วิจัยชั้นเรียนเปลี่ยนครู : 9. พัฒนาทฤษฎีของการปฏิบัติ



บันทึกชุด วิจัยชั้นเรียนเปลี่ยนครู นี้ ตีความจากหนังสือ Enhancing Practice through Classroom Research : A teacher’s guide to professional development (2012)  เป็นหนังสือที่เขียนด้วยครูในประเทศไอร์แลนด์ ๔ คน    หนังสือนี้ไม่มีดาวใน Amazon Book  แต่เมื่อผมอ่านแล้ววางไม่ลง     เพราะเป็นหนังสือที่ให้มุมมองใหม่ต่อการวิจัยชั้นเรียน    และให้มุมมองใหม่ต่อชีวิตความเป็นครู

ตอนที่ ๙ พัฒนาทฤษฎีของการปฏิบัติ  นี้ ตีความจากบทที่ 8 Developing theory from practice ซึ่งเป็นบทที่สองของตอนที่สี่ Generating evidence from data : Making meaning  เขียนโดย Bernie Sullivan, Principal of St Brigid’s Girls’ Senior School, Dublin, Ireland  

 สาระของบทนี้คือ

  • วิธีบันทึกการเรียนรู้จากโครงการวิจัยเป็นเอกสาร
  • ความรู้ใหม่ของครูจะพัฒนาเป็นทฤษฎีใหม่ได้อย่างไร
  • ความหมายของข้อค้นพบต่อตัวครูผู้วิจัยเอง และต่อผู้อื่น
  • ความสำคัญของการพัฒนาต่อเนื่องในการทำหน้าที่ครู

บทนำ   

หัวใจของตอนนี้คือการพัฒนาทฤษฎีขึ้นจากข้อมูลและผลการวิเคราะห์ข้อมูล   ผ่านขั้นตอนทำความเข้าใจความสำคัญ (significance) ในเชิงประโยชน์ของข้อค้นพบ    ที่อาจอยู่ในระดับจุลภาค (micro) หรือมหภาค (macro) ก็ได้     ในระดับจุลภาค ได้แก่ความสำคัญต่อตัวครูเอง ต่อนักเรียน ต่อโรงเรียน    ส่วนในระดับมหภาคคือความสำคัญต่อระบบการศึกษาของประเทศ   โดยมีคำถามเพื่อการใคร่ครวญสะท้อนคิดอย่างจริงจังคือ

  • ฉันได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการทำงานวิจัย
  • การเรียนรู้จากโครงการนี้ จะมีผลต่อการทำงานในอนาคตของฉันอย่างไรบ้าง
  • ลูกศิษย์ของฉันได้รับประโยชน์อะไรบ้างจากโครงการวิจัย
  • ฉันสามารถนำเสนอความสำคัญของผลงานวิจัยต่อผู้อื่น นอกจากตัวฉันเองและลูกศิษย์ของฉัน ได้หรือไม่
  • ฉันจะแชร์ความรู้ใหม่นี้ กับเพื่อนครูได้อย่างไร
  • ฉันจะชักจูงเพื่อนครูคนอื่นๆ ให้ทำวิจัยเพื่อพัฒนางานของตนเอง ได้อย่างไร
  • ฉันจะดำเนินการอย่างไรบ้างเพื่อสร้างความยั่งยืนให้แก่การพัฒนาการสอนของฉัน

งานวิจัยปฏิบัติการเพื่อพัฒนาตนเองของครูเป็นรูปแบบที่วงการครูไม่คุ้นเคย    เพราะไม่ใช่งานวิจัยกระแสหลัก ที่ไม่มีแนวคิดว่าครูสามารถสร้างความรู้เพื่อใช้งานในภาคปฏิบัติเองได้    และไม่ถือว่าการสร้างความรู้ใหม่ด้านการเรียนการสอนเป็นบทบาทของครู    แต่กระบวนทัศน์ของงานวิจัยปฏิบัติการเพื่อพัฒนาตนเองของครู ตามที่เสนอในบันทึกชุด วิจัยชั้นเรียนเปลี่ยนครู นี้ ยืนยันว่า ครูสามารถสร้างความรู้จากการปฏิบัติได้  และจากนั้นสามารถสร้างทฤษฎีจากการปฏิบัติได้     และผมขอเพิ่มเติมว่า การที่ครูทำงานวิจัยปฏิบัติการเพื่อพัฒนาตนเอง เป็นรูปแบบของการพัฒนาครู (professional development) ที่ดีที่สุด    ดีกว่าการไปเข้ารับการอบรมเพื่อพัฒนาครูใดๆ ทั้งสิ้น    และในบางกรณี งานวิจัยปฏิบัติการศึกษาตนเองของครูนี้ อาจมีผลเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ต่อระบบการศึกษาในภาพใหญ่ได้    รวมทั้งอาจพัฒนาเป็นทฤษฎีการศึกษาได้   

มองจากมุมของครู   วงการวิจัยการศึกษากระแสหลัก มีส่วนกดทับความเป็นอิสระและความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งศักดิ์ศรีครู    แต่กระบวนทัศน์วิจัยปฏิบัติการศึกษาตนเองของครูเป็นขบวนการกู้ความเป็นอิสระและความมีศักดิ์ศรีของวิชาชีพครู   

เนื่องจากงานวิจัยปฏิบัติการ ใช้คนละกระบวนทัศน์กับงานวิจัยกระแสหลัก ที่เรียกว่าแนว positivist   ที่เน้นประเมินความน่าเชื่อถือของผลงานวิจัยที่ ความสามารถทำซ้ำได้ (reproducibility)  และสามารถนำไปใช้ในสถานการณ์อื่นได้ (transferability)    แต่งานวิจัยปฏิบัติการมีลักษณะตรงกันข้าม คือมีความจำเพาะต่อแต่ละสถานการณ์   ทำซ้ำไม่ได้ และนำไปใช้ในสถานการณ์อื่นได้ยากหรือไม่ได้เลย    จึงต้องหาเกณฑ์ความน่าเชื่อถือที่ใช้กับงานวิจัยชนิดนี้    และมีผู้เสนอว่า เนื่องจากงานวิจัยชนิดนี้ผูกพันกับคุณค่า (value-based) จึงควรใช้ตัวคุณค่านี่แหละเป็นตัวตรวจสอบความน่าเชื่อถือของงานวิจัย    หากงานวิจัยพิสูจน์ตัวเองได้ว่ามีคุณค่าจริง  ก็มีความน่าเชื่อถือ  

ตัวอย่างจากงานวิจัยของผู้เขียน

ประเด็นการวิจัยของผู้เขียน (Bernie Sullivan) คือ หาทางให้นักเรียนใช้เวลาที่โรงเรียนอย่างมีค่ามากขึ้น    เป็นโจทย์ที่ขับดันโดยความเชื่อของผู้เขียนว่า การดำเนินการในโรงเรียนต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของนักเรียนเป็นเป้าหมายหลัก    และเชื่อว่าหน้าที่สำคัญของครูคือวางพื้นฐานการเป็นคนรับผิดชอบทำงานจริงจังให้แก่นักเรียน    เป็นส่วนหนึ่งของคุณค่าประจำใจผู้เขียนด้านความเป็นธรรมในสังคม และความเท่าเทียมกัน      โดยตอนนั้นผู้เขียนสอนชั้นนักเรียนหญิงอายุ ๑๐ ขวบ   กิจกรรมที่เล็งไว้ว่าเป็นการใช้เวลาอย่างสูญเปล่าได้แก่

  • นักเรียนบางคนมาสาย  ทำให้เริ่มต้นชั้นเรียนได้ช้า
  • ลืมสมุดการบ้านไว้ที่บ้าน   ไม่ได้นำมาส่งครู   ทำให้เสียเวลาพูดกันเรื่องการบ้าน
  • นักเรียนลืมนำหนังสือตำราสำหรับใช้ทำการบ้านกลับบ้าน
  • นักเรียนทะเลาะกันตอนเล่นในสนาม  ทำให้ต้องใช้เวลาตัดสินข้อพิพาทในชั้นเรียน
  • เสียเวลาตอนเปลี่ยนวิชาเรียน
  • ถูกเบนความสนใจได้ง่าย  ทำให้ไม่ตั้งใจทำการบ้าน

ผู้เขียนเริ่มงานวิจัยด้วยการปรึกษานักเรียนและบันทึกเสียงเหตุการณ์นี้ไว้ โดยได้ขออนุญาตพ่อแม่และตัวนักเรียนเองไว้ก่อนแล้ว    เพื่อให้เป็นไปตามจริยธรรมในการวิจัย    ผู้เขียนแปลกใจมากที่พบว่านักเรียนเองก็ตระหนักเรื่องปัญหาการเสียเวลาเรียนโดยเปล่าประโยชน์    และสามารถเพิ่มกิจกรรมที่เสียเวลาในชั้นเรียนโดยเปล่าประโยชน์ เพิ่มจากรายการที่ผู้เขียนรวบรวมไว้     เช่นนักเรียนแกล้งถ่วงเวลาเพื่อเรียนวิชาที่ตนชอบให้นานขึ้น โดยการตั้งคำถาม  จะได้ใช้เวลากับวิชาถัดไปที่ตนไม่ชอบ ลดลง     นักเรียนยินดีร่วมกันดำเนินการโครงการลดเวลาสูญเปล่าในชั้นเรียนอย่างกระตือรือร้น    โดยตกลงกันว่า จะนำเวลาที่ได้คืนมาทำกิจกรรมที่พวกตนชอบ คืองานศิลปะ และงานคอมพิวเตอร์    งานวิจัยชิ้นนี้ดำเนินการต่อจากงานวิจัยเพื่อช่วยเหลือ แคโรลีน ตามที่เล่าในบันทึกตอนที่แล้ว    

นักเรียนร่วมกันระบุกิจกรรมเพื่อการปรับปรุงดังต่อไปนี้

  • มาโรงเรียนตรงเวลา
  • ทำการบ้านทั้งหมด
  • ไม่พูดแซงกัน หรือแย่งคนอื่นพูด ในชั้น
  • ทำงานในชั้นเรียนให้เสร็จครบถ้วนสมบูรณ์
  • เตรียมความพร้อมในการเปลี่ยนคาบเรียนอย่างรวดเร็ว
  • ตั้งใจเรียนในชั้นเรียน

เพื่อเป็นสักขีพยาน อันเป็นหลักฐานความน่าเชื่อถือในการวิจัย ผู้เขียนได้ขอให้เพื่อนครู ๒ คน  ช่วยสังเกตและบันทึกพฤติกรรมของนักเรียนบางคน ตามประเด็นการปรับปรุงพฤติกรรมที่นักเรียนช่วยกันระบุข้างบน   

งานวิจัยในช่วงเก็บข้อมูล ใช้เวลา ๓ เดือน    รวมการดำเนินการ ๓ รอบ    ตอนเริ่มต้นแต่ละรอบมีการประชุมปรึกษาหารือกับนักเรียน พร้อมทั้งบันทึกเสียงไว้    แต่เมื่อจบการวิจัยในเวลา ๓ เดือน นักเรียนพร้อมใจกันขอดำเนินการตามโครงการลดเวลาสูญเปล่า     เอาไปใช้ทำกิจกรรมด้านศิลปะและคอมพิวเตอร์อย่างเดิม ไปตลอดปีการศึกษา    และตอนจะจบปีการศึกษาก็ได้ประชุมขอให้นักเรียนบอกว่าตนได้ปรับปรุงตนเองอย่างไรบ้างนับตั้งแต่เริ่มโครงการ พร้อมทั้งบันทึกเสียงไว้

วิธีดำเนินการวิจัยรอบแรก ผู้เขียนให้นักเรียนแต่ละคนเลือกว่าตนจะเลือกทำกิจกรรมใดใน ๖ กิจกรรมที่ร่วมกันกำหนดไว้    คือยึดหลักให้อิสระในการเลือกทำกิจกรรมแก่นักเรียน    ตกตอนเย็นก่อนเลิกเรียน มีเวลา ๕ นาทีให้นักเรียนบันทึกผลงานของตน    และมีนักเรียนบางคนมาขอให้ครูช่วยยืนยันผลงานของตน    ทำให้ผู้เขียนตระหนักจากการใคร่ครวญสะท้อนคิด ว่าวิธีนี้ไม่ดี  ครูคนเดียวไม่สามารถตรวจสอบผลของนักเรียนแต่ละคนได้หมด เพราะมีนักเรียนในชั้นถึง ๒๓ คน       

ในรอบที่ ๒ ของการวิจัย ผู้เขียนปรึกษากับนักเรียนว่า จะร่วมกันปรับปรุงประเด็นเดียวกันทั้งชั้น เป็นเวลาสองสามวัน แล้วจึงขยับไปปรับปรุงประเด็นถัดไป    แล้วดำเนินการตามแผนเป็นเวลาสองสัปดาห์    โดยผู้เขียนและเพื่อนครูสองคน บันทึกข้อมูลจำนวนนักเรียนที่มาสาย  จำนวนนักเรียนที่ทำการบ้านเสร็จ  จำนวนนักเรียนที่ทำงานในชั้นเรียนเสร็จ   เวลาที่ใช้ในการเปลี่ยนคาบเรียน  ฯลฯ    การดำเนินการเป็นไปอย่างราบรื่น และนักเรียนได้รับรางวัล คือมีคาบเวลาพิเศษสำหรับทำกิจกรรมศิลปะ และคอมพิวเตอร์    แต่ตัวครูผู้เขียนเองสังเกตเห็นว่า เมื่อชั้นเรียนขยับไปดำเนินการประเด็นถัดไป    พฤติกรรมของนักเรียนในประเด็นเดิมกลับหย่อนลงไปอีก

จึงเกิดวิธีการดำเนินการในรอบที่สาม จากวงประชุมปรึกษาหารือกับนักเรียน    ตกลงกันว่า เมื่อเลื่อนไปดำเนินการประเด็นถัดไป นักเรียนต้องดำรงพฤติกรรมตามประเด็นที่ผ่านมาแล้วให้คงเดิมหรือดีกว่าเดิม    ในรอบที่สาม (รอบสุดท้าย) นี้ ผู้เขียนสังเกตว่า นักเรียนมีความจริงจังต่อโครงการมาก    มีการสะกิดเตือนเพื่อนให้ทำตามข้อตกลง     เท่ากับนักเรียนเข้าสู่สภาพควบคุมตนเอง หรือควบคุมกันเอง โดยครูแทบไม่ต้องลงแรงเลย   

เมื่อครบสามเดือน จบโครงการวิจัย นักเรียนตกลงกันเองว่า จะดำเนินการโครงการยี้ต่อไปจนครบปีการศึกษา

ความรู้ใหม่ที่ผุดขึ้นมาระหว่างทำวิจัย

ความรู้ใหม่จะผุดขึ้นมาผ่านการบันทึกเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย    เป็นข้อมูลที่มีรายละเอียดมากมาย  ลงไปถึงระดับพฤติกรรมของนักเรียนที่มีปัญหาพฤติกรรมเป็นรายคน ที่บางคนเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง   แต่บางคนดีขึ้นเพียงเล็กน้อย    ครูนักวิจัยนำข้อมูลเหล่านี้มาใคร่ครวญสะท้อนคิดอย่างจริงจัง    โดยผู้เขียนแนะนำคำถามช่วยการใคร่ครวญสะท้อนคิดดังต่อไปนี้

  • ฉันได้ความรู้ใหม่อะไรบ้าง จากการทำวิจัยนี้    โปรดสังเกตว่า ความรู้ใหม่ ในที่นี้ เป็นความรู้ใหม่สำหรับตัวครูผู้วิจัย  
  • ฉันได้เรียนรู้อะไรเกี่ยวกับนักเรียนที่ฉันสอน  รวมทั้งเรื่องการเรียนรู้ของนักเรียน
  • การเรียนรู้แบบใหม่ของฉันมีผลต่อการความรู้เกี่ยวกับตนเองอย่างไรบ้าง  

การที่ผู้เขียนถือลูกศิษย์เป็น “ผู้ร่วมวิจัย” (co-researcher) ซึ่งหมายความว่า ครูปฏิบัติต่อศิษย์ในฐานะ “ผู้เท่าเทียมกัน” มีผลต่อการวิจัยมาก   การที่ครูทำงานวิจัยในประเด็นที่นักเรียนให้ความสำคัญ  และครูขอความเห็นจากศิษย์อย่างแสดงความเคารพใน “ความเท่าเทียม” เป็นการแสดงท่าทีที่ครูมองศิษย์ในฐานะเพื่อนมนุษย์    และให้โอกาสนักเรียนเป็นผู้มีส่วนต่อการตัดสินใจด้านการศึกษาที่นักเรียนกังวลใจ   

งานวิจัยนี้จึงเป็นงานวิจัยที่ “ปลดปล่อยพันธนาการ”    เพราะทำร่วมกับนักเรียน นักเรียนเป็นผู้ “ร่วม” วิจัย ไม่ใช่ผู้ “ถูก” วิจัย เหมือนงานวิจัยการศึกษาอื่นๆ    คุณค่าที่ฝังอยู่ในงานวิจัยคือ “ความเป็นประชาธิปไตย”  ในห้องเรียน    

ความรู้ที่ผุดขึ้นในสมองของผู้เขียนคือ การปรับปรุงการเรียนการสอนจะเกิดขึ้นง่าย    หากมีการปรึกษาหารือเรื่องนี้ในหลากหลายฝ่าย    ไม่ใช่ครูคิดเองคนเดียว   

หลากหลายฝ่ายในกรณีงานวิจัยของผู้เขียนคือ นักเรียน  เพื่อนครู  และพ่อแม่ของนักเรียน   ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มเติมข้อมูลแล้ว    ยังช่วยเพิ่มมุมมองจากต่างมุมด้วย    ผมขอเติมอีกฝ่ายหนึ่งคือ หนังสือ    ครูนักวิจัยต้องปรึกษาหนังสือ ตำรา และวารสารวิชาการด้วย    งานวิจัยจึงจะลุ่มลึกและเชื่อมโยง    ซึ่งหมายถึง มีคุณภาพสูง 

ความรู้ใหม่ที่ผุดขึ้น เป็นความรู้เกี่ยวกับตัวครูนักวิจัยเอง  ความรู้เกี่ยวกับตัวนักเรียนแต่ละคน   และความรู้เกี่ยวกับวิธีเรียนรู้ของนักเรียน      


เรียนรู้จากการใคร่ครวญสะท้อนคิด

การเรียนรู้จากการใคร่ครวญสะท้อนคิด เกิดขึ้นจากการมีเป้าหมายของการเรียนรู้ที่ชัดเจน  มีข้อมูลที่เก็บมาจากการปฏิบัติที่มีเป้าหมายพัฒนานักเรียนในประเด็นที่กำหนด    ซึ่งในกรณีของผู้เขียนมี ๔ ประเด็นเป้าหมายคือ (๑) ความตรงต่อเวลา   (๒) การทำการบ้านเสร็จ  (๓) การทำงานในชั้นเรียนให้เสร็จ  (๔) การรอคอยจนถึงคิวของตน  (๕) การมีสมาธิอยู่กับการเรียนในชั้นเรียน   ข้อมูลสำหรับนำมาใคร่ครวญสะท้อนคิดมาจากบันทึกการใคร่ครวญสะท้อนคิดของผู้เขียน  ของเพื่อนครูที่สอนนักเรียนกลุ่มเดียวกัน   ของนักเรียน   คำตอบแบบสอบถามของพ่อแม่   และเทปบันทึกเสียงการเสวนาระหว่างผู้เขียนกับศิษย์  

ข้อเรียนรู้ของผู้เขียนคือ (๑) หากนักเรียนเข้าใจเป้าหมายของงานที่ทำอย่างชัดเจน   นักเรียนจะตั้งใจทำ    ซึ่งผมขอเพิ่มเติมว่า หากนักเรียนได้เข้าใจเป้าหมายในระดับคุณค่าของกิจกรรมนั้น    นักเรียนจะตั้งใจและโอกาสเกิดการเรียนรู้ในระดับที่ลึก (deep learning) จะยิ่งมากขึ้น   (๒) นักเรียนจะทำอย่างกระตือรือร้น หากรู้ว่าเมื่อทำสำเร็จจะได้รับรางวัล   (๓) ต่อเนื่องจากข้อ (๒) ผู้เขียนได้เรียนรู้หลักการของ “แรงจูงใจ” (motivation) ทางการศึกษา    (๔) หลักการของความเคารพต่อกันและกันในชั้นเรียน (mutual respect, respect for all)

โปรดสังเกตว่า ประเด็นการเรียนรู้ของนักเรียนตามในโครงการวิจัยปฏิบัติการเรียนรู้ตนเองของครู นี้    เป็นประเด็นในหมวดของการพัฒนาคุณลักษณะหรือลักษณะนิสัย (characters) ตามที่ระบุใน 21st Century Skills    ลักษณะนิสัยที่พัฒนาขึ้นนี้ หากติดตัวนักเรียนไป จะมีคุณต่อนักเรียนในหลากหลายด้านของชีวิต    

ผมขอเพิ่มเติมจากประสบการณ์ตรงของตนเองว่า การเรียนรู้จากการทำงาน ตามขั้นตอนการตั้งเป้า  ปฏิบัติ  เก็บข้อมูล  ใคร่ครวญสะท้อนคิด  เกิดความรู้ใหม่ นั้น    ไม่ได้เป็นกระบวนการที่เป็นเส้นตรง    แต่เป็นกระบวนการที่เป็นวงจรที่ซับซ้อนและปรับตัว (complex-adaptive cycle)    ความรู้ที่ผุดบังเกิดขึ้นอาจเกิดในช่วงต้นๆ ของวงจรนี้ก็ได้    หรือค่อยๆ เกิดขึ้นในช่วงแรกๆ  แล้วค่อยๆ ชัดเจนขึ้นเมื่อผ่านการทดสอบในรอบหลัง

มองจากมุมของหลักการจัดการความรู้    กระบวนการวิจัยปฏิบัติการศึกษาตนเองของครู    เป็นการทำให้ “ความรู้ฝังลึก” (tacit knowledge) จากการปฏิบัติของครู    ถูก “ถอด” ออกมาเป็น “ความรู้แจ้งชัด” (explicit knowledge) เพื่อสื่อสารกับผู้อื่นได้ง่าย    


ทฤษฎีเกี่ยวกับการปฏิบัติ

 ผมตีความว่า นี่คือทฤษฎีที่มาจากการปฏิบัติ และนำกลับไปใช้ปรับปรุงการปฏิบัติ เป็นวงจรยกระดับคุณภาพต่อเนื่องไม่สิ้นสุด    ซึ่งในที่นี้คือคุณภาพของการศึกษา 

ทฤษฎีเกี่ยวกับการปฏิบัติในที่นี้ แตกต่างจากทฤษฎีโดยทั่วไปในตำรา   โดยที่ทฤษฎีโดยทั่วไปในตำราพัฒนาขึ้นอย่างเป็นนามธรรม   อาจเข้ามาเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติโดยช่วยเป็นกรอบความคิดสู่การพัฒนาทฤษฎีจากการปฏิบัติ      

ในที่นี้ ทฤษฎีเป็นพัฒนาการต่อเนื่องมาจากความรู้ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นจากการปฏิบัติ   โดยขั้นตอนที่ผู้เขียนแนะนำคือ   ครูนักวิจัยเขียนหลักการด้านคุณค่าที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้วิจัยทำวิจัยในโครงการนี้    แล้วไตร่ตรองสะท้อนคิดว่าสิ่งที่ตนปฏิบัติ (ดำเนินการวิจัย) อยู่ตรงไหนในหลักการของคุณค่านั้น    และตรวจสอบผลการวิจัยว่ามีการยกระดับผลของการเรียนการสอนหรือไม่    โดยที่การเปรียบเทียบผลงานของเรากับผลงานของเพื่อนครู หรือของรายงานผลการวิจัยอื่น   โดยวิธีที่เรียกว่า triangulation  จะช่วยการตรวจสอบความตรงประเด็น (validity) และความน่าเชื่อถือ (reliability) ของผลงานวิจัยของเรา    

คุณค่าที่ผู้เขียนยึดถือ คือคุณค่าของความเท่าเทียมกัน (value of equality)    ที่นำไปสู่การใช้นักเรียนเป็น “ผู้ร่วมวิจัย”   ทำให้ผู้เขียนดำเนินการวิจัยบนฐานคุณค่า “หลักประชาธิปไตยในการจัดการศึกษา”     และนำไปสู่การพัฒนาทฤษฎีเกี่ยวกับการปฏิบัติว่า  “ห้องเรียนเป็นพื้นที่ร่วมใจร่วมแรงที่นักเรียนกับครูร่วมมือกันทำให้การเรียนเป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่าต่อทุกฝ่าย”   และได้อีกหนึ่งทฤษฎีแถมมาโดยไม่คาดคิด คือเรื่องแรงจูงใจในการเรียนช่วยให้นักเรียนพัฒนาขึ้น  

นอกจากนั้น ผู้เขียนยังได้สร้างทฤษฎีว่าด้วยความเคารพนับถือ (respect) เชื่อมโยงกับความเท่าเทียมกัน (equality)    สร้างเป็นทฤษฎีการศึกษาว่าด้วยปฏิสัมพันธ์บนฐานของ “ความเคารพนับถือต่อทุกคน” (respect for all)  เป็นเครื่องมือสู่การเรียนรู้ที่มีคุณภาพสูง           

ในช่วงเวลาของการวิจัย ผู้เขียนได้เอาบันทึก reflective journal ของตนให้นักเรียนอ่านและขอคำวิจารณ์   กระบวนการนี้ และกิจกรรมอื่นๆ ที่ดำเนินการต่อเนื่อง ทำให้นักเรียนได้ฝึกคิดอย่างลึกซึ้ง (critical thinking)    เกิดพฤติกรรมการเป็นผู้ร่วมสร้างความรู้  ไม่ใช่ผู้รอรับถ่ายทอดความรู้    ซึ่งจะติดตัวเด็ก และก่อคุณค่าไปตลอดชีวิต

ผู้เขียนสรุปว่า ทฤษฎีเกี่ยวกับการปฏิบัติที่ตนสร้างขึ้นจากงานวิจัย อยู่บนฐานการให้ความสำคัญต่อการให้นักเรียนได้ฝึกทักษะการคิดอิสระ หรือคิดอย่างเป็นตัวของตัวเอง (independent thinking) และการคิดอย่างลึกซึ้งจริงจัง (critical thinking)



 

คุณค่าของผลงานวิจัย

งานวิจัยในบันทึกชุด วิจัยชั้นเรียนเปลี่ยนครู นี้   มีเป้าหมายหลักคือเปลี่ยนแปลงตัวครูที่เป็นนักวิจัยเอง    ผ่านกระบวนการวิจัยชั้นเรียน ซึ่งก็หมายความว่าเป้าหมายคู่กันคือการเรียนรู้ของนักเรียนดีขึ้นกว่าเดิม    แต่คุณค่าของผลงานวิจัยไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น    ยังอาจมีผลดีต่อเพื่อนครูในโรงเรียน   และต่อวงการศึกษาของประเทศในวงกว้างได้ด้วย   โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในระดับนโยบาย

คุณค่าต่อนักเรียนนอกจากทำให้ผลลัพธ์การเรียนรู้ดีขึ้นแล้ว    ยังอาจก่อผลดีต่อนักเรียนไปตลอดชีวิต   ดังกรณีของผู้เขียน ที่เห็นชัดเจนว่า กระบวนการวิจัยได้สร้างแรงจูงใจต่อการเรียนรู้แก่นักเรียน    และหากนักเรียนคนใดแรงจูงใจเกิดขึ้นในระดับ แรงจูงใจภายใน (intrinsic motivation) หรือ self-motivation ต่อการเรียนรู้   นักเรียนกลายเป็นคนที่กำกับตัวเองได้ในเรื่องการเรียนรู้    นักเรียนคนนั้นจะได้รับผลดีไปตลอดชีวิต

การที่นักเรียนได้รับการฝึกฝนวิธีคิดอย่างลึกซึ้งจริงจัง (critical thinking)  และการใคร่ครวญสะท้อนคิดอย่างจริงจัง จากกระบวนการวิจัย   จะเป็นทักษะสำคัญต่อการเรียนรู้จากการปฏิบัติ ที่ติดตัวไปตลอดชีวิตเช่นเดียวกัน           

การวิจัยปฏิบัติการศึกษาตนเองของครู ตามที่เล่าในบันทึกชุด วิจัยชั้นเรียนเปลี่ยนครู นี้    มองอีกมุมหนึ่ง ก็คือกระบวนการพัฒนาครู (professional development) นั่นเอง    ดังนั้น ผลงานวิจัยแบบนี้เมื่อเผยแพร่ออกไป    ผ่านการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ  และการสื่อสารผ่านช่องทางอื่นๆ    ย่อมมีประโยชน์ต่อครูคนอื่นๆ  ต่อวงการศึกษาศาสตร์ ครุศาสตร์    และต่อวงการศึกษาในภาพรวม    โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระตุ้นให้ครูคนอื่นๆ ทำงานวิจัยชั้นเรียนในลักษณะคล้ายๆ กัน    และที่สำคัญ ให้เห็นว่างานวิจัยแบบนี้ทำได้ไม่ยาก  แต่ก่อคุณค่ามากมายคุ้มต่อการลงทุนลงแรง  

คุณค่าต่อตัวครูนักวิจัยเองมีมากมายหลายชั้น ดังกล่าวแล้วในตอนต่างๆ ของบันทึกชุดนี้    และผมตีความว่า หลายประเด็นเป็นการเรียนรู้ระดับเปลี่ยนแปลงขั้นรากฐาน (transformative learning) เช่นการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของครูผู้วิจัย (ในที่นี้คือผู้เขียน) ในด้านปฏิสัมพันธ์แบบเท่าเทียมกันกับนักเรียน ที่ยกย่องนักเรียนเป็นผู้ร่วมวิจัย    และมีการปฏิบัติต่อนักเรียนแบบให้เกียรติหรือเคารพในฐานะเพื่อนมนุษย์    คุณสมบัตินี้ของครูที่พัฒนาขึ้นจากการวิจัย จะติดตัวและขยายไปสู่ปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนครู และคนอื่นๆ ในสังคม    ก่อคุณประโยชน์แก่ตัวครูนักวิจัยเป็นอันมาก    ผมถือเป็น “ทักษะชีวิต” (life skill) อย่างหนึ่ง    

ผู้เขียนได้ระบุการเรียนรู้ของตัวครูผู้วิจัยเอง และต่อตัวศิษย์ ลงรายละเอียดมากมาย เช่น ค้นพบว่าการที่ครูแสดงความคาดหวังสูงต่อนักเรียน และให้การสนับสนุนเต็มที่ จะเป็นแรงกระตุ้นให้นักเรียนใช้ความพยายามมากขึ้น    การค้นพบคุณค่าของทัศนคติเชิงบวก (positive attitude) ที่ให้ผลดีต่อทั้งตัวครูเอง และต่อศิษย์    การที่นักเรียนได้ฝึกทักษะการใคร่ครวญสะท้อนคิดร่วมกัน   ได้ฝึกฟังผู้อื่น และฝึกบอกความในใจอย่างซื่อสัตย์หรือจริงใจ   และได้มีโอกาสเรียนรู้จากการปฏิบัติ ช่วยให้เกิดการพัฒนาคุณลักษณะหลากหลายด้านตามที่ระบุใน ทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ หมวด Character Qualities    ผมเองตีความว่า คุณค่าสำคัญที่สุดต่อตัวครูผู้วิจัย คือได้พัฒนาความมั่นใจในตัวเอง ว่าในฐานะครูธรรมดาๆ ตนสามารถสร้างผลงานวิจัยที่ยิ่งใหญ่ในระดับสร้างทฤษฎีได้    และงานวิจัยปฏิบัติการชั้นเรียนแบบนี้ จะช่วยให้ครูค่อยๆ พัฒนารูปแบบการเรียนรู้ที่มีคุณภาพสูง    วางรากฐานพัฒนาการของศิษย์ ให้เกิดการเรียนรู้เต็มศักยภาพตามวัย    สร้างศักดิ์ศรีของความเป็นครู 

งานวิจัยแบบนี้ ไม่ควรเป็นงานที่ทำเรื่องเดียว จบแล้วจบเลย    ครูควรทำงานวิจัยปฏิบัติการประเมินตนเอง ต่อเนื่องตลอดชีวิตการเป็นครู    โดยเปลี่ยนประเด็นไปตามความเหมาะสม    ชีวิตครูจะเป็นชีวิตที่มีค่าสูงยิ่ง ในหลากหลายมิติ 


การเผยแพร่ผลงานวิจัย

เพื่อให้งานวิจัยก่อคุณค่า จึงต้องมีการเผยแพร่   คำแนะนำคือให้หาทางเผยแพร่อย่างกว้างขวางที่สุดเท่าที่จะทำได้    เริ่มต้นที่นำเสนอในการประชุมของโรงเรียน หรือกลุ่มโรงเรียน   เสนอในการประชุมวิชาการด้านการศึกษาในประเทศ หรือระดับนานาชาติ    และตีพิมพ์ในวารสารวิชาการด้านการศึกษา 

เมื่อมีการเผยแพร่ผลงานวิจัย    โอกาสที่ผลงานจะก่อผลกระทบกว้างขวางก็จะยิ่งมากขึ้น    โดยเฉพาะผลกระทบต่อระบบการบริหารการศึกษาของประเทศ    รวมทั้งระบบการพัฒนาครู และการสนับสนุนการสร้างผลงานวิจัยชั้นเรียน

การเผยแพร่ผลงานวิจัย เป็นกลไกหนึ่งของการรับการตรวจสอบจากวงการวิจัยการศึกษาด้วยกัน    อาจได้รับข้อคิดเห็น หรือคำวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งในเชิงเห็นด้วยและในเชิงไม่เห็นด้วย    หรือในเชิงแต่งเสริมเติมเต็ม    ช่วยให้นักวิจัยเจ้าของผลงาน และผู้อ่านท่านอื่นๆ ได้เรียนรู้มุมมองในแง่มุมที่ครบถ้วนและลึกซึ้งขึ้น    การเผยแพร่ผลงานวิจัยจึงเป็นกลไกหนึ่งของการยกระดับองค์ความรู้ในสังคม   

ผมขอเพิ่มเติมว่า นอกจากเผยแพร่ผลงานวิจัยในฐานะผลงานทางวิชาการแก่วงการวิชาชีพครูแล้ว    ควรดำเนินการสื่อสารผลงานในลักษณะความรู้สาธารณะต่อสังคม    โดยใช้ภาษาที่ชาวบ้านธรรมดาๆ เข้าใจได้ง่าย      ที่คนที่เป็นพ่อแม่ หรือคนที่สนใจร่วมพัฒนาระบบการศึกษาของบ้านเมือง ควรได้รับรู้และนำไปใช้    ก็   จะเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองในวงกว้าง    เพราะคนทั่วไปสามารถนำความรู้นี้ไปสื่อสารต่อผู้กำหนดนโยบายการศึกษา ในลักษณะ “การกดดันทางนโยบาย” (policy advocacy)    ตามทฤษฎีสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ของ ศ. นพ. ประเวศ วะสี   


วิจารณ์ พานิช        

๘ ก.ค. ๖๑


 

 

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท