รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ๑-๒๕๖๑ (๒) ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง


กิจกรรมการเรียนรู้ในชั้นเรียนครั้งที่ ๒ ของรายวิชา ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ประจำปีการศึกษา ๑-๒๕๖๑ ตามแผนการสอนคือการเรียนรู้ภาวะผู้นำจากคลิปวีดีโอ "เสียงกู่จากครูใหญ่" (เหมือนกับสองภาคเรียนที่ผ่านมา และพบว่าได้ผลดี)  หลังจากกิจกรรมการเรียนรู้ ผม AAR ว่า ภาคเรียนนี้ได้ผลดีกว่าที่ผ่านมามาก Team Teaching ที่มี ผศ.ดร.พีระศักดิ์ และ ผศ.ดร.กาญจน์ มาช่วยในวันนั้น ทำให้นิสิตและอาจารย์(ผม)ได้เรียนรู้มากขึ้น 

กิจกรรมการเรียนรู้

กิจกรรมการเรียนรู้แบ่งได้เป็น ๕ ขั้นตอน ได้แก่ ๑) เริ่มด้วยการสร้างแรงบันดาลใจให้สนใจก่อนดูคลิป  แล้วก็เปิดคลิป "เสียงกู่จากครูใหญ่"  ใช้เวลาประมาณ ๒๐ นาท ๒) มอบหมายให้ผู้เรียนเขียนสิ่งที่ได้เรียนรู้สรุปลงในใบบันทึกการเรียนรู้ของตนเอง (เก็บคะแนนการเข้าร่วมกิจกรรมจากใบงานนี้) ๓) ระดมความคิดความเห็นประเด็นสำคัญๆ เกี่ยวกับภาวะผู้นำของ "ครูใหญ่" ที่นิสิตได้เรียนรู้  ๔) ตั้งคำถามเพื่อขยายความรู้ ๕) เปิดเวทีให้นิสิตแสดงความคิดเห็นของตน ๖) บรรยายสุรป  

ความรู้และทักษะที่ต้องการฝึกให้ผู้เรียน

สิ่งสำคัญที่สุดของผู้นำ โดยเฉพาะผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงคือ ความสามารถใน "การฟัง" ซึ่งไม่ได้หมายความเพียงการได้ยินได้ฟังในความเข้าใจของคนทั่วไป แต่นิสิตต้องฝึก "ฟัง" ฟังด้วยหู ฟังด้วยใจ ฝึกให้เป็นผู้มีนิสิตประมวลและใคร่ครวญ  โดยอาจกำหนดวัตถุประสงค์ของการฟังออกเป็น ๓ ประเด็น ได้แก่   "เห็นอะไร"  "รู้สึกอย่างไร" และ "ต้องการอะไร"  นิสิตที่เข้ามาอ่านบันทึกนี้ทุกคน ให้ไปศึกษาจากบันทึกนี้ที่อาจารย์เคยเขียนสื่อสารกับรุ่นพี่เคยเรียนไปแล้ว

ทักษะอีกประการหนึ่ง ที่นิสิตทุกคนควรฝึกตนอย่างต่อเนื่อง คือ "การถอดบทเรียน" หรือ "ถอดประสบการณ์" หรือ "การสะท้อนคิด" หรือ "สะท้อนการเรียนรู้" แล้วแต่สำนวนของผู้เขียนแต่ละคน ภาษาอังกฤษเรียก Learning Reflection หรือ Reflection ทักษะนี้ได้รับการยืนยันรับรองแล้วว่า มีผลต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้มากๆ  ดังนั้นหลักจากได้ "ฟัง" แล้ว นิสิตต้องฝึกเขียนถ่ายทอดหรือแสดงออกถึงผลของการเรียนรู้ของตนเอง

ส่วนประเด็นความรู้ที่ต้องการให้เกิดขึ้น ไม่ได้เน้นมากนัก  อาจารย์่พยายามแทรกความรู้สำคัญเรื่อง คุณลักษณะที่ดีของการเป็นผู้นำ โดยเน้นให้นิิสิตเป็นผู้สร้างองค์ความรู้เองร่วมกัน โดยใช้กระบวนการะดมสมอง

๑) ดูคลิป

๒) มอบหมายให้เขียนสรุป "ถอดบทเรียน" 

นิสิตที่ "ฟัง" ได้ตามเป้าหมายที่ต้องการ น่าจะถอดบทเรียนได้ใกล้เคียงกับที่ผมเคยทำเป็นตัวอย่างไว้ในบันทึกนี้

๓) ระดมความคิดเห็น สร้างองค์ความรู้เรื่อง "ภาวะผู้นำร่วมกัน" 

กิจกรรมนี้ ผศ.ดร.พีระศักดิ์ เป็นกระบวนกรในการนำทีม  (ผมชอบสไตล์ของท่านมากๆ)  ท่านโยนคำถาม "จากคลิปเสียงกู่จากครูใหญ่ เราได้เรียนรู้คุณลักษณะของผู้นำที่ดีมีอะไรบ้าง" แล้วให้นิสิต(ผู้กล้า) อาสาตอบแบบระดมสมองกัน  โดยท่านจำกัดขอบเขตไว้ที่ "ขอเพียง ๑๐ ข้อพอ"  ผลการระดมสมองได้ดังสไลด์นี้ 

๔) ตั้งคำถามเพื่อขยายความรู้ 

ผศ.ดร.พีระศักดิ์ ท่านตั้งคำถามเพื่อให้นิสิตขยายความรู้ออกไปสู่การจะนำไปใช้ ด้วย ๒ คำถาม โดยให้นิสิตจับกลุ่มกัน (หรือเดี่ยว ตามสมัครใจ) ให้เลือกเพียงประเด็นเดียวจาก ๑๐ ประเด็นข้างต้น แล้วให้พิจาณาเขียนตอบว่า ๑) จะพัฒนาภาวะผู้นำในตนเองข้อนั้นได้อย่างไร และ ๒) จะทำให้ชุมชนและสังคมมีคุณลักษณะอย่างนั้นได้อย่างไร  แล้วให้นิสิตผู้กล้า อาสาจับไมค์กล่าวตอบ  

๕) เปิดเวทีให้นิสิตแสดงความคิดเห็นของตนเอง 

ผมจับประเด็นอย่างรวดเร็วเขียนลงในสไลด์ได้ดังภาพต่อไปนี้ (ตัวอักษรสีดำคือคำตอบข้อ ๑)ของนิสิต สีน้ำเงินคือคำตอบข้อ ๒)ของนิสิต ส่วนสีม่วงคือคำสรุปของ อ.พีระศักดิ์)

๖) บรรยายสรุป 

ผศ.ดร.พีระศักดิ์ และ ผศ.ดร.กาญจน์ ช่วยกันบรรยายสรุปและ Feedback  สู่ผู้เรียน  ผมจับประเด็นส่วนที่น่าสนใจยิ่งได้ดังแสดงในสไลด์  "ความคิดสร้างสรรค์คือภาวะผู้นำที่สังคมต้องการ สิ่งนี้จะทำให้สังคมก้าวข้ามพ้นจากการเป็นประเทศด้อยพัฒนา ประชาคมโลกให้ความสำคัญมากกับเรื่องนี้  นิสิตต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ อาจแบ่งพิจารณาการเรียนรู้ของตนเองออกเป็น ๔ ระดับ ได้แก่ 

  • เรียนเพื่อรู้  (Learning to Know)
  • เรียนเพื่อให้ทำได้ (Learning to Do)
  • เรียนเพื่อให้อยู่ร่วมกันได้ (Learning to Live Together)
  • เรียนเพื่อที่จะเป็น เป็นในสิ่งที่ต้องการ (Learning to Be)

ผมมีข้อสังเกตที่เป็น Feedback ที่สำคัญให้นิสิตได้ไปปรับปรุงตนเอง ดังนี้ 

  • นิสิตหลายคนตอบไม่ตรงคำถาม ตอบไม่ตรงประเด็น  
  • เป็นผู้นำต้องตอบให้ตรงประเด็น 
  • การจะตอบตรงๆ หรือไม่  ขึ้นอยู่กับคุณภาพของ "การฟัง" 
  • ดังนั้นนิสิตทุกคนต้องฝึก "ฟัง" 

หมายเลขบันทึก: 651072เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2018 07:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 สิงหาคม 2018 07:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท