รักที่หลุดพ้น (ตอนที่ 17 เมื่อเป็นครูประจำชั้นนักเรียนห้องเก่ง)


วรรณกรรมอิงธรรมะ เชื่อมโยงเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับประวัติการศึกษาไทยในชนบทแห่งหนึ่ง ของยุคหนึ่ง ในหลายๆมิติ


         เสร็จภารกิจเป็นครูประจำชั้นห้อง ม.3/3 ยังไม่ทันหายเหนื่อยดี  ขึ้นปีการศึกษาใหม่ ก็ได้รับคำสั่งให้เป็นครูประจำชั้น ม. 3/1 คู่กันอีก ทั้งสองคนปรับอุณหภูมิไม่ทันจนแทบจะเป็นไข้          

         จากที่เคยให้ดูแลนักเรียนห้องยอดเกเร และผลการเรียนต่ำสุด  ให้มาดูแลนักเรียนห้องเรียนเก่งสุด คงต้องปรับกลยุทธ์กันใหม่  ต้องเตรียมตัวปรับใจให้สอดคล้องกับบริบทและสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป
    อาศัยที่เคยผ่านร้อนผ่านหนาวกันมาแล้ว  ธรรศกับนิพาดาจึงพยายามเชื่อมโยงหากลวิธีที่จะดูแลเขาให้ดีที่สุด  โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการพัฒนานักเรียนที่มีพื้นฐานทางสติปัญญาดีกว่าห้องที่แล้ว  ให้เขาได้รับการส่งเสริม  ได้รับโอกาส  ประสบการณ์ในการพัฒนาความรู้ความสามารถอย่างเต็มตามศักยภาพ  พร้อมทั้งได้รับการกล่อมเกลาให้เป็นเยาวชนคนดีของสังคมไปพร้อมกัน
          งานแรกที่ต้องวางแผนเตรียมการคือ  การหาวิธีรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคลให้มากที่สุด  เป็นการรู้เขารู้เรา  ให้ได้ข้อมูลทุกด้านของนักเรียน  เพื่อนำมาวิเคราะห์ปัญหา  สาเหตุของปัญหา  จุดเด่น  จุดด้อย  โอกาส  อุปสรรค  สำหรับหากลวิธีดูแลช่วยเหลือเขาให้ได้มากที่สุด
           เนื่องจากปีนี้ไม่ต้องไปเยี่ยมบ้านนักเรียนทุกคนเหมือนปีที่แล้ว  เพราะนักเรียนส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่ค่อนข้างมีความพร้อม  ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี  แม้เด็กบางคนจะอยู่ในครอบครัวที่มีฐานะยากจนหรือปานกลาง  แต่ก็ได้รับการดูแลเอาใจใส่จากพ่อแม่ผู้ปกครองอย่างอบอุ่น  รวมทั้งตัวนักเรียนเองก็มีความรับผิดชอบ  มีวินัยในตนเองสูง  ตั้งใจเรียน   จึงไม่มีวี่แววว่าจะสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าเรื่องความประพฤติแต่อย่างใด         
          วิธีการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลนักเรียนรายคนของธรรศและนิพาดา  ส่วนใหญ่จะได้จากการอ่านประวัติและการพบปะพูดคุยกับพ่อแม่ผู้ปกครอง   นอกนั้นก็เป็นการคุยกับเพื่อนสนิทของนักเรียน  คุยกับเพื่อนครูที่เคยสอน เป็นต้น  ซึ่งก็สามารถรับรู้ข้อมูลนักเรียนได้มากทีเดียว
        สิ่งที่ทั้งสองคนสบายใจอย่างมากคือ  ความร่วมมือของพ่อแม่ผู้ปกครองนักเรียน  เขาเอาใจใส่ดูแลลูกหลานเขาดีจริงๆ  ทำให้ทั้งสองคนนึกฝันไปว่าถ้าสังคมไทยเรามีสถาบันครอบครัวที่อบอุ่น โรงเรียนก็คงไม่ต้องทำงานหนักอย่างทุกวันนี้  เพราะถ้าแม่แบบดี  เด็กๆก็จะได้ซึมซับสิ่งที่ดี  ช่วยหล่อหลอมกล่อมเกลาจิตวิญญาณเขาให้เป็นคนดีมีคุณธรรมไปเอง
           พ่อแม่ ผู้ปกครองห้อง3/1  แต่ละคนน่ารักมาก  เชิญประชุมครั้งใดก็มากันพร้อมเพรียง  สนใจติดตามถามไถ่เรื่องลูกของตนเอง  มีเรื่องอะไรเกี่ยวกับลูกก็เล่าให้ฟังหมด  ส่วนใหญ่ก็จะเป็นพฤติกรรมเปิ่นๆ เชยๆ ที่ดูน่ารักของลูกนั่นแหละ  ก็ทำให้นิพาดากับธรรศรู้นิสัยใจคอของลูกศิษย์ และพ่อแม่ของเขาด้วย   ดูผู้ปกครองแต่ละคนไว้วางใจครูจัง           
         ที่เป็นเช่นนี้คงมาจากเพื่อนนักเรียนและรุ่นพี่ๆเขาเล่าพฤติกรรมของนิพาดาและธรรศ  โดยบอกกันปากต่อปาก  และนักเรียนเขาก็อยากมาเป็นลูกศิษย์ห้องที่ทั้งสองเป็นครูประจำชั้นกัน  ทั้งๆที่ทั้งสองคนถือเป็นครูที่ค่อนข้างดุ  เข้มงวด  พูดจริงทำจริง  ทำอะไรเกาะติด ประเภทกัดไม่ปล่อย
       แต่คงเป็นเพราะธรรศและนิพาดาไม่เป็นคนเจ้าอารมณ์  มีเหตุมีผล  พูดจาสุภาพ  และเขารู้ว่าครูรักและปรารถนาดี จริงใจต่อเขา  เสียสละ ไม่หวังผลประโยชน์อะไรจากนักเรียน  และโดยนิสัยส่วนตัวของทั้งสองคนก็ตรงกันที่ไม่ชอบให้นักเรียนมาพินอบพิเทา  หรือทำอะไรที่เหลาะแหละ ไม่จริงจัง  หรือเข้ามานัวเนียแบบเลี้ยงไม่โต  เพราะต่างอยากให้เขามีความมั่นใจในตนเอง  และพึ่งตนเองได้
         ครูประจำขั้นและผู้ปกครองต่างให้ที่อยู่พร้อมตั้งลายน์กลุ่มเพื่อติดต่อซึ่งกันและกัน เป็นเครือข่ายดูแลกัน  ซึ่งก็ยังมีพ่อแม่ผู้ปกครองมาหาที่บ้านพักครูอยู่บ้างเหมือนกัน  แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการมาปรึกษาเรื่องการเรียน  ความก้าวหน้าของลูก  มาเล่าความดีของลูก  ความติ๊งต๊องของลูกให้ครูฟัง เอาขนมของกินมาฝากบ้าง ไม่ค่อยจะมีปัญหามาให้ครูต้องแก้ไขเหมือนเมื่อปีที่แล้ว
         แม้จะหมดห่วงเรื่องพฤติกรรมไม่ดีของลูกๆ  แต่ทั้งสองคนก็ยังไม่วางใจเสียทีเดียว  จึงเป็นโอกาสดีให้นิพาดาและธรรศคิดหาวิธีทำให้เขาเก่ง  เขาดี  เขาก้าวหน้าให้มากที่สุด เช่น  พยายามเสาะแสวงหาเวทีประกวด  แข่งขัน  ตอบปัญหาทางวิชาการ ในทุกระดับให้ลูกๆในห้องได้ไปหาประสบการณ์  จัดให้มีการติวเข้ม  ซักซ้อม  ทาบทามครูเก่งๆมาช่วยลูกศิษย์ตน  แสวงหาแหล่งเรียนรู้ที่ใหม่ๆทันสมัยมาให้ไปศึกษาค้นคว้า   ตลอดจนการดูแลเรื่องการบริหารตนเอง ให้ใช้เวลาให้คุ้มค่าเกิดประโยชน์มากที่สุด และ การดูแลสุขภาพกาย จิตใจ           
         ที่สำคัญที่สุดคือการสอนเขาให้เป็นเด็กที่มีคุณธรรมน้ำใจ  รู้จักดูแลช่วยเหลือผู้อื่น ไม่ใช่เอาแต่แข่งขันกัน โดยจะมีกิจกรรมให้เขาได้ทำงานร่วมกัน ให้คิดและช่วยกันทำงานเป็นทีม จัดให้เพื่อนที่มีความรู้ดีในเรื่องหนึ่งไปช่วยติวช่วยอธิบายให้เพื่อนในเรื่องที่ยังไม่เข้าใจ   รวมทั้งมีกิจกรรมให้เขาได้มีใจแบ่งปันความรู้แก่เพื่อนห้องอื่น ตลอดจนไปช่วยสอนวิชาต่างๆให้นักเรียนรุ่นน้องด้วย โดยนิพาดากับธรรศจะกล่าวยกย่องชมเชยพวกเขาทุกครั้งที่ทำความดีเพื่อผู้อื่น เพื่อฝึกเขาให้ลดความเป็นอัตตา มีจิตสาธารณะ และมีความสุขจากการเป็นผู้ให้                   
          ธรรศกับนิพาดามีวิธีสร้างความเข้าใจ ความตระหนักให้เกิดแก่พ่อแม่ผู้ปกครองของนักเรียนวิธีหนึ่ง ด้วยการพยายามค้นหาเรื่องที่ดีของลูกศิษย์แต่ละคนที่ได้กระทำ    แล้วก็เขียนจดหมายบอกให้ผู้ปกครองรับรู้ถึงความดีของลูกๆแต่ละคนในห้อง  เพราะอยากให้พ่อแม่ผู้ปกครองเกิดความภาคภูมิใจในตัวบุตรหลานของเขา   ซึ่งทั้งสองคนหวังไว้ว่าการกระทำดังกล่าวจะจูงใจให้พ่อแม่ผู้ปกครองเกิดความรัก ความเข้าใจ และหันมาใส่ใจดูแลช่วยเหลือบุตรหลานของตนมากขึ้นไปอีก และนี่คือตัวอย่างจดหมายฉบับหนึ่งที่ทั้งสองคนช่วยกันเขียน
     
     จดหมายจากครูประจำชั้น ม.3/1 ฉบับที่ 1       

       “สวัสดีครับ/ค่ะ ท่านผู้ปกครองทุกท่าน เมื่อท่านผู้ปกครองได้รับจดหมายฉบับนี้ คงรู้สึกแปลกใจว่ามีเรื่องอะไรกัน ข่าวร้ายหรือไม่ ไม่ต้องตกใจนะครับ/คะ นี่ เป็นเพียงจดหมายแจ้งข่าวเกี่ยวกับลูกๆในห้อง 3/1 ของเราอย่างไม่เป็นทางการ เพียงแค่เล่าสู่กันฟังเท่านั้น เพราะเห็นว่า เปิดภาคเรียนมาประมาณ 2 เดือนแล้ว ท่านผู้ปกครองคงอยากทราบว่าลูกและเพื่อน ๆในห้อง ได้ทำกิจกรรมอะไร ได้รับประสบการณ์ ความรู้ ที่นอกเหนือจากบทเรียนอย่างไรกันบ้าง กิจกรรมที่ผ่านมา ได้แก่       
      8 มิ.ย.  กมลและเสาวณีย์ เป็นผู้แทนห้องถือพานวันไหว้ครู     
    12 มิ.ย.  กอบกิจ ไปแข่งขันทักษะด้านคณิตศาสตร์ที่โรงเรียนประจำจังหวัด และได้รับรางวัลชมเชย    
    17 มิ.ย.  นักเรียนทั้งห้องได้ไปศึกษานอกสถานที่ในแหล่งประวัติศาสตร์ของจังหวัดเรา     
    26 มิ.ย. มยุรี ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจากการประกวดแต่งกลอนในงานวันสุนทรภู่ที่โรงเรียน      
     1 ก.ค.  นักเรียนทุกคนไปร่วมงานวันสถาปนาลูกเสือ ณ ที่ว่าการอำเภอ
   12  ก.ค.ปริญญา นพพร รุจิรา และกัญญา เป็นตัวแทนห้องร่วมกับนักเรียน ม..3 ห้องอื่นๆ ไปถวายเทียนจำนำพรรษาที่วัด       
   13  ก.ค.  รุจิรา ได้รับรางวัลชนะเลิศในการแข่งขันตอบปัญหาธรรมะในสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาเนื่องในวันอาสาฬหบูชา
   14 ก.ค. รุจิรา  มยุรี  สมสมัย  กัญญา และนพพร ไปอบรมอานาปานสติที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมใน กทม.         
   19  ก.ค.  ปัทมาและก่อเกียรติ รับทุนการศึกษาจากธนาคารกรุงเทพ            
   25  ก.ค. ราณี  ปิยะมาศ กอบกิจ พรศรี นพพร และ ปริญญา เป็นทีมตัวแทนของโรงเรียนเข้าร่วมแข่งขันความสามารถทางวิทยาศาสตร์- คณิตศาสตร์ ในงานกิจกรรมพัฒนาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ ของโรงเรียนประจำจังหวัด   และได้รับรางวัลรองชนะเลิศ
        นอกจากนี้แล้ว ประไพ สมภพ และสมศักดิ์ ได้เข้าร่วมชมรมผู้บำเพ็ญประโยชน์ที่ครูเป็นผู้ก่อตั้งชมรม ได้ออกไปช่วยชาวบ้านทำนาในวันเสาร์ทุกเสาร์อย่างเข้มแข็ง
       นักเรียนในห้องทุกคน มีน้ำใจไปช่วยสอนหนังสือให้น้องๆชั้น ม.1 และ ม.2 ที่โรงเรียนในช่วงเวลาว่าง
           จะเห็นได้ว่าลูกๆของเราในห้องได้ทำกิจกรรมดีๆและมีผลงานเป็นที่น่าชื่นใจกันทุกคน จึงอยากจะให้พ่อแม่ผู้ปกครองลูกๆของเราภาคภูมิใจกันเหมือนกับพวกเราด้วยครับ/ค่ะ
         จาก....ครูธรรศ และครูนิพาดา  ครูประจำชั้นห้อง ม.3/1”
            
       สำหรับรางวัลที่ให้แก่นักเรียนที่ไม่ขาดเรียนเลยตลอดภาคเรียน  ธรรศและนิพาดาก็ยังมีรางวัลให้เหมือนเดิม   แต่รางวัลที่จะต้องให้แก่นักเรียนห้องนี้เป็นประจำคือ รางวัลสำหรับนักเรียนที่ชนะการประกวดแข่งขันในเวทีต่างๆนอกห้องเรียน จะมีมากเป็นพิเศษสำหรับห้องนี้
      วันหนึ่งมีเรื่องตลกเกิดขึ้นคือ ทั้งสองคนได้มอบเงิน 100 บาทแก่มยุรีที่ไป ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจากการประกวดแต่งกลอนในงานวันสุนทรภู่ที่โรงเรียนจัดขึ้น       
     วันรุ่งขึ้นมยุรี เข้ามาหานิพาดาแต่เช้า แล้วบอกว่า
 “ เมื่อวานหนูไปคุยให้คุณแม่ฟัง เรื่องรางวัลที่คุณครูให้” นิพาดาก็ถามว่า         
 “แล้วคุณแม่ว่ายังไง” มยุรีทำหน้ายู่ยี่ตอบ
 “คุณแม่หนูไม่เชื่อ  แม่หนูบอกว่า มีครูที่ไหนเขาจะให้รางวัลแก่เด็กที่ไปได้รางวัลมาแล้ว  วันหลังคุณครูช่วยบอกแม่หนูทีนะค่ะ” 

          --------------------------------------                                                              
                                     

หมายเลขบันทึก: 650563เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2018 11:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กันยายน 2020 20:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท