วิชาความสุข (จับประเด็นจากหนังสือ "วิชาความสุขที่มีสอนแค่ในฮาร์วาร์ด Happier")


ดร.วิทยา มะเสนา ๑ ในกรรมการสภามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ฝากหนังสือมากับผู้ใหญ่ เสนอแนะอย่างเป็นทางการให้พัฒนาวิชาที่ว่าด้วยความสุขแบบที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด พร้อมกับส่งหนังสือชื่อ "วิชาความสุข ที่มีสอนแค่ในฮาร์วาร์ด Happier" มาให้อ่านด้วย...เป็นหน้าที่ของสำนักศึกษาทั่วไป ที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ จึงมีการอภิปรายกันเรื่องนี้ จนมีมติว่า วิชาที่ว่าด้วยวัตถุประสงค์เดียวกับหนังสือเล่มนั้น เรากำลังทำกันอยู่แล้วและทำกันต่อเนื่องมาหลายปีในชื่อ "ความเป็นมนุษย์และการเรียนรู้" วิชาที่ว่าด้วยการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) และการเข้าถึงความสุขโดยการเรียนรู้และพัฒนาจิตใจให้เข้าถึง "ความดี" "ความงาม" และ "ความจริง"

ผมอ่านหนังสือเล่มนี้แบบ "สกิม" นานแล้ว วันนี้มีแรงบันดาลใจ ที่จะสรุปสาระสำคัญที่เป็นหัวใจในหนังสือเล่มนี้ ไปไว้เป็นบทเรียนหนึ่งของรายวิชาความเป็นมนุษย์ฯ จึงมา "จับประเด็น" ละเอียด... จึงนำมาแลกเปลี่ยนไว้ เผื่อเพื่อน พี่ อาจารย์ และลูกๆ หลานๆ นิสิตจะเข้ามาอ่านกัน



เนื้อหาของหนังสือแบ่งเป็น ๓ ส่วน ขอจับประเด็นให้เห็นเฉพาะส่วนที่ ๑ ที่เกี่ยวกับ "ตัวความสุข" ในบริบทผู้แต่งอยากจะนำเสนอและถ่ายทอด  ส่วนที่เหลือเป็นการประยุกต์ใช้และประสบการณ์การฝึกจิตใจให้มีความสุข

บทนำ

  • หนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งแรกในชื่อ "เปิดห้องเรียนแห่งความสุข" 
  • ผู้แต่งคือ Tal Ben-Shahar, Ph.D อาจารย์สาขาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด แปลโดย พรเลิศ อิฐฐ์ 
  • วิชานี้เปิดสอนครั้งแรกในปี 2002 มีนิสิตลงทะเบียนเพียง ๘ คน และถอนไป ๒ คน แต่ต่อมาเพิ่มขึ้นเป็น ๓๘๐ คนในปีต่อมา และเพิ่มเป็นพันในเวลาไม่นาน จนกลายเป็นรายวิชาที่มีผู้เรียนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัย 
  • เหตุที่ผู้คนสนใจวิชาที่ว่าด้วยความสุขนี้ เพราะคนไม่มีความสุข ผู้แต่งบอกว่า 
    • ในสหรัฐฯ คนรู้สึก "หดหู่" มากกว่าปี 1960 ถึง สิบเท่า
    • อายุเฉลี่ยของคนที่รู้สึก "หดหู่" ครั้งแรกอยู่ที่ 14.5 ปี ลดลงจากปี 1960 ซึ่งอยู่ที่ 29.5 ปี ครึ่งหนึ่ง 
    • นักศึกษาในสหรัฐฯ เกือบร้อยละ ๔๕ รู้สึก "หดหู่" จนดำเนินชีวิตได้ยาก 
    • ในอังกฤษ ปี 1957 คนร้อยละ ๕๒ บอกว่าเขามีความสุขมาก แต่ในปี 2005 คนที่มีความสุขลดลงเหลือเพียงร้อยละ ๓๖ เท่านั้น 
    • กระทรวงสาธารณสุขของประเทศจีนออกประกาศว่า สุขภาพจิตของเยาวชนอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วงอย่างแท้จริง 
  • คนเริ่มรู้กันแล้วว่า ความมั่งคั่ง ร่ำรวย ไม่ได้ช่วยให้เรามีความสุขมากขึ้นเลย แต่ยังคงสับสนในทางออกว่า แบบใดล่ะถึงจะมีความสุข  .... (อ่านถึงตรงนี้ผมรู้สึกว่าโชคดีเหลือเกิน ที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และพุทธศาสนา)
  • ท่ามกลางความสับสน  ผู้คนเริ่มหันหน้ามาพึ่ง "จิตวิทยาเชิงบวก"  ... (ซึ่งความจริง จิตวิทยาเชิงบวก ยังติดอยู่ในระดับ "คิด" ไม่ใช่ "รู้" จึงคงต้องเวียนว่ายอยู่ต่อไป ถึงแม้จะมีความสุข)
  • ผู้แต่งขั้นการเขียนในแต่ละส่วนสำคัญด้วย กิจกรรม "ขอเวลาใน" ให้ผู้อ่านได้ใคร่ครวญ" สัก ๒-๓ นาทีถึงสิ่งที่อ่านไป และในตอนท้ายแต่ละบท ยังมีแบบฝึกหัดและแนวฝึกปฏิบัติให้ได้ลงนำเอาไปปฏิบัติกับตนเอง .... (ผมรู้สึก ส่วนนี้ล่ะ ที่จะมีประโยชน์ต่อการนำไปใช้ในรายวิชาความเป็นมนุษยฯ)
  • ผู้แต่งเคยเข้าใจว่า "ความสุข" คือ "ความสำเร็จ" จึงมุ่งมั่นเพียรพยามซ้อมอย่างหนักอยู่ถึง ๕ ปี เพื่อจะเป็นแชมป์สควอชระดับประเทศของอิสราเอลอันเป็นความฝัน  แต่เมื่อทำสำเร็จแล้ว แม้ความสุขจะเกิดขึ้นจริง มีการฉลองกันใหญ่โต แต่เพียงไม่นาน ความสุขก็หายไป กลายเป็น "ความหดหู่" (คงจะเกิดจากความคาดหวังใหม่) ที่จะต้องมุ่งไปให้ถึงระดับโลก  ท่านจึงเกิดความสงสัยว่า หากทำสำเร็จต่อไปอะไรจะเกิดขึ้น อะไรคือความสุขกันแน่   นั่นเป็นจุดเริ่มต้นให้ท่านหันมาศึกษาทางจิตวิทยาอย่างจริงจัง  
  • ผู้แต่งพบว่า มนุษย์ศึกษาเรื่องความสุขอย่างจริงจังมานานแล้ว เพลโต ศึกษาว่าทำอย่างไรจะมีชีวิตที่ดี อริสโตเติล ลูกศิษย์ของเขา ได้ตั้งสำนักไลเซียมขึ้นเพื่อเผยแพร่แนวคิดของความเจริญรุ่งเรือง ในขณะที่ ๑๐๐ ปีก่อนนั้น ขงจื้อได้เดินทางไปทั่วประเทศจีนเพื่อเผยแพร่ตำราเรื่องความสมปรารถนาของตน ...  (ผู้แต่งไม่ได้กล่าวถึงพระพุทธเจ้า ท่านคงไม่ได้ศึกษาอย่างจริงจัง หลังจากอ่านหนังสือไปกว่าครึ่งเล่ม ผมก็เห็นจริงๆ ว่า ท่านไม่ทราบเกี่ยวกับ "ความสุข" แบบ "ไม่มีทุกข์" ตามหลักพุทธเลย... มิน่าล่ะ พุทธศาสนาถึงกำลังได้รับความนิยมในตะวันตก เพราะแม้แต่ ศาสตราจารย์ท่านนี้ ก็ยังไม่ได้เข้าถึง)
ความสุขคืออะไร: คำถามเกี่ยวกับความสุข 
  • คำถามคือ "ความสุขคืออะไร" "ความสุขของคุณคืออะไร" "คุณจะนิยามความสุขในแบบของคุณว่าอย่างไร" "แท้จริงแล้วความสุขคืออะไรกันแน่" 
  • แม้ทุกคนจะรู้ดีเมื่อสัมผัสกับความสุข และเข้าใจด้วยว่า คำใดอธิบายความสุขในความหมายของตนเองได้ดีหรือไม่ดีพอ แต่ก็ไม่มีใครจะสามารถให้คำจำกัดความของความสุขที่ครอบคลุมได้ .... (ในศาสนาพุทธของเรา ความสุข ก็คือความไม่ทุกข์ นั่นแหละ  แล้วอะไรคือทุกข์  ก็ขันธ์ทั้งห้านั่นแหละคือทุกข์ คำสอนชัดเจนยิ่งนัก ยากก็ตรงการเดินไปสู่ทางพ้นทุกข์)
  • คำว่า Happiness มาจากคำว่า happ ในภาษาของชาวไอซ์แลนด์ ซึ่งหมายถึง "โชค" หรือ "โอกาส" โดยมีรากศัพท์เดียวกับคำว่า haphazard (เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ) และ happenstance (เกิดขึ้นโดยบังเอิญ) 
  • ผู้แต่งบอกว่า ความทุกข์เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้  จึงมุ่งที่จะมาศึกษาให้เข้าใจความสุขอย่างจริงจัง .... (วันก่อนโน้นผมถอดบทเรียนของคุณขุนเขา เขาก็บอกทำนองว่า คนไม่มีความสุขเพราะไม่เข้าใจความสุข (อ่านที่นี่) แสดงว่า จิตวิทยาตะวันตกเขามุ่งไปที่ "ความสุข" ซึ่งต่างจาก คำสอนของพุทธศาสนาที่เน้นปัญญาเกี่ยวกับ "ความทุกข์" ... ยิ่งรู้สึกว่ามีบุญเหลือเกินที่เกิดในพุทธศาสนา)
  • คำถามต่อมา คือ  "ฉันจะหาความสุขมากขึ้นได้อย่างไร" 
  • ผู้แต่งเขียนว่า "การแสวงหาความสุขเป็นกระบวนการอันต่อเนื่องที่ไม่มีจุดสิ้นสุด... ปราศจากจุดจบแน่ชัด" ... (ชัดเจนว่า ท่านไม่ได้ศึกษาหรืออริยสัจ ๔)
  • ผู้แต่งเห็นด้วยกับอริสโตเติล ที่บอกว่า " สิ่งที่เราทำซ้ำบ่งบอกถึงตัวเรา ความเป็นเลิศจึงไม่เกิดจากการกระทำ แต่เกิดจากนิสัยต่างหาก" 
  • งานวิจัยจำนวนมาก เห็นตรงกันว่า 
    • การรับเอาพฤติกรรมใหม่ๆ มาใช้ หรือการยกเลิกนิสัยเดิมๆ นั้นเป็นเรื่องยากกว่าที่เราคิดไว้
    • ความพยายามที่จะเปลี่ยแปลงส่วนใหญ่ทั้งระดับบุคคลหรือองค์กร จะประสบกับความล้มเหลว 
    • การเปลี่ยนแปลงตนเองที่มุ่งปลูกฝังวินัยในตนเอง เช่น การตั้งปณิธานที่จะเปลี่ยนตนเองต้นปีใหม่ ส่วนใหญ่จึงล้มเหลว 
  • วิธีการเปลี่ยนแปลงตนเองที่ได้ผลดี มีนำเสนอในหนังสือของ จิม ลูเออร์ และ โทนีชวาร์ต คือบอกว่า แทนที่จะเปลี่ยนแปลงโดยการมุ่งปลูกฝังวินัยในตนเอง ให้ใช้วิธีการ "สร้างกิจวัตร"  (ผมนึกถึงพระวินัยหรือข้อวัตรของสงฆ์)
  • ลูเออร์และชวาร์ตซ์ บอกว่า การสร้างกิจวัตรนั้น ต้องอาศัยการกำหนดพฤติกรรมที่ชัดเจนมากๆ ขึ้นมา และนำไปปฏิบัติในช่วงเวลาที่เฉพาะเจาะจงมากๆ โดยได้รับแรงกระตุ้นจากค่านิยมที่ฝังลึกอยู่ในใจ (สอดคล้องกับ พระที่ท่านมีศรัทธามากๆ เมื่อบวชก็เคร่งพระวินัย ทำให้ท่านเปลี่ยนแปลงจากภายในไปจนสู่การบรรลุ)
  • ตัวอย่างของกิจวัตร คือ การแปลงฟันวันละ ๒ ครั้ง จึงทำให้ฟันเราสะอาดและไม่มีปัญหาเกี่ยวกับฟัน เช่นเดียวกัน หากเราอยากให้ชีวิตมีความสุข เราต้องสร้างกิจวัตรแห่งความสุขขึ้น  
  • ผู้แต่งแนะนำให้ กำหนดกิจวัตรเพียง ๑-๒ อย่าง เมื่อทำได้จนเกิดเป็นนิสัยได้จริงแล้ว ค่อยกำหนดเพิ่ม  (แสดงว่า กิจวัตรสร้างนิสัย)
  • คำถามคือ "กิจวัตรอะไรบ้างที่จะทำให้คุณมีความสุขเพิ่มขึ้น"  
    • ออกกำลังกายสัปดาห์ละ ๓ ครั้ง ...ไหม 
    • ทำสมาธิสิบห้านาทีทุกเช้า ...ไหม
    • เดทกับคนรักทุกวันอังคาร...ไหม 
    • เพลิดเพลินกับการอ่านหนังสือวันละ ๒ ชั่วโมง... ไหม 
    • ฯลฯ
  • งานวิจัยของ โรเบิร์ต เอ็มมอนส์ และ ไมเคิล แมคคัลลอฟ บอกว่า คนที่่เขียนบันทึกเกี่ยวกับความรู้สึกขอบคุณที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน (โดยเขียนถึงสิ่งที่รู้สึกตื้นตันอย่างน้อย ๕ อย่าง) จะมีความสุขทางกายและใจมากกว่าคนที่ไม่ได้เขียน 
เชื่อมประสานปัจจุบันกับอนาคต
  • ผู้แต่งนำเสนอแบบจำลองแฮมเบอร์เกอร์ (เพื่ออธิบายแนวคิดในการดำเนินชีวิต ๔ ประเภท) 
  • เขาตั้งเป้าว่า จะกินแต่อาหารที่มีประโยชน์ในระหว่างฝึกซ้อมเพื่อแข่งสควอชรายการสำคัญรายการหนึ่ง โดยตั้งใจว่า หลังแข่งเสร็จจะกินแฮมเบอร์เกอร์ให้หนำใจสัก ๔ ชิ้น  แต่เมื่อถึงเวลาหลังจากสั่งมาแล้ว ความอยากกินกับหายไปแล้ว .... ท่านจึงได้ไอเดียในการเสนแบบจำลองการมองชีวิตขึ้น 
  • แบบจำลองแฮมเบอร์เกอร์ เสนอให้พิจารณาแนวคิดในการดำเนินชีวิต ๔ แบบ ได้แก่ 
    • แฮมเบอร์เกอร์ชนิดแรก คือ  แฮมเบอร์เกอร์อาหารขยะ หากกินวันนี้ อร่อยวันนี้ เอ็มเอมวันนี้ แต่จะมีผลเสียตามมาในอนาคต  หากเทียบกับคนจะเป็น  "รูปแบบคนเจ้าสำราญ" มีความสุขไปวันๆ โดยไม่แยแสผลเสียที่จะตามมาในอนาคต ไม่สนใจอะไร ปล่อยชีวิตให้มีความสุขอย่างเต็มที่ทุกนาทีกับการเสพสุข ไม่ขนขวาย อดทน หรือพยายามทำสิ่งใดที่ยากลำบาก 
    • แฮมเบอร์เกอร์ชนิดที่สอง คือ แฮมเบอร์เกอร์มังสวิรัติ  ไม่อร่อยวันนี้ แต่จะส่งผลดีต่อร่างกายในอนาคต  หากเปรียบกับคนจะเป็นแบบ "รูปแบบหนูวิ่งแข่ง" คือยอมทุกข์ในปัจจุบันเพื่อความคาดหวังบางอย่างในอนาคต  ตั้งใจทำไปตามรูปแบบใดๆ ที่สังคมกำหนด แข่งขัน มุ่งมั่น ขยัน อดทน พากเพียร ให้ได้ตามค่านิยมและกฎเกณฑ์ของสังคม เช่น  ตั้งใจเรียนหนักให้ได้เกรดดีๆ  ทำงานอย่างเต็มที่เต็มเวลาขนขวายหาทุกวิธีทางให้งานสำเร็จเพื่อให้รายได้มากๆ มีเงินมากๆ มุ่งสร้างชีวิตให้เพียบพร้อม สะดวกสบาย ฯลฯ
    • แฮมเบอร์เกอชนิดที่สาม คือ แฮมเบอร์เกอร์ชนิดห่วยแตก นอกจากไม่อร่อยวันนี้แล้ว ยังส่งผลเสียในอนาคต  เทียบกับคน "รูปแบบคนหมดอาลัยตายอยาก"  ไม่มีความสุขทั้งในวันนี้และในอนาคต 
    • แฮมเบอร์เกอร์ชิ้นที่สี่ คือ แฮมเบอร์เกอร์ที่มังสวิรัติที่แสนอร่อยในวันนี้ และนำพาสู่ความปรารถนาในอนาคตด้วย เปรียบได้กับคนใน "รูปแบบความสุข" สามารถที่จะมีควมสุขได้ทั้งวันนี้และส่งผลให้วันต่อๆ ไป เป็นวันแห่งความสุข 
  • แบบฝึกหัด "รูปแบบทั้งสี่"  (น่านำไปใช้กับนิสิตมาก) มอบหมายให้เขียนบันทึกประสบการณ์เกี่ยวกับรูปแบบทั้งสี่ใน ๔ วันข้างหน้า โดยใช้เวลาวันละ ๑๕ นาที รูปแบบทั้ง ๔ คือ คนเจ้าสำราญ คนเป็นหนูวิ่งแข่ง เป็นคนหมดอาลัยตายอยาก หรือเป็นคนมีความสุข 
    • หนูวิ่งแข่ง  ให้เขียนถึงช่วงเวลาในชีวิตที่รูสึกว่า ตนเองกำลังวิ่งอยู่บนสายพาน ทำเพื่อจะได้มีอนาคตที่ดี อะไรคือประโยชน์ที่จะเกิดจากการทำสิ่งนั้น และคุณต้องสูญเสียอะไรบ้าง 
    • คนเจ้าสำราญ ให้เขียนบรรยายถึงช่วงที่ชีวิตเหมือนคนเจ้าสำราญ  เขียนว่าประโยชน์คืออะไร จะสูญเสียอะไรไป 
    • คนหมดอาลัยตายอยาก ให้เขียนถึงประสบการณ์ที่ยากลำบากเป็นพิเศษในตอนที่คุณหมดอาลัยตายอยาก จงเขียนบรรยายถึงความรู้สึกในห้วงลึกของความสิ้นหวังที่สุดของคุณ 
    • คนมีความสุข ให้เขียนถึงช่วงเวลาที่คุณมีความสุขเป็นพิเศษ พยายามสัมผัสอารมณ์นั้นให้ได้ แล้วเขียนลงบนกระดาษ
  • การฝึกจิตให้อยู่กับความสุข ทำได้โดยการทำสมาธิ  ซึ่งยืนยันโดยงานวิจัยของเฮอร์เบิร์ต เบนสัน จอน คาบัท-ชินน์ และริชาร์ด เดวิทสัน ที่บอกว่าการ นั่งหลับตา หายใจลึกๆ เข้าสู่ช่องว่างในท้องของคุณ แล้วค่อยๆ ผ่อนลมออก ใช้จิตสำรวจร่างกายของตนเอง ส่วนใดเกร็งให้เพ่งลมหายใจตรงไปที่บริเวณนั้นเพื่อผ่อนคลาย แล้วกลับมาจดจ่อกับลมหายใจของคุณอีก โดยหายใจลึกๆ ช้าๆ อย่างน้อย ๕ - ๒๐ นาที และทำให้เป็นกิจวัตร  แล้วจะทำให้มีความสุข .... (นี่เป็นเพียง สมถะสมาธิเท่านั้น ... รู้สึกภูมิใจที่ได้เกิดในที่ที่สอนเรื่องวิปัสนา)
ตีแผ่ความสุข
  • กิจกรรมที่น่าสนใจ (ควรนำไปใช้คือ)   การให้ตั้งคำถามว่า "ทำไม" กับสัก ๒-๓ สิ่ง แบบไม่รู้จบสิ้น เช่น ถ้าอยากมีรถยนต์ของตนเอง ทำไมถึงอยากมีรถยนต์ของตนเอง ... เพราะจะไปไหนมาไหนก็ได้ทำไมถึงอยากไปไหนมาไหนก็ได้...เพราะอยากจะไปเที่ยวสถานที่ต่างๆ ทำไมถึงอยาจะไปเที่ยวสถานที่ต่างๆ ฯลฯ.......   สุดท้ายจะไปถึงคำถามว่า  เพราะฉันอยากมีความสุข  และถ้าถามต่อว่า ทำไมถึงอยากมีความสุข  .... จะตอบไม่ได้แล้ว เพราะมันเป็นธรรมชาติของมนุษย์  
  • ดังคำที่ เดวิด ฮูม ปราชญ์ชาวอังกฤษที่บอกว่า "จุดหมายที่ยิ่งใหญ่ในความพากเพียรอุตสาหะของมนุษย์ ก็คือการได้รับความสุข" 
  • งานวิจัยจำนวนมาก บอกว่า  ความสุข จะนำไปสู่ความสำเร็จ  คนที่มีความสุขมักจะประสบความสำเร็จในหลายๆ ด้าน และบอกว่า ความสุขและความสำเร็จมีความสัมพันธ์ในเชิงที่เอื้อประโยชน์ต่อกัน 
  • ผู้แต่งให้คำจำกัดความของความสุขว่า "ประสบการณ์ในภาพรวมของความพอใจและความหมาย"   กล่าวคือ ความสุขประกอบด้วย ๒ อย่างคือ  "ความพอใจ" และ "ความหมาย" 
  • "ความพอใจ" คือผลแห่งอารมณ์ ความรู้สึก เป็นสิ่งที่หุ่นยนต์ อย่างไรก็ตาม สัตว์เดรัจฉาน ก็มีอารมณ์ความรู้สึก และความพอใจเช่นกัน 
  • "ความหมาย" คือสิ่งที่ทำให้เราแตกต่างจากสัตว์เดรัจฉาน 
  • ความสามารถที่มนุษย์มีแต่สัตว์เดรัจฉานไม่มีคือ การไตร่ตรองถึงความรู้สึก ความคิด และการกระทำที่เกิดขึ้น และความสามารถในการตระหนักถึงสติสัมปชัญญะและประสบการณ์ของตนเอง 
  • ทฤษฎีความสุขของผู้แต่ง มาจากทฤษฎีพื้นฐานของสองผู้ยิ่งใหญ่ คือ
    • ซิกมันด์ ฟรอยด์ ที่บอกว่า มนุษย์ถูกขับเคลื่อนด้วยความต้องการที่มาจากสัญชาตญาณ 
    • แฟรงเคิล ที่บอกว่า การพยายามค้นหาความหมายในชีวิตของตนเองนับว่าเป็นแรงจูงใจหลักของมนุษย์  สิ่งที่มนุษย์ต้องการจริงๆ ไม่ใช่ภาวะไร้ความเครียด แต่เป็นการดิ้นรนและมุ่งหน้าไปสู่เป้าหมายบางอย่างที่มีคุณค่า
  • ผู้แต่งเสนออีกกฎอีกข้อหนึ่ง เรียกว่า กฎลาซานญ่า ชื่ออาหารจานโปรดของท่าน ซึ่งแม้จะโปรดปรานชอบแค่ไหน แต่ก็ไม่สามารถที่จะมีความสุขกับการกินได้ตลอด   กฎลาซานญ่า บอกว่า มนุษย์มีขีดจำกัดกับการมีความสุขกับกิจกรรมแต่ละอย่าง เช่นเดียวกับกิจกรรมอื่นๆ  เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ทำงานอดิเรก ล้วนแล้วแต่จะเพลินอยู่ได้เพียงเวลาช่วงหนึ่ง 
  • แบบฝึกหัด สร้างแผนที่ชีวิต  โดยประยุกต์ใช้กฎลาซานญ่า โดยให้บันทึกว่า เราทำกิจกรรมอะไรบ้างนานแค่ไหนในแต่ละสัปดาห์  แล้วประเมิน "ความพอใจ" และ "ความหมาย" ของกิจกรรมนั้นด้วยเกณฑ์คะแนน ๕ ระดับ แล้วให้เติมความต้องการว่าอยากเพิ่มหรือลดเวลาของกิจกรรมนั้นลง โดยใช้เครื่องหมาย + หากต้องการเพิ่ม, ++ ถ้าอยากใช้เวลามเพิ่มขึ้นมากๆ และใช้  -, -- ต้องการลดเวลา  หรือถ้าเป็นไปไม่ได้ที่จะเปลี่ยนเวลาให้ใช้เครื่องหมาย =   แล้วให้พิจาณาว่า เราจะใช้เวลามากแค่ไหนกับสิ่งที่มี "ความหมาย" ในชีวิต 
หน่วยวัดสูงสุด
  • ความสุขหน่วยวัดสูงสุด  
  • หากมองเรื่องธุรกิจ เงินคือหน่วยวัดสูงสุด แต่งานวิจัยของ เดวิด ไมเยอร์ส ได้พิสูจน์แล้วว่า ความมั่งคั่ง ร่ำรวย ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับความสุขเลย  
  • ผู้แต่งยกตัวอย่างได้น่าสนใจมากกว่า ...   สมมติมนุษย์ต่างดาวเดินทางมาจากดาวศุกร์ เดินเข้าไปในร้านเพื่อซื้อของมูลค่า ๑ พันดอลลาร์  แล้วให้เจ้าของร้านเลือกระหว่าง เงิน ๑ พันดอลลาร์กับตั๋วเงินใบหนึ่ง ซึ่งหากใช้บนดาวศุกร์จะมีค่าเทียบกับเงิน ๑ พันล้านดอลลาร์  หากคุณเป็นเจ้าของร้าน จะเลือกอะไร .... แน่นอนว่า คงจะเลือกเงิน ๑ พันดอลลาร์  เว้นแต่ว่า จะอยากได้เก็บตั๋วเงินใบนั้นไว้เป็นคุณค่าทางใจ   นั่นหมายถึง เงินดอลลาร์จะมีค่าลดลงเมื่อประเมินในแง่ "ความสุข"  ด้วยเหตุนี้ ความสุขจึงเป็นหน่วยวัดสูงสุด 
  • หากมองเรื่องสังคม ชื่อเสียง เกียรติยศ อาจเป็นหน่วยวัดสูงสุด แต่ความจริงแล้ว ให้เลือกคนก็เลือกจะละทิ้งชื่อเสียงแลกกับความสุข 
  • แบบฝึกหัดท้ายเล่มให้ "เติมประโยคให้สมบูรณ์"  ที่คิดครั้งแรกโดย ธาเนียล แบรนเดล  นักจิตบำบัดที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาด้านความภาคภูมิใจในตนเอง   กิจกรรมมีอยู่ว่า  ให้รีบต่อประโยคที่เริ่มไว้ให้สมบูรณ์อย่างน้อย ๖ แบบ  ตัวอย่างประโยคเช่น 
    • หากฉันมีสติกับชีวิตมากขึ้น 5 เปอร์เซ็นต์ .....
    • สิ่งที่ทำให้ฉันมีความสุข............
    • ฉันเริ่มตระหนักว่า.........
  • โดยให้ฝึกทำกิจกรรม "เติมประโยคให้สมบูรณ์" นี้บ่อยๆ หลายๆ ครั้ง  
  • ให้นึกถึง แผนที่ชีวิต แล้วให้พิจารณาสัปดาห์แห่งอุดมคติ เมื่อคุณมีภาพที่ในใจอยากจะให้เป็น ก็เริ่มมีโอกาสที่จะสำเร็จ 
การตั้งเป้าหมาย 
  • งานวิจัยจำนวนมาก บอกว่า ผู้ที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ มีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จมากกว่าผู้ที่ไม่ได้ตั้งเป้าหมาย 
  • เป้าหมายคือการให้คำมั่นสัญญาที่เปิดเผยออกมาอย่างแจ่มชัด ซึ่งช่วยทำให้เรามุ่งความสนใจไปที่จุดมุ่งหมายได้ 
  • งานวิจัยในช่วงสิบปีนี้ ยืนยันว่า แม้ความสำเร็จจะมีความสัมพันธ์กับการตั้งเป้าหมาย แต่ความสุขกลับสวนทาง  การไม่บรรลุเป้าหมายบางอย่างอาจนำเราไปสู่ความท้อแท้สิ้นหวัง 
  • บทบาทที่แท้จริงของเป้าหมายคือการปลดปล่อยให้เราเป็นอิสระเพื่อให้เรามีความสุขกับปัจจุบันขณะได้ เป้าหมายจะบอกทิศทางของการเดินทาง  เราจะไม่สับสนกับทางแยกระหว่างทางไปสู่จุดหมาย มีเวลาได้เพลิดเพลินและสนุกไปกับการเดินทาง ชื่นชมดอกไม้นานาพันธุ์ 
  • ต้องไม่ให้ความสำคัญกับ "การบรรลุเป้าหมาย" มากเท่ากับ "การมีเป้าหมาย" .... (ผมชอบมาก)
  • เป้าหมายเป็นเพียงเครื่องมือ ไม่ได้เป็นเพียงจุดหมายของการเดินทาง 
  • เป้าหมายที่ดีต้องเปี่ยมไปด้วย "ความหมาย" และการเดินทางไปสู่จุดหมาย ก็ต้องเต็มไปด้วย "ความพอใจ" ด้วย  (....โห ช่างต่างกับคำสอนพระพุทธเจ้า ที่ไม่ให้ตามใจกิเลส)
  • แคนนอน เชลดอน ได้เสนอว่า สำหรับคนที่กำลังแสวงหาความสุข  จงเดินไปสู่ 
    • เป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับความเจริญก้าวหน้า ความสัมพันธ์ และการเข้าไปมีส่วนร่วม แทนที่จะเป็นเงินทอง ความงาม หรือชื่อเสียง 
    • เป้าหมายนั้นจะต้องมีความสำคัญสำหรับตัวเอง เรียกว่า "เป้าหมายที่สอดคล้องกับตนเอง"  ไม่ได้ถูกบีบบังคับให้ทำ 
  •  เป้าหมายที่สอดคล้องกับตนเอง ต้องเลือกด้วยตนเอง และต้องซื่อสัตย์กับตนเอง ไม่ได้เลือกภายใต้สิ่งเร้าภายนอก  ไม่ควรเป็นความมั่งคั่ง เงิน ชื่อเสียง เกียรติยศ  ควรเริ่มจากพิจารณาตนเองดังต่อไปนี้ตามลำดับ 
    • อะไรที่ฉันทำได้ 
    • อะไรที่ฉันอยากทำ
    • อะไรที่ฉันอยากทำจริงๆ 
    • อะไรที่ฉันอยากทำมากที่สุด 
  • แบบฝึกหัด "ตั้งเป้าหมายที่สอดคล้องกับตนเอง" น่าจะเป็นกิจกรรมบังคับสำหรับทุกคน  โดยให้มีเป้าหมายหลายระดับ เริ่มตั้งแต่
    • เป้าหมายระยะยาว   เป็นจุดหมายที่จับต้องได้ ไม่เลื่อนลอย มีเส้นชีวิตชัดเจนตั้งแต่ ๑-๓๐ ปี 
    • เป้าหมายระยะสั้น คือการเอาเป้าหมายระยะยาวมาแบ่งเป็นลำดับขั้นสั้นๆ  
    • แผนการลงมือทำ เพื่อให้ผลักดันให้เป้าหมายกลายเป็นจริง  จะทำอะไรในปี เดือน หรือวันที่กำลังจะมาถึง .... (เฮ้อ... เริ่มยาก)
  • ให้ก่อตั้ง "คณะกรรมการด้านความสุข" ของตนเอง โดยเลือกเอาเฉพาะคนที่สนใจในตัวเราและใส่ใจในความสุขของเรา เพื่อมาเป็นคนกระตุ้นให้เรารับผิดชอบต่อคำมั่นสัญญา และอยู่บนเส้นทางของความสุข 
จบส่วนที่ ๑  ในส่วนที่ ๒ ผู้แต่งเขียนเรื่องราวของการประยุกต์ใช้ความสุข ซึ่งเป็นประสบการณ์การทำงานของท่านด้านการศึกษา โดยเล่าแนวปฏิบัติงานของตนเอง และส่วนที่ ๓ เป็นประสบการณ์ในงานฝึกจิตใจให้อยู่กับความสุข   ผู้สนใจหาซื้อมาอ่านเองก็ไม่แพงดอก ....  


หมายเลขบันทึก: 649373เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2018 04:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 สิงหาคม 2018 08:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สุดยอดอีกเล่มครับ อาจารย์ ;)…

มี คน บอก..เตือนมาว่า..”อย่า นั่งทับ ความสุข”…

ขอบคุณครับ คุณยายธี … ความสงสัยเกิดขึ้นชัด ….

ฝรั่งเก่งเรื่องนวตกรรม แต่อ่อนด้อย(มาก)เรื่องวัฒนะ-ธรรมคนไทยพยายามจะเก่งเรื่องนวกรรมตามฝรั่งจนค่อยๆ ลืมความเก่งด้านวัฒนะ-ธรรมที่เรามี

จนวันหนึ่งฝรั่งเริ่มหันหลังกลับมามองเราถึงจะตระหนัก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท