​การรักษาความลับ ป้องกันข้อขัดแย้ง


การให้ข้อมูลสำคัญเพื่อประกอบการตัดสินใจในเรื่องที่มีความสำคัญ เป็นเรื่องที่ต้องทำ แต่ต้องทำอย่างระมัดระวัง ให้มีความชัดเจนว่า ไม่ได้มีเจตนากลั่นแกล้งตัวบุคคล ไม่ได้เกิดจากข้อขัดแย้งส่วนตัว แต่เป็นการให้ข้อมูลที่มีหลักฐานชัดเจนเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม โดยผู้ให้ข้อมูลต้องย้ำกับประธาน และที่ประชุม ว่าการประชุมนี้เป็นการประชุมลับและกรรมการทุกคนต้องรักษาความลับได้ มิฉะนั้นตนก็จะไม่พูด

การรักษาความลับ ป้องกันข้อขัดแย้ง 

ในการทำหน้าที่เป็นผู้ใหญ่ให้แก่บ้านเมือง เช่นเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย เป็นกรรมการตัดสินเรื่องต่างๆ และหน้าที่อื่นๆ การรักษาความลับเป็นสิ่งสำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง     แต่สังเกตเห็นว่าในสังคมไทย คนส่วนหนึ่งมีโอกาสทำหน้าที่เหล่านั้น แต่รักษาความลับไม่ได้   หรือบางกรณีอาจจงใจเอาความลับไปปูด 

คนที่ต้องการทำหน้าที่กรรมการให้ดีที่สุด บางครั้งก็ต้องให้ข้อมูลเชิงลบ ต่อคนบางคนหรือบางองค์กร/หน่วยงาน   สำหรับใช้ข้อมูลนั้นประกอบการพิจารณาตัดสินใจของคณะกรรมการ    การให้ข้อมูลเชิงลบเช่นนี้ต้องระมัดระวังมาก    เพราะอาจมีคนบันทึกเสียงไว้   และอาจมีการนำไปฟ้องร้องต่อศาลฐานหมิ่นประมาท    

ในการประชุมกรรมการสภามหาวิทยาลัย ก วาระประชุมลับ   มีการนำเสนอผลการพิจารณาเรื่องหนึ่งของคณะกรรมการ ข  ที่สภาแต่งตั้ง    หลังการนำเสนอ กรรมการสภาท่านหนึ่ง (สมมติว่า ชื่อ ค) แจ้งต่อที่ประชุมว่า    ในการประชุมคณะกรรมการ ข  มีนาย ง กล่าวต่อที่ประชุมว่านาย ค มีเรื่องถูกกล่าวหาอยู่ใน ปปช.  ซึ่งไม่เป็นความจริง    นาย ค ยืนยันว่าตนไม่มีเรื่องถูกกล่าวหาใน ปปช. แต่อย่างใด    ตนต้องการให้บันทึกข้อความนี้ไว้ และขอให้ลงในรายงานการประชุมที่เปิดเผย   ไม่เป็นรายงานการประชุมลับ   

ประธานคณะกรรมการ ข  แจ้งต่อที่ประชุมว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการ ข ได้ตกลงกันแล้วว่า การประชุมนั้นเป็นการประชุมลับ   เพราะจำเป็นต้องพิจารณาคุณสมบัติของบุคคลจำนวนมาก และมีทั้งข้อมูลเชิงบวกและเชิงลบ   เพื่อป้องกันความเสียหายของผู้ถูกกล่าวถึง จึงต้องตกลงกันว่าเป็นการประชุมลับ   การที่นาย ค ได้รับรู้เรื่องที่พูดกันในที่ประชุมคณะกรรมการ ข  จึงต้องมีกรรมการอย่างน้อย ๑ คนในคณะกรรมการ ข นำเรื่องที่พูดไปเปิดเผยต่อนาย ค   แต่เป็นการสื่อสารที่ผิดพลาด เพราะในที่ประชุมไม่มีการกล่าวข้อมูลว่านาย ค ถูกร้องเรียนต่อ ปปช. เลย    

นักกฎหมายใหญ่ของบ้านเมืองท่านหนึ่งที่เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย ก ด้วย ให้ความเห็นใน ๓ ประเด็นคือ  

(๑) การปกป้องสิทธิการถูกกระทบของผู้เสียหาย    ในกรณีนี้การบันทึกข้อความตามที่นาย ค ขอให้บันทึกลงในรายงานการประชุมสภา จึงเป็นเรื่องสมควร   

(๒) การคุ้มครองความลับ    เนื่องจากการประชุมคณะกรรมการ ข เป็นการประชุมลับ   จึงต้องมีการคุ้มครองความลับ  การนำสาระสืบเนื่องจากการประชุมดังกล่าวลงในรายงานการประชุมแบบเปิดเผยจึงไม่สมควร    การบันทึกข้อความตาม (๑) จึงต้องอยู่ในรายงานลับ   

(๓) การถูกกล่าวหา ไม่ถือเป็นหลักฐานว่าผู้ถูกกล่าวหามีความผิดจริง   จึงไม่สมควรนำมาเป็นหลักฐานตัดสิทธิหรือโอกาสต่างๆ   ท่านยกตัวอย่างหลายกรณี ที่บุคคลที่มีชื่อเสียง ที่ถูกกล่าวหา เพื่อกลั่นแกล้งไม่ให้ได้รับการสรรหาให้ดำรงตำแหน่งสำคัญ    มีการพิจารณาลงมติว่า ข้อกล่าวหายังไม่ใช่คำตัดสินของศาลว่าผิด  จึงไม่มีผลต่อการพิจารณาของคณะกรรมการสรรหา    

นำมาเล่าไว้ เพื่อให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยอื่นได้เรียนรู้      

ผมมีความเห็นว่า การให้ข้อมูลสำคัญเพื่อประกอบการตัดสินใจในเรื่องที่มีความสำคัญ เป็นเรื่องที่ต้องทำ   แต่ต้องทำอย่างระมัดระวัง   ให้มีความชัดเจนว่า ไม่ได้มีเจตนากลั่นแกล้งตัวบุคคล   ไม่ได้เกิดจากข้อขัดแย้งส่วนตัว    แต่เป็นการให้ข้อมูลที่มีหลักฐานชัดเจนเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม    โดยผู้ให้ข้อมูลต้องย้ำกับประธาน และที่ประชุม ว่าการประชุมนี้เป็นการประชุมลับและกรรมการทุกคนต้องรักษาความลับได้ มิฉะนั้นตนก็จะไม่พูด   

วิจารณ์ พานิช           

๒๙ พ.ค. ๖๑  

 

หมายเลขบันทึก: 647887เขียนเมื่อ 3 มิถุนายน 2018 18:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2018 18:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท