ซ่างโบราณ เล่าขานคนเขื่องใน


ข้อมูลจากการบอกเล่า แม้จะเป็นหลักฐานที่ไม่น่าเชื่อถือเท่าใดนัก หากแต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของการเรียบเรียงและรวบรวมของมูลท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี อย่างน้อย ๆ ข้อมูลเหล่านี้ก็เป็นความทรงจำและคำบอกเล่าที่ถูกกกถ่ายทอดมาแต่อดีต

ซ่างโบราณ  เล่าขานคนเขื่องใน


             “ขุดน้ำบ่อ  ก่อศาลา”  เป็นหยาบเว้าที่ชาวอีสานมักคุ้นชินกันอยู่เสมอ  เพราะมีความหมายที่แฝงอยู่หลายนัยด้วยกัน ทั้งการทำบุญกุศลที่ต้องทำบ่อน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภคของคนทั่วไป สร้างศาลาให้เป็นที่พักของคนที่สัญจรไปมา  หรืออีกนัยหนึ่งหยาบเว้านี้กำลังเล่าเรื่องราวของการตั้งถิ่นฐานและชุมชนของผู้คนในอดีต  โดยเฉพาะชาวอีสาน

(ซ่างโบราณบ้านดู่น้อย  ตำบลศรีสุข  อำเภอเขื่องใน  จังหวัดอุบลราชธานี  ถ่ายเมื่อ 29 พฤษภาคม 2561)

            จากการที่ผู้เขียนได้ลงสำรวจและสัมภาษณ์ประวัติความเป็นมาของชุมชนต่าง ๆ ในอำเภอเขื่องใน  ทำให้เห็นถึงความเกี่ยวโยงของวิถีชีวิตและแหล่งน้ำ การตั้งหมู่บ้านของกลุ่มคนในชุมชนต่าง ๆ มักเลือกพื้นที่เนิน หรือโคก  ที่เรียกในภาษาอีสานว่า “โนน”  พร้อมกันนั้นหลังจากตั้งหลักแหล่งเสร็จแล้วจะมีการขุดบ่อน้ำไว้ใช้

            บ่อน้ำ ที่ได้กล่าวมานี่เอง  มีความน่าสนใจอย่างยิ่งเพราะจากการสำรวจชุมชนต่าง ๆ เช่น บ้านคำสมอ บ้านดู่น้อย  บ้านยางขี้นก  บ้านศรีสุข  บ้านสร้างถ่อและอีกหลายชุมชนในอำเภอเขื่องใน  ล้วนมีบ่อน้ำ  ที่ชาวอีสานเรียกว่า “ ซ่าง”  แทบทุกชุมชน

            ซ่าง (well) เป็นคำนามหมายถึง บ่อน้ำหนาดเล็ก ลึกบ้าง ตื้นบ้าง ซึ่งอาจเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือทางการขุดขึ้น (สมัยก่อน ประปา บาดาล ยังไม่มี )ในความรู้สึกของคนทางภาคอีสาน ส่างจะเป็นบ่อน้ำที่นำมาใช้อุปโภค บริโภค (น้ำดื่ม น้ำใช้) จะมีเกือบทุกหมู่บ้าน ซึ่งแต่ก่อนจะไม่ค่อยมีมากนัก เพราะฉนันแล้วส่างจะเป็นที่ให้น้ำใช้แก่หมู่บ้านนั้นๆ ตกเย็น บ่าว สาว จะพากันไปรวมกันที่ส่างเพื่อนำน้ำมาใช้ที่โดยมี ถังหาบ(หาบคุ) เป็นอุปกรณ์ในการลำเลียงน้ำ และส่างนั้นแหละเป็นที่จีบ หยอกล้อกัน ของหนุ่มสาว สมัยนั้น หากพินิจรูปลักษณ์และการก่อสร้าง  ผนวกกับคำบอกเล่าจะเห็นได้ว่า  ซ่างถูกขุดขึ้นพร้อมกับการตั้งหมู่บ้าน  หรือบางคราวอาจขุดขึ้นก่อนการตั้งหมู่บ้าน ตามคำบอกเล่าของคนในชุมชน

(ซ่างโบราณบ้านคำสมอ  ตำบลยางขี้นก  อำเภอเขื่องใน  จังหวัดอุบลราชธานี  ถ่ายเมื่อ 28 ธันวาคม 2560)

            ข้อมูลจากการบอกเล่า แม้จะเป็นหลักฐานที่ไม่น่าเชื่อถือเท่าใดนัก  หากแต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของการเรียบเรียงและรวบรวมของมูลท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี  อย่างน้อย ๆ ข้อมูลเหล่านี้ก็เป็นความทรงจำและคำบอกเล่าที่ถูกกกถ่ายทอดมาแต่อดีต  ดังเช่นในพื้นที่อำเภอเขื่องใน  หาใช่พื้นที่ที่ไม่มีคนอยู่อาศัยเลย  หลายชุมชนมีการเคลื่อนย้ายลงมาตั้งถิ่นฐานพร้อมกับกลุ่มของพระวอ – พระตา  และอีกหลายชุมชนเป็นการอยู่ร่วมกันของคนพื้นเมืองเดิมและกลุ่มจากหนองบัวลำภู  ผสมกลมกลืนเป็นชุมชนเดียวกัน  ซึ่งเราไม่สามารถระบุลงไปได้ว่า  เป็นคนตระกูลภาษาอะไร แต่คำบอกเล่าในหลายชุมชนก็เป็นเบาะแสว่า  มีคนส่วยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวก่อนกลุ่มจากหนองบัวลำภูอยู่แล้ว  เช่น  บ้านคำสมอ มีกลุ่มคนเลี้ยงช้างอาศัยอยู่บริเวณนี้แต่เดิม  บ้านทุ่งใหญ่  เป็นกลุ่มชนที่มีชาวส่วยอาศัยอยู่เป็นเจ้าของถิ่น  ด้วยเหตุดังนี้ “ซ่าง”  หลายแห่งน่าจะสร้างขึ้นก่อนการตั้งชุมชน

            หากสันนิษฐานอายุโดยทั่วไป โดยยึดรูปแบบการสร้างและคำบอกเล่าที่ยังเห็นเค้าลางของคนขุด  ซ่างเหล่านี้มีอายุประมาณ 200 ปีเป็นอย่างต่ำ หรือในช่วงพุทธศตวรรษที่ 24  การขุดซ่าง  หรือบ่อน้ำของคนในอำเภอเขื่องใน  เริ่มต้นโดยการขุดลงไปในพื้นที่ที่คิดว่าจะมีน้ำ  เมื่อขุดถึงตาน้ำก็จะนำอิฐมาเรียงไปตามขอบบ่อจนสุด  ทำให้ดินขอบบ่อไม่พังทลาย ถือเป็นภูมิปัญญาที่น่าจะต้องศึกษาค้นคว้ากันต่อไป 

            รูปลักษณะที่ค้นพบโดยมาก  จะเป็นทรงกลม จากพื้นแต่ก็มีบางแห่งที่เป็นรูปสี่เหลี่ยม  ไม่กว้างเท่าใดนักเช่นที่ บ้านดู่น้อย  อำเภอเขื่องใน  จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมกันนั้นบางแห่งเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อกันว่าเคยใช้บนบานศาลกล่าว ที่บ้านคำสมอ  ตำบลยางขี้นก  อำเภอเขื่องใน  จังหวัดอุบลราชธานี  คุณพ่อผู้ใหญ่บ้านบอกว่า สมัยอดีตถ้าจะกินน้ำสาบาน  ต้อมากินที่นี่เพราะศักดิ์สิทธิ์มากและถ้าหากจะสรงน้ำ  พระพุทธรูปวัดบ้านยางขี้นก  ก็จะตักน้ำจากที่นี่เช่นเดียวกัน  เพราะเชื่อว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์

            บ่อน้ำ (ซ่าง) หลายคนอาจมองข้าม แต่ถ้าหากเราได้นำสิ่งเหล่านี้มาพิจารณาจะเห็นความสัมพันธ์ของคนกับน้ำ ว่าต้องมีการพึ่งพาซึ่งกันและกัน  คนต้องอาศัยน้ำอุปโภคบริโภค หากแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ชุมชนก็จะขยายตัวใหญ่ขึ้นตามลำดับ ในอำเภอเขื่องในก็เช่นเดียวกัน ดังนั้นสิ่งสำคัญที่เราควรพิจารณาไปพร้อมกันด้วยกับการก่อตั้งชุมชนก็คือแหล่งน้ำนั่นเอง

หมายเลขบันทึก: 648051เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2018 10:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2018 10:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

คลิกเข้ามาอ่านเพราะสงสัยว่า ทำไมบันทึกนี้มีคนอ่านถึงเกือบ ๗๐๐ ภายในวันเดียว ....ไม่ผิดหวังครับ

ขอบคุณอาจารย์มากเลยครับ

มี “ซ่างน้ำกิน” ของบ้านยางขี้นก อยู่ ระหว่างทางเลี้ยวเข้าไป บ้านผักแว่นหน่ะครับ สมัยก่อน ตอนเย็นจะมีสาว ๆ ไปตักน้ำดื่ม (ซ่างน้ำกิน) ทุกเย็น โดยมีหนุ่ม ๆ จะแวะเวียนไปเดินตามจีบสาว อยู่เป็นประจำทุกเย็น ตรงนั้นเลยบ้านเก่าของพ่อใหญ่แอ๋ สมัยก่อนก่อนแกจะย้ายเข้าไปอยู่ที่หมู่ 1 ผมเข้าใจว่าทุกวันนี้น่าจะยังอยู่นะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท