รักที่หลุดพ้น (ตอนที่ 16 เมื่อเป็นครูประจำชั้นห้อง ม.3/3)


วรรณกรรมอิงธรรมะ เชื่อมโยงเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับประวัติการศึกษาไทยในชนบทแห่งหนึ่ง ของยุคหนึ่ง ในหลายๆมิติ

           

       
        ปีการศึกษาใหม่นี้ธรรศและนิพาดาได้รับมอบหมายให้เป็นครูประจำชั้น ม.3/3 ด้วยกัน ซึ่งโรงเรียนจะจัดให้แต่ละห้องมีครูประจำชั้นห้องละ 2 คน  ห้อง ม.3/3 เป็นห้องท้ายสุดที่รวมนักเรียนยอดเกเร และเรียนอ่อนสุดๆทั้งชายและหญิง 40 คน 40 แบบ ไว้ด้วยกัน  ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไมโรงเรียนจึงจัดห้องเรียนตามระดับความรู้ของนักเรียน  ทำให้เด็กห้องเก่งเหมือนเป็นคนอีกชนชั้นหนึ่ง  ส่วนเด็กห้องอ่อนจะรู้สึกว่าตนมีปมด้อย จึงมักแสดงปมเด่นที่ตนเองทำได้ทั้งด้านดีและไม่ดี  ส่วนใหญ่จะออกทางไม่ดี เช่น หนีเรียน หรือแสดงออกทางด้านกีฬา  ยังดีที่ไม่มีเรื่องยาเสพติดและเรื่องชู้สาวให้ต้องแก้ปัญหากัน ไม่เช่นนั้นก็คงต้องปวดหัวเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า
       ครูส่วนใหญ่มักมีอคติไม่อยากสอนหรือเป็นครูประจำชั้นห้องท้ายๆ  โรงเรียนจึงใช้วิธีเวียนการเป็นครูประจำชั้นแต่ละห้องกัน  พอดีครูโรงเรียนนี้ไม่ค่อยมีปากเสียงอะไร โรงเรียนจะให้สอนวิชาอะไร ประจำชั้นห้องไหนก็รับได้ทั้งนั้น
          วันแรกที่ธรรศกับนิพาดาก้าวเข้าไปในห้องม.3/3  ก็โดนนักเรียนในห้องลองของ  ต้องควบคุมสติ  ระงับอารมณ์โกรธ ทั้งสองคนพยายามให้กำลังใจตัวเองว่า  เรามีทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิสูงกว่าเขา ถ้าไม่สามารถบริหารจัดการชั้นเรียนให้สงบเรียบร้อยได้ก็ไม่ควรมาเป็นครู  หลายวันเข้าก็เริ่มชิน  สามารถมีลูกล่อลูกชนตอบโต้ควบคุมเกมที่แต่ละคนเข้ามาลองดีจนทุกคนยอมจำนน
  พอทั้งสองคนไปเยี่ยมบ้านนักเรียนได้รู้ข้อมูลประวัติชีวิตครอบครัวของนักเรียนแต่ละคน  แล้วนำมาเทียบเคียงกับพฤติกรรมที่พวกเขาแสดงออกมา  ที่มีทั้งก้าวร้าว  เกเร  หยาบกระด้าง  ขี้เกียจ  โกหก  ขี้ขโมย  ฯลฯทำให้ทั้งสองคนเริ่มเข้าใจพวกเขามากขึ้น  ทั้งสองคนเชื่อว่า     “พฤติกรรมของคนย่อมมีสาเหตุ  เมื่อรู้สาเหตุก็จึงพยายามแก้ไข ช่วยเหลือเขาตามอาการของโรคเป็นรายคน”              
         ธรรศเคยอ่านพบข้อมูลการสำรวจชีวิตความเป็นอยู่ของนักเรียนมัธยมที่เข้ามาเรียนในโรงเรียนต่างๆแล้วมาเล่าให้นิพาดาฟังว่า   มีสถิติเด็กที่ได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากับพ่อแม่มีไม่ถึงครึ่ง  นอกนั้นราวร้อยละ  70 พบว่าครอบครัวไม่ค่อยสมบูรณ์  บ้างก็ครอบครัวหย่าร้างกัน  หรือพ่อแม่ต้องไปทำงานต่างถิ่น ปล่อยเด็กให้อยู่กับญาติผู้ใหญ่ซึ่งก็มีฐานะไม่ค่อยดี หรือไม่ก็อยู่กันตามลำพัง เป็นต้น และเด็กโรงเรียนนี้ก็คงมีข้อมูลไม่ต่างจากนี้เท่าไหร่   เมื่อหัวใจเขาแตกร้าวตั้งแต่ยังเป็นเด็ก  จะเยียวยาอย่างไรก็คงทำให้สมบูรณ์ได้ยาก
          การดูแลช่วยเหลือนักเรียนแต่ละคน  ธรรศกับนิพาดาพยายามใช้ทั้งความรัก  ความเมตตา  ความจริงจัง  ความจริงใจ  และความเข้าใจกันเป็นตัวตั้ง  บนพื้นฐานของการใช้เหตุใช้ผล  พยายามเข้าให้ถึงโลกในใจของพวกเขาแต่ละคน            
          ถ้าเป็นเรื่องการเรียน เมื่อรู้ว่าเขาอ่อนวิชาใดก็ประสานกับเพื่อนครูที่สอนวิชานั้นให้ช่วยเหลือกวดขันเป็นพิเศษ  คอยติดตามอยู่ไม่ห่าง โดยเฉพาะวิชาเลขที่เด็กแทบทั้งห้องอ่อนกันมาก นิพาดาก็ทุ่มเทสอนพิเศษให้ในช่วงเช้า  กลางวัน  เย็น  ตามเงื่อนไขที่สะดวก ธรรศก็จะสอนวิชาที่ตนเองสอนอยู่ ส่วนวิชาอื่นๆก็จะขอความช่วยเหลือจากเพื่อนครูและพี่ๆคนอื่น ก็ได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างดี
           ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัว ครอบครัว  เรื่องเศรษฐกิจ  ก็ช่วยเหลือเขาตามความเหมาะสม  บนพื้นฐานของการส่งเสริมให้เขามีทักษะในการดำรงชีวิตที่ดี  มีพลังใจ  มุ่งมั่น  เข้มแข็ง  สู้ชีวิตอย่างมีความหวัง  ทั้งเรื่องการเสนอข้อมูลเพื่อติดต่อขอทุนการศึกษาให้กับเด็กที่ยากจน  หรือจัดทำคูปองอาหารกลางวันจากเงินส่วนตัวให้รับประทานตามที่ทั้งสองคนทำกันอยู่แล้ว เป็นต้น                
          สิ่งที่ธรรศและนิพาดาไม่ลืมที่จะพร่ำสอนนักเรียนก็คือ  ความกตัญญูต่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง  ต้องช่วยเหลือกิจการของท่าน ดูแลเอาใจใส่บุพการี  และแบ่งเวลาระหว่างการเรียนกับเรื่องครอบครัวส่วนตัวอย่างเหมาะสม
        มีนักเรียนในห้องจำนวนไม่น้อยที่ครอบครัวแตกแยก  ไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ทั้งเงินทองและความรัก  บางคนก็ถูกเลี้ยงดูให้เป็นคุณหนู  เอาแต่ใจตนเอง  พ่อแม่บางคนก็เอาแต่ทำมาหากินไม่สนใจรับรู้ว่าลูกมีปัญหาอะไร...ช่างไม่มีอะไรลงตัวเลย
           แต่ละวันนักเรียนในห้องมักสร้างปัญหาให้ทั้งสองคนต้องแก้ไม่ซ้ำเรื่องกัน  บางเรื่องรุนแรงถึงขั้นตำรวจต้องเข้ามาสืบสวนสอบสวน  แม้ความผิดจะชัดแจ้ง  แต่เมื่อเป็นลูกศิษย์ก็อดไม่ได้ที่จะเข้าไปปกป้อง  วิงวอนขอโอกาสจากฝ่ายบริหาร  ตำรวจ  คู่กรณี และสัญญาว่าจะดูแลไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก  เขาเห็นความรักความจริงใจของครูที่มีต่อศิษย์   ทุกฝ่ายก็ใจอ่อน ยอมความกัน หรือไม่ก็ภาคทัณฑ์ทำให้ไม่เสียอนาคต  แล้วทั้งสองคนก็มาอบรมลูกของตนต่อ เพื่อให้เขาเป็นคนดีให้ได้
         ครั้งหนึ่งธรรศเคยเรียกเด็กคนหนึ่งที่ครอบครัวแตกแยกแล้วคอยสร้างปัญหาให้ครูต้องแก้ไขเป็นประจำมาคุยส่วนตัว แล้วตั้งคำถามถามเขาว่า
       “ถามจริงๆเถอะ ทุกวันที่อยู่บ้านเบื่อบ้านไหม เบื่อที่พ่อแม่แยกทางกันไหม”  เด็กก้มหน้านิ่ง พอธรรศถามซ้ำประโยคเดิมด้วยสำเนียงที่อ่อนโยน  เขาก็ตอบเบาๆ       
       “เบื่อครับ”
ตอบเสร็จน้ำตาก็ร่วงตามมา  ธรรศถามเขาต่อด้วยน้ำเสียงอ่อนโยนเช่นเดิม
      “เธออยากมีงานทำ มีบ้านเป็นของตนเอง อยู่อย่างอิสระ ไม่ต้องพึ่งใคร ไม่ต้องขอเงินใครไหม”  เขาตอบด้วยเสียงดังขึ้นกว่าเดิม
     “อยากครับ”  ธรรศเลยถามเขาต่อเนื่องว่า
     “ถ้าเธอยังเกเร ประชดชีวิต แล้วไม่ตั้งใจเรียน จะมีบ้านเป็นของตนเองและมีชีวิตที่อิสระ ไม่เดือดร้อนได้ไหม” เขาก้มหน้าอีกครั้งและตอบเบาๆ
     “ไม่ได้ครับ”  ธรรศถามต่ออีก     
     “แล้วเราคิดว่า ต่อไปนี้เราจะทำยังไงกับชีวิตเราดี”  เขาตอบปนเสียงสะอื้น    
     “ผมจะไม่เกเร  จะตั้งใจเรียน คุณครูช่วยผมด้วยนะครับ”  ธรรศดึงเขาไปกอด พร้อมกับบอกเขาว่า
     “ดีแล้วลูก เราอย่าไปผูกชีวิตของเราให้ตกต่ำไปกับชะตาชีวิตที่เราไม่ได้สร้างขึ้น ชีวิตเป็นของเราเอง เราสามารถเปลี่ยนแปลงมันให้ดีขึ้นได้เอง ครูดีใจที่เธอคิดได้อย่างนี้  และครูทั้งสองคนสัญญาว่าจะคอยเป็นกำลังใจช่วยเหลือให้เธอมีกำลังใจ เข้มแข็งเดินไปสู่ฝันของเธอให้ได้”  เขาโอบกอดธรรศแน่นพร้อมกับพูดเสียงเครือ        
      “ขอบคุณคุณครูครับ....  ขอบคุณคุณครูครับ”
     
      ก็ถือเป็นรสชาติของชีวิตครู  เมื่อสามารถช่วยเขาให้รอดพ้นจากปัญหาได้ครูก็มีความสุข  และอยากเข้าไปใกล้ชิดผูกพันกับเขามากขึ้น  เขาเองก็คงรู้สึกรับรู้ถึงความรัก  ความปรารถนาดีที่ครูมีต่อเขาเช่นกัน  ซึ่งสามารถสัมผัสได้จากท่าทีที่เขาอ่อนโยนลง  รู้จักเข้ามาดูแลเอาใจใส่ครู  มีความในใจก็ไว้ใจมาเล่าให้ครูฟัง
            ดูแลพวกเขาแต่ละคนเหมือนลูกๆยังไม่พอ  ทั้งสองคนยังต้องดูแลช่วยเหลือพ่อแม่ผู้ปกครองของพวกเขาด้วย  ดึกดื่นเที่ยงคืนมีปัญหาทะเลาะกับลูก  ลูกไม่กลับบ้านก็โทรหรือลายน์มาให้ครูช่วยไกล่เกลี่ยช่วยตามให้  ทำให้ทั้งสองคนรู้สึกว่าทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวตน ที่ต้องดูแลผูกพันกัน              
          หลังจากเปิดเทอมใหม่มาได้สักหนึ่งเดือน ธรรศกับนิพาดาพบว่าไม่มีวันใดเลยที่นักเรียนห้องนี้มาโรงเรียนครบทุกคน  ก็มานั่งวิเคราะห์กันว่า การขาดเรียนเป็นสาเหตุหนึ่งที่จะทำให้เรียนไม่รู้เรื่อง  ส่งงานไม่ครบ และอาจขาดการทดสอบเก็บคะแนนบางวิชาในบางครั้งด้วย  ธรรศจึงปรึกษากับนิพาดาคิดหาวิธีแก้ปัญหากันได้วิธีหนึ่ง แต่ยังไม่ทราบว่าจะได้ผลหรือไม่ คงต้องลองดู  รุ่งขึ้นตอนช่วงโฮมรูมทั้งสองคนบอกนักเรียนในห้อง ไปว่า       
        “ถ้าใครไม่ขาดเรียนเลยตลอดภาคเรียนนี้ ครูจะมีรางวัลให้”
           ทันใดนั้นก็มีเสียงอื้ออึงขึ้นในห้อง  พร้อมคำถามรัวตามมา
        “จริงหรือ”  “จริงรึเปล่า”  “จริงนะ”   “ครูพูดเล่นมั๊ง”
        ธรรศกับนิพาดาจึงยืนยันไปว่า 
        “จริงๆ”   ทุกคนเงียบ  ธรรศกับนิพาดาสังเกตได้ว่าหลายคนมีนัยน์ตาวาว  แล้วก็มีเสียงหนึ่งต่อรองมาว่า       
       “ถ้าป่วยล่ะครู  ป่วยจริงๆนะ”  ธรรศจึงบอกไปว่า        
       “ต้องพิจารณาเป็นกรณีๆไป”  เด็กคนหนึ่งต่อรองอีก
       “แล้ววันที่ขาดไปแล้วล่ะครู”   นิพาดาก็ตอบไปว่า
       “ที่แล้วก็แล้วไป เริ่มนับใหม่ตั้งแต่วันพรุ่งนี้”  ก็มีเสียงเฮพร้อมปรบมือกันลั่น          
       ไม่น่าเชื่อ งานวิจัยชิ้นเล็กๆที่ธรรศกับนิพาดาร่วมกันคิดขึ้น เริ่มต้นขึ้นแล้ว  ปัญหาต่อไปเป็นปัญหาของธรรศกับนิพาดาเอง  ก็เตรียมหาของรางวัลน่ะสิ
        วันหนึ่งธรรศกับนิพาดาผ่านไปตลาดในอำเภอเห็นปากกาลูกลื่นสวยๆหลากสีที่ราคาไม่แพงนัก จึงซื้อมา 4 โหล ตั้งใจจะมาให้รางวัลเด็กตอนปิดภาคเรียนที่ 1 และแลกธนบัตรใบย่อยที่ธนาคารไว้จำนวนหนึ่ง
     รุ่งขึ้นทั้งสองคนเกิดใจร้อนอยากให้รางวัลเด็กก่อนกำหนด เลยบอกนักเรียนว่า
     “ครูมีข่าวดีจะบอก จำได้ไหม เมื่อตอนเปิดเทอมครูบอกพวกเราว่าจะให้รางวัลนักเรียนที่ไม่ขาดเรียนเมื่อสิ้นเทอม แต่ตอนนี้ครูใจร้อน เปลี่ยนใจแล้วอยากให้ก่อนกำหนด  ไหนใครยังไม่เคยขาดเรียนเลยตั้งแต่เปิดเทอมมา ยกมือขึ้น” เด็กๆก็ยกมือกันร่วม 30 กว่าคน และถามครูพร้อมกัน
       “รางวัลอะไรคะ/ครับ” เด็กๆท่าทางอยากรู้อยากเห็น
       “บอกเสียก่อนนะ ว่าครูไม่ได้ร่ำรวยอะไร ไม่มีปัญญาให้ของแพงๆเธอหรอก แต่ครูก็ตั้งใจอยากให้นะ” ว่าแล้วนิพาดาก็ชูปากกาหลากสีขึ้นและบอกให้นักเรียนเรียงแถวมารับ
        สิ่งที่ทั้งสองคนไม่คาดฝันคือ ปากกาเพียงด้ามละไม่กี่สตางค์ ดูช่างมีค่าต่อความรู้สึกของนักเรียนแต่ละคนเหลือเกิน ทั้งๆที่หลายๆคนมีปากกาสวยกว่าที่ครูจะให้ตั้งหลายด้าม  แต่ละคนจ้องปากกา ตาแป๋ว ปากก็ส่งเสียงจองปากกาสีนั้นสีนี้กันอื้ออึง
      “หนูอยากได้สีนี้ค่ะ ...ผมอยากได้สีนี้ครับ... เร็วๆซิเธอ เดี๋ยวถึงคิวเราก็ไม่ได้สีนั้นหรอก”        
       พอทุกคนรับเสร็จ เด็กๆ อีก 7-8 คน ก็บ่นปอดแปด
      “ขาดแค่วันเดียว ป่วยจริงๆด้วย ก็ไม่ได้เหรอ?”     
      “กติกาก็ต้องเป็นกติกาสิ”
ธรรศทำเสียงเข้มแต่หน้ายิ้ม     
      “คุณครูครับ...คุณครูขา…ให้หัวหน้าห้อง กับรองฯ เถอะนะ เขาทำงานหนัก และขาดแค่วันเดียวเท่านั้น” เพื่อนๆในห้องช่วยต่อรอง 
     “ก็ได้”   
       เด็กที่เหลืออีกไม่กี่คนก็ตั้งท่าจะต่อรองอีก นิพาดาจึงยกมือห้ามไว้ก่อน
     “ยังมีเวลาทำความดีอีกเยอะ เริ่มตั้งแต่พรุ่งนี้เลยนะ”  ทุกคนจึงสงบลงและกลับเข้าที่เข้าทาง  แล้วนิพาดาก็พูดกับพวกเขาต่ออีกว่า
      “ครูยังมีรางวัลที่จะให้พวกเธอต่อตามสัญญาที่ให้ไว้อีกเรื่องจำได้ไหม” เด็กๆตอบพร้อมกัน
      “ส่งการบ้าน งานครบ ทำด้วยตนเอง ไม่ลอกใคร ในหนึ่งเดือน”      
      “ใช่แล้ว ตอนนี้ครูมีรายชื่อพวกเราที่เข้าเกณฑ์นี้แล้ว 26 คน” เด็กๆทำตาตื่น ลุ้นว่าตัวเองจะมีรายชื่อหรือไม่  แล้วนิพาดาก็   เปิดกระเป๋าสตางค์ ธรรศเริ่มประกาศรายชื่อนักเรียนที่จะได้รับรางวัล นิพาดาคลี่แบ๊งค์ใบละ 20 บาทใหม่เอี่ยมออกมาทีละใบ ส่งให้แต่ละคน พร้อมให้นักเรียนในห้องปรบมือแสดงความยินดีกับเพื่อน 
  “รางวัลนี้ยังมีต่อเนื่องทุกเดือนนะ ยังมีเวลาได้รับรางวัลนี้กันทุกคน”
       เหตุผลที่ธรรศกับนิพาดาตั้งรางวัลนี้ขึ้นมาเพราะเข้าใจดีว่า ในชีวิตของพวกเขาแทบจะไม่ได้รับคำชมจากใคร ยิ่งถ้าเป็นรางวัลจากการประกวดแข่งขันทางวิชาการคงไม่มีโอกาสได้รับกับเขาแน่  ทั้งสองคนเลยคิดว่าทำอย่างไรให้เขารู้สึกว่าเขามีคุณค่า ด้วยการให้รางวัลเล็กๆที่เขาสามารถทำได้ และเป็นการปลูกฝังนิสัยที่ดีให้แก่เขาด้วย โดยเกณฑ์ที่กำหนดไว้ก็ไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซ็นก็ได้ เช่น ขอให้เขาทำการบ้านหรือส่งงาน ตามความเข้าใจของตนเอง ไม่ต้องลอกใคร โดยมีร่องรอยการตรวจ การลงชื่อของครูกำกับ แม้จะทำผิด หรือเว้นข้อยากมากๆไปบ้างเล็กน้อยก็อนุโลมให้ เพื่อครูจะได้รู้จักเขาแต่ละคนว่าเก่งอ่อนตรงไหนจะได้หาทางช่วยเหลือเขาต่อไป     
            มีเรื่องหนึ่งที่ทั้งสองคนภาคภูมิใจอย่างมาก คือการได้ให้กำลังใจ นักเรียนหญิงในห้อง 3/3 คนหนึ่งชื่อสมใจ  ให้เธอหารายได้ช่วยเหลือครอบครัวโดยทำแกงใส่ถุงมาขายให้กับครูที่โรงเรียน  โดยนิพาดาจะเป็น
พรีเซ็นเตอร์เอง  ซึ่งสมใจสามารถขายแกงหมดทุกวัน  ถ้าวันใดขายไม่หมดทั้งสองคนก็จะเป็นคนเหมาเสียเองแล้วเอาไปแจกให้นักเรียนในห้องที่ฐานะทางบ้านยากจน  รวมทั้งนิพาดาจะเป็นนักชิมอาหารและเสนอแนะการปรุงอาหารให้สมใจด้วย  จนต่อมาปรากฏว่า สมใจสามารถขยายกิจการเปิดแผงเล็กๆขายข้าวแกงกับแม่ในวันหยุดและหลังเลิกเรียน โดยไม่ทำให้การเรียนตกต่ำ
         เมื่อสิ้นปีการศึกษาสมใจได้เขียนจดหมายส่งให้นิพาดากับธรรศ โดยมีข้อความตอนหนึ่งที่ทำให้ทั้งสองอดตื้นตันใจจนน้ำตาซึม
      “...หนูอยากพูดว่า “รักคุณครูทั้งสอง” ค่ะ... ครูน่ารักมาก เข้ากับพวกหนูที่เป็นวัยรุ่น ค่อนข้างขี้เกียจ เกเรทั้งผู้ชายและผู้หญิงได้อย่างดี    ครูเอาใจใส่พวกหนูทุกอย่าง  คอยดูแลทุกเรื่อง  เป็นครูประจำชั้นที่เยี่ยมมาก  ให้ใจกับพวกหนูมากกว่าอารมณ์  ครูใจดีมากด้วย  และยังช่วยพวกหนูหลายๆเรื่อง  ความรู้สึกที่หนูมีต่อครูบรรยายยังไงก็ไม่หมด  แม้กระทั่งฟ้าก็ไม่พอ  อาหารที่หนูทำให้คุณครูทานบ่อยๆ ถ้าอยากทานอีกก็บอกได้นะคะ หนูจะทำมาให้ทานบ่อยๆ...ถึงหนูจบไปแล้วก็ยังจะเจอคุณครู  ขอให้คุณครูทั้งสองแข็งแรงตลอดไปนะคะ  หนูจะเก็บสิ่งดีดีที่ครูให้มาไว้ตลอดไป...”
       หนึ่งปีผ่านไป  ภายใต้บรรยากาศที่มีทั้งทุกข์  สุข  โกรธกัน  ดุกัน  ร้องไห้สารภาพผิดกัน  ปลอบโยนกัน  ชื่นชมกันเมื่อทำอะไรให้เราชื่นใจ ฯลฯ นิพาดากับธรรศรู้สึกดีใจ...ปลื้มใจ...ที่เห็นพวกเขาชั้น ม.3/3 แต่ละคนอยู่รอดปลอดภัย  ประสบผลสำเร็จในการเรียนตามศักยภาพสูงสุดของแต่ละคน  ทุกคนต่างมีความหวังในชีวิต  และเป็นผู้ใหญ่กันมากขึ้น
        สมบัติ...สอบได้เข้าเรียนต่อชั้นมัธยมปลายโรงเรียนประจำจังหวัด                  
        เกษม จำรัส จงกลและสมใจ..เรียนต่อโรงเรียนอาชีวศึกษาในจังหวัด
        โกมล และสุนีย์...เรียนต่อมหาวิทยาลัยราชภัฎ
        โกศล...เป็นนักเรียนนายสิบ  สมภพ...เป็นนักเรียนจ่าทหารอากาศ
          ลูกๆที่เหลือทุกคน... ได้เรียนต่อที่โรงเรียนเดิม  สรุปคือลูกๆได้เรียนต่อกันทุกคน        
        ในวันอำลาอาลัย เมื่อสิ้นสุดปีการศึกษา ทั้งสองคนรู้สึกใจหาย น้ำตาไหล  เต็มตื้น เมื่อลูกๆแต่ละคนเข้ามากราบ มาอำลา...มาขอบคุณ   กลุ่มลูกๆที่ได้เรียนต่อโรงเรียนเดิมกล่าวละล่ำละลัก ปนเสียงสะอื้น...
   
  “คุณครูทั้งสองไปเป็นครูประจำชั้นม.4 ห้องพวกเราด้วยนะครับ/ค่ะ..                                   

         ------------------------------     

                                       
                                 

        

หมายเลขบันทึก: 650089เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2018 16:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2020 20:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท