ใช้ platform ที่ผิดในการทำงานนวัตกรรมของมหาวิทยาลัย



ในการประชุมทีมบริหารกลาง (core team) หน่วยพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย (R2R) ครั้งที่ ๔/๒๕๖๑   ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล   เมื่อเช้าวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๖๑   มีการเสวนาเข้มข้นเรื่อง งานพัฒนานวัตกรรมของอาจารย์มหาวิทยาลัยไทยส่วนใหญ่จอดอยู่แค่ระดับได้ต้นแบบ    ไม่ไปถึงตลาด

ผมตีความว่า ข้อจำกัดของผลสำเร็จในการสร้างผลงานนวัตกรรมของอาจารย์มหาวิทยาลัยตามย่อหน้าบน เกิดจากวิธีตั้งโจทย์ที่ผิด    หรือเกิดจากโจทย์ผิด    โดยที่ root cause คือ ไม่มีพื้นที่พัฒนานวัตกรรมที่ถูกต้อง    

นวัตกรรมในที่นี้หมายถึงนวัตกรรมในระดับขายได้ กินได้ ใช้ได้    มีคนยินดีจ่ายเงินซื้อไปใช้    คือต้องผลิตสินค้าหรือบริการที่ “ขึ้นห้าง”   การพัฒนานวัตกรรมแบบนี้ต้องการ platform ใหม่ ที่มีพลังสามประสาน ของภาครัฐ  ภาควิชาการ  และภาคธุรกิจหรือภาคทำมาหากิน ร่วมมือกัน     โดยโจทย์ต้องมาจากภาคีที่สาม    ที่เทใจ (และเทเงิน) เข้าร่วม   โดยพิจารณาแล้วว่ามีโอกาสนำผลการสร้างสรรค์นวัตกรรมไปขายได้    คุ้มต่อการลงทุนลงแรง    จะเห็นว่า innovation platform แบบใหม่นี้การถ่ายทอดเทคโนโลยีบูรณาการอยู่ในการพัฒนานวัตกรรมนั้นเอง     

Platform ที่ผิด อย่างที่เราคุ้นเคย    แยกการถ่ายทอดเทคโนโลยี (technology transfer) แก่ผู้ประกอบการหลังจากงานพัฒนานวัตกรรมสำเร็จแล้ว    โดยก่อนหน้านั้นนักวิจัยและพัฒนานวัตกรรมไม่เคยพูดคุยปรึกษาขอความเห็น และความร่วมมือจากผู้ประกอบการเลย ว่าหากการสร้างสรรค์นวัตกรรมนั้นประสบความสำเร็จ    จะมีผู้ประกอบการต้องการเอาไปสู่ตลาดหรือไม่  สินค้านั้นจะแข่งขันกับสินค้าที่มีอยู่ในตลาดได้หรือไม่   

เมื่อ working platform เปลี่ยนไป    Workload และ Reward framework ชองบุคคลที่เกี่ยวข้อง  โดยเฉพาะของนักวิจัย  ซึ่งขณะนี้ส่วนใหญ่เป็นอาจารย์  ก็ต้องเปลี่ยน    เพื่อสร้างแรงดึงดูดให้ไปทำงานใน “พื้นที่ทำงานนวัตกรรม”   ซึ่งอาจมีส่วนหนึ่งของ “พื้นที่จริง” อยู่ในภาคีที่เป็นผู้ประกอบการ   

ในยุคประเทศไทย ๔.๐  เราต้องการกระบวนทัศน์ใหม่ในการทำงานพัฒนนวัตกรรมของมหาวิทยาลัย   ที่เป็นกระบวนทัศน์ social engagement   ไม่ใช่กระบวนทัศน์ technology transfer

วิจารณ์ พานิช

๑๘ ก.ค. ๖๑

   

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 650526เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2018 21:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 สิงหาคม 2018 21:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผมเคยเสนอแนวคิดคล้ายๆ ตามที่อาจารย์เขียนบันทึกนี้ ให้กับที่ทำงานเดิมหลายครั้ง แต่ไม่เป็นผล เพราะผมอาจจะยังไม่มีคุณวุฒิและวัยวุฒิเพียงพอต่อความน่าเชื่อถือ ณ เวลานั้น

มหาวิทยาลัยหรือหน่วยวิจัยบางแห่ง มักจะรอรับเทคโนโลยีจากคนอื่น ๆ จากนั้นจึงค่อยมาพัฒนาต่อ นักวิจัยของเรามองผลลัพธ์ใหญ่มากกว่าที่จะทำจากส่วนที่รู้จริง จากเล็ก ๆ ค่อยขยายใหญ่ แน่นอนว่าจะต้องเสียเวลา งบประมาณ และผลสำเร็จอาจจะช้าไม่ทันเวลาตามกระเเสไม่ทัน เราจึงไม่ได้ทำอย่างต่อเนื่อง เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามกระแสที่ยังไม่นิ่ง โลกยุคใหม่งานวิจัยและความรู้จะต้องประยุกต์เพื่อประโยชน์ของสังคม มากกว่าจะใช้เพียงข้อตำแหน่งทางวิชาการ แล้วก็จบไปทำเรื่องอื่นๆ ไป ไม่ได้ลงลึกและพัฒนาต่อยอดอย่างต่อเนื่อง จึงอยากเห็นนักวิชาการและนักวิชา หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้นำแนวคิดทางอาจารย์ไปตีโจทย์และขยายผลต่อครับ

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท