหว่างศาสตร์   ระมัดระวังการเดินตามกระแส specialization ในอดีต    ที่เน้นความลึกมากไปจนขาดความพอดี    ทำให้บัณฑิตขาดความกว้าง   และขาดคุณสมบัติสำคัญหลายอย่างสำหรับชีวิตที่ดีในยุคศตวรรษที่ ๒๑    ได้แก่ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ, การคิดระดับสูง, การเรียนรู้ระดับที่ลึก, ความเข้าใจสาระอย่างชัดเจน, การแก้ปัญหา, การทำงานเป็นทีม, ทักษะการสื่อสาร, การใช้เหตุผลเชิงสายตาและพื้นที่, การมีสมาธิและสนุกสนานต่อการเรียน 

เขาบอกว่า นักศึกษาสาขามนุษยศาสตร์และศิลปะ หากได้เรียนรู้บูรณาการศาสตร์ด้าน STEMM (Science, Technology, Engineering, Mathematics, Medicine) จะช่วยให้ได้เครื่องมือใหม่ หรือมุมมองใหม่ สำหรับทำงานสร้างสรรค์ในสาขาของตน   

การบูรณาการศาสตร์ด้านมนุษยศาสตร์และศิลปะให้แก่นักศึกษแพทย์ จะช่วยเพิ่ม ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น  ความยืดหยุ่นในจิตใจ  การทำงานเป็นทีม  พัฒนาทักษะการวินิจฉัยด้วยตา  เพิ่มความอดทนต่อความไม่ชัดเจน  และเพิ่มความสนใจต่อทักษะการสื่อสาร  

บัณฑิตศึกษาตามที่ปฏิบัติต่อๆ กันมายิ่งสมาทานแนวทางดิ่งลึกทางวิชาการ     แต่รายงานดังกล่าวบอกว่า มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนไปใช้แนวทางบูรณาการมากยิ่งขึ้น    เพื่อช่วยให้บัณฑิตมีความสามารถทำงานในลักษณะที่ซับซ้อนมากๆ ในศตวรรษที่ ๒๑ ได้    และมีการจัด interdisciplinary graduate program เพิ่มมากขึ้น   เกิดมีสาขาวิชาแนวบูรณาการ เช่น science, technology and society; sustainability; women’s studies; human-computer interaction; bioethics เป็นต้น  

วิชาการศึกษาทั่วไป (GE – General Education) ยิ่งควรจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการศาสตร์    ทั้งแบบ interdisciplinary, multidisciplinary และ transdisciplinary    เน้นการประยุกต์และเชื่อมโยง GE กับวิชาเอก ตลอดหลักสูตรปริญญาตรี   และตลอดวิชาในกลุ่มมนุษยศาสตร์และศิลปะ กับวิชาในกลุ่ม STEMM

มหาวิทยาลัยชั้นดี ต้องพัฒนาการจัด การเรียน การสอน และการวิจัย แบบบูรณาการ  อย่างเอาจริงเอาจัง    

วิจารณ์ พานิช        

๒๙ ส.ค. ๖๑


 

 

หมายเลขบันทึก: 655302เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2018 14:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ตุลาคม 2018 18:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท