รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ๒-๒๕๕๙ (๓) ตัวอย่างการถอดบทเรียน


การพัฒนาทักษะ การ"ฟัง" และ "ถอดบทเรียน" ที่ดี ควรนำเอาตัวอย่างมาให้ดู หรือนำมาวิพากษ์ กัน และถ้าจะให้ดีกว่านี้คือ ได้แลกเปลี่ยนถกเถียงกัน

กิจกรรม : เรียนรู้จากกรณี "เสียงกู่จากครูใหญ่" (คลิกที่นี่หากดูไม่ได้)



๑) "เห็น" อะไร

ตัวอย่างการจับประเด็นที่จะตอบคำถามแรก ที่ว่า "เห็น" อะไร ? เบื้องต้นที่สุดคือ จับคำสำคัญๆ หรือจับประเด็นที่ได้ยินได้ชมไว้ทันทีที่ได้ยินได้ฟัง ซึ่งต้องจดให้เร็ว จดเป็นคำสำคัญ เน้นว่าให้ทัน ไม่ต้องสนใจความสวยงามของตัวหนังสือ

ด้านล่างนี้เป็นตัวอย่างการจับประเด็นเบื้องต้น โดยใช้วิธีการพิมพ์ (สัมผัส) ขณะที่เปิดคลิปรวดเดียวโดยไม่หยุด ... (อย่างไรก็ดีนี่ไม่ใช่การฟังครั้งแรก)

  • ครูใหญ่อาสาจะไปพัฒนาโรงเรียนห่างไกลในชนบท ซึ่งชาวบ้านอยู่กันอย่างเห็นแก่ตัว อดหยากยากจน ต่างคนต่างอยู่ สภาพของโรงเรียนและชุมชนส่วนใหญ่เป็นภูเขาหัวโล้น
  • บทเรียนแรกสำหรับนักพัฒนา คือต้องสร้างศรัทธา หากทำไม่สำเร็จ การพัฒนาก็ล้มเหลว
  • โรงเรียนของหมู่บ้าน มีครูน้อยอยู่สองคน ใช้เวลาไม่ถึง ๕ นาที ก็สามารถเดินทั่วโรงเรียน
  • ก่อนจะลงมือทำงาน ต้องสร้างกำลังใจเสียก่อน วิธีที่ครูใหญ่ใช้คือการหวนคิดถึงชีวิตในวัยเด็ก
  • ครูใหญ่เป็นเด็กกำพร้า ที่ต้องช่วยแม่ทำงานหนักมาตั้งแต่เด็ก
  • ครูใหญ่เริ่มงานด้วยการประชุมทั้งโรงเรียน คิดหาคำขวัญ ได้ว่า "การทำงานหนัก คือดอกไม้ของชีวิต" เป็นคำมั่นสัญญาของครูใหญ่ต่อชาวบ้าน และเริ่มเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม แม้แต่ระฆังก็ระบายสี
  • ครูใหญ่เข้าไปพบทางการเพื่อไม่ให้เด็กเข้าไปเรียนในเมือง ทำให้โรงเรียนมีเด็กเพิ่มขึ้น ครูน้อยก็ต้องทำงานเพิ่มขึ้น อาศัยเรียนตามร่มไม้ ริมลำธาร
  • ครูใหญ่ออกสำรวจหาสถานที่เพื่อสร้างโรงเรียนใหม่ และเริ่มทำงานหนักเป็นตัวอย่างจูงใจ
  • ครูใหญ่จัดประชุมชาวบ้าน เพื่ออธิบายให้เข้าใจ แต่เช้าบ้านก็ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะเจ้าจ้อยหมอความ บอกว่า การสร้างโรงเรียนเป็นหน้าที่ของทางการ ไม่ใช่หน้าที่ชาวบ้าน
  • ครูใหญ่ใช้หลักการว่า "ต้องพึ่งตนเองเสียก่อน ก่อนจะสวรรค์จะช่วย"
  • ภรรยาครูใหญ่ที่มาเยี่ยม พยายามจะชวนครูใหญ่กลับบ้าน
  • ครูใหญ่ไม่กลับ แต่ลงมือทำงานต่อไป การทำงานของครูใหญ่เริ่มได้รับความสนใจจากครูใหญ่ เอามันต้มมาให้ และวันหนึ่งเห็นครูใหญ่เป็นลม จึงวิ่งมาช่วย
  • ครูใหญ่รักและห่วงนักเรียนจริง ๆ เหมือนกับลูกของตนเอง ขนาดนอนป่วนหลับไปยังฝัน ยังสะดุ้งตื่น เมื่อฝันว่าเด็กตกเขา
  • แต่เมื่อหายไข้ ปรากฎว่า นักเรียนและพ่อแม่ผู้ปกครองเข้ามาช่วยกันทำงานโดยไม่ได้ออกปากขอร้อง
  • เมื่อได้ร่วมมือกันทำงาน จิตใจของชาวบ้านก็พัฒนาขึ้น ถึงตอนกลางคืนก็ไม่หยุดจุดคบเพลิงทำต่อ โดยไม่รองบประมาณใด ๆ จากทางการ
  • เมื่องานสำเร็จ ครูใหญ่ก็เรียกประชุม และยกย่องชาวบ้าน และตั้งชื่อโรงเรียนใหม่ว่า "โรงเรียนแห่งแสงเพลิง"
  • ครูใหญ่แบ่งงานว่า ครูนักเรียนสร้างโรงเรียน ส่วนชาวบ้านให้กลับไปทำมาหากิน
  • ครูใหญ่ยึดหลัก "พึ่งตนเอง และประหยัด" ความสวยงามยังไม่จำเป็นในช่วงแรก ๆ
  • นักเรียนเมื่อจบ ก็สามารถจะสร้างบ้านด้วยตนเองได้ เนื่องจากได้ฝึกหัดทำโรงเรียนมากก่อน
  • คณะครูสละเบี้ยกันดารไปซื้อเครื่องดนตรีให้นักเรียนได้เล่น เมื่อเล่นสนุกสนานก็มีกำลังใจมาโรงเรียน
  • ครูใหญ่บันทึกการทำงานไว้ทุกขั้นตอน และต่อมาทราบไปถึงหนังสือพิมพ์ จนทางการทราบข่าว จึงให้งบประมาณมาสร้างโรงเรียนให้ และเพิ่มครูให้อีก ๔ คน
  • ครูใหญ่สังเกตเห็นว่า นักทัศนาจร ที่มาเที่ยวจะซื้อไข่ไก่กลับบ้าน ... จึงสละเงินซื้อไก่มาเลี้ยง
  • เมื่อทางการทราบว่าครูใหญ่เลี้ยงไก่ ก็ส่งผู้เชี่ยวชาญมาช่วยดูแล ทำให้แพร่หลายในเวลาเพียงห้าเดือน
  • ครูใหญ่จัดพิธีแจกไก่เป็นรางวัลให้นักเรียน เป็นเหมือนทหารกองหน้าในการต่อสู้กับความยากจน โดยใช้ไก่เป็นอาวุธ โดยใช้คะแนนเป็นตัวล่อ
  • ทำให้ผู้ปกครองต้องเลี้ยงไก่ไปด้วย ทำให้ ๕ เดือนต่อมา ชาวบ้านมีไก่เต็มหมู่บ้าน จนได้ชื่อว่า "บ้านไก่"
  • ต่อมาก็พาชาวบ้านปลูกสนหอม โดยเพาะกล้าเอง และให้นักเรียนปลูกด้วยตนเอง ความเป็นเจ้าของทำให้นักเรียนช่วยกันดูแลอย่างดี
  • ต่อมาครูใหญ่ก็ขายไก่ เอาเงินไปเลี้ยงผึ้ง และใช้วิธีการคล้ายไก่ คือใช้คะแนนบังคับให้พ่อแม่ช่วยเลี้ยง ...จนได้ชื่อหมู่บ้านว่า "บ้านผึ้ง"
  • ต่อมาก็ขายผึ้งไปเลี้ยงวัว ด้วยวิธีการเดียวกัน จึงได้ชื่อว่า "บ้านวัว"
  • นักเรียนจึงทำเป็นทั้งเลี้ยงไก่ เลี้ยงผึ้ง เลี้ยงวัว
  • ต่อมาก็ขายวัวส่วนหนึ่ง เอาไปซื้อเครื่องอุปกรณ์การสอน ดนตรี และกีฬา มาให้นักเรียนได้ใช้เรียน โดยไม่พึ่งงบประมาณจากทางการ
  • ทางการเห็นว่าโรงเรียนแสงเพลิงเป็นตัวอย่างแห่งการพึ่งตนเอง จึงส่งเรือมาให้
  • ครูใหญ่ทำพิธีแจกใบปริญญาให้กับนักเรียน โดยเชิญพ่อแม่มาร่วมงาน พ่อแม่มีรายได้แล้วก็มาร่วมงานเต็มที่ และนักเรียนยังได้รับเงินเก็บจากการทำงานของตนเอง
  • ประธานาธิบดีมอบรางวัลนักพัฒาดีเด่นให้กับครูใหญ่ ได้รับรางวัลเป็นเงินจำนวนมาก แต่ครูใหญ่ก็มอบให้กับทางโรงเรียน
  • โรงเรียนมีการจัดแข่งขันกีฬาที่ทั้งพ่อแม่และลูกลงไปแข่งขันร่วมกัน เช่น กินวิบาก วิ่งวิบาก วิ่งคู่สร้างคู่สม
  • ชาวบ้านรักและศรัทธาครูใหญ่ด้วยความจริงใจ
  • เพียงเวลาเพียง ๘ ปี ชาวบ้านเปลี่ยนไปมาก มีฐานะมั่นคง

เมื่อชมวีดีโอเสร็จแล้ว เราควรเพิ่มเติมสิ่งที่เรา "เห็น" ในลักษณะสรุปความ หรือสรุปประเด็น ที่เราสนใจ แต่ระวังว่า ต้องไม่ใส่ความคิดเห็นของตนเองเข้าไป ในที่นี้ประเด็นที่เราสนใจคือ "ภาวะผู้นำ" ดังนี้ เราควเพิ่มเติม ภาวะผู้นำของครูใหญ่ที่เราเห็น เช่น

  • ครูใหญ่เป็นผู้มีจิตอาสา (อาสามาพัฒนาโรงเรียนนี้ด้วยตนเอง)
  • ครูใหญ่เป็นผู้มีศิลปะในการพูด สามารถโน้มน้าวผู้อื่นได้ (ครูที่ไปรับจากไม่ยอมช่วยแบกของเป็นช่วยแบกของ)
  • ครูใหญ่เป็นคนขยัน อดทน มีความมุ่งมั่นต่อความสำเร็จสูงมาก แน่วแน่ต่อแนวทางที่กำหนด
  • ครูใหญ่รักและห่วงใหญ่ต่อนักเรียนและชุมชนด้วยใจจริง
  • ครูใหญ่มีเริ่มจากการทำเป็นตัวอย่างเพื่อเรียกศรัทธา ต่อมาก็พาทำงาน ทำอาชีพเพื่อขจัดความยากจน ก่อนจะซื้อวัสดุอุปกรณ์ด้านการศึกษา เครื่องดนตรี กีฬา
  • ครูใหญ่เป็นคนคิดการไกล มีการปลูกต้นไม้สนหอมไว้เป็นทรัพย์ของโรงเรียน
  • ครูใหญ่เป็นคนมีอัธยาศัยดี ไม่ถือตัว มีใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสเสมอ
  • ครูใหญ่เน้นการพัฒนาจิตใจของคน ตั้งครู ผู้ปกครอง และนักเรียน โดยใช้วิธีให้ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนา
  • ครูใหญ่เป็นักประสานงานตัวยง โดยเฉพาะการประสานกับทางราชการ
  • ฯลฯ

นอกจากนี้แล้ว ในขั้นตอนการ "เห็น" อะไรควรจะจับประเด็นเกี่ยวกับ "กระบวนการ" หรือ "วิธีการ" เท่าที่จะฟังได้ เป็นลักษณะการคิดเชื่อมโยง ลงมาให้เป็นขั้นตอน เช่น

  • วิธีการของครูใหญ่ในการพัฒนาคือ สร้างศรัทธาโดยการทำงานหนักเป็นตัวอย่างและเสียสละ สร้างการมีส่วนร่วมโดยการประชุมรวบรวมครูและชาวบ้านให้ทุกคนร่วมแรงกัน สร้างอาชีพให้ชาวบ้านผู้ปกครองโดยใช้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และทดลองก่อนจะขยายผลสู่ชาวบ้าน ด้วยวิธีการแจกให้นักเรียนไปเลี้ยงแลกคะแนน ก่อนจะหันกับมาพัฒนาคุุณภาพการศึกษาให้ทันสมัย
  • ระหว่างการทำแต่ละขั้นตอน ครูใหญ่จะใช้วิธียกย่อง เสริมแรงใจ ให้รางวัล รวมถึงตอนท้ายท้ายที่จัดแข่งขันเพื่อเชื่อมสัมพันธ์ครอบครัว
  • การพัฒนาการศึกษานั้นครูใหญ่ให้ความสำคัญกับทักษะชีวิต ดนตรี กีฬา และรวมถึงการวางแผนให้นักเรียนมีเงินเก็บสำหรับอนาคตเมื่อสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียน
  • ฯลฯ

โดยสรุป การถอดบทเรียนในขั้นตอนนี้ให้จับประเด็นเป็น ๓ ขั้น ได้แก่ ๑) ขั้นถอดเทป (คล้ายถอดเทป) ๒) ขั้นจับความ และ ๓) จับกระบวนการหรือวิธีการ นั่นเอง

๒) "คิด" อะไร ?

คำถามสำคัญในถอดบทเรียนในขั้นนี้คือ คุณลักษณะของผู้นั้น/สิ่งนั้นเป็นอย่างไร? ปัจจัยแห่งความสำเร็จคืออะไร ? อะไรคือแนวปฏิบัติที่ดีหรือ BP ที่เราพบ ? หรือสรุปเป็นหลักการ ทฤษฎี อะไรที่ผู้อื่น (ที่มาอ่าน) จะสามารถนำไปใช้ได้ ตัวอย่างเช่น

  • ครูใหญ่เป็นคนดี เป็นนักพัฒนา
  • ปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาของชุมชนนี้คือ ครูใหญ่
  • ปัจจัยแห่งความสำเร็จของการพัฒนาคือ ผู้นำที่เสียสละทำงานหนักอดทนทำตนเป็นแบบอย่าง จนสามารถสร้างศรัทธาจากครู นักเรียนและชาวบ้าน จนนำมาซึ่งความร่วมมือ
  • ผู้นำในการพัฒนาชนบนและโรงเรียนห่างไกลจะต้อง มีความมุ่งมั่น ขยัน ช่างสังเกต ติดดิน มองการณ์ไกล และมียุทธศาสตร์ในการพัฒนา เรียงลำดับความสำคัญของการพัฒนาอย่างถูกต้อง และพึ่งตนเองก่อน จนทางการเห็นผล จึงส่งคนและงบมาสนับสนุน
  • วิธีการสร้างศรัทธาของครูใหญ่คือ ทำงานหนัก
  • ขั้นตอนในการสร้างความสำเร็จของครูใหญ่คือ ตั้งเป้าหมายเป็นคำขวัญ "การทำงานหนักเป็นดอกไม้ของชีวิต" แล้วเริ่มลงมือปฏิบัติด้วยตนเองอย่างต่อเนื่องเพื่อทำคำขวัญนั้นให้เป็นจริงด้วยตนเอง
  • ฯลฯ

๓) "รู้สึก" อย่างไร

ในขั้นนี้ ให้ระลึกย้อนกลับไปถึงความรู้สึกหรือสภาวะของใจในขณะนั้น ๆ ว่าเป็นอย่างไร แล้วเขียนออกมาอย่างอิสระ สาระสำคัญอยู่ที่การระลึกย้อนกลับไป เพราะในทางประสาทวิทยา สมองจะเสมือนได้รับประสบการณ์จากการเรียนรู้ ณ ขณะนั้น ๆ อีกครั้งหนึ่ง ยิ่งระลึกบ่อย ความรู้หรือเหตุการณ์ที่ได้เรียนรู้นั้น จะเปลี่ยนจากที่เป็นความจำชั่วคราว (short term memory) ไปไว้ในส่วนความจำระยะยาว (long term memory) มากขึ้น

ความรู้สึกที่เกิดขึ้น บางครั้งอาจไม่สามารถเขียนออกมาเป็นภาษาสื่อสารได้ ดังนั้นการไม่ได้ถ่ายทอดอะไรออกมา หรือไม่สามารบอกได้ ไม่ได้หมายความว่า ไม่สามารถเรียนรู้จากการ “รู้สึก” ในทางกลับกัน การเขียนอธิบายอย่างละเอียด ก็อาจมาจาก “ความคิด” ไม่ได้ออกจาก “ความรู้สึก” จริง ๆ … ด้วยเหตุนี้ การประเมินผลการศึกษาด้วยการอ้างอิ่งจากผลการถอดบทเรียนในประเด็นนี้ จึงต้องระวังอย่างยิ่ง


วิพากษ์ งานเขียนของนิสิต

ธรรมชาติของมนุษย์จะเรียนรู้จากสิ่งที่ผิดพลาดหรือเรียนรู้จากความผิดพลาดได้ดีกว่าการเรียนรู้จากความถูกต้องสมบูรณ์แบบ โดยเฉพาะถ้าได้เรียนรู้จากตัวอย่างที่เป็นเหตุการณ์จริง ๆ นำมาวิเคราะห์แยกเหตุแยกผล วิพากษ์ความผิดพลาด ความบกพร่องหรือที่เราเรียกว่าวิเคราะห์ "ปัญหา"ซึ่งจะตามมาด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เพื่อหาคำตอบและพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งทำให้โลกเจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็วในยุคนี้

เมื่อให้ตัวคลิปเสียงกู่จากครูใหญ่แล้ว ให้เขียนสิ่งที่อยากเขียนทันที โดยใช้เวลา ๓ นาที ต่อไปนี้คือตัวอย่าง ผลงานของนิสิต

"... คิดว่าครูใหญ่เป็นคนดีมาก นอกจากจะเป็นคนดีแล้ว ยังคิดดี คิดเป็น เป็นตัวอย่างของนักพัฒนาที่ดีมาก ถ้าหากทุกคนคิดได้อย่างครูใหญ่ โลกคงพัฒนาไปในทางที่ดีกว่านี้เป็นแน่ะ แต่นอกจากจะคิดดี คิดเป็นแล้ว ก็ต้องมีความเสียสละและอดทนด้วย ซึ่งครูใหญ่ก็มีในส่วนตรงนี้ ทำให้มีคนรักและศรัทธา โดยที่ไม่ต้องร้องขอหรือทำอะไร แต่ทำออกมาจากใจเท่านี้เอง..." .... นิสิตคนหนึ่ง (สุ่มเลือก)

"...ทำให้ดิฉันได้แนวคิดในการทำงานเกี่ยวกับการพัฒนา คือ การพัฒนาต้องมีวิสัยทัศน์ ความมุ่งมั้น และความตั้งใจแน่วแน่ มีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าทำไปเพื่ออะไร ทำไปแล้วเกิดประโยชน์กับใครบ้าง ส่งผลต่ออนาคตอย่างร และประเด็นสำคัญต้องไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก ทำให้ดูอยู่ให้เห็น ทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดี การมีส่วนร่วม การสร้างจิตสาธารณะให้เกิดในตัวทุกคน เกิดความรู้สึกหวงแหน สร้างความสามัคคี สร้างสังคมที่น่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นในตัวและศรัทธาจะตามมา มีภาวะความเป็นผู้นำ มีกลยุทธ์ ยุทธวิธีในการทำให้เกิดความสำเร็จ และเน้นการทำงานเพื่อชุมชนและสังคม มุ่งพัฒนาให้เกิดความยั่งยืน ความเสียสละของครูใหญ่ที่ละทิ้งชีวิตสุขสบายเพื่อพัฒนาโรงเรียนและสร้างโรงเรียนให้เด็ก ๆ มีการศึกษาดี เพราะทำงานหนักเป็นดอกไม้ของชีวิต ..." ... นิสิตอีกคนหนึ่ง (สุ่่มเลือก)

สังเกตว่า สิ่งที่นิสิตเขียนเกือบทั้งหมดจะเป็นแบบ "คิดอะไร ?" และโดยมากจะใส่คำและความคิดของตนเองลงไป .... ขอให้ฝึกต่อไปครับ

ความจริงการถอดบทเรียนในขั้นที่ ๒) "คิด" อะไร ? นั้น สามารถ ทำให้ง่ายขึ้นโดยการเปลี่ยนคำถามเป็น "ได้เรียนรู้อะไรใหม่ ?" คำตอบที่ได้จะเป็นการถอดบทเรียนทันที ... อย่างไรก็ดี ส่วนใหญ่จะไม่ได้กระบวนการหรือวิธีการ หรือที่ภาษา KM เรียกว่า How to?

นิสิตที่อ่านถึงตรงนี้แล้ว แนะนำให้ไปลองฟังบรรยายพิเศษของท่านคณบดีคณะศึกษาศาสตร์เรื่อง “ภาวะผู้นำ” แล้วถอดบทเรียนมาแลกเปลี่ยนกับเพื่อนทางกลุ่มเฟสครับ

หมายเลขบันทึก: 622679เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2017 03:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 มกราคม 2018 15:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท