ถอดบทเรียนรายวิชา ๐๐๓๕๐๐๑ หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน (๔) : ชุมชนบ้านเหล่าดอกไม้ อ.ชื่นชม จ.มหาสารคาม


ตัวอย่างที่ดีที่สุด (Best Practice, BP) ด้านความต่อเนื่องของการศึกษาและพัฒนาชุมชนในบริบทของรายวิชา ๐๐๓๖๐๐๖ หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน ควรยกย่องให้กับการทำงานของทีมอาจารย์ผู้สอนจากคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม ณ ชุมชนบ้านเหล่าดอกไม้ ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายของสาขาวิชามาตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๕๘ ทำอย่างต่อเนื่องถึง ๓ ปีการศึกษา

การออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้และศึกษาชุมชนให้นิสิตจำนวนต่อรุ่นละกว่า ๗๐๐ คน ให้ได้มีส่วนร่วมในการสร้างองค์ความรู้ของชุมชน ภายใต้ข้อจำกัดด้านงบประมาณ ถือเป็นงานที่ "หนัก" และ "หิน" มากๆ กระบวนการเรียนรู้ที่พัฒนามาจนถึงรูปแบบที่ใช้กันอยู่ จึงถือเป็นความสำเร็จสำคัญหนึ่งของรายวิชาฯ และโดยเฉพาะเมื่อผลงานและผลการเรียนรู้ของนิสิตคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม ได้รับรางวัลและคัดเลือกให้เป็นต้นแบบหนึ่งให้นิสิตรุ่นน้องๆ ได้ศึกษาและพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่องต่อไป

เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจภาพรวมและความเชื่อมโยงระหว่างงานบริการวิชาการของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผ่านโครงการ "หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน ซึ่งอาจารย์วรรณา คำปวนบุตร หัวหน้าทีมอาจารย์ผู้สอนของคณะฯ เป็นหนึ่งในทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยด้วย  จึงควรจะทำความรู้จัก "ปัญหา" และ "ปัญญา" ที่เกี่ยวข้องกับชุมชนบ้านเหล่าดอกไม้ และทราบถึงความเป็นมาและแนวคิดในการบูรณาการกิจกรรมการเรียนรู้รายวิชาหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนเข้ากับงานดังกล่าว

๑) ทำไมจึงไปเรียนรู้ที่ชุมชนตำบลเหล่าดอกไม้

ทำไมคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม จึงเลือกชุมชนบ้านเหล่าดอกไม้ เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับรายวิชาหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน ... เข้าใจว่า

  • เพราะขณะนี้ทีมคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยกำลังร่วมมือกันทำการวิจัยและพัฒนา (แบบมุ่งเป้า) ที่จะสร้างชุมชนต้นแบบขึ้นที่ชุมชนตำบลบ้านเหล่าดอกไม้ อ.ชื่นชม จ.มหาสารคาม ภายใต้ชุดโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน โดยมีหลักสูตรหรือคณะ-วิทยาลัยต่างๆ ลงพื้นที่ทำงานกันอย่างบูรณาการ (สหวิทยาการ) 
  • จากการสืบค้นพบว่า มหาวิทยลัยมหาสารคาม กำหนดพื้นที่เป้าหมายในการวิจัยและบริการวิชาการเชิงพื้นที่ (Area-based) ไปที่ ชุมชนบ้านเหล่าดอกไม้ เพราะ
    • พื้นที่ชุมชนบ้านเหล่าดอกไม้ มีอาณาเขตส่วนหนึ่งคลุมเข้าไปในพื้นที่ "ป่าโคกข่าว" ซึ่งเป็นป่าชุมชนขนาดใหญ่ที่สุดของจังหวัดมหาสารคาม มีพื้นที่ครอบคลุมถึง ๓ ตำบล  (อ่านเรื่องป่าโคกข่าวได้ที่นี่)
    • ข้อมูลที่แสดงทางเว็บไซต์ของ อบต.เหล่าดอกไม้  และสืบค้นข้อมูลการทำงานของ อบต. จะพบว่า ชุมชนตำบลเหล่าดอกไม้ มีผู้นำที่เข้มแข็ง ให้ความสำคัญกับป่าชุมชน และมีกิจกรรมความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ อย่างหลากหลาย เช่น มีความร่วมมือกับ ปตท. ร่วมกันอนุรักษ์ป่าโคกข่าวมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๔ จนถึงปัจจุบัน 
    • ชุมชนตำบลเหล่าดอกไม้ มีความประสงค์จะพัฒนาให้พื้นที่ป่าโคกข่าวเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ 

ด้วยเหตุนี้จึงตรงกับธรรมชาติสาขาของคณะการท่องเที่ยวโดยตรง คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรมจึง เป็นเป็นหนึ่งในทีมวิจัยมุ่งเป้าที่เข้าไปศึกษาและพัฒนาพื้นที่ป่าโคกข่าว ร่วมมือกับชุมชนตำบลเหล่าดอกไม้  เปิดพื้นที่และโอกาสให้นิสิตไปเรียนรู้ในพื้นที่  .... ดังจะได้เล่าต่อไป


๒) โครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน ณ ชุมชนตำบลเหล่าดอกไม้ 

จากการสืบค้นข้อมูลทุติยภูมิทางอินเตอร์เน็ต พบคลิปที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก แต่ที่เกี่ยวข้องกับงานบริการวิชาการของมหาวิยาลัย มี ๓ คลิปที่น่าสนใจ และท่านจะเข้าใจไม่ยากเลย



ในคลิปนี้ บอกว่า

  • ป่าโคกข่าว ซึ่งมีเนื้อที่ถึง ๕,๓๘๗ ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ถึง ๓ ตำบล ๙ หมู่บ้าน ของ อ.ชื่นชม จ.มหาสารคาม เป็นผืนป่าเบญจพรรณที่ใหญ่ที่สุดที่เหลืออยู่ในขณะนี้  และมีเอกลักษณ์จากลักษณะของดินลูกรังสีแดงสด ตัดกับสีเขียวสดของใบไม้ (หน้าฝน) ทำให้ดูสวยงามยิ่ง
  • ป่าโคกข่าว ทำให้พื้นที่รอบๆ มีความอุดมสมบูรณ์ ชุ่มชื้น เย็นสบาย เป็นแหล่งอาหารป่า ชาวบ้านจะเข้าไปหาเห็ด พืชผัก ไข่มดแดง ฯลฯ 
  • "ปัญหา" คือ มีการบุกรุกทำลายป่าโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ (ไม่ทราบว่าป่าโคกข่าวสำคัญมาก) เนื่องจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ไม่ได้รับการสืบทอด มีเพียงคนเฒ่าคนแก่เท่านั้นที่พอรู้ว่า การอยู่กินกับป่านั้นสำคัญยิ่ง 
  • สิ่งที่มหาวิทยาลัยจะไปช่วยขับเคลื่อน คือ 
    • จัดการความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนตำบลเหล่าดอกไม้ 
    • จัดทำระบบสารสนเทศและฐานข้อมูลองค์ความรู้และภูมิปัญญา
    • ส่งเสริมและพัฒนาให้พื้นที่ชุมชนบ้านเหล่าดอกไม้ กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และสร้างมัคคุเทสก์ชุมชน 
อีกคลิปหนึ่งเป็นฝึมือของนักเรียนโรงเรียนชื่นชมพิทยาคาร ภาพสวยมาก และจะทำให้ท่านรู้จัก "ป่าโคกข่าว" มากขึ้น 


ส่วนอีกคลิป เป็นภาพบรรยายกาศการทำงานของทีมวิจัยและบริการวิชาการแบบมุ่งเป้าเชิงพื้นที่ (Area Based) ... เพลงเพราะมาก


นอกจากนี้แล้ว โครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนในปีล่าสุด มหาวิทยาลัยได้เข้าไปศึกษาและพัฒนาชุมชนผู้สูงวัยในชุมชนตำบลเหล่าดอกไม้ ... ชมคลิปนี้ครับ 



๓) ผลงานและผลการเรียนรู้จากรายวิชาฯ ปีการศึกษา ๒-๒๕๕๙

จุดเด่นของการจัดการเรียนรู้รายวิชาหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนของคณะการท่องเที่ยวฯ คือ ความเข้มงวดกับการเข้ามีส่วนร่วมของนิสิตอยากเข้มข้น ตรวจสอบอย่างละเอียด นิสิตที่ไม่เข้าเรียนรู้ครบถ้วนร้อยละ ๘๐ จะไม่มีสิทธิผ่านตามระเบียบ ความจริงจังและใส่ใจมากๆ ของอาจารย์วรรณาและทีม ทำให้เราเห็นถึงความพร้อมเพียงและคึกคักในบู๊ตนิทรรศการของคณะเสมอ  และการเน้นย้ำให้นิสิตต้องลงมือทำด้วยตนเอง ฝึกด้วยตนเอง ฝึกความรับผิดชอบต่องานเต็มที่ ทำให้ดีที่สุดและทันเวลา .... ตรงนี้ทำให้ผมเองโดยส่วนตัวนับถือและศรัทธาท่านมาก

เพื่อจะแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของนิสิต ขอนำเสนอภาพผลงานและผลการเรียนรู้เก่า ที่เก็บไว้ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๕๙ ดังนี้




  • การแสดงเดินแบบ แฟชั่นชุดไทยร่วมสมัย ที่ใช้ผ้าที่ผลิตจากชุมชนตำบลเหล่าดอกไม้ 



  •  ภาพนี้เป็นโคลสอัพหน้าต่างโมเดลจำลอง "โรงเรียนผู้สูงอายุ" ของชุมชนตำบลเหล่าดอกไม้  



  • จะเห็นเล้าไก่ ที่คณะเทคโนโลยีใช้เป็นกุศโลบายให้ผู้สูงวัยได้ทำกิจกรรมร่วมกันและผ่อนคลาย สนุก มีความสุขมากขึ้น 



  • นิสิตนำเสนอเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับผ้าพื้นบ้าน  



  •  โมเดลจำลองป่าโคกข่าว



  • ผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญา และสิ่งที่นิสิตลองทำนำมาใช้เอง 

๔) ผลงานและผลการเรียนรู้จากรายวิชาฯ ปีการศึกษา ๒-๒๕๖๐

ปีการศึกษา ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา คณะการท่องเที่ยวฯ นำผลงานการศึกษาและพัฒนาชุมชนตำบลเหล่าดอกไม้นำเสนออีกครั้ง  .. ขอเล่าด้วยภาพต่อไปนี้



  •  รถนำเที่ยวป่าโคกข่าว



  •  แปรรูปผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน



  •  หนังสือเล่มเล็กเกี่ยวกับชุมชนตำบลเหล่าดอกไม้



  •  หอระวังไฟป่า



  •  นิสิตด้านที่อยู่ด้านหลังบู๊ตทั้งหมด คือทีมงานของคณะฯ 



  •  พิพิธภัณฑ์แหล่งการเรียนรู้ป่าโคกข่าว



  •  โมเดลแสดงภายในศูนย์การเรียนรู้ป่าโคกข่าว




  • มีแบบจำลอง ๓ มิติ แสดงพื้นที่ป่าโคกข่าว 
๕) รูปแบบการศึกษาชุมชนของคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม

รูปแบบการศึกษาชุมชนที่ทีมอาจารย์ผู้สอนออกแบบขึ้น ภายใต้ข้อจำกัดของจำนวนนิสิตที่มากถึง ๗๐๐ คน และงบประมาณที่จำกัด  แสดงดังรูป




แนวปฏิบัติที่ดี ที่น่าสนใจ

  • แม้ว่าจะมีนิสิตจำนวนมาก แต่จำนวนสมาชิกของกลุ่มย่อยไม่มากเกินไป (๒๐-๒๕ คนต่อกลุ่ม) ทำให้นิสิตทุกคนยังคงมีส่วนร่วมทำงานกลุ่ม 
  • การกำหนดพื้นที่เป้าหมายให้เป็นพื้นที่เดิม และบูรณาการกับโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน ทำให้มีองค์ความรู้เดิมต่างๆ ให้นิสิตรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ และเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
  • การใช้เครื่องมาตรฐานที่อาจารย์พัฒนาขึ้นและใช้จริงในการวิจัย ทำให้นิสิตเห็นตัวอย่างของเครื่องมือศึกษาที่ดี และการเปิดโอกาสให้นิสิตได้สร้างเครื่องมือ (แบบสอบถาม) ของกลุ่มขึ้นอย่างมี่ส่วนร่วม ทำให้นิสิตได้ฝึกทั้งกระบวนการสร้างเครื่องมือและการทำงานร่วมกัน 
  • ความเข้างวดและจริงจังของทีมอาจารย์ ทำให้ปริมาณงานที่เกิดขึ้น สอดคล้องสมเหตุผลกับจำนวนนิสิต
เข้าใจว่าปีการศึกษาต่อไป คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรมยังจะกำหนดเป้าหมายเป็นพื้นที่เดิม คงได้ถอดบทเรียนต่อจากบันทึกนี้อีก 

หมายเลขบันทึก: 654676เขียนเมื่อ 5 ตุลาคม 2018 09:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2018 09:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท