สรุปเรื่องสำคัญร่าง พรบ. บริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นฉบับใหม่ ตอนที่ 7 : สรุปจากร่าง


สรุปเรื่องสำคัญร่าง พรบ. บริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นฉบับใหม่ ตอนที่ 7 : สรุปจากร่าง

23 สิงหาคม 2561

ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

 

กะว่าจะเขียนเฉพาะเรื่องการบริหารงานบุคคล อดไม่ได้ที่จะต้องเท้าความพาดพิงไปพูดเรื่องอื่นด้วย เพราะตามที่เกริ่นแต่แรกแล้วว่า เรื่องท้องถิ่นมันเกี่ยวพันกันไปมาหลายตลบ เอาเป็นว่าประเด็นเรื่องท้องถิ่นที่กำลังวุ่นๆ คือปัญหาจาก พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ได้แก่ (1) การขาดแคลนวิศวกร ช่างผู้ควบคุมงาน ทั้งฝ่ายท้องถิ่น(ผู้จ้าง)และฝ่ายผู้รับจ้าง(ผู้รับเหมา), วิศวกรออกแบบ (ระดับภาคี-ภย.), วิศวกรรับรองแบบ (ระดับสามัญ-สย.) (2) เรื่องการจัดทำแผนฯ การจัดทำร่างงบประมาณรายจ่ายฯ การขอใช้พื้นที่ก่อสร้างที่ต้องได้รับการอนุญาตขอใช้พื้นที่ก่อสร้างก่อนที่จะดำเนินการก่อสร้างฯ เช่น ที่ราชพัสดุ ที่สาธารณประโยชน์ที่ยังไม่มีหลักฐาน ที่ดินตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (นสล.) ที่ป่าไม้ ที่ สปก. และที่ดินในการครอบครองของเอกชนหรือส่วนราชการอื่น เป็นต้น (3) การทำสัญญาจ้างก่อสร้างแบบปรับค่าได้ (ค่า K) เหล่านี้เป็นปัญหาข้อลักลั่นแตกต่างในทางปฏิบัติระหว่างโครงสร้างการบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แน่นอนว่าปัญหาเหล่านี้ย่อมพันไปถึง “การบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น” อันเป็นปัญหาที่สืบเนื่องตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

วิกฤติสัญญาณอันตราย

          ลองวกมาดูปรากฏการณ์ทางสังคมที่ปรากฏ ที่อาจถือเป็นต้นตอหรือ “วิกฤติสัญญาณอันตราย” โดยเฉพาะใน “กระแสที่สวนทางกับการกระจายอำนาจ” ที่อาจเกี่ยวถึงเรื่อง “การบริหารงานบุคคลท้องถิ่น” อันเป็นสัญญาณในการดึงอำนาจของ อปท. เข้ารวมศูนย์ฯ ซึ่งในบางกรณีเป็นการบริหารจัดการตาม “แผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี” ที่มีเป้าหมายการรวบอำนาจการบริหารจัดการในภาพรวมที่น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า แต่ในบางกรณีถือว่าเป็นกระแสที่สวนทาง หรือบั่นทอน “การกระจายอำนาจ” ชนิดตรงกันข้าม อาทิเช่น (1) การเสนอให้ยุบเลิกสมาชิกสภาเขต (สข.) ของ กทม. (2) การจัดทำระบบกำจัดขยะแบบกลุ่มจังหวัด หรือ การรวมกลุ่มพื้นที่กำจัดขยะมูลฝอย (Clusters Waste Base) โดยให้มีการรวมกลุ่มของท้องถิ่นในการบริหารจัดการขยะ (3) การจัดสรรหรือการวางตำแหน่งบุคคลสำคัญในระดับสูงของ อปท. เช่น ปลัดระดับสูง (4) การก่อสร้างอาคารสาธารณะที่ต้องมีวิศวกรโครงการก่อสร้างระดับสามัญ และระดับภาคี (5) ระบบรายได้ของ อปท. ไม่เพิ่ม และไม่สามารถจัดเก็บสร้างฐานรายได้ให้เพิ่มขึ้นได้ ทำให้เกิดภาวะรายได้ที่ไม่แน่นอน แม้แต่รายได้จากเงินอุดหนุนรัฐบาลก็ไม่แน่นอนเช่นกัน (6) การวางระบบแผนพัฒนาท้องถิ่นแบบเข้มงวดไม่ยืดหยุ่น จะด้วยเจตนาเพื่อประสิทธิภาพหรือป้องกันการทุจริตกันแน่ ในขณะที่งบประมาณภาครัฐจากส่วนกลางเช่น งบประชารัฐกลับมีมาตรการที่แตกต่างจากงบท้องถิ่นที่ไม่เข้มงวดควบคุมมากเช่นงบท้องถิ่นโดยตรง (7) การตรวจสอบเข้มงวดในเรื่องการใช้ดุลยพินิจของท้องถิ่นจากผู้กำกับดูแลและส่วนกลาง  (8) การบริหารบุคคล อปท.ที่ส่วนกลางเข้ามาจัดการใช้อำนาจ (แทรกแซง) (9) การดิสเครดิตบรรดาผู้นำข้าราชการส่วนท้องถิ่นโดยส่วนกลาง รวมทั้งการที่บรรดาข้าราชการส่วนท้องถิ่นด้วยกันเองมีความเห็นต่าง (10) การขอใช้พื้นที่โครงการพัฒนาของ อปท.ที่ยุ่งยากขั้นตอนซับซ้อนมากขึ้นด้วยมีระเบียบฯ และกลุ่มผลประโยชน์ที่มากขึ้น (11) การขาดศรัทธาความน่าเชื่อถือสิ้นหวังในบุคลากรองค์กรภาครัฐและองค์กรศาสนาที่ถือเป็นสถาบันรวมจิตใจ ทำให้ประชาชนหันไปพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์โชคลาภอื่นแทน (12) การจำกัดแหล่งพื้นที่ทำกินของเกษตรกรโดยอ้างเอาพื้นที่ป่าคืน  ในขณะที่ระเบียบกฎหมายอื่นกลับเอื้อนายทุนผู้อยู่เบื้องหลังการทำลายป่า ด้วยการปลูกพืช อาหารสัตว์ ฯลฯ เช่น การเกษตรแบบ “เกษตรพันธะสัญญา” (Contract Farming) เหล่านี้ เป็นต้น

 

รัฐธรรมนูญ 2560 ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น

ในบทบัญญัติว่าด้วยท้องถิ่นได้บัญญัติไว้เฉพาะแตกต่างกัน ไม่ว่าตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 หรือ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ลองนำมาเทียบกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 หมวด 14 ว่าด้วยการปกครองส่วนท้องถิ่น แยกเรื่องการบริหารบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในมาตรา 251 [2] เพียงมาตราเดียว ซึ่งกำหนดไว้มีสาระสำคัญหลัก 3 ประการดังนี้ (1) ใช้ระบบคุณธรรม (2) คำนึงถึงความเหมาะสมและความจำเป็นแต่ละท้องถิ่น และแต่ละรูปแบบ อปท. (3) การจัดมาตรฐานที่สอดคล้องกัน เพื่อพัฒนาร่วมกันสามารถสับเปลี่ยนระหว่าง อปท.ได้ ดังนั้น การจัดทำกฎหมายบริหารงานบุคคลของ อปท. ต้องสอดคล้อง และไม่ขัดแย้งใน บทบัญญัติรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ข้อดังกล่าว

 

เอกสารการศึกษาของสถาบันพระปกเกล้าตามรัฐธรรมนูญ 2550

ตัวอย่างที่เห็นว่าได้มีการศึกษาไว้นานแล้วคือ ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.... ของสถาบันพระปกเกล้า [3] ซึ่งร่างโดย ดร.สุรพงษ์ มาลี สำนักงาน ก.พ.ร. ร่างภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 288 [4] มีประเด็นการศึกษาว่า (1) มีหลักการจัดระเบียบข้าราชการส่วนท้องถิ่นไว้อย่างชัดเจน (2) มีการปรับปรุงบทบาทและอำนาจหน้าที่ (รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ใช้คำว่า หน้าที่และอำนาจ) ขององค์กรกลางบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นระดับต่าง ๆ ให้มีความชัดเจนและกระชับมากขึ้น (3) มีบทบัญญัติให้มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมท้องถิ่น (ก.พ.ค.) ซึ่งถือเป็นกลไกใหม่ สำหรับประกันความเป็นธรรมในการบริหารงานบุคคล (4) มีบทบัญญัติเกี่ยวกับ การปรับปรุงระบบการสรรหา บรรจุ แต่งตั้ง และ โอนย้าย ให้เป็นไปตามหลักการของระบบคุณธรรมมากขึ้น (5) ยังไม่มีมาตรการในการพัฒนาประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการจัดการกับข้าราชการที่มีผลการปฏิบัติงานไม่อยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ (ต่ำกว่ามาตรฐาน ค่างาน ระดับตำแหน่ง) (6) มีการกำหนดให้ข้าราชการส่วนท้องถิ่นต้องรักษาคุณธรรมและจริยธรรม อย่างเคร่งครัด แต่มาตรการบังคับใช้ยังไม่ชัดเจน (7) มีการกำหนดมาตรการคุ้มกันและจูงใจแก่ผู้ให้เบาะแสเกี่ยวกับการกระทำอันมิชอบ ซึ่งจะเป็นกลไกในการสร้างระบบการปกครองส่วนท้องถิ่นที่ใสสะอาด (8) ยังไม่มีบทบัญญัติให้มีการรับรองสิทธิและเสรีภาพในการรวมกลุ่มของข้าราชการส่วนท้องถิ่นให้ได้ตามมาตรา 64 วรรคสอง [5] ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550

 

สรุปรวบปัญหาบุคคลส่วนท้องถิ่น

          แต่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่พอรวบรวมสรุปปัญหา อาทิเช่น (1) ไม่มีองค์กรพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) (2) จำกัดสิทธิ การรวมกลุ่ม ไม่เป็นไปตาม รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 42 [6] ประกอบ มาตรา 35 วรรคสุดท้าย [7] (3) สัดส่วนกรรมการ ก.ในส่วนคนของท้องถิ่น ไม่สมดุล มีน้อยไป (4) สำนักงานข้าราชการส่วนท้องถิ่น ควรมีคนท้องถิ่นไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง (5) ควรมี อ.ก.ถ.ของ อปท.ด้วย (6) อำนาจการตัดสินใจ บริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น ควรอยู่ในรูป “คณะกรรมการ” ที่มีตัวแทนของข้าราชการส่วนท้องถิ่น ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ของ กรรมการฝ่ายอื่นทั้งหมด ควรมีกรรมการสี่ฝ่าย ๆ ละเท่า ๆ กัน โดยฝ่ายผู้บริหารท้องถิ่น กับข้าราชการท้องถิ่นเป็นคนละฝ่ายกัน (7) ควรรองรับระบบอาวุโส ในการรักษาขนบธรรมเนียมระบบข้าราชการที่ดี (8) ผู้ที่มีหน้าที่สรรหา ควรเป็นระบบคณะกรรมการ ที่มีตัวแทนข้าราชการส่วนท้องถิ่นไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ของกรรมการทั้งหมด (9) การเพิ่มพูนประสิทธิภาพและเสริมสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติราชการ ไม่ควรเป็นระบบสั่งการ  ควรเป็นไปด้วยความเห็นร่วม ในทางที่เหมาะสม โดยมีกฎเกณฑ์และการปรับปรุงกฎเกณฑ์ได้อย่างคล่องตัว เหมาะสม (10) ควรกำหนด เรื่องวินัยและการรักษาวินัย ตลอดจนการอุทธรณ์ร้องทุกข์ ให้เป็นคนละกลุ่มกัน (11) การกำกับดูแลท้องถิ่น ต้องมีความโปร่งใส ส่งเสริมความเป็นธรรม ให้ท้องถิ่นเข้มแข็ง เติบโต สร้างสังคมสันติสุข ไม่ล้วงลูกสั่งการ ไม่ฉกฉวยโอกาสหาประโยชน์ทั้งทางตรงหรือทับซ้อนจากท้องถิ่นในชั้นเชิงที่เอาเปรียบทั้งในภาระหน้าที่และความรับผิดชอบ (12) ส่วนราชการสำนักงานข้าราชการท้องถิ่น ต้องเป็น หน่วยงานนอกสังกัดกระทรวงมหาดไทย แต่เพียงอยู่ในกำกับดูแล (ไม่ใช่สั่งการแบบปัจจุบัน) และต้องมีข้าราชท้องถิ่นร่วมอยู่ด้วยไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ในการพิจารณาออกกฎเกณฑ์ต่าง ๆ

 

สาระสำคัญร่าง พรบ.บริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นฉบับ สถ.ล่าสุด

เนื่องจากร่าง กฎหมายท้องถิ่น ฉบับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ทั้ง กฎหมายบุคคล และกฎหมายให้ใช้ และประมวลกฎหมายท้องถิ่นนั้น รัฐบาลได้มอบให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) กลับมาพิจารณาใหม่ทั้งหมด ดังนั้นเมื่อวันที่ 16-17 สิงหาคม 2561 [8] สถ.จึงได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น กม.เกี่ยวกับท้องถิ่น หลายฉบับขึ้น แต่ในส่วนของร่าง พรบ.ระเบียบข้าราชการส่วนท้องถิ่น ที่ สถ.นำเสนอนั้น พอสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้ [9] (1) ข้าราชการ อบจ.  พนักงาน เทศบาล อบต.  พัทยา จะรวมเรียกว่า ข้าราชการส่วนท้องถิ่น (2) ก.ถ. จะเปลี่ยนเป็น  คณะกรรมการข้าราชการท้องถิ่น  และประกาศที่ออกจาก ก.ถ.  จะใช้ได้ทันที  ไม่ต้องไปรอ ก.กลาง ก.จังหวัด ประกาศก่อนอีก (3) ก.ถ. เดิม (คณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น) ก.กลาง ก.อบจ  ก.เทศบาล ก.อบต  จะไม่มีอีกต่อไป เปลี่ยนเป็น ก.ถ.  (คณะกรรมข้าราชการส่วนท้องถิ่น)  และ อ.ก.ถ.จังหวัด (คณะอนุกรรมการฯ) โดย อ.ก.ถ.จังหวัด จะพิจารณา  เรื่องของ อบต. เทศบาล  อบจ. ทั้งหมด (4) การพิจารณาเงินเดือน ปลัดฯ รองปลัดฯ  ผอ. เป็นอำนาจนายก อปท . ส่วนข้าราชการอื่นๆและพนักงานจ้างเป็นอำนาจปลัด ฯ (5) อัตรา พนักงานจ้างต้องไม่เกินร้อยละ 25 ของจำนวนข้าราชการ (6) เรื่องวินัยให้อุทธรณ์ต่อ ก.ถ. ถ้าไม่เห็นด้วยกับ ก.ถ. ให้ฟ้องศาลปกครอง (7) เรื่องร้องทุกข์ ร้องต่อผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไป หรือ ก.ถ. จังหวัด ตามแต่กรณี  คำวินิจฉัยเป็นที่สุด (8) ปลัดฯดำรงตำแหน่งแต่ละแห่งไม่เกิน 4 ปี (9) แก้ไขคุณสมบัติผู้ทรงคุณวุฒิใน ก.ถ. (10)  นายก อปท. มีอำนาจการบริหารงานบุคคล ยกเว้นเรื่อง การย้าย การเลื่อนระดับ เลื่อนขั้นเงินเดือน (11) การออกคำสั่งบรรจุ แต่งตั้ง ย้าย เลื่อนระดับ โอน รับโอน และให้ ข้าราชการพ้นตำแหน่ง ต้องได้รับความเห็นชอบจาก ก.ถ. หรือ อ.ก.ถ.

 

สาระสำคัญในร่าง พรบ.ที่ควรเพิ่ม

ซึ่งมีสาระสำคัญที่ตกไป และควรเพิ่มเติม ได้แก่ (1) องค์กร กถ. ควรจะเปลี่ยนจาก 3 ฝ่าย (ส่วนราชการ /ผู้ทรงคุณวุฒิ/ผู้แทน อปท.) ข้อเสนอใหม่ให้มี 4 ฝ่าย (ส่วนราชการ/ผู้ทรงคุณวุฒิ/ผู้แทนผู้บริหาร และผู้แทนข้าราชส่วนท้องถิ่น รวม 4 ฝ่ายรวม 28 คน) สาเหตุ องค์กร ก.ถ.คือองค์กรนำเสนอข้อมูลกรณีมีข้อขัดแย้งหรือต้องการพัฒนาบุคคลากรให้ความเป็นธรรม จึงมักมีข้อเสนอให้ความเห็นชอบมากกว่าการมาตัดสินด้วยการยกมือ ทั้งในส่วนกลาง และอนุกรรมการ ก.ถ.ระดับจังหวัด ส่วนกลาง ควรรับคนคนท้องถิ่นให้มากๆ (2) การได้มาซึ่งผู้ทรงคุณวุฒิไม่ควรเปลี่ยน หรือถ้าเปลี่ยนควรให้สมัครแล้วให้มีการเลือกพร้อมผู้แทน อปท.ใน ก ถ. (3) การจ่ายเงินเดือน ค่าจ้างฯลฯ ไม่เกินร้อยละ40 รวมเงินอุดหนุน ทุกประเภท หรือไม่ควรกำหนดเอาไว้เลยเหมือนราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค (4) วาระปลัด อปท. / ผอ.ไม่เกิน 4 ปี ไม่มีการยกเว้นและให้นับรวมกันไม่เกิน 4 ปี (5) ควรจัดให้มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.)

      ในขั้นตอนต่อไปตามสาระสำคัญดังกล่าวข้างต้นคาดว่า สถ. จะนำเสนอคณะกรรมการกฤษฎีตรวจสอบอีกครั้ง ประมาณเดือน ตุลาคม 2561 แล้วนำเสนอ ครม.เดือน พฤศจิกายน 2561 และหาก ครม.ให้ความเห็นชอบแล้ว เสนอ สนช.เดือน ธันวาคม 2561 และคาดว่าประมาณ เดือน มกราคม /กุมภาพันธ์ 2562 น่าจะแล้วเสร็จ ปัญหามีว่า หากระยะเวลาขั้นตอนไม่เป็นไปตามคาดการณ์ดังกล่าว ก็คงต้องรอรัฐบาลชุดใหม่พิจารณาแน่นอน

 

ในร่างกฎหมายท้องถิ่นทั้งหมด มี อบต.ที่คงเดิม คาดว่าเพียงร่างกฎหมายระเบียบข้าราชการส่วนท้องถิ่นเท่านั้นอาจพิจารณาได้สำเร็จ ส่วนร่างกฎหมายฉบับอื่นของท้องถิ่นน่าจะรัฐบาลชุดใหม่พิจารณา [10] ในรายละเอียดตอนหน้าลองมาแกะประเด็นต่อ เพื่อให้ทันภายในสิ้นเดือนสิงหาคม 2561 นี้

 

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine, Municipality Officer ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 65 ฉบับที่ 50 วันศุกร์ที่ 24-  วันพฤหัสบดีที่ 30  สิงหาคม 2561, เจาะประเด็นร้อน อปท.หน้า 66   

[2]มาตรา 251 “การบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งต้องใช้ระบบคุณธรรมและต้องคำนึงถึงความเหมาะสมและความจำเป็นของแต่ละท้องถิ่นและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละรูปแบบ การจัดให้มีมาตรฐานที่สอดคล้องกันเพื่อให้สามารถพัฒนาร่วมกัน หรือการสับเปลี่ยนบุคลากรระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกันได้”

ดูประกอบใน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 หมวด 14 ว่าด้วย การปกครองส่วนท้องถิ่น มาตรา 249-254, http://click.senate.go.th/wp-content/uploads/2017/06/รัฐธรรมนูญ-2560.pdf     

[3]บทวิเคราะห์ประกอบการพิจารณาร่าง พรบ. ระเบียบข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.... โดย ดร.สุรพงษ์ มาลี สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน จัดพิมพ์โดย สำนักส่งเสริมวิชาการรัฐสภา สถาบันพระปกเกล้า, 2554,  http://www.kpi.ac.th/media_kpiacth/pdf/M10_173.pdf

& ร่าง พรบ. ระเบียบข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.... , สถาบันพระปกเกล้า, 2554,  http://www.kpi.ac.th/ร่าง-พรบ-ระเบียบข้าราชการส่วนท้องถิ่น-พ-ศ-/

[4]มาตรา 288

“การแต่งตั้งและการให้ข้าราชการและลูกจ้างขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นพ้นจากตำแหน่ง ต้องเป็นไปตามความเหมาะสมและความจำเป็นของแต่ละท้องถิ่น โดยการบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีมาตรฐานสอดคล้องกัน และอาจได้รับ การพัฒนาร่วมกันหรือสับเปลี่ยนบุคลากรระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกันได้ รวมทั้งต้องได้ รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นองค์กรกลางบริหารงานบุคคล ส่วนท้องถิ่นก่อน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

ในการบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องมีองค์กรพิทักษ์ระบบ คุณธรรมของข้าราชการส่วนท้องถิ่น เพื่อสร้างระบบคุ้มครองคุณธรรมและจริยธรรมในการบริหารงาน บุคคล ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

คณะกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่นตามวรรคหนึ่งจะต้องประกอบด้วย ผู้แทนของ หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนข้าราชการส่วนท้องถิ่นและ ผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีจำนวนเท่ากัน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

การโยกย้าย การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนเงินเดือน และการลงโทษข้าราชการและลูกจ้าง ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ

[5]มาตรา 64 วรรคสอง (เสรีภาพในการรวมกัน)

“ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐย่อมมีเสรีภาพในการรวมกลุ่มเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป แต่ทั้งนี้ต้องไม่กระทบประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดินและความต่อเนื่องในการจัดทำบริการสาธารณะ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

[6]มาตรา 42 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหกรณ์ สหภาพ องค์กร ชุมชนหรือหมู่คณะอื่น

การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือเพื่อการป้องกันหรือขจัดการกีดกันหรือการผูกขาด

[7]มาตรา 35 วรรคท้าย "เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง แต่ให้คํานึงถึงวัตถุประสงค์และภารกิจของหน่วยงานที่ตนสังกัดอยู่ด้วย"

[8]โครงการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นในการจัดทำกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประจำปี พ.ศ. 2561 วันที่ 16 - 17 สิงหาคม 2561 ณ สวนนงนุช พัทยา อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี

[9]อ้างจากเฟซบุ๊ก ศักดิพงศ์  ธรรมอาชวกุล ประธานสมาพันธ์ปลัดเทศบาลแห่งประเทศไทย & ทรงศักดิ์ โอษะคลัง รองประธานสมาพันธ์ปลัด อบต.แห่งประเทศไทย, 19 สิงหาคม 2561

[10] ศักดิพงศ์  ธรรมอาชวกุล, อ้างแล้ว

หมายเลขบันทึก: 650451เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2018 10:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 สิงหาคม 2018 22:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท