ดูงานดานการศึกษาที่สิงคโปร์ : 1. BAR



สถาบันอาศรมศิลป์ร่วมกับภาคีปฏิรูปการศึกษา ได้แก่ มูลนิธิสยามกัมมาจล,  ทีดีอาร์ไอ,  อบจ. ระยอง,    บริษัทสถาปนิกอาศรมศิลป์,  สกว.,  และนักศึกษาสาขาวิชาศึกษาศาสตร์ของสถาบันอาศรมศิลป์    จัดการศึกษาดูงานประเทศสิงคโปร์ ในมุมมองของการจัดการเมืองแห่งการศึกษา    ระหว่างวันที่ ๒๒ - ๒๕ เมษายน ๒๕๖๑   ผมมีโอกาสร่วมไปด้วย ๒ วัน คือวันที่ ๒๔ และ ๒๕  

คณะดูงานชุดนี้มีถึง ๕๑ คน   เป็นทีมจากสถาบันอาศรมศิลป์ ๒๔ คน    ทีมจังหวัดระยอง ๑๒ คน     

ในวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๖๑  สถาบันอาศรมศิลป์เชิญผู้ร่วมเดินทางไปประชุมที่สถาบันระหว่างเวลา ๑๕.๐๐ - ๑๘.๐๐ น.  เพื่อฟังการบรรยายเรื่อง สิงคโปร์สร้างชาติได้อย่างไร    โดย ดร. ดามพ์ สุคนธทรัพย์    ช่วยให้ทีมเดินทางดูงานรู้จักประเทศสิงคโปร์มากขึ้น    และเห็นได้ชัดเจนว่าปัจจัยหนึ่งที่เป็นพลังความก้าวหน้าของสิงคโปร์คือการศึกษา

หลังจากนั้นเป็นรายการ BAR (Before Action Review) โดยผมทำหน้าที่วิทยากรกระบวนการ    ตั้งคำถาม ๒ ข้อ ให้ผู้ร่วมดูงานตอบจากใจของตนเอง คือ  (๑) เป้าหมายของการไปดูงานครั้งนี้คืออะไรบ้าง  (๒) จะเอาสิ่งที่ได้เรียนรู้จากสิงคโปร์คราวนี้ กลับมาทำอะไร   

สรุปประเด็นจาก BAR อ่านได้ ที่นี่ และ ที่นี่ 

ผมได้ BAR ไว้ดังนี้   เป้าหมายไปเรียนรู้ ๓ ข้อ (๑) ฟังจาก ดร. ดามพ์ สิงคโปร์มีแนวทางพัฒนาประเทศเปลี่ยนเป็นช่วงๆ  อยากไปเรียนรู้ว่า จัดการศึกษาสนองการพัฒนาประเทศแตกต่างกันอย่างไร  (๒) คำว่า “การศึกษา” ตามข้อ ๑ ต้องครอบคลุมออกไปนอกกลุ่มอายุเข้าเรียนในโรงเรียน และมหาวิทยาลัย   อยากรู้ว่าเขาจัดสำหรับกลุ่มผู้ใหญ่อย่างไร  (๓) สำหรับกลุ่มเด็กและเยาวชน  เป็นที่รู้กันว่า การศึกษาในชั้นเรียนเป็นเพียง ๑/๓ ของการเรียนรู้ทั้งหมด    อยากไปเรียนรู้ว่าเขาจัดการศึกษาส่วน ๒/๓ อย่างไรบ้าง     จะเอาความรู้ที่ได้กลับมาเผยแพร่แก่สังคมไทย    และหาทางสนับสนุนการดำเนินการปฏิรูปการศึกษาที่ดำเนินการโดยกลุ่มที่ไม่เป็นทางการ  


มีเอกสารแจก ๓ ชุดคือ (๑) สิงคโปร์ ในมุมมองของการจัดการเมืองแห่งการศึกษา  ระหว่างวันที่ ๒๒ - ๒๕ เมษายน ๒๕๖๑    เป็นเอกสารประกอบการเดินทางและดูงาน    ให้ความรู้ย่อๆ เกี่ยวกับประเทศสิงคโปร์และสถานที่สำคัญต่างๆ   (๒) “An Economic History of Singapore : 1965-2065” – Keynote Address by Mr. Ravi Menon, Managing Director, Monetary Authority of Singapore, at the Singapore Economic Review Conference 2015 on 5 August 2015 (1)   (๓) Singapore’s urban planning in five points

เอกสารที่ (๒) อ่านแล้วประทับใจสุดๆ    ในมุมมองภาพ “มหภาค” (macro) ที่วาดภาพทั้งในประวัติศาสตร์ ๕๓ ปี   และไปข้างหน้าอีก ๔๗ ปี ของสิงคโปร์    อ่านแล้วได้ไม่เพียงภาพอนาคตของสิงคโปร์เท่านั้น   ยังได้ภาพอนาคตของโลก เอามาคิดพัฒนาประเทศไทยสังคมไทยได้เป็นอย่างดี  

ภาพใหญ่ที่สุดทางเศรษฐกิจ ที่เขานำมาให้ดู แบ่งเป็น ๓ ส่วนคือ ระดับรายได้  การสร้างรายได้  และการกระจายรายได้

  • ระดับรายได้  ในปี 1965  US$500   2065 US$ 120,000 สูงที่สุดเป็นอันดับที่ ๕ ของโลก 
  • การสร้างรายได้   เปลี่ยนจากเอาแรงเอาเวลาเข้าโถม   เป็นเอาหัวคิดเอาความสร้างสรรค์เป็นตัวก่อรายได้    ทำให้เวลาทำงานลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง  แต่รายได้เพิ่มขึ้นเป็น ๓ เท่า   ในเวลา ๕๐ ปีหลัง  คือทำงาปีละ ๒,๓๐๐ ชั่วโมงในปี 2015   ลดลงเหลือ ๑,๔๐๐ ชั่วโมงในปี 2065
  • การกระจายรายได้ ดีขึ้น ดูจาก Gini Coefficient  ลดจาก ๐.๔๑ ในปี 2015  เป็น ๐.๓๖ ในปี 2065   แต่ในปี 2065 ช่องว่างของการครอบครองความมั่งคั่ง ยังคงไม่ดี    คือคนรวยที่สุด ๑ % บน และ ๑๐ % บน  ครอบครองความมั่งคั่งร้อยละ ๒๐ และ ๖๐ ตามลำดับ     


 

ผู้บรรยายจัดช่วงการพัฒนาประเทศสิงคโปร์ออกเป็น ยุค คือ

  • 1965-1984 ยุคพัฒนาอุตสาหกรรมส่งออกโดยบริษัทข้ามชาติ   ช่วงนี้การศึกษาเน้นการศึกษาพื้นฐาน  และการสร้างทักษะเชิงเทคนิค   
  • 1985-2010 ยุคเปิดเสรีและพัฒนาบริการสมัยใหม่   ยุคนี้เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์เศรษฐกิจของสิงคโปร์ตกต่ำอย่างไม่คาดฝัน ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจโลกดี   เป็นสัญญาณให้สิงคโปร์เปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจครั้งใหญ่    โดยเปิดเสรีการค้าบริการให้ต่างชาติเข้ามาแข่งขันได้    เพื่อให้ธุรกิจสิงคโปร์ปรับตัว มีความสามารถแข่งขันได้ในระดับโลก   ธุรกิจสำคัญได้แก่ บริการแก่ภาคธุรกิจ (การบัญชี  กฎหมาย  ธุรกิจโฆษณา  ธุรกิจที่ปรึกษา)   บริการด้านสารสนเทศและการสื่อสาร   ธุรกิจบันเทิง  
  • 2011-2025 ยุคประชากรวัยทำงานชะลอตัวและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ   
  • 2026-2040 ยุคบูรณาการภูมิภาคและเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี   เกิด ASEAN Economic Community ในปี 2030 พร้อมทั้ง AFEZ (ASEAN Free Economic Zone)    ซึ่งคนสิงคโปร์จะออกไปทำธุรกิจนอกประเทศจำนวนมาก    เขาทำนายว่าช่วงนี้จะเกิดวิกฤติ ๒ ครั้ง คือ Global Cyber Crisis 2034   กับการกลับมาและระบาดใหญ่ของโรคไข้ทรพิษ ในปี 2039
  • 2041-2065 ยุคลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและการปรับตัว   

    ในช่วงนี้มีวิกฤติโลกเกิดขึ้นถึง ๔ ครั้ง ได้แก่  (๑) วิกฤติต้มยำกุ้ง 1997  (๒) ฟองสบู่ไอทีแตก 2001  (๓) โรค SARS ระบาด 2003  และ

เขาบอกว่าแรงขับเคลื่อนความเจริญก้าวหน้าของสิงคโปร์มาจาก  การเปลี่ยนโครงสร้างและปรับตัวต่อเนื่อง   วัฒนธรรมนวัตกรรม  การมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีทักษะสูง    มีการเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต   วัฒนธรรมยืดหยุ่นปรับตัว   วัฒนธรรมสามัคคี (cohesion)    จิตสาธารณะ  และจิตอาสา

วิจารณ์ พานิช        

๒๔ เม.ย. ๖๑

ห้องรอขึ้นเครื่องบิน ที่สนามินดอนเมือง

   


หมายเลขบันทึก: 647612เขียนเมื่อ 24 พฤษภาคม 2018 22:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤษภาคม 2018 22:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท