(166) Journal Club 61 : Yoga Plus Talk Therapy for Depression: A Case Study of a Six Week Group, Depressive & Special Case Department Prasrimahabhodhi Psychiatric Hospital


Trend ของ Yoga : การแพทย์ทางเลือกในการบำบัดผู้ป่วยจิตเวช

บันทึกนี้เป็นรายงานตอนที่ 2 ของ Journal Club เรื่อง “Yoga Plus Talk Therapy for Depression: A Case Study of a Six Week Group, Depressive & Special Case Department Prasrimahabhodhi Psychiatric Hospital”

นำเสนอโดย นางศิรินุช สมตัว (พว.ชำนาญการ กลุ่มงานการพยาบาลจิตเวชซึมเศร้าและพิเศษ) และทีมงาน ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 ณ ห้องประชุมร่มโพธิ์ โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์

ดิฉันขอรายงานบรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของพี่น้องพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ในรูปแบบการถอดบทเรียนค่ะ ส่วนเนื้อหาที่นำเสนอทั้งหมดจะรวบรวมในคลังความรู้ของกลุ่มภารกิจบริการทางการพยาบาลต่อไป

บรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน

  • เปิดประชุม โดยคุณไพรัตน์ ชมพูบุตร (พว.ชำนาญการพิเศษ รักษาการหัวหน้ากลุ่มภารกิจบริการทางการพยาบาล) กล่าวถึงการประชุม Journal Club ของวิชาชีพพยาบาลว่าเป็นการทบทวนงานวิชาการด้านการพยาบาลใหม่ๆ ที่ประสบผลสำเร็จมานำเสนอ เพื่อหาแนวทางประยุกต์ใช้กับผู้ป่วยของโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ร่วมกัน โดยคาดหวังให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้มากๆ เชื่อมโยงไปสู่มาตรฐานการดูแลผู้ป่วย ให้ได้รับดูแลรักษา และกลับสู่ชุมชนอย่างมีความสุข

เหตุจูงใจเลือก ‘Yoga’

  • คุณจิตรา จินารัตน์ (พว.ชำนาญการ กลุ่มงานการพยาบาลจิตเวชซึมเศร้าและพิเศษ) กล่าวถึงการคัดเลือกเนื้อหาวิชาการนำเสนอครั้งนี้ว่าต้องการส่งเสริมให้น้องๆ พยาบาลในหอฯ นำศักยภาพของตนเองมาใช้การดูแลผู้ป่วย โดยภาพรวมเรายังใช้การรักษาด้วยยาเป็นหลักเพราะผู้ป่วย depress ที่รับไว้รักษามีโรคทางจิตเวชอื่นๆ และหรือโรคแทรกซ้อนทางกายร่วมด้วย
  • หากจะศึกษาวิจัยในรูปแบบแบบ RCT ที่มีทั้งกลุ่มทดลอง (experiment gr.) และกลุ่มควบคุม (control gr.) จำนวนผู้ป่วย depress ที่ไม่มีโรคอื่นร่วมด้วยมีจำนวนน้อยเกินกว่าจะทำการศึกษาได้ อีกทั้งยังมีข้อจำกัดเรื่องสถานที่ในการจัดกลุ่มบำบัด กล่าวคือ ผู้ป่วยมองเห็นกัน และอยากเข้ากลุ่มบำบัดอื่นที่ไม่เหมาะสมกับอาการของตนจึงไม่ได้จัดให้
  • ข้อจำกัดดังกล่าว คุณดารนี ชัยอิทธิพร (พว.ชำนาญการ สำนักบริหารการพยาบาล) เสนอทางออกว่า กรณีมีผู้ป่วยน้อยสามารถศึกษาแบบ Case Study รายบุคคลได้ เพียงแต่ต้องบันทึกไว้ให้ครบถ้วน ทำได้จำนวน 4-5 ราย แล้วนำมาจัดหมวดหมู่ วิเคราะห์หาจุดต่างจุดร่วม จะเห็นแนวทางดูแลแก้ไข ซึ่งความรู้ใหม่ๆ ก็เริ่มจากการศึกษารายบุคคลแบบนี้
  • การทบทวนการศึกษาวิจัยของต่างประเทศ มีความแตกต่างกันด้านบริบท บริบทของเขากับเราต่างกันมากทั้งภาษา วัฒนธรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ เรายกของเขามาใช้ทั้งหมดไม่ได้อยู่แล้ว ต้องเอามาปรับใหม่ การออกแบบที่เหมาะสมกับบุคคลหนึ่งย่อมไม่เหมาะกับคนอื่น เป็นเฉพาะบุคคล เป็นความรู้ใหม่ที่ได้จากการศึกษาแบบ Case Study และเสนอตัวว่าสามารถให้คำปรึกษาได้ จะให้พาทำก็ได้ ใครสนใจเรื่องใดลองเก็บข้อมูลเบื้องต้นแล้วเรียกหาได้

กรณีศึกษาน่าสนใจ / เห็นอะไรบางอย่าง

  • คุณชมัยพร พรรณาภพ และคุณอัมพร สีลากุล (พว.ชำนาญการพิเศษ รองหัวหน้ากลุ่มภารกิจฯ) แสดงความเห็นว่าเรื่องที่นำเสนอนี้น่าสนใจ แม้จำนวนผู้ป่วยน้อย แต่เลือกใช้สถิติน่าเชื่อถือ ถ้าโรงพยาบาลพระศรีฯ มีจำนวนผู้ป่วยมากพอก็สามารถศึกษาในรูปแบบ Quasi หรือ RCT ได้ ส่วนคุณสุดารัตน์ พุฒพิมพ์ (พว.ชำนาญการ กลุ่มงานผู้ป่วยนอก) ให้ความเห็นว่าตนเองไม่มีความรู้เรื่องโยคะ ส่วนด้านการวิจัย กรณีมีตัวอย่างเพียง 4 ราย น้อยเกินไป ไม่ค่อยน่าเชื่อ แต่ก็เห็นอะไรบางอย่างที่น่าจะนำมาใช้กับผู้ป่วยได้

รู้สึกประทับใจทีมผู้นำเสนอ

  • คุณอัมพร สีลากุล กล่าวว่ารู้สึกประทับใจทีมผู้นำเสนอ เนื่องจากมีโอกาสเห็นเบื้องหลังการเตรียมงาน .. เมื่อเห็น slide ชุดแรกที่เตรียมมา เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ได้ขอให้แปลเป็นภาษาไทย คุณศิรินุชใช้เวลาจัดเตรียมใหม่จนถึง 12.30 น. จึงพักรับประทานอาหารได้ .. ได้ขอให้ที่ประชุมปรบมือแสดงความขอบคุณในความตั้งใจของทีมงาน และขอให้ใช้โอกาสนี้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันแบบสบายๆ ไม่ให้เครียด

‘Trend’ ของ ‘Yoga’ (มีแนวโน้มนำ Yoga มาประยุกต์ใช้ในการบำบัดรักษามากขึ้น)

Yoga–การแพทย์ทางเลือก

  • คุณอัมพร สีลากุล เกริ่นนำเข้าเรื่องการประชุมครั้งนี้ว่า การบำบัดผู้ป่วยจิตเวชมีวิธีการหลากหลาย ทั้งการใช้ยา, ECT, TMS และการทำจิตสังคมบำบัด ในการทำจิตสังคมบำบัดก็มีหลายอย่าง เช่น CBT, PST, IPT, Csg เป็นต้น
  • ในต่างประเทศเคยมีรายงานศึกษาเปรียบเทียบการรักษา depess ด้วยวิธีมาตรฐานกับการทำหัตถโยคะ ทำแบบมี control group เมื่อประเมินผลพบว่า ระยะเวลาผ่านไป 10 สัปดาห์แรก ไม่เห็นผลที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ แต่การประเมินเดือนที่ 3 และ 6 พบว่ากลุ่มที่ทำหัตถโยคะมีอาการทุเลากว่า เป็นการศึกษาที่บ่งบอกว่าโยคะไม่ใช่แค่บิดขี้เกียจ แต่เป็นการฝึกหายใจ ฝึกสมาธิ ฝึกการชำระกาย วาจา ใจ จริงๆ
  • การใช้โยคะเป็นการแพทย์ทางเลือก ส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้โยคะ(ท่าทาง)เพียงอย่างเดียว แม้แต่งานที่นำมาเสนอนี้ก็เป็นตัวอย่างการใช้โยคะร่วมกับ Talk Therapy นอกจากนี้ยังมีการใช้โยคะรักษาอาการทางกาย โยคะกับเด็กพิเศษ เป็นต้น การศึกษาที่นำมาเสนอมีเพียง 4 ราย แต่ใช้วิธีการศึกษาและการประเมินที่น่าเชื่อถือ

Supra tertiary ทำได้ดีแล้วต้องต่อยอด

  • คุณอัมพร สีลากุล เล่าให้ที่ประชุมฟังถึงทิศทางการพัฒนาสู่การเป็น Supra tertiary ของหน่วยงานในปัจจุบันว่า คุณเทพนิมิตร์ สนุกพันธ์ (พว.ชำนาญการพิเศษ รองหัวหน้ากลุ่มภารกิจฯ) กำลังเตรียมการต่อยอดสู่ Excellent ด้าน depess ด้วยการฝึกหัตถเวชขึ้นมารองรับการนวดบำบัดอาการ depress ในผู้ป่วยระดับ mild, moderate โดยปัจจุบันมีผู้รับบริการคนไทยในต่างประเทศที่รับทราบข่าวสารจากกรมสุขภาพจิต พากันมาขอใช้บริการแล้ว ซึ่งเราได้ให้ข้อมูลและทำความเข้าใจไปแล้วว่ายังไม่เปิดบริการในผู้ป่วย depress ในระดับ severe ที่ยังต้องรักษาด้วยยา
  • สำหรับโยคะ คาดหวังว่าน่าจะนำมาประยุกต์พัฒนาเป็นโปรแกรมบำบัดในเด็กพิเศษได้

เสนอพัฒนานวัตกรรม โยคะบำบัดผู้ป่วย depress ระดับ mild, moderate ในชุมชน

  • คุณลัดดาวัลย์ คุณวุฒิ (พว.ชำนาญการ กลุ่มงานการพยาบาลจิตเวชชุมชน) แลกเปลี่ยนประสบการณ์ว่าเคยฝึกโยคะกับ ‘ครูติ๊ก’ (คุณศิรินุช) เห็นประโยชน์เมื่อได้รับกับตนเอง เมื่อมาร่วมประชุมจึงเห็นว่ามีประโยชน์กับการรักษาผู้ป่วยจิตเวชเช่นกัน ตนนึกถึงผู้ป่วย depress ในชุมชน มีระดับ mild, moderate อยู่ในชุมชนมากมาย เราในฐานะแม่ข่ายด้านจิตเวช เห็นควรพัฒนานวัตกรรม เป็นหลักสูตรโยคะบำบัดสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ แล้วส่งให้เครือข่ายใช้เป็นเครื่องมือดูแลผู้ป่วยในชุมชน หากทำวิจัยรูปแบบ RCT ได้ก็ยิ่งดี

ต้นทุนบุคลากรพยาบาลมีศักยภาพ

  • คุณไพรัตน์ ชมพูบุตร มีความคิดเห็นตรงกันว่าควรพัฒนาต่อยอดโปรแกรมการบำบัดด้วยโยคะ ถอดองค์ความรู้ แล้วทำเป็น Best Practice ออกมาใช้ร่วมกัน ส่งไปให้ชุมชนใช้ดูแลผู้ป่วยด้วย (บทบาท Supra tertiary) และจากการประชุมครั้งนี้ทำให้ทราบว่าคนของเรามีศักยภาพหลายคน เราสามารถพัฒนาโปรแกรมบำบัดที่เป็นบทบาทโดยอิสระของวิชาชีพพยาบาลได้

ดิฉันขอจบบันทึก (166) เพียงเท่านี้ ตอนต่อไปเป็น บันทึก (167) Journal Club 61 : ชุมชนคน Yoga เชิญติดตามนะคะ

ขอบคุณค่ะ 

ดารนี ชัยอิทธิพร

หมายเลขบันทึก: 649566เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2018 15:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 เมษายน 2020 16:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท