ดูงานด้านการศึกษาที่สิงคโปร์ : 6. เยี่ยมชมหอสมุดสาธารณะ



เช้าวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๖๑ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการดูงาน   เขาว่างครึ่งวันเช้าไว้ให้นักช็อปปิ้ง    คนช็อปไม่เป็นชวนกันไปชมหอสมุดสาธารณะ   นัดนั่งแท็กซี่จากโรงแรมตอน ๙.๓๐ น.   นั่งรถไป ๑๕ นาทีก็ถึง    ยังไม่ถึงเวลาเปิด ๑๐.๐๐ น.   จึงได้สำรวจพื้นที่ด้านนอก    และเมื่อเข้าไปข้างใน เราได้ไปเห็นกลไกพัฒนาสังคมสิงคโปร์สู่อนาคต    ที่เศรษฐกิจของประเทศเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 

หอสมุดแห่งนี้เป็น Central Public Library (1) ที่ใหญ่โตกว้างขวางมาก    โปรดเข้าไปดูเว็บไซต์ของเขา จะสัมผัสกระบวนทัศน์การจัดการหอสมุดที่เราไม่คุ้นเคย    คือเขาทำงานเชิงรุก เพื่อดึงดูดคนทุกวัยเข้าใช้บริการ   

เมื่อเราเข้าไปก็ประจักษ์ว่า นี่ไม่ใช่หอสมุดแบบสัพเพเหระสำหรับชาวบ้านทั่วไป    เป็นหอสมุดวิชาการ  ที่คนจำนวนหนึ่งไปค้นคว้าอย่างจริงจัง    แต่ก็มีมุมเด็ก และมุมอื่นๆ ด้วย เช่นมุมจินตนาการ  มุมสร้างสรรค์    ผมเดาว่าอาคารนี้เป็นอาคารของกลุ่มหน่วยงานบริการสังคมสิงคโปร์ให้เป็นสังคมแห่งยุค ๔.๐   ที่เน้นความสร้างสรรค์    เช่น Drama Centre, Reference Library    ผมตื่นตาตื่นใจกับห้องที่คิดป้ายว่า Imagination Room, Possibility Room    ซึ่งปิดอยู่    ผมย่องเข้าไปใน Imagination Room  โดยอ้างกับตัวเองว่า เขาไม่ได้ติดป้ายห้ามเข้า     ไปเจอโปสเตอร์ ความรู้ ๕ ด้านคือ Imagination Knowledge, Possibilities Knowledge, Collaboration Knowledge, Creativity Knowledge, และ Innovation Knowledge    เสียดายที่ผมไม่ได้ลองสำรวจต่อ 

มี นิทรรศการ From Books to Bytes : The Story of the National Library บอกวิวัฒนาการของหอสมุดแห่งชาติที่วิวัฒนาการมาในเวลาเกือบ ๒๐๐ ปี   ที่น่าค่อยๆ ละเลียดชม   แต่เราไม่มีเวลา ผมจึงใช้ทักษะการชมพิพิธภัณฑ์ คือถ่ายรูปมาดูทีหลัง    มาพบคำคมที่สะท้อน Growth Mindset ของบรรณารักษ์คือ Librarians are not made, they grow (Augustine Birrel, 1850 – 1933)    และข้อมูลว่าเดิมหอสมุดเป็นส่วนหนึ่งของ Singapore Institution ที่มีวัตถประสงค์ส่งเสริมการแพร่กระจายความรู้เพื่อชีวิตที่ดีในทางโลก ขยายสติปัญญา ศีลธรรม และความสุขทางจิตวิญญาณของพลเมืองสิงคโปร์  

สิงคโปร์มีรากฐานทางปัญญาและจิตวิญญาณสาธารณะมากว่า ๑ ศตวรรษ   

นอกจากนั้น ภายในส่วนที่เป็นห้องสมุดให้บริการหนังสือ เอกสาร และการค้นคว้าผ่านไอที ก็มีมุม Eye on Asia   ที่สะท้อนว่าสิงคโปร์ให้ความสำคัญต่อความเคลื่อนไหวในเอเชีย    เพื่อนำความรู้มาใช้พัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางของเอเชีย (อย่างน้อยก็บางด้าน)

ที่นั่งอ่านหนังสือมีหลายแบบ    มีส่วนที่เป็นโซฟานั่งสบายมาก    ผมไปพบหนังสือที่อยากได้มานาน ชื่อ How to Visit an Art Museum  จึงถ่ายรูปมาทั้งเล่ม เอามาอ่านทีหลัง    เขาบอกว่าถ่ายรูปหนังสือ และในห้องสมุดได้ แต่อย่าถ่ายคน   

ผมตั้งใจว่าจะกลับไปสิงคโปร์เองเพื่อชมสถานที่แบบนี้ลงรายละเอียดทีหลัง         

วิจารณ์ พานิช        

๑๔ พ.ค. ๖๑


 

หมายเลขบันทึก: 648101เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2018 21:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2018 21:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท