เยือนมหาวิทยาลัยจีน : 8. ข้อสังเกตจากประสบการณ์ ๕ วัน (จบ)


ที่จริงเป็นประสบการณ์สี่วันเศษๆ เท่านั้น    ผมตั้งใจไปดูว่าข่าวเล่าลือเรื่องจีนพัฒนารวดเร็วเป็นอย่างไร เสียดายที่ไม่ได้นั่งรถไฟความเร็วสูงตามที่กำหนดไว้เดิม    

ผมเคยไปประเทศจีนน้อยมากคือสี่ครั้งเท่านั้น    ครั้งแรกไปนานกิง ปักกิ่ง หางโจว เมื่อราวๆ ๓๕ ปีมาแล้ว    ครั้งที่สอง สาม และสี่ ไปปักกิ่ง เมื่อ ๕ และ ๔ ปีมาแล้ว

เป็นครั้งแรกที่ผมไปเห็นเมืองเซี่ยงไฮ้    ความประทับใจแรกคือ ต้นไม้มาก    เห็นชัดเจนว่า ในการสร้างเมืองส่วนใหม่ เขาออกแบบให้มีส่วนสีเขียวด้วย    ท่านกงสุลใหญ่ไทยประจำเซี่ยงไฮ้บอกว่า เขามีกฎหมายกำหนดให้ต้องมีพื้นที่สีเขียวถึงร้อยละ ๔๐ ของการพัฒนาพื้นที่   เราเห็นได้ชัดเจนว่าเขามีวิชาการว่าด้วยการปลูกต้นไม้    แต่เมื่อไปถึงเมืองหางโจวในวันที่ ๑ มิถุนายน พบว่าหางโจวยิ่งเขียวกว่า    ที่นี่พื้นที่ร้อยละ ๖๐ เป็นพื้นที่สีเขียว    แต่กระนั้นก็ตามหางโจวมีมลภาวะทางอากาศมาก    ตลอดเวลาเกือบสองวันที่ผมไปเห็น ฟ้าไม่ใสเลย    

ระหว่างกินอาหารเย็นวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ดร. พิชัย สนแจ้ง แห่งมหาวิทยาลัยบูรพา เล่าเรื่องการปลูกป่าชายเลนที่ประเทศจีน  ที่มาเรียนจากประเทศไทย และ ดร. พิชัยไปช่วยให้คำแนะนำเขาด้วย  

โรงแรม Holiday Inn Shanghai Hongqiao เขตหงเฉียว ที่เราไปพักในเซี่ยงไฮ้  และโรงแรม Wyndham Grand Plaza Royale ที่หางโจว มีห้องโถงใหญ่มาก    ห้องอาหารก็ใหญ่    อาหารเช้าก็มีมากมาย    ที่ Holiday Inn ผมพักชั้น Executive  ห้อง 2820   ที่ Wyndham ผมพักชั้น ๘ อีก ห้อง ๘๓๒  ทั้งสองที่ห้องกว้างใหญ่มีเครื่องอำนวยความสะดวกครบครัน   ดีกว่าห้องพักที่โรงแรม Royal Plaza  เมืองมงเทรอซ์ ซึ่งถือเป็นโรงแรมระดับห้าดาว      

ไกด์ชื่อคุณเช่า บอกว่าที่เซี่ยงไฮ้ค่าป้ายทะเบียนรถ ๑๐๐,๐๐๐ หยวน (๕ แสนบาท)   ๗ เมืองควบคุมรถ   

เช้าวันที่ ๓๑ ฝนตก ผมอดเดินออกกำลัง    เวลา ๘.๐๐ น. เรานั่งรถท่ามกลางฝน ข้ามเขตไปบนถนนวงแหวน  ผ่านสนามบินหงเฉียว (ในประเทศ) ไปยังสถานดูงานที่แรก   เขาบอกว่า มีการขยายเมืองออกไปรอบนอก โดยตัดถนนวงแหวนและถนนเส้นรัศมี    เวลานี้ซี่ยงไฮ้มีถนนวงแหวน ๓ วง    ปักกิ่งมี ๖ วง  วงนอกยาวกว่า ๒๐๐ ก.ม.  

เช้าตรู่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๑  เวลา ๕.๓๐ น. (ซึ่งสว่างแล้ว) ผมออกไปเดินรอบๆ โรงแรม     ไปทางศูนย์การค้า ที่มีลานด้านหน้ากว้างมาก    กำลังมีการขุดบูรณะถนนด้านหน้า    และลักษณะของพื้นที่แสดงว่าพื้นที่บริเวณนี้สร้างมาแล้วไม่ต่ำกว่า ๒๐ ปี   ข้างศูนย์การค้ายังมีห้องแถวสองชั้นอยู่อาศัย (ไม่เห็นร่องรอยว่าเป็นร้านค้า)    พอ ๘.๐๐ น. เราก็ออกเดินทางไปหางโจว  

ตลอดเส้นทาง เราเห็นร่องรอยของกระบวนการ urbanization   ที่มีการสร้างเมืองใหม่  สร้างคอนโดอยู่อาศัย พร้อมกับสร้างสวนโดยรอบ   ถนนในเมืองทุกเส้นมี ๓ ส่วนแยกกันชัดเจน    คือตรงกลางเป็นถนนรถยนต์  สองข้างเป็นเลนจักรยานและจักรยานยนต์   ถัดเข้าไปเป็นทางเท้า    เราจึงเห็นคนใช้จักรยานมาก มากกว่าใช้จักรยานยนต์ (ที่ใช้ไฟฟ้า)    ดูแล้วน่าจะเป็น “ถนนแห่งศตวรรษที่ ๒๑” มากกว่าประเทศใดๆ ในโลก    ที่ช่วยให้คนได้อออกกำลังกายจากการเดินทาง     และที่สำคัญคือถัดจากทางเท้าเข้าไปมักเป็นพื้นที่สีเขียวกว้างมากกว่าจะถึงที่ปลูกสร้างอาคารอยู่อาศัย   

เช้าวันที่ ๒ มิถุนายน ผมออกเดินออกกำลัง จากโรงแรมเลี้ยวซ้าย เดินไปยังทะเลสาบ ซีหู    มีคนไปเดินหรือวิ่งอออกกำลังมากมาย   มีกลุ่มผู้สูงอายุออกกำลังตอนเช้าด้วย    เริ่มจากร้องเพลง    หลังจากนั้นทำอะไรบ้างผมไม่ได้อยู่ดู    บริเวณริมทะเลสาบจัดสถานที่สวยงาม สะอาด   มีดอกไม้สวยงาม 

ทะเลสาบซีหู (1) ตรงที่ผมไปเห็นไม่ได้สวยงามอย่างราคาคุย  เพราะอากาศไม่ใส   แต่ตอนนั่งรถยนต์ผ่าน เพื่อไปสำนักงานอาลีบาบา ได้เห็นความสวยงาม    เพราะฝั่งตรงข้ามถนนกับทะเลสาบเป็นเนินเขา ที่เขารักษาธรรมชาติไว้ดีมาก  เลยไปเป็นโรงแรมแชงกรีลา ที่ก่อสร้างกลมกลืนกับธรรมชาติดี   ทะเลสาบนี้เป็นทะเลสาบขุดขึ้น   มีบริเวณที่มีต้นบัว  มีส่วน “สะพานขาด” เป็นสถานที่ที่ได้รับยอย่องจากยูเนสโกให้เป็นมรดกโลก   แต่เราไม่มีโอกาสได้ไปเดินเที่ยวเลย    มีบางคนในคณะไปเดินที่สะพานขาดตอนกลางคืน   ระหว่างเดินมีสาวหางโจวมาทาบด้วย    เมืองท่องเที่ยวก็เป็นอย่างนี้  

 ความประทับใจที่สุดจากการไปเซี่ยงไฮ้และหางโจว คือได้เห็นผลของการพัฒนาประเทศอย่างรวดเร็วภายในเวลา ๔๐ ปี    ส่วนที่เป็นเมืองเปลี่ยนสภาพความเป็นอยู่อย่างสิ้นเชิง    ไกด์และคุณสองเล่าว่า    เนื่องจากที่ดินเป็นของรัฐ เมื่อต้องการสร้างเมืองใหม่จากบริเวณที่มีคนอยู่อาศัยก่อนแล้ว ก็ต้องเวนคืน   คนที่ถูกเวนคืนที่ก็เท่ากับถูกหวย   เพราะเขาจะตอบแทนเป็นคอนโด   คนละ ๘๐ ตารางเมตร    บ้านใดมีคนอยู่ ๔ คน ก็จะได้ ๓๒๐ ตารางเมตร    ราคาคอนโดอย่างต่ำๆ ก็ตารางเมตรละ ๒๐,๐๐๐ หยวน (บางพื้นที่ถึงแสนหยวน)  

ทั้งสองเมืองที่ไปเยือนอยู่ติดทะเล และมีแม่น้ำใหญ่ไหลผ่าน   ได้ไปเห็นวิธีสร้างเมืองที่มีคลองน้ำสะอาด ไหลวน   ช่วยให้เมืองร่มรื่นน่าอยู่    

ในด้านอุดมศึกษาและการสร้างนวัตกรรม ได้ไปเห็นวิธีสร้าง management platform เพื่อให้เกิดความร่วมมือข้ามศาสตร์ ข้ามความแตกต่าง    ได้เข้าใจว่าทำไมมหาวิทยาลัยจีนจึงก้าวหน้าอย่างรวดเร็วใน world ranking   หลักการสำคัญคือมีการกำหนดเป้าหมายชัดเจน แล้วให้ seed money ในการดำเนินการแบบแปลกใหม่ (innovative) เพื่อบรรลุเป้านั้น  

ไปเห็นเครื่องมือใหม่ๆ ในการสร้างนวัตกรรมแก่ประเทศ เช่น InnoBelt ซึ่งน่าจะเป็น Science / Industrial Park, Town of Designers, Industrial Design Association, Open University of Design, International Campus

ได้เห็นว่าความคิดที่โฆษณาโดยฝรั่งว่า ประเทศที่ปกครองแบบสังคมนิยมจะไม่มีทางเจริญก้าวหน้า    เพราะคนไม่มีความคิดสร้างสรรค์ ไม่จริง   ประเทศจีนได้พิสูจน์ให้เห็นว่า สามารถสร้างรูปแบบใหม่ๆ ของการปกครอง และระบบเศรษฐกิจ ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ของคนได้ และสร้างประเทศที่คนอยู่อย่างมีความสุข สะดวกสบายได้ โดยเป็นประเทศคอมมิวนิสต์  

ข้อจำกัดคือ ผมไปเห็นเฉพาะมหาวิทยาลัย top 3 สองแห่ง    และเห็นเฉพาะเมืองสองเมืองที่พัฒนาการก้าวหน้ามาก    ไม่ได้ไปเห็นฝั่งตะวันตกของประเทศจีน ซึ่งเข้าใจว่ายังล้าหลังกว่ามาก         

วิจารณ์ พานิช        

๔ มิ.ย. ๖๑  ปรับปรุง ๙ มิ.ย. ๖๑

 

1 มอเตอร์ไซคล์และจักรยานมีเลนต่างหาก มีชุดกันลมติดตั้งที่มอเตอร์ไซคล์ด้วย

2 ถ่ายจากชั้น ๘ ของโรงแรมในเซี่ยงไฮ้ ที่พักอาศัยของผู้คนเป็นคอนโด

3 ถนนนี้มีเลนรถยนต์แค่สองเลน มีเลนจักยานและจักรยานยนต์ และทางเดินเท้าด้วย

4 คลองน้ำสะอาดร่มรื่น

5 ระบบสะพานยกระดับของเซี่ยงไฮ้เป็นตัวอย่างของประเทศ

6 ทะเลสาบซีหู

7 กลุ่มออกกำลังกายยามเช้า ริมทะเลสาบซีหู

8 เดินจากทะเลสาบซีหูกลับโรงแรม Wyndham ทางเท้าแยกจากทางจัรยาน

9 ห้องโถงโรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ เซี่ยงไฮ้

10 สัญญาณไฟมีทั้งของรถยนต์และรถจักรยาน

11 บริเวณเมืองใหม่หางโจวมีสวนกว้างอย่างนี้

12 อาคารใหม่ๆ มีศาลาบนยอดตึก

13 ท่าอากาศยานหางโจว

14 ถ่ายอีกมุมหนึ่ง

15 ปรงงาม

16 ปรงงาม

17 Hydrangea งาม

หมายเลขบันทึก: 649022เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2018 19:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2019 05:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท