ชีวิตที่พอเพียง 3255. ชุมพร ๒๕๖๑ : ๒. ไปไหว้พระบรมธาตุสวี



วันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๑ ผมชวนหมอวิชัยน้องชาย ไปไหว้ พระบรมธาตุสวี () กัน    หมอวิชัย (๗๑ กะรัต) ชวนคุณชูชาติ บุญเมืองลูกพี่ลูกน้องกัน ( ๗๔ กะรัต) ไปด้วย   นัดออกจากบ้านคุณวิจัยเวลา ๙ น. เพราะหมอวิชัยและต้อยภรรยานอนที่นั่น   เอาเข้าจริงเราก็ออกเดินทางกว่า ๙.๓๐ น.  เอารถไปสองคัน   คัมรีทั้งคู่   อีกคันหนึ่งเป็นของคุณวิจัย ผู้อาสาเป็นสารถีคือต้น แฟนของลูกสาวคุณวิจัย  

 เราขับรถล่องใต้ทางไปสุราษฎร์ธานีตรงไปอำเภอสวี    ระยะทาง ๓๗ ก.ม.  ไปกลับรถย้อนกลับมาเข้าถนนซอยไปพระบรมธาตุ    ที่เมื่อคืนฝนตกพื้นที่เฉอะแฉะหน่อย   มีร่องรอยเพิ่งเสร็จพิธีการใหญ่    ค้นกูเกิ้ลพบว่าเป็นงานประเพณีสมโภชผ้าพระราชทานและพิธีอัญเชิญผ้าพระราชทาน ในสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีขึ้นห่มพระบรมธาตุสวี ()     

ต้อง ลูกสาววิพากษ์ว่าตามประวัติพระบรมธาตุนี้อายุราวๆ ๗๐๐ ปี  ตามหลักการบูรณะโบราณสถาน ควรบูรณะให้คงลักษณะความเป็นของโบราณไว้    ไม่ใช่บูรณะเป็นของใหม่อย่างนี้    โดยที่การบูรณะครั้งหลังสุดปี ๒๕๕๙  นำโดยผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร  ร่วมกับประชาชนชาวชุมพร    เดาว่าเป้าหมายหลักน่าจะเป็นการสร้างแหล่งท่องเที่ยว     ซึ่งก็น่าจะได้ผล    ไม่ใช่เพื่ออนุรักษ์โบราณสถาน

หากดูตามคำขวัญเมืองชุมพร จะเข้าเค้าว่าสมัยนี้ลมหายใจของทางราชการคือส่งเสริมการท่องเที่ยว โปรดดูรูปคำขวัญเมืองชุมพร

อย่างไรก็ตาม เราได้อ่านตำนานการพบพระบรมธาตุโดยพระเจ้าศรีธรรมโศกราชแห่งนครศรีธรรมราช“ได้พบกาเผือกและกาฝูงหนึ่งเกาะอยู่บนกองอิฐกระพือปีกและส่งเสียงร้อง   พระองค์จึงทรงให้รื้อกองอิฐที่กองทับกันออกจากฐานเจดีย์ใหญ่   เมื่อขุดลึกลงไปได้พบผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ   จึงให้แม่ทัพนายกองไพร่พลช่วยกันสร้างเจดีย์ขึ้นมาใหม่แทนที่เดิม   แล้วจัดการสมโภชน์เป็นการใหญ่ เป็นเวลา๗ วัน ๗ คืน    จากนั้นพระราชทานชื่อว่า ‘พระบรมธาตุกาวีปีก’ (วีปีก แปลว่า กระพือปีก)    ต่อมาเรียกว่า พระบรมธาตุกาวี    และคำว่า กาวี  ต่อมาได้เรียกตามชื่อเมืองเป็น ‘พระบรมธาตุสวี’ ”    เป็นคำสันนิษฐานที่น่าฟังมาก    เพราะคำว่า “กาวี”  ในสำเนียงปักษ์ใต้ว่า “กาหวี”  และเพี้ยนเป็นสวีได้ง่ายสำหรับคนกรุง  

ตำนานยังบอกต่อเรื่อง ศาลพระเสื้อเมืองที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ ดังข่าว ()    ทำให้ได้ความรู้ว่า เมืองเป็นชื่อคนที่ถูกตัดศีรษะ ให้เป็นผีรักษาพระเจดีย์ ซึ่งอยู่กลางป่า   

เราเดินไปที่อาคารพิพิธภัณฑ์พบว่ายังอยู่ระหว่างก่อสร้าง     มีป้ายบอก  ลงท้ายด้วย  “กำลังก่อสร้างด้วยเงินภาษีของประชาชน”   ที่เราชอบมาก    เป็นการตอกย้ำพลังประชาชน

วิจารณ์ พานิช

๓๐ ก.ค. ๖๑

บังกะโล หลังที่ ๑  ชมทะเล รีสอร์ท  หาดเจ้าสำราญ


 

 

1 องค์พระบรมธาตุ

2 ส่วนที่สวยงามอีกส่วนหนึ่งคือวิหารราย

3 พระพุทธรูปในวิหารราย

4 พระเจดีย์กับวิหารราย

5 habitat ธรรมชาติบนต้นประดูยักษ์

6 โคลสอัพตรงจุดงาม

7 สี่ผู้เฒ่า กับสามไม้เท้า

8 ไม้ประดับที่โคนประดู่

9 ดอกสัปปะรดประดับ

10 ด้านนอกองค์พระบรมธาตุเจดีย์

11 ด้านหน้าทางเข้า

12 ระฆังแห่งสติ

13 ร้านอาหารบ้านยาย

14 ป้ายอารมณ์ขัน

15 ในร้าน

16 ในร้าน

17 ผักขนมจีนและน้ำพริกตักได้ไม่อั้น ฟรี

18 เฟิร์นงามที่คอต้นปาล์มน้ำมัน

19 คำขวัญจังหวัดชุมพร

หมายเลขบันทึก: 651695เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2018 21:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กันยายน 2018 21:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท