พลังแห่งวัยเยาว์ : 9. ความลับของวัยเด็ก



บันทึกชุด พลังแห่งวัยเยาว์ นี้ ตีความจากหนังสือ The Importance of Being Little : What Young Children Really Need from Grownups ซึ่งเป็นหนังสือ New York Times Bestseller  เขียนโดย Erika Christakis

ตอนที่ ๙ ความลับของวัยเด็ก  ตีความจากบทที่ 8 The Secret Lives of Children : Fear, Fantasy, and the Emotional Appetite 

ความลับสำคัญคือ เด็กคิดได้ลึกซึ้งกว่าที่เราเข้าใจ    หากได้อยู่ใน “พื้นที่เอื้อการเรียนรู้”    ซึ่งหมายถึง อยู่กับครูที่ตนรักและไว้วางใจ   ในบรรยากาศและพื้นที่ทางกายภาพที่เป็นธรรมชาติ 

 

แย่งของเล่น  

ผู้เขียนเล่าเหตุการณ์ที่ “ครู วอล์กเก้อร์” แก้ปัญหาการทะเลาะวิวาทระหว่างเด็กผู้ชายสองคน โดยเด็กแย่งของเล่นที่โรงเรียนจัดไว้ให้    วิธีที่ครูวอล์กเก้อร์แก้ปัญหาเป็นวิธีที่ใช้กันทั่วๆ ไป    คือให้เด็กขอโทษซึ่งกันและกัน   

นั่นเป็นวิธีการที่ไม่เข้าใจอารมณ์ของเด็ก    และไม่ได้ใช้พลังของอารมณ์เป็นเครื่องมือให้เด็กได้เรียนรู้    และตัวปิดกั้นหลักคือ ผู้ใหญ่ตีความเหตุการณ์ที่เด็กระเบิดอารมณ์ตามมุมมองหรือตามการตีความของผู้ใหญ่    ไม่ได้พยายามเข้าใจความรู้สึกของเด็กในตอนนั้น    ไม่ได้ใช้ความรู้ว่าด้วยพัฒนาการเด็กในการทำหน้าที่แก้ปัญหา     ซึ่งจะนำไปสู่กุศโลบายดึงจุดสนใจออกจากตุ๊กตาของเล่นที่ก่อปัญหา    

ผู้เขียน (Erika Christakis) เล่าเหตุการณ์ที่นำไปสู่การวิวาท และคำพูดโต้ตอบของครู วอล์กเก้อร์ กับเด็กทีละคน    แล้วเฉลยว่า “ครู วอล์กเก้อร์” คือตัว Erika Christakis เอง สมัยยังขาดประสบการณ์   

   ที่จริงความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติในชีวิต    เด็กควรได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ขัดแย้ง ที่ตนเผชิญ    แต่การที่มีความขัดแย้งระหว่างเด็กในห้องเรียน ถูกมองว่าเป็นความบกพร่องของครู    เมื่อเกิดเหตุการณ์ครูจึงต้องหาทางยุติโดยเร็วที่สุด    ไม่เอาใจใส่การใช้เป็นโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องอารมณ์   

การระเบิดอารมณ์ของเด็กในที่สาธารณะ เป็นเรื่องที่พ่อแม่อับอาย    นำไปสู่การระงับการอาละวาดด้วยวิธีการที่ไม่ก่อการเรียนรู้แก่เด็ก   

โปรดสังเกตว่า ผลประโยขน์ของผู้ใหญ่ กลายเป็นตัวบดบังผลประโยชน์ด้านการเรียนรู้ของเด็ก   

นอกจากนั้น เรายังหลงใช้มาตรฐานความประพฤติของผู้ใหญ่ต่อเด็กอีกด้วย    โดยยึดถือว่า ผู้ใหญ่ต้องมีความสามารถควบคุมอารมณ์ของตนได้    ไม่ระเบิดอารมณ์ หรือแสดงอารมณ์ออกมา     วิถีปฏิบัติต่อเด็กตามแนวนี้ผิด    เป็นการยับยั้งการแสดงออกของ “ชีวิตด้านใน” (inner life) ของเด็ก    มีผลลดทอนการเรียนรู้ในมิติที่ลึก 

     ครูและพ่อแม่ต้องรู้จักใช้เหตุการณ์สะเทือนอารมณ์ เป็นสื่อการเรียนรู้เชิงลึกของเด็ก    โดยตั้งคำถามให้เด็กผลัดกันแสดงความรู้สึก และการตีความออกมา     ซึ่งผมมองว่า นี่คือการเรียนรู้จากเหตุการณ์จริง ตามด้วยการไตร่ตรองสะท้อนคิด (reflection) นั่นเอง    โดยครูต้องมีทักษะกระตุ้นให้เด็กแสดงออกอย่างอิสระ     

 

ถ้อยคำที่ลึกซึ้ง

ผู้เขียนเล่าเหตุการณ์ในชั้นเด็กเล็ก  ที่ครูให้ช่วยกันบอก คำเกี่ยวกับผักและสวนครัว ที่ขึ้นต้นด้วยตัวอักษร s   แล้วครูเขียนคำนั้นขึ้นกระดาน    จนมาถึงเด็กชายคนหนึ่งเสนอคำว่า soul    ครูถามว่าหมายถึง sow, soil ใช่ไหม    เด็กย้ำว่า soul ชัดเจน   ครูบอกว่าไม่ตรงกับคำในเรื่องผักและสวนครัว    และไม่เขียนคำ soul ลงบนกระดาน

ผู้เขียนบอกว่า วิธีที่ดีกว่าคือ ครูเขียนคำ soul ลงบนกระดาน    ให้ผู้เสนออธิบายว่าเป็นคำที่เกี่ยวข้องกับพืชผักและสวนครัวอย่างไร    และให้นักเรียนคนอื่นๆ ช่วยกันออกความเห็นด้วย    ครูก็จะได้ทำความเข้าใจความคิดในมิติที่ลึกของเด็ก   

เหตุการณ์ที่เด็กเผชิญในชีวิตประจำวันสามารถนำมาเป็นหัวข้อเรียนรู้ในมิติที่ลึกได้มากมาย    เช่นเรียนรู้เรื่องความเจ็บปวดจากอาการปวดฟันของเด็กบางคน   การมีญาติตาย   และเหตุการณ์อื่นๆ ในครอบครัว  และในชุมชน   ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เด็กสนใจและหยิบยกขึ้นมาเล่าความประทับใจของตน   

เด็กเล็กอเมริกันในยุคนี้จำนวนหนึ่งมีปัญหาพัฒนาการด้านอารมณ์    ร้อยละ ๑๐ มีปัญหาความผิดปกติทางอารมณ์อย่างรุนแรง    อีกร้อยละ ๕ – ๑๕ มีความผิดปกติไม่รุนแรง แต่อาจส่งผลต่อพัฒนาการเด็กได้    สาเหตุส่วนสำคัญคือความเครียด (toxic stress)    และบางคนเผชิญเหตุการณ์ที่สร้างบาดแผลทางใจ ทำให้ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคก้าวร้าวรุนแรง ซึ่งยิ่งเป็นการทำร้ายเด็กยิ่งขึ้นอีก    ตัวอย่างเช่น ผลการวิจัยชิ้นหนึ่งบอกว่า ในเด็กที่ไปรับการรักษาที่ คลินิกเด็ก ของโรงพยาบาลประจำนครบอสตัน ร้อยละ ๑๐ เคยเผชิญเหตุการณ์ยิงหรือแทงด้วยตนเองก่อนอายุ ๖ ขวบ   

นอกจากนั้นในสหรัฐอเมริกา มีเด็ก ๑๕ ล้านคน อยู่ในบ้านที่พ่อหรือแม่เป็นโรคซึมเศร้าขั้นรุนแรง    ผลการวิจัยแม่ในนคร นิวฮาเวน รัฐคอนเน็คติกัต  พบว่าหนึ่งในสามเป็นโรคซึมเศร้า    และเด็กที่ไปเข้าศูนย์เด็กอายุ ๒ ขวบ (โครงการ Early Head Start) เกือบร้อยละ ๔๐ มีความอ่อนแอด้านความผูกพัน (attachment) กับแม่    ส่อสัญญาณว่า จะมีเด็กจำนวนมากเติบโตขึ้นเป็นคนมีปัญหา    และยิ่งกว่านั้น พบว่าพนักงานดูแลเด็กเล็กเองมีอุบัติการณ์ของโรคซึมเศร้าและปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ มากกว่าคนทั่วไป    ทั้งหมดนี้สะท้อนสภาพความเครียดทางจิตใจที่เด็กเล็กอเมริกันจำนวนมากกำลังเผชิญอยู่   

สถานการณ์ในสังคมไทยเรา เป็นอย่างไร? 

การให้ความสำคัญต่อชีวิตด้านในของเด็กเล็กเป็นเรื่องสำคัญยิ่งในการเลี้ยงและดูแลเด็ก  

ปัญหาสำคัญคือเป็นธรรมชาติของผู้ใหญ่ ที่ “ไม่ให้คุณค่าต่อสิ่งที่มองไม่เห็น  และเมื่อเราไม่เห็น เราก็ไม่ให้คุณค่า”  (What we don’t see, we don’t value; and what we don’t value, we don’t see.)    

เขาอ้างถึงผลการวิจัยศึกษาวิธีเลี้ยงเด็กอายุ ๒ - ๓ ขวบ ของชนเผ่าเอสกิโม (Inuit)  โดยการกระตุ้นความคิด ด้วยการถามคำถามที่ก่อความสะเทือนใจ เช่น ทำไมเธอไม่ตายเสีย ฉันจะได้เอาเสื้อตัวใหม่ของเธอ    ทำไมเธอไม่ฆ่าน้องที่นอนแบเบาะของเธอ  

เขาเล่าความกล้าหาญของศูนย์เด็กเล็กที่ผู้เขียนเคยทำงาน  ที่ริเริ่มโครงการ “สร้างเรื่องราวจากสิ่งที่พบเห็น”    ให้เด็กให้คำอธิบายเรื่องราวของสิ่งที่ไปพบเห็น  เพื่อทำให้การเรียนรู้ของเด็ก “ปรากฏแก่สายตา” (visible)    เช่นเมื่อไปเห็นประติมากรรม the fallen knight   ครูก็ตั้งคำถามว่า อัศวินไปที่นั่นได้อย่างไร  เรื่องราวของอัศวินเป็นอย่างไร  ตามมาด้วยคำถามอื่นๆ    ทั้งหมดนั้นเป็นแบบฝึกหัดให้เด็กเรียนโดยการคิด    ผิดถูกไม่สำคัญ  สำคัญที่ได้ฝึกคิด และฝึกฟังความคิดเของเพื่อนๆ   

แนวคิดเช่นนี้ นำไปสู่ place-based education    ที่เด็กเล็กได้เรียนจากเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น    ไม่ใช่เรียนตามข้อกำหนดของผู้คิดมาตรฐานการเรียนของเด็กเล็กที่กำหนดว่า วันจันทร์ให้เรียนรู้จาก ...   วันอังคารเรียนรู้จาก ...  ฯลฯ    ซึ่งเป็นการเรียนที่ขาดความเชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อมทางกายภาพของเหตุการณ์จริง   

การเรียนรู้จากเหตุการณ์จริง ในสถานที่จริง  ภายใต้เงื่อนไขที่ถูกต้อง ช่วยให้เด็กได้ฝึกการคิดระดับสูง (Higher Order of Thinking)    การศึกษาเด็กเล็กที่ดี ต้องจัดสถานการณ์เช่นนั้นให้เกิดขึ้นบ่อยๆ   

ทั้งหมดนั้น เท่ากับว่า ต้องจัดสถานการณ์การเล่นของเด็กเล็กให้ปลอดจากการครอบงำของธุรกิจ 

 

มิติด้านอารมณ์

มิติด้านอารมณ์กับการเรียนรู้ของเด็กเล็ก มีหลายด้าน    ด้านแรกคือการเรียนรู้ด้านอารมณ์ เพื่อวางรากฐานสุขภาวะทางอารมณ์ให้แก่เด็ก  ด้านที่สองคือการสร้างสภาพอารมณ์ของเด็กให้เอื้อต่อการเรียนรู้  และด้านที่สามคือการตรวจสอบสภาพทางอารมณ์ของครู เพื่อให้ครูอยู่ในอารมณ์ที่เหมาะต่อการทำหน้าที่จัดการเรียนรู้แก่เด็ก

 มีเด็กที่มีปัญหาทางอารมณ์ เป็นเด็กก้าวร้าว  ที่มีโอกาสสูงที่จะถูกให้ออกจากโรงเรียน    ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย เยล ชื่อ Walter Gilliam คิดวิธีช่วยเหลือเด็กเหล่านี้โดยจัดบริการให้คำปรึกษาในชั้นเรียนเด็กเล็กในรัฐคอนเน็คติกัต    พบว่าช่วยให้ครูลดปัญหาเด็กก้าวร้าวลงไปได้    แต่วิธีให้คำปรึกษาในสภาพจริงนี้ไม่สามารถครอบคลุมชั้นเด็กเล็กทั้งหมดได้   

นอกจากนั้น ครูยังอยู่ภายใต้ข้อกำหนดให้ใช้วิธีจัดการชั้นเรียนเพื่อจัดการอารมณ์ของเด็กหลายรูปแบบ   โดยใช้เวลาสัปดาห์ละ ๒๐ - ๓๐ นาทีเช่นลดความโกรธด้วยเทคนิคเต่า (หดหัวเข้ากระดอง เพื่อไม่ต้องเผชิญเรื่องกวนอารมณ์)    บางวิธีการก็มีหลักฐานยืนยันว่าได้ผลดี    แต่ส่วนใหญ่ผลไม่ชัดเจน  

การที่วงการศึกษาเด็กเล็กเอาใจใส่ชีวิตด้านสังคมและอารมณ์ของเด็กเป็นเรื่องดียิ่ง    แต่การแยกส่วนเรื่องนี้เป็นเวลาเรียนเฉพาะเรื่องอารมณ์น่าจะไม่ถูกต้อง    การเรียนรู้ด้านอารมณ์น่าจะบูรณาการอยู่ในทุกส่วนของการเรียนรู้ของเด็ก   ตามหลักการ “อารมณ์คือหลักสูตรชั้นเด็กเล็ก” (emotion is curriculum)   การเรียนรู้ทั้งหมดของเด็กเล็กเป็นพัฒนาการด้านอารมณ์

วิธีการที่ผิดพลาดนี้เอง ที่เป็นตัวก่อปัญหา    และนำไปสู่ความละเลยที่จะสร้างพื้นที่เรียนรู้ที่ถูกต้องให้แก่เด็ก   ตามหลักการ “สภาพแวดล้อมของเด็กเล็กคือหลักสูตร” (the young child’s environment is the curriculum)    เพื่อพัฒนาการทางอารมณ์ของเด็ก    การริเริ่มใดๆ เกี่ยวกับการเรียนรู้ด้านสังคม-อารมณ์ของเด็กที่ไม่เชื่อมโยงหรือบูรณาการกับวัฒนธรรมในชั้นเรียน เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง  เป็นการเสียเวลาและค่าใช้จ่ายแบบสูญเปล่า  

สำหรับเด็กเล็ก หลักสูตรมีความสำคัญน้อยกว่าบรรยากาศของความรักและความผูกพันระหว่างครูกับศิษย์

 

เอาการทดสอบออกไป

ปัญหาคือชั้นเรียนเด็กเล็กค่อยๆ เหมือนชั้นเรียนระดับประถมเข้าไปทุกที   คือมีการตั้งเป้าหมายการเรียนรู้ทางวิชาการ    ทำให้บรรยากาศชั้นเรียนเป็นพิษต่อพัฒนาการเด็กเล็ก    มีการสร้างความเครียดแก่เด็กโดยไม่จำเป็นจากการทดสอบ   

สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับชีวิตวัยเด็กเล็กคือ จินตนาการ   ชั้นเรียนเด็กเล็กต้องเป็นพื้นที่ส่งเสริมจินตนาการของเด็ก    ไม่ใช่พื้นที่ดับจินตนาการอย่างในปัจจุบัน   

จินตนาการ (imagination) เป็นเส้นทางสู่ความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (empathy)    เมื่อเด็กเหยียบเท้าเพื่อน เด็กต้องจินตนาการความรู้สึกของเพื่อนออก  จึงจะเข้าใจความรู้สึกของเพื่อน   จินตนาการจึงเป็นเส้นทางสู่พัฒนาการทางอารมณ์  

นี่คือชีวิตด้านในของเด็กเล็ก ที่จะต้องมีการปกป้องให้เด็กได้มีพื้นที่และเวลาสำหรับพัฒนาตนเอง

ชีวิตด้านในที่เชื่อมโยงกับจินตนาการคือความเพ้อฝัน (fantasy)    ความเพ้อฝันของเด็กนำไปสู่ความอยากรู้อยากเห็น (curiosity)   และการค้นคว้า ทดลอง เพื่อหาคำตอบ จากธรรมชาติจริง ชีวิตจริง    ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่ดีกว่าอ่านจากหนังสือหรือสื่ออื่นๆ    

จุดอ่อนของการศึกษาเด็กเล็กในปัจจุบัน คือเน้นเฉพาะ ความจริง หรือข้อเท็จจริง    ละเลยจินตนาการ และความเพ้อฝัน  

 

นิทานสำหรับเด็ก

นิทานสำหรับเด็กมีทั้งที่คุณภาพดี และคุณภาพไม่ดี    นิทานคุณภาพดีมีทั้งที่เป็นนิทานอมตะ และที่แต่งขึ้นใหม่ในสมัยปัจจุบัน    สำหรับเด็กเล็กมักเป็นนิทานภาพ สำหรับให้ผู้ใหญ่อ่านให้เด็กฟัง เพราะเด็กเล็กยังอ่านหนังสือไม่ออก  

บริบทสำหรับการเรียนรู้ของเด็กเล็กเป็นบริบทที่ช่วยให้เด็กเชื่อมโยงกับโลกของตนเองได้    แต่ในขณะเดียวกันเด็กก็ต้องการบริบทสมมติที่เปิดมุมมองใหม่ๆ ที่เด็กเชื่อมโยงกับตนเองได้   นี่คือธรรมชาติของมนุษย์ที่มีตลอดชีวิต   ดังกรณีผู้ใหญ่อ่านนวนิยาย ก็เพื่อเชื่อมโยงโลกของตนเองกับบริบทใหม่ๆ ที่ตนอาจจะไม่คุ้นเคย   

นิทานอมตะสำหรับเด็กอาจมีบริบทที่แตกต่างจากชีวิตในปัจจุบันมาก   ผู้ใหญ่อาจช่วยอธิบายความแตกต่างนั้นให้เด็กเห็น   เช่นเป็นเรื่องราวผจญภัยของเด็กผู้ชายทั้งสิ้น   ครูอาจเริ่มต้นอธิบายก่อนอ่านนิทาน   ว่าสมัยร้อยปีก่อน เด็กผู้หญิงไม่มีโอกาสได้ใช้ชีวิตอิสระเท่าเทียมกับเด็กผู้ชายอย่างในสมัยนี้    แล้วจึงอ่านนิทาน  

การอ่านนิทานให้เด็กฟัง เป็นการเปิดจินตนาการให้แก่เด็ก    ผมมีความเห็นว่า ผู้อ่านควรหยุดเป็นช่วงๆ  และชวนเด็กคิด ว่าตนมีมมุมมองต่อเหตุการณ์ หรือตัวละคร ในนิทานส่วนที่อ่านมาแล้วอย่างไรบ้าง    นี่คือการทำ กิจกรรมสะท้อนคิด (reflection) ฝึกการคิดให้แก่เด็ก    รวมทั้งฝึกฟังความคิดของเพื่อนที่อาจคิดต่างจากตนเองด้วย  

 

คุณธรรมในนิทาน

นิทานที่เด็กชอบคือนิทานคุณธรรมที่ผู้แต่งแต่งเก่ง    เพราะเด็กมีธรรมชาติรักความยุติธรรมและความเป็นธรรม   ผู้เขียนเล่าประสบการณ์อ่านนิทานอมตะเรื่อง Big Bad Bruce (1) ให้เด็กเล็กฟัง    เด็กๆ ตื่นเต้นและชอบตอนจบ ที่หมียังคงสภาพโดนแม่มดสาปให้มีตัวเล็กเท่าหนู    ที่ไม่สามารถไปรังแกสัตว์อื่นได้อีก อย่างสมัยมีร่างกายกำยำใหญ่โต    

 

ความลับของวัยเด็กคือ เด็กมีธรรมชาติ “ตีสองหน้า”   หน้าหนึ่งเด็กเป็นคนอ่อนแอ ต้องการความช่วยเหลือ   อีกหน้าหนึ่งเด็กมีพลัง ต้องการเป็นตัวของตัวเอง    วัยเด็กเป็นวัยของการอยู่ใต้ปกครอง     และในขณะเดียวกัน เป็นวัยที่ต้องการอิสระ  

วิจารณ์ พานิช        

๑๕ เม.ย. ๖๑


 

 

หมายเลขบันทึก: 648877เขียนเมื่อ 11 กรกฎาคม 2018 21:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กรกฎาคม 2018 21:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ฝรั่งเล่าเรื่องของลูกลิง ..ที่เรียนรู้ตลอดเวลาที่อยู่ติดอก กับแม่ของมัน..วิธีตกมดมากินหรือเอาหินมาทุบเปลือกเมล็ดผลไม้..สัญชาติญาณการเรียนรู้ โดยธรรมชาติคนหมดไป…..ในสากลโลก…น่าเสียดาย…“วิธีง่ายดายแบบนั้น”……..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท