วิจัยชั้นเรียนเปลี่ยนครู : 7. ค้นหาวิธีวิทยาการวิจัย



บันทึกชุด วิจัยชั้นเรียนเปลี่ยนครู นี้ ตีความจากหนังสือ Enhancing Practice through Classroom Research : A teacher’s guide to professional development (2012)  เป็นหนังสือที่เขียนด้วยครูในประเทศไอร์แลนด์ ๔ คน    หนังสือนี้ไม่มีดาวใน Amazon Book  แต่เมื่อผมอ่านแล้ววางไม่ลง     เพราะเป็นหนังสือที่ให้มุมมองใหม่ต่อการวิจัยชั้นเรียน    และให้มุมมองใหม่ต่อชีวิตความเป็นครู

ตอนที่ ๗ ค้นหาวิธีวิทยาการวิจัย นี้ ตีความจากบทที่ 6 Finding a research methodology ซึ่งเป็นบทที่สอง ของ Part 3 : What to do about the questions identified? เขียนโดย Caitriona McDonagh, Learning Support and Resource Teacher, Rush National School, Co. Dublin, Ireland  

 สาระของบทนี้คือ

  • เลือกวิธีวิทยาการวิจัยในภาพรวมอย่างไร
  • สามกระบวนทัศน์ของการวิจัยทางการศึกษา
  • ตัวอย่างการค้นหาวิธีวิทยาที่เหมาะสมสำหรับการวิจัยชั้นเรียน
  • การดำเนินการบันทึกกิจกรรมการปฏิบัติงาน และการวิจัยกระบวนทัศน์ด้านการศึกษา   

บทนำ   

สาระในตอนนี้ ช่วยให้เข้าใจว่า วิธีวิทยาการวิจัย (research methodology) ที่ดีจะช่วยให้นักวิจัยปฏิบัติการเพื่อเปลี่ยนแปลงตนเอง  ทำงานวิจัยในขั้นตอน “ปฏิบัติการ - ใคร่ครวญสะท้อนคิด – ประเมินผล”  อย่างมีรูปแบบน่าเชื่อถือ ได้อย่างไร 

การค้นหาวิธีวิทยาการวิจัยที่เหมาะสมต่อหัวข้อวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของ “การเดินทางแสวงหา” ในการทำวิจัยปฏิบัติการเพื่อเปลี่ยนแปลงตนเอง    และเนื่องจากเรื่องราวในชั้นเรียนมีความซับซ้อน (complexity) มาก    วิธีวิทยาการวิจัยที่ใช้จะต้องสามารถรองรับความซับซ้อนดังกล่าวได้   

ผู้เขียนใช้ ๔ คำถามเป็นเครื่องมือในการค้นหาวิธีวิทยาการวิจัย ได้แก่

  • ในฐานะคนในวิชาชีพครู ฉันมี “จุดยืนเชิงกระบวนทัศน์” ที่จุดใด
  • จุดยืนนั้นช่วยให้ฉันคิดอย่างมืออาชีพ  ตามด้วยการปฏิบัติและใคร่ครวญสะท้อนคิด หรือไม่
  • กระบวนทัศน์นั้น ช่วยให้ฉันมีอิสระในฐานะคนในวิชาชีพ หรือไม่
  • กระบวนทัศน์นั้น ช่วยให้ฉันแสดงบทบาทสร้างความรู้ให้แก่วิชาชีพครู ได้หรือไม่ 

สาม “กระบวนทัศน์หลัก” ด้านการวิจัยได้แก่

  • การวิจัยเชิงทดลอง (empirical research)
  • การวิจัยเชิงตีความ (interpretive research)
  • การวิจัยปฏิบัติการ (action research) 

ผู้เขียนทำความเข้าใจงานวิจัยทั้งสามรูปแบบ   และสรุปนำมาเสนอดังต่อไปนี้

การวิจัยเชิงทดลอง (Empirical Research)   

การวิจัยเชิงทดลอง เป็นการทดสอบสมมติฐานโดยใช้การสังเกต หรือการทดลอง    ถือเป็นการทำความเข้าใจโลกตามแนววิทยาศาสตร์   และเป็นการวิจัยที่สร้างความก้าวหน้าให้แก่มนุษยชาติอย่างประมาณค่ามิได้    อาจเรียกชื่ออย่างอื่นได้มากมาย ได้แก่ การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ (scientific research),  การวิจัยเชิงบวก (positive research),  การวิจัยทางเทคนิค (technical research),  และการวิจัยเชิงทฤษฎี (theoretical research)    การวิจัยแบบนี้เป็นการค้นหาความจริงบนฐานคิดว่า ความจริงต้องพิสูจน์ได้จากประสบการณ์จริง และต้องทำซ้ำได้ และสามารถนำไปใช้ในสถานการณ์อื่นๆ ได้ (generalizability)   

ผู้เขียนใช้วิธีเล่าเหตุการณ์ที่ตนเองเผชิญ ระว่างทำงานวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน    โดยการอ่าน ทำความเข้าใจงานวิจัยสามรูปแบบ    โดยในตอนนี้เล่าวิธีใคร่ครวญทำความเข้าใจการวิจัยเชิงทดลอง    โดยมีหลักการว่า โลกทัศน์ว่าด้วยตัวตนของตนเอง เป็นตัวกำหนดความเข้าใจเรื่องความรู้   ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อการเลือกวิธีวิทยาการวิจัย        

จุดยืนของฉันอยู่ตรงไหนในการวิจัยเชิงทดลอง

ผู้เขียนบอกว่า เป้าหมายของตนคือ หาวิธีทดสอบทักษะด้านภาษาของนักเรียนที่ครูใช้ได้สะดวก   มีความแม่นยำ    จึงค้นคว้าหาความรู้เรื่องทักษะด้านภาษาและทักษะย่อย  หวังนำมาออกแบบการทดสอบ    โดยที่ผลการทดสอบจะช่วยบอกว่าต้องดำเนินการแก้ไขอย่างไร   เมื่อดำเนินการแก้ไขก็ใช้การทดสอบนั้นซ้ำเพื่อดูผล

ผู้เขียนใช้มุมมองเชิงวิทยาศาสตร์    ต้องการการวิจัยที่ให้ผลวัดได้ชัดเจนแม่นยำ   

การวิจัยเชิงทดลองจะช่วยให้ฉันได้คิดอย่างมืออาชีพ  ได้ลองปฏิบัติ และใคร่ครวญสะท้อนคิดจากการปฏิบัตินั้น หรือไม่

คำตอบหลังจากผู้เขียนเริ่มงานวิจัยปฏิบัติการมาระยะหนึ่งคือ “ไม่ได้”    เพราะภายใต้กระบวนทัศน์ของการวิจัยเชิงทดลอง    มีผู้สร้างความรู้เชิงทฤษฎีทางการศึกษาไว้มากมาย    ครูจึงอยู่ในฐานะผู้ใช้ความรู้เชิงทฤษฎี มากกว่าผู้สร้างความรู้ที่ต้องการใช้ในสภาพจำเพาะของนักเรียน ซึ่งในกรณีนี้คือนักเรียนที่มีปัญหาการเรียนภาษา    ภายใต้กระบวนทัศน์นี้ ครูเป็น “ผู้ใช้” ไม่ใช่ “ผู้สร้าง” ความรู้      

การวิจัยเชิงทดลองจะช่วยให้ฉันมีอิสรภาพในฐานะมืออาชีพ หรือไม่

ผู้เขียนบอกว่า ครูในไอร์แลนด์ก็มีภาระต้องทำงานสนองการประเมิน ทำตามนโยบายเบื้องบน และงานตามระบบราชการนานา    แต่ครูที่นั่นต่างก็ธำรงความรับผิดชอบในฐานะมืออาชีพที่มีอิสระได้ โดยการตั้งคำถามว่า ทำไมและอย่างไร จึงจะผูกพันอยู่กับวิถีปฏิบัติของครูที่มีคุณภาพได้ 

ผู้เขียนบอกว่าตนคิดว่าได้แสดงความรับผิดชอบเมื่อเลือกการทดสอบนักเรียนจากระบบธุรกิจ    การทดสอบนี้เน้นวัดความรู้ เอาความรู้เป็นศูนย์กลาง    ซึ่งขัดแย้งกับความเชื่อของผู้เขียน    ที่มองว่าการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนแตกต่างกัน   และเมื่อศึกษาเรื่องการวิจัยเชิงทดลอง ก็พบว่าไม่ให้อิสรภาพและเคารพศักดิ์ศรีครู    โดยที่ในการทดลองจะต้องขจัดปัจจัยด้านฝีมือและความเชี่ยวชาญเฉพาะตัวของครูออกไป    เพื่อให้การวิจัยนั้นมีลักษณะปรนัย    ทำให้ผู้เขียนเห็นว่าวิธีวิจัยเชิงทดลองไม่เอื้อให้ครูมีอิสรภาพ    และไม่เอื้อให้ครูได้เพิ่มพูนความรู้เพื่อการเป็นครูที่ดี  

การวิจัยเชิงทดลองจะช่วยให้ฉันมีส่วนเพิ่มองค์ความรู้ของวิชาชีพครู หรือไม่

คำตอบโดยสรุปคือ “ไม่”    เพราะ ในการวิจัยการศึกษาเชิงทดลอง นักวิจัยต้องทำตัวเป็น “คนนอก” ที่มองเข้าไปในกิจกรรมทางการศึกษาอย่างไม่มีอคติ    ผู้วิจัยต้องเขียนรายงานโดยกล่าวถึงตนเองในฐานะบุรุษที่สาม   ห้ามใช้คำว่า “ฉัน” (บุรุษที่หนึ่ง) ในรายงานการวิจัยเชิงทดลองโดยเด็ดขาด    และตอนสรุปของรายงานการวิจัยแบบนี้จะมีข้อเสนอแนะประเด็นให้ทำวิจัยต่อ   การวิจัยแบบนี้จึงเน้นการหาความรู้ “เพื่อรู้”  ไม่ใช่เพื่อเอาไปปฏิบัติ    เป็นการวิจัยที่ช่วยเพิ่มองค์ความรู้ด้านการศึกษา แต่ไม่เพิ่มองค์ความรู้เพื่อปฏิบัติการของวิชาชีพครู  

การวิจัยชั้นเรียน ต้องมีเป้าหมายเพื่อให้ครูเพิ่มความเอาจริงเอาจังต่อการทำหน้าที่ครู    ให้ความสนใจต่อการพัฒนาวิธีทำหน้าที่ครู    เน้นการสร้างการเปลี่ยนแปลง (ไปในทางที่ดีขึ้น) และประเมินการเปลี่ยนแปลงนั้น 

ดังนั้น ผู้เขียนจึงไม่เลือกวิธีวิทยาการวิจัยเชิงทดลอง    เพราะมันเน้นที่การสร้างความรู้  ไม่สนใจการพัฒนาชั้นเรียน  พัฒนานักเรียน  และพัฒนาตัวครูเอง

สะท้อนคิดเพื่อการเรียนรู้

เพื่อทำความเข้าใจวิธีวิทยาการวิจัย    แนะนำให้ครูหาบทความวิจัยในวารสารมาอ่านและตั้งคำถามว่า

  • โลกทัศน์เกี่ยวกับความรู้และการเรียนรู้ (ontological perspective) ของผู้วิจัยเป็นอย่างไร
  • โลกทัศน์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับสิ่งอื่น ผู้อื่น (epistemological perspective) ของผู้วิจัยเป็นอย่างไร

การวิจัยแนวตีความ (Interpretive Research) 

การวิจัยแนวตีความ อาจเรียกชื่ออื่นอีกหลายชื่อ ได้แก่ post-positivist research, evaluative research, phenomenology research, ethnomethodological research, hermeneutics, และ social anthropology   จุดสำคัญของการวิจัยแนวตีความคือ นักวิจัยทำตัวเป็นนักทฤษฎี เข้าไปบรรยาย ตีความ อธิบาย และให้การตัดสินเชิงคุณค่า ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น  

จุดยืนของฉันในฐานะครู ต่อการวิจัยแนวตีความ เป็นอย่างไร

ผู้เขียนเล่าประสบการณ์ของตนเองในการทำความเข้าใจการวิจัยแนวตีความ เมื่อตนดูวีดิทัศน์ที่ถ่ายจากห้องเรียนร่วมกับเพื่อนครู เพื่อช่วยกันตีความจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ว่านักเรียนเรียนรู้อย่างไร    เหตุการณ์นั้นทำให้ผู้เขียนตั้งคำถามว่า  “ภาษากาย การสบตา คำพูดเชิงให้กำลังใจ  การจัดตำแหน่งที่นั่ง  และการจัดบรรยากาศสัปปายะ  จะมีผลส่งเสริมการเรียนรู้ได้อย่างไร”   และทำให้ผู้เขียนอยากทำวิจัยเรื่องคุณภาพของปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับครู   

ผู้เขียนเกิดความตระหนักว่า ทั้งครูและนักเรียนไม่ใช่สิ่งของที่มีลักษณะแน่นอนตายตัวหรือคงที่    ทั้งนักเรียนและครู เป็นสิ่งมีชีวิตที่มี หลายหน้า (multi-facet),  หลายความถนัด (multi-talent),  มีการเปลี่ยนแปลง (changing),  มีความคิด (thinking),  และมีการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐาน (transforming)    

ผู้เขียนเกิดความตระหนักว่า ข้อมูลจากห้องเรียน  จากพฤติกรรมของนักเรียนต่อเพื่อนและต่อครูต่างคน  หากมีการเก็บบันทึกรายละเอียด   สามารถนำมาตีความหาความหมายได้เป็นอย่างดี   และจะช่วยการพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนได้มาก  

จึงเห็นได้ว่า การวิจัยแบบตีความเอื้อต่อการให้ความหมายต่อความรู้อย่างเป็นธรรมชาติ  และต่อการเรียนรู้แบบพัฒนาการคล้ายมีชีวิต (organic growth)    คือมีลักษณะ ร่วมมือ  มีปฏิสัมพันธ์  และมีมิติของความเป็นมนุษย์    นอกจากนั้น การวิจัยแบบตีความยังยอมรับความหลากหลายของ “การรู้”   และให้ความสำคัญต่อสุนทรียเสวนา (dialogue)       

 แต่ในฐานะครูผู้สอน มีข้อจำกัดว่า ไม่สามารถเป็นผู้ปฏิบัติและผู้ตีความการปฏิบัตินั้นในเวลาเดียวกันได้    เหมือนกับที่นักฟุตบอลล์ไม่สามารถทำหน้าที่ทั้งผู้เล่นและผู้วิจารณ์การเล่นฟุตบอลล์นั้นในเวลาเดียวกันได้          

การวิจัยแนวตีความจะเปิดโอกาสให้ฉันคิดอย่างมืออาชีพ และปฏิบัติตามด้วยการใคร่ครวญสะท้อนคิดต่อวิธีปฏิบัติของตนหรือไม่

คำตอบแบบฟันธงคือ “มีผล”    แต่มีผลในเชิงความคิดหรือทฤษฎีเท่านั้น    ไม่มีผลในเชิงปฏิบัติ  

การนำข้อมูลจากห้องเรียน และจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนต่อนักเรียน  และปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับครู มาตีความหาความหมายเชิงลึก ช่วยการคิดอย่างลึกซึ้ง อย่างมืออาชีพ   และมีการใคร่ครวญสะท้อนคิดต่อการปฏิบัติของตนอย่างแน่นอน    แต่เมื่อคิดแล้วจะนำความคิดที่ได้ไปปฏิบัติหรือไม่นั้น  ไม่มีกลไกบังคับ

ข้อพึงระวังอีกอย่างหนึ่ง ในการใช้การวิจัยแนวตีความเพื่อการวิจัยห้องเรียน โดยครูผู้สอนเป็นผู้ตีความเอง    คือ ความถูกต้อง (validity) ของการตีความ     ซึ่งสามารถยืนยันความถูกต้องได้จากข้อมูลที่มีคุณภาพ  และมีการตีความด้วยหลายทฤษฎี  รวมทั้งมีคู่คิดหรือกัลยาณมิตรเป็นผู้ตีความด้วย

แต่ก็ยังมีจุดอ่อนตรงที่ข้อมูลมักไม่สามารถบันทึกประเด็นเชิงอารมณ์  ความตึงเครียด (tension),  และวาระซ่อนเร้น (hidden agenda) ได้

การวิจัยแนวตีความจะช่วยเพิ่มความเป็นอิสระให้แก่ครูหรือไม่

คำตอบแบบฟันธงคือ “ช่วยเพิ่ม” . การวิจัยแบบตีความจะช่วยให้ครูเชื่อมโยงความรู้เชิงทฤษฎี กับความรู้เชิงปฏิบัติเข้าหากัน    โดยที่ครูต้องไม่ลืมว่า ความรู้ปฏิบัติต้องเป็นตัวนำ

ในการวิจัยแบบตีความนี้ ครูสามารถเป็นได้ทั้งครูและนักวิจัยไปพร้อมๆ กัน    โดยมีข้อพึงระวังอย่างยิ่งคือ    ในเมื่อครูเป็นนักวิจัยห้องเรียนของตนเอง  จึงต้องมี “กระบวนการประเมินหรือทบทวนแบบร่วมมือกัน” (co-operative review process)    ซึ่งบ่อยครั้งใช้นักวิจัยจากภายนอกโรงเรียน หรือนอกบริบทของการวิจัย.  มาทำหน้าที่ตรวจสอบช่องว่างทางความรู้ (knowledge gap) และหรือช่องว่างของการปฏิบัติ (practice-based gap)    โดยเข้ามาทำกระบวนการ สังเกตเพื่อเก็บข้อมูล  สัมภาษณ์  ให้กรอกแบบสอบถาม  สำรวจ  และหาสถิติ . เพื่อประเมินหรือตีความสถานการณ์    สถานการณ์นี้มีความเสี่ยงอย่างยิ่งที่นักวิจัยคนนอกจะเข้ามาแสดงบทบาทเด่นเหนือนักวิจัยห้องเรียน  

ส่วนที่สำคัญที่สุดของการวิจัยชั้นเรียนแนวตีความคือ ยืนยันว่า ครูสามารถเป็นผู้สร้างความรู้ขึ้นใช้งานเองได้

การวิจัยแนวตีความจะช่วยให้ครูมีส่วนทำหน้าที่เพิ่มองค์ความรู้ของวิชาชีพครู หรือไม่

ผู้เขียนพบว่า การปฏิบัติงานวิจัยโดยเอาข้อมูลนักเรียนมาตีความร่วมกันกับเพื่อนครูเป็นกระบวนการที่ทั้งสนุกและได้สาระ    เป็นงานวิจัยที่ช่วยให้ผู้วิจัยพุ่งเป้าไปที่กระบวนการเรียนการสอน   โดยที่มิติที่สำคัญที่สุดคือเป็นแนวทางวิจัยที่เปิดกว้างแก่ความจริงหลายชุด    ต่างจากการวิจัยแนวทดลองที่ยอมรับความจริงชุดเดียว

หัวใจของการวิจัยแนวตีความอยู่ที่ข้อมูลที่มีความหลากหลาย และกระบวนการตรวจสอบ (validation process)    ซึ่งจะนำไปสู่ความเข้าใจธรรมชาติที่ซับซ้อน (complexity) ของการสอนและการเรียน    การวิจัยนี้อาจทำโดยเข้าไปสังเกตการณ์ในห้องเรียน  ดูการกระทำของคน (people in action) และตีความการกระทำเหล่านั้น    จึงมีผู้ให้ชื่อการวิจัยแบบนี้ว่า people science   เป็นการวิจัยที่สร้างความรู้ใหม่ที่มีค่าต่อการทำหน้าที่ครู และต่อตัวครู

แม้การวิจัยแนวตีความจะมีคุณค่าสูง. แต่ก็ยังไม่สนองความต้องการของผู้เขียนใน ๒ ประเด็น

  • การวิจัยแนวนี้มุ่งตีความการปฏิบัติ    แต่ผู้เขียนต้องการปรับปรุงการปฏิบัติ
  • ผู้เขียนให้คุณค่าต่อการเรียนการสอนแบบนักเรียนเป็นศูนย์กลาง  และเป็นผู้ร่วมวิจัย  แต่ไม่พบแนวทางนี้ในการวิจัยแนวตีความ

สะท้อนคิดเพื่อการเรียนรู้

แนะนำให้ครูหาบทความวิจัยแบบกรณีศึกษา (case study) ในวารสาร  มาอ่านและตั้งคำถามว่า

  • รายงานนั้นช่วยให้ครูมีอิสระอย่างไรบ้าง
  • งานวิจัยนั้นสร้างความรู้ใหม่แก่ครูอย่างไรบ้าง

การวิจัยปฏิบัติการ (Action Research)

คุณค่าของวิธีวิทยาแบบนี้คือ ช่วยให้ครูประจำการสามารถตั้งทฤษฎีขึ้นใช้งานเองได้    เขาใช้คำว่า living personal theories    จะเห็นว่างานวิจัยแบบนี้มีจิตวิญญาณของการส่งเสริม (empower) ให้ครูมีพลังอำนาจในการแสวงหาลู่ทางพัฒนาห้องเรียนที่ตนรับผิดชอบ    เพื่อผลลัพธ์การเรียนรู้ของศิษย์ทุกคน    ตรงกันข้ามกับกระบวนทัศน์การจัดระบบการศึกษาแบบที่ครูอยู่ใต้อำนาจของ “เบื้องบน” ที่ใช้กันอยู่ทั่วไป   

ทฤษฎีว่าด้วยการวิจัยปฏิบัติการมีมากมาย  หลักการที่สำคัญได้แก่ กระบวนทัศน์ปลดปล่อยความเป็นอิสระ (emancipatory paradigm),   วิธีดำเนินการพัฒนาทฤษฎีที่มีชีวิต (living theory approach),   และขบวนการวิจัยปฏิบัติการศึกษาตนเอง (self-study action research movement)    จะเห็นว่าในต่างประเทศเขาดำเนินการเป็นขบวนการ    และผมอยากเห็นวงการครูในประเทศไทยใช้เครื่องมือนี้เป็นขบวนการเพื่อการปลดปล่อยครูออกจากพันธนาการ

เขาแนะนำเว็บไซต์เกี่ยวกับ action research ทางการศึกษา ได้แก่  http://www.eari.iehttp://www.jeanmcniff.comhttp://www.actionresearch.net  

การวิจัยเชิงปฏิบัติการมีหลายรูปแบบ  และมีวิวัฒนาการไปตามเวลา  และยังจะมีวิวัฒนาการต่อไปอีก    รูปแบบที่เล่าในหนังสือ ครูไทยที่อ่านบันทึกชุดนี้แล้วนำไปประยุกต์ใช้ ก็ควรปรับให้เหมาะต่อบริบทของตน    รูปแบบที่ระบุในหนังสือ Enhancing Practice through Classroom Research  และผมนำมาตีความลงบันทึกชุด วิจัยชั้นเรียนเปลี่ยนครู นี้  เป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของการวิจัยปฏิบัติการ

จุดยืนของฉันในฐานะครู อยู่ตรงไหนในกระบวนทัศน์ของการวิจัยปฏิบัติการ

ผู้เขียนใช้นิยามของการวิจัยปฏิบัติการ (action research) ว่า “เป็นปฏิบัติการ (action) เพื่อค้นหาสิ่งที่ไม่รู้ (research) ซึ่งนำไปสู่การปรับปรุงงาน”    โดยมีสมมติฐานว่า ครู ในฐานะมนุษย์ มีธรรมชาติของการดำรงชีวิต และการทำหน้าที่ครู ตามคุณค่าประจำใจตน    ดังกล่าวแล้วว่า การวิจัยปฏิบัติการมีการพัฒนาต่อเนื่อง    จนถึงจุดหนึ่ง เกิดแนวความคิดว่า ตัวนักวิจัยเองเป็น “ภาคสนาม” ของการวิจัยได้    จึงเกิดการวิจัยภาคสนามศึกษาตนเอง ของนักวิจัย    เพื่อศึกษาตนเองในส่วนที่ตนเองไม่รู้เพื่อหาทางปรับปรุงตนเอง     และเกิดเป็นขบวนการการวิจัยปฏิบัติการศึกษาตนเอง ในช่วงทศวรรษที่ ค. ศ. 1990s    เป้าหมายของการวิจัยแนวนี้เพื่อใช้การพัฒนาตนเองเป็นชนวนของการพัฒนาวิธีการสอนในภาพใหญ่ และการพัฒนาระบบการศึกษา

  เป้าหมายของงานวิจัยปฏิบัติการตามในหนังสือเล่มนี้ ไม่เน้นการเปลี่ยนแปลงระดับสถาบัน (แต่ก็อาจเกิดได้)    โดยตัวอย่างที่นำมาเสนอ เป็นเรื่องของการศึกษาวิธีสอนของตนเอง เพื่อหาทางพัฒนาวิธีสอน  หาทางทำความเข้าใจเหตุผลของการพัฒนาวิธีสอน   และดำเนินการพัฒนาตนเองแบบ “ออกแบบเฉพาะตัว”    ผ่านการวิจัยชั้นเรียนในบริบทของตนเอง    ซึ่งการดำเนินการนี้ ก่อพลังที่มีชีวิตในหลายลักษณะ คือ

  • พลังจากการที่ความรู้ได้หมุนเวียนไปรอบๆ ตัวผู้เขียน และตัวนักเรียน
  • ผู้เขียนเป็นพลังความรู้ที่เปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องกับงานวิจัยมีอิสรภาพ และร่วมในงานวิจัย
  • ผู้เขียนตกอยู่ในวงจร “ปฏิบัติตามด้วยการใคร่ครวญสะท้อนคิด”    นักวิจัยปฏิบัติการแนวนี้อาจมีวัตรปฏิบัติเช่นนี้ไปตลอดชีวิต     

การวิจัยปฏิบัติการเปิดโอกาสให้ฉันคิดอย่างมืออาชีพ  ปฏิบัติและใคร่ครวญสะท้อนคิดว่าคุณค่าที่ยึดถือมีอิทธิพลต่อการปฏิบัติของฉัน หรือไม่

ผู้เขียนเล่าประสบการณ์ของตน ในการวิจัยปฏิบัติการการสอนนักเรียนที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษในด้านการเรียนรู้ภาษา    โดยเปรียบเสมือนผู้เขียนยืนอยู่ในทะเล น้ำลึกถึงเอว    เผชิญ “คลื่น” ที่ถาโถมเข้ามา ๕ ลูก  สู่ผลสุดท้ายของการวิจัย   ที่สรุปได้ว่า การวิจัยได้ให้โอกาสผู้เขียนได้เผชิญสถานการณ์ ได้คิดและใคร่ครวญสะท้อนคิดเรื่องคุณค่าที่ยึดถือ เชื่อมโยงกับการปฏิบัติของตนในชั้นเรียน    โดยที่ผู้เขียนได้เอื้อให้นักเรียนได้มีเครื่องมีอช่วยการสะท้อนคิดวิธีปฏิบัติของตนเพื่อช่วยความเข้าใจข้อความในหนังสือเรียนที่นักเรียนทั้งชั้นอ่านร่วมกัน    แล้วร่วมกันใคร่ครวญสะท้อนคิดวิธีการที่นักเรียนแต่ละคนใช้ในการช่วยความเข้าใจ    เท่ากับผู้เขียนในฐานะครูได้เอื้อให้นักเรียนได้มีโอกาสสร้างความรู้ว่าด้วยวิธีอ่านจับใจความ    ซึ่งตรงกับความเชื่อของผู้เจียนว่า นักเรียนมีความสามารถสร้างความรู้ขึ้นใช้เองได้   

เขาแนะนำคำถามสำหรับใช้ใคร่ครวญสะท้อนคิด เปรียบเทียบทฤษฎีที่ยึดถือกับวิธีปฏิบัติที่ใช้จริง ดังนี้

  • จงระบุแนวทางวิจัยที่เลือก และบอกความสอดคล้องกับสถานการณ์ของฉัน
  • จงเลือกแนวทางวิจัย ๓ รูปแบบ และวาดภาพว่าฉันอยู่ตรงไหนในแต่ละแนวทาง

การวิจัยปฏิบัติการจะช่วยให้ฉันมีอิสระในฐานะคนในวิชาชีพ หรือไม่

ประสบการณ์ของผู้เขียน บอกชัดเจนว่า การวิจัยปฏิบัติการเพื่อศึกษาตนเอง ช่วยให้ผู้เขียนมีอิสระในการคิด การลอง และการใคร่ครวญสะท้อนคิดตอบคำถาม และหาข้อสรุป    ซึ่งบางส่วนไม่ตรงกับที่ระบุในตำราหรือรายงานผลการวิจัย    รวมทั้งบางส่วนไม่ตรงกับความเข้าใจเดิมของผู้เขียน

ข้อค้นพบเหล่านี้เมื่อนำเสนอต่อวงการครู ทำให้ผู้เขียนได้รับการยกย่องเชื่อถือ   และผู้เขียนเชื่อว่าความก้าวหน้าของความมีอิสระของตนสัมพันธ์กับความก้าวหน้าในการปฏิบัติหน้าที่ครู  

คำถามสำหรับใช้ใคร่ครวญสะท้อนคิด  ตรวจสอบความก้าวหน้าในการปฏิบัติหน้าที่ครู ได้แก่

  • จงระบุข้อความ ๓ ชิ้น จากตำรา  รายงานผลการวิจัย หรือเอกสารแสดงนโยบาย ที่สอดคล้องกับพัฒนาการของการเปลี่ยนแปลงวิธีทำหน้าที่ครูของฉัน
  • จงอธิบายความสอดคล้องของข้อความทั้ง ๓ ชิ้น กับบริบทที่ฉันเผชิญ

 การวิจัยปฏิบัติการจะช่วยให้ฉันแสดงบทบาทสร้างความรู้ให้แก่วิชาชีพครู ได้หรือไม่ 

ผู้เขียนบอกว่า การวิจัยนี้เหมือนไฟส่องสว่างห้องเรียนที่ตนสอน  ให้ชุมชนด้านการศึกษาได้มองเห็น และได้เรียนรู้จากกระบวนการและผลการวิจัยนั้น    สิ่งที่ค้นพบยืนยันคำกล่าวของ จอห์น ดิวอี้ (1897) ว่า “การศึกษาเป็นกระบวนการทางสังคม    การศึกษาไม่ใช่การเตรียมชีวิต  แต่เป็นชีวิตอยู่ในตัวของมันเอง”   

นอกจากนั้น ผู้เขียนยังพบว่า การวิจัยปฏิบัติการช่วยให้มีการใคร่ครวญสะท้อนคิดอยู่ในการเรียนการสอน ตรงกับที่เคยมีผู้กล่าวไว้    โดยผู้เขียนอ้างข้อสะท้อนคิดของเพื่อนครูที่ร่วมเขียนหนังสือเล่มนี้ ว่าการวิจัยปฏิบัติการของตนมีส่วนสร้างความรู้ด้านปฏิบัติการวิชาชีพครู ดังต่อไปนี้

  • การวิจัยของฉันช่วยเพิ่มวิธีปฏิบัติในโรงเรียน และการกำหนดนโยบาย เกี่ยวกับนักเรียนที่มีปัญหาด้านการเรียนภาษา
  • ฉันต้องการการมีส่วนร่วมของชุมชนการเรียนรู้ทั้งหมด    หัวใจของการสอนคือการตั้งคำถาม   และเมื่อได้รับคำตอบก็ตั้งคำถามต่อคำตอบนั้น
  • การสอนและการเรียนต้องมีส่วนของการตรวจสอบการปฏิบัติ และตั้งคำถามต่อคุณค่า เพื่อปรับปรุงการปฏิบัติ
  • แชร์การเรียนผ่านประสบการณ์
  • การปรับปรุงการปฏิบัติก่อผลยั่งยืนต่อนักเรียนและครู

การวิจัยปฏิบัติการนี้ มีคุณต่อครูทุกคนที่ต้องการพัฒนาความเป็นครูมืออาชีพของตน    โดยทำโครงการวิจัยที่มีความสอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน    เพื่อปรับปรุงความรู้และวิธีปฏิบัติของตนเอง     

ผู้เขียนได้ทำวิจัยปฏิบัติการและรวบรวมเอกสารและข้อมูลจากปฏิบัติการของตนเอง  ที่มีผลเพิ่มความรู้ความเข้าใจของตนเองและเพื่อนร่วมวิชาชีพครู ในประเด็นต่อไปนี้

  • ฉันได้ทำงานวิจัยในประเด็นที่สอดคล้องอย่างเต็มที่กับชีวิตการทำงานของฉัน
  • ฉันได้วิเคราะห์ ตัดสิน กำหนดวิธีแก้ปัญหา เก็บข้อมูล และแชร์กับเพื่อนร่วมงานในโรงเรียน
  • ฉันได้นำเสนอข้อค้นพบต่อผู้อื่น  และได้ตีพิมพ์เผยแพร่เพื่อให้ครูท่านอื่นๆ ได้พิจารณานำใช้เป็นเครื่องมือประเมินตนเอง
  • ฉันได้ทำสิ่งเหล่านั้น ตามแนวทางคุณค่าที่ยึดถือมั่นคงในชีวิต

วิจารณ์ พานิช        

๕ ก.ค. ๖๑


 

 

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท