ชีวิตที่พอเพียง 3273. สู่ความเป็นมนุษย์ และระบบการศึกษา



นิตยสาร Scientific American ฉบับเดือนกันยายน ๒๕๖๑ ลงบทความเรื่อง An Evolved Uniqueness : How we became a different kind of animal (1) เขียนโดย Kevin Laland ศาสตราจารย์ด้าน Behavioral and Evolutionary Biology, University of St. Andrews, Scotland  ผู้เขียนหนังสือ Darwin’s Unfinished Symphony : How Culture Made the Human Mind (2017)   

 บอกว่า มนุษย์เหนือ สปีชี่ส์ อื่น ที่ความสามารถถ่ายทอดความรู้ที่ซับซ้อนจากรุ่นสู่รุ่นได้อย่างแม่นยำ    และใช้ความรู้นั้นสร้างนวัตกรรมเพื่อรองรับความท้าทายใหม่ๆ ได้

นั่นคือ วิวัฒนาการไม่ใช่กระบวนการทางธรรมชาติเท่านั้น    ยังมีอิทธิพลของวัฒนธรรมเข้ามามีส่วนด้วย    และมนุษย์สามารถสร้างวัฒนธรรม และเรียนรู้ปรับตัวจากวัฒนธรรมได้ดีกว่าสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น    

เมื่อกว่าห้าสิบปีมาแล้ว เมื่อผมเริ่มเรียนวิชาพันธุศาสตร์    หลักการสำคัญ ที่เป็นหัวใจของพันธุศาสตร์คือ

  Phenotype                  =  Genotype         + Environment

. ลักษณะที่แสดงออก  =  ลักษณะของยีน + ลักษณะของสภาพแวดล้อม

และวิวัฒนาการเกิดจาก ยีนมีการเปลี่ยนแปลง (mutation)   แล้วยีนที่ทำให้ลักษณะแสดงออกที่เหมาะสมต่อสภาพแวดล้อม ก็จะดำรงอยู่และขยายพันธุ์    ยีนที่ทำให้ลักษณะแสดงออกไม่เหมาะสม ก็จะสูญพันธุ์ไป  

บทความและหนังสือที่กล่าวถึงเสนอทฤษฎีใหม่  ว่าวัฒนธรรม (ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมอย่างหนึ่ง) เป็นตัวการหลักต่อวิวัฒนาการสู่ความเป็นมนุษย์   คือการมีสมองใหญ่  มีความฉลาด และมีภาษา

ภาษาทางวิชาการเรียกว่า cultural drive hypothesis เสนอโดย Allan C. Wilson แห่ง UC Berkeley  แต่ไม่มีคนเชื่อ     ทีมของผู้เขียนได้พิสูจน์โดยจัด Social Learning Strategies Tournament (2)  แข่งขันยุทธศาสตร์การแสดงพฤติกรรมในสถานการณ์ที่ซับซ้อนและปรับตัว    โดยที่แต่ละพฤติกรรมใช้ “ทุน” หรือ “พลังงาน” ตามความยากของมัน     ผู้ชนะคือผู้ที่แสดงพฤติกรรมที่เป็นนวัตกรรมสูง โดยใช้ทุนต่ำ     ทีมวิจัยบอกโจทย์และกติกา    ให้ผู้เข้าแข่งขันเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และส่ง source code แก่ทีมวิจัย ที่จัดการแข่งขันบนคอมพิวเตอร์    ผู้ชนะได้รับรางวัล ๑๐,๐๐๐ ปอนด์   

ผลการแข่งขันบอกว่า  ผู้ชนะคือผู้มีความสามารถในการ copy ผู้อื่น นำมาปรับใช้ให้เกิดผลสูงสุด    ไม่ใช่ใช้วิธีคิดเอง  หรือลองผิดลองถูกเอง   เพราะวิธีคิดเองต้องใช้ทุนสูงมาก   

นั่นคือ วิธีเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือ social learning หรือเรียนรู้จากผู้อื่น    แต่ต้องรู้จักปรับใช้ให้เหมาะสมต่อสถานการณ์    ทั้งหมดนั้นเป็นเพราะสมองเป็นอวัยวะที่ใช้พลังงานมาก    คนที่คิดเก่ง ต้องรู้จักวิธีคิดที่ได้ผลสูงสุด แต่ใช้พลังงานต่ำสุด    นั่นคือ copy คนอื่น    โดยต้อง copy แล้วปรับใช้ตามสถานการณ์     กระบวนการ copy อย่างชาญฉลาดนี่แหละที่ต้องการสมองขนาดใหญ่   

ผลของการแข่งขันบอกว่า กระบวนการวิวัฒนาการไม่ได้เลือกสัตว์ที่มี social learning มาก    แต่เลือกสัตว์ที่ทำ social learning ได้ดี    คือคุณภาพเหนือปริมาณในเรื่อง social learning เพื่อวิวัฒนาการสู่สัตว์ชั้นสูงขึ้น    

ผลการทดลองนี้ นำไปสู่การวิจัยเพื่อทำความเข้าใจปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับ cultural drive / intelligence hypothesis (3)   ว่าวิวัฒนาการสู่ความเป็นมนุษย์จะต้องเพิ่มความซับซ้อนของการเชื่อมโยงใยประสาทระหว่างสมองส่วนต่างๆ    ที่ช่วยให้มนุษย์เรียนรู้จากผู้อื่นได้ดียิ่งขึ้น   

อย่างไรก็ตาม cultural drive ไม่ใช่ปัจจัยเดียวของวิวัฒนาการของ primate สู่มนุษย์    ยังมีปัจจัยด้าน อาหาร  และการรวมตัวกันเป็นสังคม

การเรียนรู้เป็นธรรมชาติที่ สปีชี่ส์ต่างๆ มี   และลิงมีสูง    แต่ที่มีเฉพาะมนุษย์คือ การสอน    ทำให้มนุษย์มีความสามารถถ่ายทอดความรู้ที่แม่นยำจากรุ่นสู่รุ่น   และมีการเพิ่มพูนความซับซ้อนของความรู้จากรุ่นสู่รุ่น   เมื่อเชื่อมโยงกับพัฒนาการด้านภาษา    การถ่ายทอดความรู้ก็ยิ่งสะดวกและแม่นยำ     นำไปสู่การรวมกลุ่ม เป็นกลุ่มวัฒนธรรม    และตัววัฒนธรรมนั้นเอง ที่กลายเป็นพลังขับเคลื่อนวิวัฒนาการสู่ความเป็นมนุษย์  อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

อ่านบทความนี้แล้ว ผมนึกถึงระบบการศึกษา    ที่มีธรรมชาติเป็น social learning    และเน้นกลไกการเรียนรู้ ที่มีรายละเอียดในบทความดังกล่าว    ที่อาจสรุปได้ว่า เป็นการเรียนรู้ผ่านการ adopt & adapt ความรู้เดิม ที่มีการถ่ายทอดสืบต่อกันมา     เป็นแบบฝึกหัดเชื่อมโยงใยประสาทในสมองอย่างซับซ้อน    ที่มนุษย์มีศักยภาพมาแต่กำเนิด    แต่จะมีสมองดีแค่ไหน อยู่ที่กระบวนการเรียนรู้ที่ส่งเสริมพัฒนาการที่ซับซ้อนของสมอง     การศึกษาที่เน้น copy ล้วนๆ    จึงไม่ทำให้สังคมนั้นมีความก้าวหน้า

วิจารณ์ พานิช

๑๙ ส.ค. ๖๑


 

หมายเลขบันทึก: 654243เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2018 20:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 ตุลาคม 2018 20:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท