สิ่งที่ผมพูดไว้ (ในเวทีประกวดสื่อสร้างสรรค์)


ผมอยากให้นิสิตได้นำข้อเสนอแนะของกรรมการไปปรับแก้งานอีกครั้ง เพื่อให้งานดูดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ และจะทรงคุณค่าความหมายต่อการนำไปใช้ต่อในวิถีต่างๆ ร่วมกัน เพื่อสร้างระบบและกลไกด้านจิตอาสา-จิตสำนึกสาธารณะในเชิงบุคคลและสถาบัน

วันนี้ (วันที่ 17 กันยายน 2561)  ผมได้รับเชิญเป็นประธานในพิธีมอบรางวับการประกวดสื่อสร้างสรรค์สร้างวัฒนธรรมมหาวิทยาลัย”  อันเป็นภากิจหลักของงานประชาสัมพันธ์และสารสนเทศนิสิต กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสาคาม

ครับ-ได้รับเชิญในแบบ “มวยแทน” เพราะรองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิต และผู้อำนวยการกองกิจการนิสิต ติดราชการ  ก็ด้วยไม่คาดคิดมาก่อนว่าต้องนั่งหัวโต๊ะและขึ้นเวที  วันนี้จึงแต่งกายแบบชิวๆ ที่พร้อมจะสวมวิญญาณ “ขาเลาะ” ได้ตลอดเวลา

 

สื่อสร้างสรรค์สร้างวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยฯ  ปีนี้พุ่งไปสองประเด็นใหญ่ คือ (1)  สิ่งแวดล้อม (การจัดการขยะ) และ (2) วินัยจราจร (ไม่ขับรถด้วยความเร็ว)  ซึ่งทั้งสองประเด็นเป็นหนึ่งในนโยบายการพัฒนานิสิตผ่านกิจกรรมนอกหลักสูตร ประจำปีการศึกษา 2561

ย้อนกลับไปยังวันที่พิจารณาผลงาน (วันที่ 13 กันยายน 2561)  ผมในฐานะคณะกรรมการตัดสินคนหนึ่งได้เสนอกระบวนการเพิ่มเติมในพิธีมอบรางวัล เช่น  ให้คณะกรรมการได้แถลงผลการประกวด โดยสะท้อนมุมมองของกรรมการที่มีต่อผลงานที่นิสิตส่งเข้าประกวด  เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และต่อยอดอย่างมีพลังต่อไป 


สิ่งที่ผมเสนอนั้น  ผมเทียบเคียงจากการประกวดงานศิลปะแขนงต่างๆ ก็มักจะมีถ้อยแถลงของคณะกรรมการฯ ให้ได้อ่านได้ศึกษา  ซึ่งในส่วนนี้ผมยืนยันว่าผมชอบฟังทัศนะของกรรมการ หรือผู้ทรงคุณวุฒิมาก  จึงอยากให้ครั้งนี้ยกระดับงานผ่านกระบวนการเช่นนี้  โดยก็น่าดีใจเมื่อคณะกรรมการแต่ละท่านได้เห็นด้วย และมอบหมายให้แต่ละท่านได้รับผิดชอบ ด้วยการเป็นผู้แทนในการแถลงถ้อยคำอันเป็นมุมมอง-ทัศนะของคณะกรรมการที่มีต่องานในแต่ละชิ้น

กรณีดังกล่าว คณะกรรมการมีมติเอกฉันท์มอบอาจารย์จำนวน 2 ท่าน  ทำหน้าที่แถลงฯ ต่อผู้ที่ส่งผลงานเข้าประกวด นั่นคืออาจารย์พวงชมพู ไชยอาลา แสงรุ่งเรืองโรจน์ (คณะวิทยาการสารสนเทศ) และอาจารย์สันทนา ภิรมย์เกียรติ (คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ฯ)

เช่นเดียวกับอีกประเด็นที่ผมเสนอต่อคณะทำงานก็คือการเชิญชวนนิสิตและองค์กรนิสิตมาร่วมเป็นเกียรติและร่วมรับฟังแนวคิดของผู้สร้างผลงาน รวมถึงถ้อยแถลงของคณะกรรมการ  ซึ่งผมมองว่าเมื่อมาฟังแล้วจะได้เกิดแรงจูงใจในการไปผลิตสื่อ หรือไม่ก็มีแรงตระหนักในการประพฤติตนและรับผิดชอบต่อสังคม  รวมถึงการเข้าใจบทบาทที่จะนำสื่อไปเผยแพร่อย่างสร้างสรรค์  เพื่อก่อให้เกิดวัฒนธรรมอันดีงามร่วมกันฯ

กระนั้นก็น่าเสียดายว่าประเด็นหลังนี้ไม่เกิดมรรคผลเท่าที่ควร  เพราะเอาเข้าจริงๆ ก็มีแต่เฉพาะคนที่ส่งผลงานเท่านั้นที่เข้ามาสู่พิธีดังกล่าวฯ 

 

ครั้นพอถึงพิธีมอบเสร็จสิ้นลง  ผมในฐานะประธานในพิธีก็กล่าวสรุปในองค์รวมตามครรลองของพิธีการ  แต่ผมก็ยังคงเป็นผม  นั่นหมายถึงกล่าวในแบบกึ่งทางการ  เน้นสื่อสารผ่านการเล่าเรื่องเป็นสำคัญ  โดยเริ่มจากการกล่าวขอบคุณคณะกรรมการและนิสิตที่ส่งผลงานเข้าประกวด  รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่ดูแลกิจกรรม  ถัดจากนั้นก็ฝากประเด็นในแบบที่ผมคิด  อาทิ.... 

  • ผมเข้าใจดีว่าการผลิตสื่อเป็นเรื่องยาก  จำกัดด้วยหลายข้อ ทั้งความรู้ อุปกรณ์ ประสบการณ์  จึงอาจมีคนส่งงานเข้ามาประกวดน้อย  เพราะเป็นงานเฉพาะทางจริงๆ แต่ก็อยากให้ทุกคนดีใจและภาคภูมิใจกับงานของตนเอง  เพราะนี่คือความกล้าหาญในการผลิตสื่อ เพื่อพัฒนาตนเองและสังคมในแบบที่ตนเองถนัด 
  • ผมอยากให้ยกระดับการประกวดสื่อ โดยอาจร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโดยตรง  เช่นกรณีในทางวิชาชีพอาจทำความร่วมมือกับคณะวิทยาการสนเทศ  ในทางประเด็นการผลิตสื่อก็อาจทำความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น  กองอาคารสถานที่  คณะสิ่งแวดล้อมฯ  แต่ก็ต้องชื่นชมว่าการประกวดครั้งนี้มีคณะที่ส่งเข้าประกวด เช่น  คณะวิทยาการสารสนเทศ  คณะศิลปกรรมศาสตร์  วิทยาลัยการเมืองการปกครอง

  • ผมอยากให้นิสิตได้นำข้อเสนอแนะของกรรมการไปปรับแก้งานอีกครั้ง  เพื่อให้งานดูดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ และจะทรงคุณค่าความหมายต่อการนำไปใช้ต่อในวิถีต่างๆ ร่วมกัน  เพื่อสร้างระบบและกลไกด้านจิตอาสา-จิตสำนึกสาธารณะในเชิงบุคคลและสถาบัน
  • ผมอยากให้นำสื่อเหล่านี้ไปเผยแพร่อย่างจริงจังในวงกว้าง  ในในกิจกรรมวิชาเรียน และกิจกรรมนอกหลักสูตร  รวมถึงการเปิดก่อนเข้าเรียนในรายวิชาของหมวดศึกษาทั่วไปทุกวิชา  ตอกย้ำให้นิสิตได้เสพสื่อเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง  หรือกระทั่งจัดฉายในจอทีวียักษ์ที่อยู่ตรงสี่แยกไฟแดงก่อนเข้ามหาวิทยาลัย


  • ผมอยากให้นำสื่อเหล่านี้เผยแพร่ในสังคมออนไลน์  และสร้างกระบวนการของการเสพสื่อชุดนี้ให้มากขึ้นกว่าที่ผ่านมา
  • ผมอยากให้ผลงานเหล่านี้แชร์ลงในสังคมออนไลน์  เพื่อให้นิสิตและคนทั่วไปมีส่วนร่วมในการชม เสนอแนะ วิจารณ์ หรือโหวต  จากนั้นค่อยนำมาให้คณะกรรมการได้ทำการตัดสิน  อันเป็นกลยุทธของการสร้างการมีส่วนร่วมตั้งแต่ระยะต้นน้ำ 

ครับ-นี่คือส่วนหนึ่งที่ผมได้พูดไว้ในเวที  เป็นการพูดคุยในแบบฉบับของผม  ไม่ได้ติดยึดว่าตนเองกำลังทำหน้าที่เป็นประธานในพิธี  หากแต่พูดเพราะผมรู้สึกเช่นนั้นจริงๆ   

 

หมายหตุ

  • เขียน : ศุกร์ที่ 28 กันยายน 2561
  • ภาพ : งานประชาสัมพันธ์และสารสนเทศนิสิต
หมายเลขบันทึก: 654019เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2018 12:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 กันยายน 2018 12:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ถึงกับต้องสวมวิญญาณกันทีเดียว 555

มีชีวิตชีวา ออกสื่อตั้งแต่ก่อนประกวด คึกคัก ๆ ๆ รอชมปีถัดไปนะคะ

สวัสดีครับ อ.Wasawat Deemarn

เอาจริงๆ เลยนะครับ เดิมจะไม่ขอทำหน้าที่ตรงนั้นด้วยซ้ำไป เพราะไม่ได้เตรียมตัวมา วันนี้ผมแต่งกายสบายๆ ชิวๆ เพราะคิดว่าเตรียมความพร้อมในการรื้อห้องทำงาน หลังจากสะสมมาหลาย แต่ก็เลี่ยงไม่ได้ 5555

สวัสดีครับ พี่หมอ ธิ

อันที่จริงประเด็นนี้ผมเสนอไว้หลายปีแล้วครับ จากนั้นก็ว่างเว้นการเป็นกรรมการมา 2 ปี พอมาปีนี้เลยถือโอกาสเสนออีกรอบ คราวนี้เสนอในนามประธานมอบรางวัลอีกต่างหาก 5555

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท