รักที่หลุดพ้น (ตอนที่ 18 วิธีสอนประวัติศาสตร์ของครูธรรศ)


วรรณกรรมอิงธรรมะ เชื่อมโยงเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับประวัติการศึกษาไทยในชนบทแห่งหนึ่ง ของยุคหนึ่ง ในหลายๆมิติ


      ระหว่างที่ธรรศเตรียมการสอนวิชาประวัติศาสตร์  ทำให้เขานึกย้อนถึงตอนเป็นเด็ก ที่เวลาพักกลางวันเขาชอบไปนั่งอ่านหนังสือในห้องสมุด หนังสือที่เขาชอบอ่านมากที่สุดคือวรรณคดีไทยและประวัติศาสตร์  หนังสือประวัติศาสตร์ที่อ่านในตอนนั้นจำได้ว่าแต่ละเล่มมักเขียนใกล้เคียงกัน สาเหตุก็คงมาจากคนเพียงไม่กี่คน ที่มีบทบาทสำคัญทางสังคมในยุคนั้นๆเป็นผู้เขียน แล้วเราก็ร่ำเรียนกันมา ครูก็อธิบาย เล่าเรื่องตามหนังสือเรียนให้เราท่องจำและออกข้อสอบตามนั้น ซึ่งตอนเด็กๆธรรศก็สอบได้คะแนนดีในวิชานี้ด้วย เพราะจำเก่ง แต่จินตนาการก็ยังอยู่ในขอบเขตจำกัดตามที่ครูสอน และก็ยังชอบเรียนวิชานี้อยู่    
       พอได้เป็นครูสอนวิชานี้จริงๆ   ธรรศได้ให้คำจำกัดความของประวัติศาสตร์ว่า  คือการศึกษาพฤติกรรมของมนุษยชาติในอดีตที่มีผลต่อสังคมทั้งในยุคสมัยนั้น หรือส่งผลกระทบเชื่อมโยงถึงปัจจุบันและอนาคต  เป็นเรื่องราวที่นักประวัติศาสตร์เห็นว่ามีคุณค่า โดยอาศัยการค้นคว้า  การรวบรวมข้อมูลและหลักฐาน  ผ่านการประเมินความน่าเชื่อถือและตีความจากหลักฐานทั้งปวงที่มีอยู่ แล้วเผยแพร่เป็นเรื่องราวให้สังคมรับรู้  เขาคิดว่าจุดมุ่งหมายสำคัญของประวัติศาสตร์ก็คือความเข้าใจอดีตของสังคมมนุษย์นั่นเอง    
       ประวัติศาสตร์จึงเป็นศาสตร์ที่มีระเบียบวิธีการเฉพาะตัว เพื่อตอบสนองความสนใจใคร่รู้ของมนุษย์เอง  เรื่องราวประวัติศาสตร์ขึ้นอยู่กับหลักฐานทางประวัติศาสตร์และการวิเคราะห์ตีความหลักฐาน  ด้วยเหตุนี้ประวัติศาสตร์จึงเปลี่ยนแปลงได้  มิใช่ข้อยุติที่ตายตัวหรือจำกัดเพียงเรื่องราวในอดีต  แต่หมายถึงการศึกษาอดีตด้วยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีอยู่ และด้วยการวิเคราะห์ตีความหลักฐานตามวิธีการทางประวัติศาสตร์ที่เป็นสหวิทยาการในปัจจุบัน   
       แต่การเรียนการสอนที่ผ่านมาธรรศเห็นว่า เรามักเสนอความจริงเพียงด้านเดียว ตามหนังสือเรียนมักกล่าวเพียงว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร แล้วมักตามด้วยข้อสรุปเพียงว่า เพราะท่านรักชาติ เราจึงควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง  และสำนึกในบุญคุณของท่าน  แต่กลับหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงความผิดพลาดในอดีต  การเรียนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาจึงเหลือเพียงท่องจำ และนำไปสอบ ไม่จำเป็นต้องคิดวิเคราะห์ใดๆ  ธรรศจึงเห็นว่า นี่น่าจะเป็นจุดอ่อนที่เราควรต้องทบทวน           
       ธรรศคิดว่าเราน่าจะปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ให้สนุกและได้คุณค่าโดยที่ไม่ยึดติดที่หนังสือแบบเรียนเล่มเดียวเหมือนที่ผ่านมา   การเรียนการสอนประวัติศาสตร์น่าจะมีแง่มุมมากกว่านำเรื่องที่บันทึกไว้แล้วมาบอกต่อ  แต่คนเป็นครูน่าจะเป็นนักอ่านตัวยง  มีความรอบรู้ในศาสตร์หลายๆแขนง     
      ดังนั้นการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ ของธรรศจึงกำหนดให้มีกติกาที่สร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน ตามจุดมุ่งหมายที่กล่าวไว้ในเบื้องต้น   โดยธรรศจะเป็นแบบอย่างของนักวิชาการที่มีความรอบรู้  มีความเที่ยงตรง  เป็นกลาง และมีวิธีการที่เหมาะสมในการปลูกฝังสร้างความตระหนักให้นักเรียนเกิดความรัก ความสามัคคีในชาติ และ ความภาคภูมิใจในความเป็นชาติอย่างแท้จริง   บนพื้นฐานของข้อมูลที่น่าเชื่อถือ อ้างอิงได้ จากหลายๆแหล่งที่ไม่ใช่มาจากตำราเล่มเดียว หรือจากการใช้สามัญสำนึก  หรือจากครูเป็นผู้ชี้นำให้โน้มเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง  ซึ่งจะเป็นอุปสรรคสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาสติปัญญาของผู้เรียน         
      การจัดการเรียนรู้ของธรรศจึงเริ่มต้นโดยการกำหนดประเด็นหรือสาระในการศึกษา  แล้ววางแผนแบ่งนักเรียนเป็นกลุ่มให้ไปสืบค้น ศึกษาข้อมูลจากบันทึก  หนังสือ และหลักฐานต่างๆ ซึ่งจะเริ่มจากการศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นลำดับแรก   โดยธรรศจะกำหนดประเด็น  กิจกรรม และแหล่งเรียนรู้ที่ท้าทายให้ไปสืบค้น  ซึ่งธรรศเองก็มีข้อมูลเรื่องนี้ตอนเป็นมัคคุเทศก์ให้นักท่องเที่ยวชาวจีนมาก่อนหน้านี้แล้ว  พอมาเป็นครูเต็มตัวจึงขอพักงานนี้ไปชั่วคราว        
     เมื่อทั้งครูและนักเรียนต่างมีข้อมูลความรู้ที่หลากหลาย  แล้วนำข้อมูลประวัติศาสตร์ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยามาวิเคราะห์แลกเปลี่ยนกัน  รวมทั้งบูรณาการเชื่อมโยงกับศาสตร์แขนงต่างๆ  ฝึกการตีความเหมือนนักกฎหมาย  เทียบเคียงกับบันทึกหรือหลักฐานต่างๆ      
     โดยเขาจะเป็นผู้ใช้คำถามกระตุ้นให้นักเรียนเกิดการคิดวิเคราะห์สังเคราะห์อย่างเต็มที่ โดยไม่ชี้นำ เช่น  ตั้งคำถามว่า        
     “ มีข้อมูลที่เราไปศึกษากันมาที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้อะไรบ้าง”       
     “นักเรียนรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้”            
     “ถ้านักเรียนสามารถทะลุมิติไปอยู่ในเหตุการณ์นี้ จะตัดสินใจแก้ปัญหาอย่างไร”            
     “ทำไมนักเรียนจึงตัดสินใจเช่นนี้  มีข้อมูลสำคัญอะไรที่ทำให้นักเรียนเชื่อเช่นนั้น”           
     “ถ้านักเรียนคิดเช่นนั้น จะเกิดผลดีหรือเกิดประโยชน์อย่างไร”       
     “การตัดสินใจเช่นนี้ จะมีผลกระทบที่ไม่ดีเกิดขึ้นในระยะสั้นและระยะยาวหรือไม่”          
     “ลองทบทวนใหม่อีกครั้งซิ  ว่านักเรียนจะตัดสินใจอย่างไรในกรณีนี้” 
     
     “ลองสรุปผลการวิเคราะห์เรื่องนี้ของพวกเราทั้งหมดซิว่า คืออะไร”                                                          เมื่อธรรศใช้กระบวนการเรียนรู้ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง  จึงพบว่า นักเรียนมีความรู้งอกเงยขึ้น และสุดท้ายก็ให้นักเรียนแต่ละกลุ่มช่วยกันเขียนออกมาเป็นบทความแล้วนำมาแลกเปลี่ยนกัน  เป็นอันว่าจะได้บทความที่เป็นประวัติศาสตร์ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจากทุกกลุ่ม ทุกห้องอย่างครบถ้วนสมบูรณ์   แล้วธรรศก็นำบทความเหล่านี้ไปให้นักเรียนที่เรียนโปรแกรมภาษาจีนช่วยกันฝึกแปลออกมาเป็นภาษาจีน โดยธรรศจะช่วยตรวจทาน ตกแต่ง แก้ไข และช่วยเหลือเขียนเพิ่มเติมให้ เมื่อนักเรียนติดขัด  เพราะนักเรียนยังมีความรู้และประสบการณ์เรื่องภาษาจีนไม่มากนัก  จนสามารถพิมพ์ออกมาเป็นเอกสารเผยแพร่ได้  รวมทั้งฝึกให้นักเรียนอ่านและบรรยายเป็นภาษาจีนด้วย  ถ้าเห็นว่านักเรียนคนใดมีแววพอที่จะออกภาคสนามได้ ก็จะพาไปเป็นไก๊ด์หารายได้พิเศษในวันหยุดด้วย  โดยธรรศจะคอยประกบช่วยเหลือในช่วงแรกๆ และให้นักเรียนคนอื่นๆเข้าไปร่วมฝึกประสบการณ์ด้วย  ซึ่งปรากฏว่าต่อมาไม่นานกิจกรรมนี้ กลายเป็นกิจกรรมที่ประสบผลสำเร็จอย่างสูง นักเรียนและผู้ปกครองชอบและชื่นชมในกิจกรรมนี้มาก            
      ขณะเดียวกันธรรศก็นำบทความของนักเรียนแต่ละกลุ่มไปให้ครูที่สอนภาษาอังกฤษดำเนินการเช่นเดียวกับที่เขาทำกับกลุ่มนักเรียนที่เรียนภาษาจีน  แล้วไม่ลืมที่จะให้จัดพิมพ์เป็นบทความภาษาไทยด้วย  เป็นอันว่า จะมีไก๊ด์เรื่องประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาทั้งกลุ่มภาษาจีน  ภาษาอังกฤษ และภาษาไทย ออกไปฝึกประสบการณ์และหารายได้พิเศษในทุกวันหยุดกันอย่างสนุกสนาน เด็กๆมีรายได้ระหว่างเรียนกันเป็นกอบเป็นกำ ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดีทั้งครูภาษาอังกฤษและครูภาษาไทย  นิพาดาได้ไปช่วยธรรศดูแล แก้ปัญหา และช่วยประสานงานกับทั้งครู ผู้ปกครองของนักเรียน และนักเรียนทุกกลุ่มให้ดำเนินการได้อย่างคล่องตัวและไม่ให้มีปัญหาด้วย                  
        ระยะแรกธรรศกับนิพาดาต้องบริหารเวลาในวันหยุดอย่างมาก เพราะปกติวันเสาร์ต้องไปร่วมกิจกรรมชมรมผู้บำเพ็ญประโยชน์กัน  วันอาทิตย์จะไปร่วมนั่งสมาธิวิปัสสนากับกลุ่มญาติโยมของหลวงพ่อ บางครั้งก็ต้องพานักเรียนไปอบรมหลักสูตรอานาปานสติ 1 วัน ที่กทม. และต้องแบ่งเวลามาดูแลเด็กกลุ่มที่เป็นไก๊ด์นี้ด้วย  แต่ก็โชคดีที่เด็กกลุ่มนี้เรียนรู้ได้เร็ว ฝึกเขาไม่นานก็สามารถนำกันเองได้ ธรรศจึงใช้วิธีให้เขาดูแลกันเอง โดยฝากครูท่านอื่นๆในกลุ่มไก๊ด์ฝรั่งและกลุ่มคนไทยให้ช่วยดูๆให้ด้วย และบางครั้งก็ต้องสลับสับเปลี่ยนการไปดูแลและร่วมกิจกรรมต่างๆกับ นิพาดากัน             
       ปรากฏว่าต่อมาไม่นานกิจกรรมนี้ กลายเป็นกิจกรรมที่ประสบผลสำเร็จอย่างสูง นักเรียนและผู้ปกครองต่างชื่นชอบกิจกรรมนี้มาก  โรงเรียนได้รับการยกย่องจากเขตพื้นที่การศึกษา และกระทรวงศึกษาธิการ  โดยถือเป็นแบบอย่างในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่บูรณาการความรู้สู่การประกอบอาชีพในท้องถิ่น ทำให้นักเรียนเกิดทักษะชีวิตเห็นช่องทางในการประกอบอาชีพได้อย่างแท้จริง   โรงเรียนได้รับเชิญให้ไปนำเสนอผลงานในที่ต่างๆหลายครั้ง  ทำให้ผู้อำนวยการโรงเรียน ครูทั้งโรงเรียน ชุมชน และเครือข่ายผู้ปกครอง หน่วยงานการท่องเที่ยวฯ และจังหวัด  เข้ามาช่วยเหลือสนับสนุนกิจกรรมนี้กันอย่างกว้างขวาง  มีผู้สนับสนุนการพิมพ์เอกสารความรู้ประวัติศาสตร์เพื่อการท่องเที่ยวจังหวัดพระนครศรีอยุธยาทั้งภาษาไทย จีน และอังกฤษเป็นรูปเล่มที่สวยงามออกเผยแพร่เป็นจำนวนมากและนักเรียนได้ใช้เอกสารนี้เป็นสื่อในการทำกิจกรรมมัคคุเทศก์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น           
       ธรรศจึงสรุปว่า “นี่น่าจะเป็นการสอนประวัติศาสตร์ที่บูรณาการอย่างครบวงจร ทำให้นักเรียนเกิดปัญญาได้อย่างแท้จริงกระมัง”           นอกจากนี้ธรรศได้มีกิจกรรมที่ต่อยอดจากการวิเคราะห์สังเคราะห์ประวัติศาสตร์กันในชั้นเรียนอีก  เช่น การให้ผู้เรียนวิจัยสืบค้นภูมิปัญญาและแหล่งประวัติศาสตร์ในท้องถิ่น   การเปรียบเทียบบันทึกต่างๆทางประวัติศาสตร์ของประเทศตนเองกับประเทศอื่นๆ   การแข่งขันตอบปัญหาเชิงวิเคราะห์สังเคราะห์   การทัศนศึกษาแหล่งประวัติศาสตร์   การอภิปราย  การโต้วาที  การประกวดบทความเชิงประวัติศาสตร์ จนเกิดการศึกษาค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ที่ลุ่มลึกยิ่งขึ้น            
       พูดถึงการเขียนบทความเชิงวิเคราะห์สังเคราะห์ประวัติศาสตร์  ทำให้ธรรศนึกถึงบทความของอาจารย์ท่านหนึ่งที่ธรรศติดตามอ่านเป็นประจำในหนังสือพิมพ์รายวัน  บทความของท่านอาจารย์ผู้นี้เขียนจากข้อมูลที่อ้างอิงได้หลายๆแหล่ง ผนวกกับองค์ความรู้ที่ท่านมีอย่างมากมายหลายแขนงทั้งด้านการเมือง การปกครอง รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ วรรณคดี ฯลฯ แล้วสอดแทรกด้วยอารมณ์ขันที่ท่านมีอยู่   ท่านจึงสามารถวิเคราะห์เทียบเคียงกับเหตุการณ์ปัจจุบันได้อย่างครื้นเครงและเห็นภาพพจน์  โดยไม่เอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง  แต่ก็ไม่ลืมที่จะกระตุ้นสำนึกให้คนไทยมีความรักชาติ  แม้ท่านจะเขียนถึงเบื้องสูงด้วยภาษาที่เรียบง่าย  ไม่ใช้ราชาศัพท์เสียทีเดียว แต่ก็ไม่จาบจ้วง  จึงทำให้บทความของท่านมีเสน่ห์  กินใจ ได้ทั้งความรู้และความบันเทิงที่หาคนเขียนเช่นนี้ได้ยาก          
       ธรรศเก็บบทความบางตอนของท่านไว้ ซึ่งท่านเขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สมัยกรุงรัตนโกสินทร์  ธรรศได้นำบทความหลายเรื่องของท่านมาอ่านให้นักเรียนฟังเป็นตัวอย่างการเขียนบทความที่ดี  แล้วกระตุ้นให้นักเรียนลองพัฒนาการเขียนบทความประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยาดูบ้าง พร้อมทั้งลองเขียนแผนที่ประกอบการเขียนบทความ  ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากนักเรียนเป็นอย่างดี  ตัวอย่างบทความที่ธรรศนำมาอ่านให้นักเรียนฟัง  เช่นเรื่อง “อมรรัตนโกสินทร์”  ที่ผู้เขียนเล่าให้เห็นภาพกรุงธนบุรีได้อย่างเห็นภาพพจน์ในตอนหนึ่งว่า                   
       “...แนวเขตพระมหานครด้านธนบุรีในช่วง 15 ปี ในรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรี เริ่มจากปากคลองบางกอกใหญ่(บางช่วงเรียกคลองบางหลวง)  ตรงนั้นมีป้อมวิไชยประสิทธิ์สร้างสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เลาะชายฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นไปทางเหนือ ผ่านพระราชวังธนบุรี(วันนี้เป็นกองทัพเรือ)  วัดอรุณฯ(สมัยนั้นเป็นวัดในวังไม่มีพระอยู่)  คลองมอญ  คุกหลวง  เรือนขุนนาง  เรือนเจ้าพระยาจักรี(รัชกาลที่ 1)  วัดบางหว้าใหญ่(วัดระฆัง) สวนมังคุด  สวนลิ้นจี่  แล้วจบที่คลองบางกอกน้อย(วันนี้คือชายขอบโรงพยาบาลศิริราช)  ส่วนราษฎรมักอยู่อาศัยทางฝั่งบางกอก  แต่พอออกไปแถวผ่านฟ้า  สะพานมัฆวาน  บางลำพู  เยาวราช  ยังเป็นทุ่งนาป่ารกและเสือชุมนัก  แถวมหาดไทยและกลาโหมก็ยังเป็นป่าช้าจีน         
      เหลือเชื่อว่าที่ตั้งโรงพยาบาลศิริราชทุกวันนี้  250 ปีก่อน เป็นสวนมังคุดและสวนลิ้นจี่ที่อุดมสมบูรณ์ รสชาติหวานอมเปรี้ยวราวกับลิ้นจี่เมืองเหนือ  500 ปีก่อน แม่น้ำเจ้าพระยาตรงศิริราชถึงหน้าวัดอรุณฯยังไม่มี  เป็นแต่แผ่นดินคนเดินข้ามไปมาได้  แม่น้ำเจ้าพระยาสายจริงไหลจากนครสวรรค์ผ่านอยุธยา  ปทุมธานี  นนทบุรี  ลงใต้มาจนถึงแถวสะพานพระปิ่นเกล้า แล้วเลี้ยวขวาหักศอกคดเคี้ยวผ่านสารพัดบาง ไปไกลราวค่อนวันจึงกลับออกมาทางข้างวัดอรุณฯ แล้วเลี้ยวขวาหักข้อศอกอีกทีผ่านสะพานพุทธไปลงอ่าวไทย...พระชัยราชานั่นแหละโปรดฯให้ขุดคลองลัดตรงจากสะพานพระปิ่นเกล้าไปถึงสะพานพุทธราว 2 กิโลเมตร ตรงนั้นเลยกลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายใหม่...ส่วนแม่น้ำสายเดิมที่เลี้ยวเข้าไปข้างศิริราชกลับตื้นเขินและแคบลงกลายเป็นคลองบางกอกน้อย และที่ไหลออกข้างวัดอรุณฯกลายเป็นคลองบางกอกใหญ่…”

       อีกตัวอย่างหนึ่งที่ธรรศนำมาอ่านให้นักเรียนฟัง เป็นการเขียนบูรณาการประวัติศาสตร์วิเคราะห์ ตีความ ให้เข้ากับวรรณคดี  ทำให้เราอ่านวรรณคดีไทยได้สนุกมีรสชาติขึ้น เช่น      
       “...รัชกาลที่ 2 ..ทรงมีเสน่ห์เอาการเพราะวาทะโวหารหวานนัก...ต่อมาไปโปรดเจ้าฟ้าหญิงบุญรอด พระธิดาสมเด็จ พระพี่นางพระองค์น้อยของรัชกาลที่ 1 พูดง่ายๆว่าเป็นลูกสาวของป้าจึงเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน  ฝีมือเจ้าฟ้าบุญรอดเป็นเลิศทางการครัว  กับข้าวคาวหวาน แกะสลักผักผลไม้  เจ้าฟ้าฉิมจึงทรงไปมาหาสู่อยู่ร่วม 2 ปี             
       รัชกาลที่ 1 กริ้วมากว่าพระเจ้าลูกเธอลบหลู่ผู้ใหญ่ไม่ยำเกรง ไม่ให้ขึ้นเฝ้า  ทั้งยังทรงจับแยกกัน  เจ้าฟ้าฉิมตรอมพระทัยอยู่นาน  เข้าใจว่าระหว่างนั้นเองที่ทรงพระนิพนธ์กาพย์ชมเครื่องคาวหวานฝีพระหัตถ์เจ้าฟ้าบุญรอด  ตั้งแต่มัสมั่นแกงแก้วตา หอมยี่หร่ารสร้อนแรง  จนถึงของหวาน เช่น  ทองหยอดทอดสนิท      ทองม้วนมิดชิดความหลัง   สองปีสองปิดบัง   แต่ลำพังสองต่อสอง             
     คนสมัยก่อนอ่านกาพย์บทนี้แล้วอมยิ้มเพราะข้อความนี้คือความในพระทัยรำลึกถึงความหลังครั้งที่เคยเสด็จไปมาหาสู่กันร่วม 2 ปี...ที่จริงรัชกาลที่ 2 ยังมีมเหสีอีกคือ เจ้าฟ้ากุลฑลทิพยวดี พระราชธิดารัชกาลที่ 1  แม่ท่านเป็นลูกกษัติรย์ลาว  แต่รัชกาลที่ 2 ก็ไม่ทรงยกย่องเป็นอัครมเหสี  แม้กระนั้นเจ้าฟ้าบุญรอดก็ทรงหึงจนกริ้วไม่ตรัสด้วย  เรียกว่าเลิกทำกับข้าวคาวหวานถวายเลยทีเดียว  รัชกาลที่ 2 เสด็จไปง้อก็ไม่ทรงเปิดประตูรับ  เรื่องราวของรัชกาลที่ 2 กับเจ้าฟ้ากุณฑลและเจ้าฟ้าบุญรอดน่าสนใจมาก เจ้าฟ้ากุณฑลท่านยังแรกรุ่นและงามนัก เมื่อรัชกาลที่ 2 ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนา คนจึงมักเปรียบเทียบพระองค์ว่าเป็นอิเหนา เจ้าฟ้าบุญรอดเป็นจินตะหรา  เจ้าฟ้ากุณฑลเป็นบุษบา  บทเจรจาตัดพ้อต่อว่าระหว่างอิเหนากับจินตะหรา เช่น ตอนอิเหนาไปง้อแล้วจินตะหราไม่เปิดประตูรับ  หรือตอนจินตะหรางอนใส่บุษบาเมื่อตอนเดินสวนทางกันมีอยู่จริงและตรงกันกับที่รัชกาลที่ 2 ทรงง้อเจ้าฟ้าบุญรอดและเจ้าฟ้าบุญรอดกริ้วไม่ตรัสกับเจ้าฟ้ากุณฑล...”
      
       และอีกบทความหนึ่งที่ธรรศชอบที่สุด และนำมาอ่านให้นักเรียนฟังคือ เรื่อง  "วาเลนไทน์แบบไทยๆ"  ที่ผู้เขียนเขียนในวันวาเลนไทน์ไว้ตอนหนึ่งว่า     
       "...รัชกาลที่ 4 เมื่อขึ้นครองราชย์ได้สถาปนาหลานปู่ของรัชกาลที่ 3 พระองค์หนึ่งเป็นสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี พระอัครมเหสี ด้วยความรักที่พระองค์มีต่อรัชกาลที่ 3 ผู้เป็นพี่ต่างพระราชชนนี และมีพระประสงค์จะสืบสายสัมพันธ์ให้ยั่งยืน รัชกาลที่ 3 โปรดปรานสมเด็จพระนางเจ้า ผู้เป็นหลานปู่พระองค์นี้มาก เคยโปรดเกล้า ให้สร้างวัดพระราชทาน ชื่อวัดราชนัดดาราม เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสฯ สวรรคต รัชกาลที่ 4 พระสวามีทรงอาลัยมาก โปรดเกล้า ให้สร้างวัดริมคลองผดุงกรุงเกษมที่เพิ่งขุดใหม่เป็นอนุสรณ์แห่งความรักพระราชทานนามว่าวัดโสมนัสวิหาร สมเด็จฯ พระองค์นี้จึงมีวัดเป็นอนุสรณ์ 2 วัด ปู่สร้างให้ 1 วัด พระสวามีสร้างให้อีก 1 วัด      
      ต่อมารัชกาลที่ 4 โปรดเกล้า ให้สร้างวัดของพระองค์เองคู่กันอีกวัดที่ริมคลองเดียวกันตั้งชื่อตามพระนามเดิมว่าวัดมกุฏกษัตริยาราม วัดนี้มาสร้างต่อและบูรณะจนเสร็จโดยรัชกาลที่ 5 และพระราชโอรสธิดาของรัชกาลที่ 4 ร่วมกันทำถวายพระบรมราชชนกจึงเป็นวัดสามีภริยาและลูกมาช่วยสร้างต่อเติมให้พ่อเข้าอีก อยู่เชิงสะพานมัฆวานทั้งสองวัด  พระมเหสีพระองค์ต่อมาของรัชกาลที่ 4 คือ พระนางเธอรำเพยภมราภิรมย์ มีพระราชโอรส ซึ่งเป็นเจ้าฟ้าชายพระองค์ใหญ่ ภายหลังได้ขึ้นเป็นรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้า ให้สถาปนาพระอัฐิพระบรมราชชนนีเป็นสมเด็จกรมพระเทพศิรินทรามาตย์ และโปรดเกล้า ให้สร้างวัดที่ริมคลองผดุงกรุงเกษมอีกแห่งเป็นอนุสรณ์จากลูกถึงแม่ ชื่อวัดเทพศิรินทราวาส..."
      
     ธรรศกล่าวชื่นชมอาจารย์ผู้เขียนให้นักเรียนฟังว่า      
     “ คนอะไรช่างสามารถหักมุมวันวาเลนไทน์ซึ่งเป็นของฝรั่งให้มาเป็นวันแห่งความรักของคนไทยได้อย่างเนียนที่สุด”
  แล้วธรรศก็อ่านบทสรุปข้อเขียนของเรื่องนี้ตอนสุดท้ายว่า     
     "...เราไม่ควรนึกถึงวัดโสมฯ วัดมกุฏฯ วัดเทพฯ เพียงแค่ว่าเป็นวัดใหญ่ มีเมรุใหญ่ ไปสวดไปเผาศพกันบ่อย แต่ควรถือว่า 3 วัดนี้คือ ทัชมาฮาลเมืองไทย เป็นอนุสรณ์แห่งความรักระหว่างสามีกับภรรยา บุตรกับบิดา และบุตรกับมารดาที่อยู่เรียงกันริมคลองเดียวกัน ถ้าไม่รักไม่ตั้งใจทำคงสร้างไม่ได้อย่างนี้..."       
      แล้วเขาได้พูดท้าทายกระตุ้นกับนักเรียนต่อ        
     “ ครูอยากเห็นนักเรียนลองเขียนประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาในแนวนี้ดูบ้างนะ
   
     ธรรศสรุปบทเรียนจากประสบการณ์การสอนของเขาว่า        
     “การสอนประวัติศาสตร์ที่ดีนั้น
  ครูควรสร้างบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตย  โดยส่งเสริมให้นักเรียนกล้าที่จะคิด  กล้าที่จะตัดสินใจ  และยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น หากมีข้อมูลที่น่าเชื่อถือดีกว่า และคำนึงถึงผลดี  ผลเสียทั้งในระยะสั้นและระยะยาวที่จะตามมา  โดยเชื่อว่าความรู้ที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้ เกิดจากการวิเคราะห์และสังเคราะห์จากข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน  หากมีการสืบค้นพบข้อมูลที่น่าเชื่อถือมากกว่านี้อีกก็สามารถทบทวนได้อีก       

      เช่นเดียวกับที่เราเคยเชื่อในอดีตว่าถิ่นไทยเดิมอยู่ดินแดนเทือกเขา อัลไต  แต่ปัจจุบันความเชื่อนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปตามข้อมูลใหม่แล้ว เป็นต้น                                                            ---------------------------------    

                                                                                                                             

หมายเลขบันทึก: 650564เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2018 12:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2020 20:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท