เด็กที่บกพร่องทางการมองเห็น (Visual Impairment)
1.ความหมายของเด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น
ความบกพร่องทางการมองเห็น (Visual Impairment) คือการสูญเสียการมองเห็น (Vision Loss) จนถึงระดับหนึ่ง อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความสามารถในการมองเห็นที่มีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งอาจเกิดจากโรค (Disease) การบาดเจ็บ (Trauma) รวมถึงความผิดปกติที่มีมาตั้งแต่กำเนิด (Congenital conditions) หรือเสื่อมสภาพในภายหลัง (Degenerative conditions)ในปัจจุบันเด็กจำนวน 1 ใน 5 ประสบปัญหาเกี่ยวกับความบกพร่องในการมองเห็น อย่างไรก็ตามเด็กมักไม่รู้ว่าตนเองมีความบกพร่องทางการมองเห็น เนื่องจากเด็กที่มีปัญหาส่วนใหญ่เติบโตขึ้นมากับอาการดังกล่าวโดยไม่รู้ว่าการมองเห็นที่ปกตินั้นเป็นอย่างไร อีกทั้งยังมักเข้าใจว่าคนอื่นก็เห็นโลกในลักษณะที่ไม่ต่างไปจากที่เขาเห็นเช่นกัน
2. ประเภทของเด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น
เด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. เด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็นประเภทมองเห็นเลือนราง (Low vision)
สายตามองเห็นเลือนราง (Low Vision) หรือตาบอดบางส่วน (Partially Blind) เด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็นประเภทมองเห็นเลือนราง หมายถึง เด็กที่สูญเสียการมองเห็นในระดับน้อย ยังสามารถอ่านอักษรพิมพ์ขยายใหญ่ได้ หรือต้องใช้แว่นขยายอ่าน มีลานสายตาแคบกว่า 30 องศา เด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็นประเภทมองเห็นเลือนรางนี้ ภายหลังจากการแก้ไขแล้วจะมองเห็นได้บ้างและสามารถใช้สายตาได้บ้าง ในระยะ 20/70 หมายความว่า บุคคลจะมองเห็นได้ในระยะ 20 ฟุตโดยคนตาปกติจะมองเห็นได้ในระยะ 70 ฟุต การเตรียมความพร้อมสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็นเป็นสิ่งจำเป็น ในการเรียนร่วมกับเด็กปกติ เช่น การเตรียมความพร้อมทางการเคลื่อนไหว วุฒิภาวะทางสติปัญญา ร่างกาย อารมณ์ สังคม ความสามารถทางภาษา ความสามารถที่จะทำงานได้โดยไม่มีการควบคุมตลอดจนทักษะพื้นฐานที่ใกล้เคียงกับระดับชั้นที่เด็กจะเข้าเรียนร่วม
2. เด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็นประเภทมองไม่เห็น (ตาบอดสนิท) Blind
เด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็นประเภทมองไม่เห็น (ตาบอดสนิท) Blind หมายถึง เด็กที่สูญเสียการมองเห็นในระดับมาก สายตาตามองอะไรไม่เห็น หรือเด็กที่มีสายตาเหลืออยู่น้อยมาก หรือไม่มีเลย ซึ่งเป็นการสูญเสียการมองเห็น 20/200 ลานสายตาแคบกว่า 20 องศา หรือน้อยกว่านั้นหากตรวจวัดความชัดของสายตาข้างดี ต้องสอนให้อ่านหนังสือเบรลล์ ฟังเทปหรือแผ่นเสียง
(อัตราวัดระดับการมองเห็น คนปกติเห็นวัตถุชัดเจนระยะ 200 ฟุต คนตาบอดจะสามารถสองเห็นวัตถุชิ้นเดียวกันในระยะ 20 ฟุต ) หรือน้อยกว่านั้น และมีลานสายตา โดยเฉลี่ยอย่างสูงสุดจะแคบกว่า 5 องศา
3. สาเหตุเด็กที่บกพร่องทางการมองเห็น
ปัญหาความบกพร่องทางการมองเห็นในเด็กเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุและมักมีความแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาคของโลก ทั้งนี้สามารถจำแนกสาเหตุของปัญหาความบกพร่องทางการมองเห็นออกเป็น 4 กลุ่ม ตามลักษณะดังนี้
1.กรรมพันธุ์ (Heredity) โดยความผิดปกติจะสามารถถ่ายทอดมาถึงเด็กได้หากครอบครัวมีประวัติสุขภาพของครอบครัว (Family History) ที่เกี่ยวกับดวงตา เช่น โรคต้อ (Familial Cataract) โรคกล้ามเนื้อจอตาเจริญผิดเพี้ยน (Retinal dystrophies) และมะเร็งจอตา (Retinoblastoma)
2.ระหว่างตั้งครรภ์ เช่น โรคหัดเยอรมัน (Rubella) และโรคท็อกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis)
3.ระหว่างคลอด เช่น โรคจอตาผิดปกติอันเกิดจากการคลอดก่อนกำหนด (Retinopathy of prematurity) และอาการเยื่อบุตาอักเสบในเด็กแรกเกิด (Newborn Conjunctivitis)
4.ในวัยเด็ก เช่น การขาดแคลนวิตามินเอ (Vitamin A Deficiency) โรคหัด (Measles) ตาอักเสบ (Eye Infection) ยารักษาตาแผนโบราณ (Traditional eye medicines) และอุบัติเหตุ (Injuries)
4. ปัญหาความบกพร่องทางการมองเห็น
คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าดวงตาคือหนึ่งในอวัยวะของร่างกายที่มีความสำคัญมากหรืออาจจะสำคัญที่สุด โดยลักษณะสำคัญของปัญหาความบกพร่องทางการมองเห็นคือ สามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่เด็กยังอยู่ในครรภ์มารดาหรือตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งแน่นอนว่าเด็กจะยังไม่สามารถบอกอาการผิดปกติให้พ่อแม่รับฟังได้ หรือต่อให้เด็กอยู่ในวัยก่อนเข้าเรียนซึ่งเป็นวัยที่พูดได้ไม่หยุด หรือแม้กระทั่งเข้าสู่วัยเข้าเรียนแล้วก็ตาม เด็กก็อาจจะไม่สามารถอธิบายอาการได้ ทั้งนี้เพราะเด็กที่มีปัญหาความบกพร่องทางการมองเห็นมักมองไม่เห็นปัญหาของตนเอง และจะสามารถปรับตัวจนยอมรับการมองโลกในแบบที่เขาเห็นได้โดยรู้สึกเป็นเรื่องปกติ
สำหรับเด็กกลุ่มที่ไม่ได้มีปัญหาความบกพร่องทางการมองเห็นที่รุนแรงถึงขั้นตาบอด ความสำคัญหรือจุดประสงค์ของการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาก็คือ การทำให้เด็กมองเห็นได้เป็นปกติเพื่อให้เขาสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น และเป็นการกำจัดปัญหาที่อาจเรื้อรังและส่งผลเสียต่อเด็กในระยะยาว อย่างไรก็ตาม สำหรับเด็กที่ไม่เคยมีโอกาสได้มองเห็นโลกตั้งแต่แรกเกิด หรือโชคร้ายที่มีโอกาสมองเห็นความสวยงามของโลกได้เพียงไม่นานก่อนความมืดมิดกลืนกินโลกทั้งใบของเขาไปนั้น โอกาสที่จะช่วยให้เด็กกลับมามองเห็นได้เป็นปกตินั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาให้กับเด็กกลุ่มนี้จึงมีความสำคัญมากเป็นพิเศษ สถิติระบุว่าในจำนวนผู้ป่วยตาบอดทั้งหมด 45 ล้านคน ประมาณ 1.4 ล้านคนเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี โดยเด็กที่ตาบอดส่วนใหญ่มักเริ่มตาบอดตั้งแต่ก่อนอายุ 5 ขวบซึ่งเป็นช่วงอายุที่กว่า 75%ของการเรียนการสอนต้องอาศัยความสามารถในการมองเห็น
สังเกตได้ว่าเด็กที่ตาบอดจะขาดโอกาสและมีข้อจำกัดหลายอย่างในชีวิต ดังนั้น การเติมเต็มให้กับเขาจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น ทั้งนี้เพื่อให้เด็กสามารถกระทำการต่างๆได้ทัดเทียมกับเด็กทั่วไปและสามารถดำรงชีวิตได้เฉกเช่นคนสามัญ พ่อแม่และครูต้องมอบทักษะชีวิตให้กับเด็ก และสำคัญที่สุด ความรัก ความเข้าใจ และความเอาใจใส่ ย่อมถือเป็นองค์ประกอบหลักของการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาเด็กที่มีความผิดปกติในการมองเห็น และพิสูจน์ให้เห็นว่าท้ายที่สุดแล้วเขาก็สามารถมีชีวิตที่ดีได้ไม่ต่างไปจากเด็กทั่วไป
โรคที่เป็นสาเหตุของอาการตาบอดในเด็ก ได้แก่
โดยปกติแล้ว เด็กจะมีปฏิกิริยาโต้ตอบต่อสิ่งเร้าทางสายตา (Visual stimuli) เมื่ออายุได้ 6 - 8 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม หากอายุได้ 2 - 3 เดือน แต่ไม่แสดงปฏิกิริยาโต้ตอบเมื่อแสงเข้าตา หรือไม่สนใจวัตถุที่มีสีสัน หรือมีอาการผิดปกติของดวงตาปรากฏขึ้น เช่น ตาเหล่ (Crossed-eyes) พ่อแม่ควรพาลูกเข้ารับการตรวจจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันที ซึ่งอาการที่มักปรากฏหากเด็กมีปัญหาความบกพร่องทางการมองเห็น ได้แก่
5. ลักษณะของเด็กที่มีความผิดปกติของสายตาา
1. มีอาการคันตาเรื้อรัง น้ำตาไหลอยู่เสมอ หรือมีอาการตาแดงบ่อยๆ
2. มักมองเห็นภาพซ้อน วิงเวียนศรีษะ มองเห็นไม่ชัดเจนในบางครั้ง
3. เวลามองวัตถุในระยะไกลๆต้องขยี้ตาหรือทำหน้าย่นขมวดคิ้ว
4. เวลาเดินต้องมองอย่างระมัดระวังหรือเดินช้าๆโดยกลัวจะสะดุดสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ขวางหน้า
5. ไม่สนใจดูภาพที่ติดตามฝาผนัง หรือข้อความที่เขียนบนกระดานดำ
6. มักขยี้ตาบ่อยๆ
7. ไม่ชอบทำงานที่ต้องใช้สายตา
8. กระพริบตาบ่อยๆ
9. อ่านหนังสือได้ในระยะเวลาสั้น
10.สายตาสู้แสงสว่างไม่ได้
6. การป้องกันและแก้ไข
1. ทานอาหารที่มีโปรตีนและวิตามินเอสูง เช่น ไข่ นม ผักสดใบเขียว ผลไม้ น้ำมันตับปลา
2. หญิงมีครรภ์ในระยะ 3 เดือนแรก ต้องระวังรักษา สุขภาพอนามัยให้ดี ไม่ควรเลือกซื้อยามาใช้เอง ไม่ควรฉายแสงเอกซเรย์ที่มดลูก
3. รักษาความสะอาดของร่างกายและอนามัยของตา โดยเฉพาะหญิงมีครรภ์
4. ระวังอุบัติเหตุที่ดวงตาของเด็กเล็กๆ
5. ถ้าเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไทรอยด์ ข้อพิการและโรคจากต่อมไร้ท่อ ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด
6. ตรวจสายตาอย่างน้อยปีละครั้ง
7. เด็กตาเข ตาเหล่ อาจแก้ไขรักษา โดยการใช้แว่นหรือผ่าตัดได้
8. เมื่อตาได้รับอุบัติเหตุต้องปฐมพยาบาลอย่างถูกวิธี และอย่าใช้ยาหยอดตา
7.การสังเกตพฤติกรรม
1. ขยี้ตาบ่อย ๆ เหมือนพยายามทำให้ภาพที่ไม่ชัดให้ปรากฎชัดขึ้น
2. เวลามองวัตถุมักป้องตา
3. ถือหนังสือไว้ใกล้ตามาก หรือก้มหน้าใกล้หนังสือ
4. กระพริบตาถี่มากกว่าปกติ
5. มีความยุ่งยากในการอ่านหนังสือ หรือการทำงานที่ต้องใช้สายตา
6. ตามักช้ำแดงและมีน้ำตา ขี้ตากรัง
7. ทำตาหรี่ หรือขยี้ตาขณะที่มอง
8. มักพูดว่าตัวหนังสือหรือรูปภาพเต้น หรือมองอะไรมัวๆ หรือเป็นภาพซ้อน
9. ไม่สามารถอ่านหนังสือเรียงตามบรรทัดได้นาน มักอ่านหนังสือกลับไปกลับมา
10. เวลาอ่านหนังสือมักจะสับสนเมื่ออ่านอักษรที่มีลักษณะคล้ายกัน เช่น ก,ถ,ภ หรือ บ กับ ป หรือ อ กับ ฮ
11. ลูกตาดำมีลักษณะผิดปกติ
8. การจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น
1.หลักสูตรและการเรียนการสอน
หลักสูตรสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางด้านการมองเห็นควรเป็นลักษณะเดียวกัน หลักสูตรสำหรับเด็กปกติ ทั้งนี้เพื่อเด็กจะได้มีทักษะที่ใกล้เคียงกับเด็กปกติเมื่อจบการศึกษา อย่างไรก็ตมต้องมีการปรับวิธีสอน สื่อ และอุปกรณ์ต่างๆให้สอดคล้องกับความต้องการและความสามารถของเด็กควรเน้นประสบการณ์และการใช้สื่ออุปกรณ์ที่เป้นของจริงเพื่อให้เด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นสามารถเรียนรู้ด้วยการสัมผัส เรียนรู้โดยการลงมือกระทำ (Leaning by doing)และสามารถใจสิ่งแวดล้อมรอบตัวได้
หลักสูตรสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางสายตาควรมีลักษณะดังนี้
1.1 หลักสูตรระดับก่อนประถมศึกษา (0-5 ปี)
ประสบการณ์ของเด็กช่วงอายุ 0-5 ปี และเป็นพื้นฐานของพัฒนาการในช่วงต่อมา ดังนั้นจึงควรจัดเป็นการศึกษาให้แก่เด็กให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้หลักสูตรควรครอบคลุมถึงการฝึกประสาทสัมผัสทางการรับรู้การฟัง การสัมผัส เพื่อชดเชยความบกพร่องทางสายตาตลอดจนการดมกลิ่น การลิ้มรส เด็กควรเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงและอุปกรณ์ที่เป็นของจริง กิจกรรมควรเน้นเกี่ยวกับพัฒนาการของกล้ามเนื้อใหญ่ (gross motor) กล้ามเนื้อย่อย (Fine motor) พัฒนาการทางสติปัญญา พัฒนาการทางอารมณ์และสังคมและการพัฒนาทักษะในการช่วยเหลือตนเอง
1.2 หลักสูตรระดับประถมศึกษา
แม้ว่าหลักสูตรสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นจะเป็นลักษณะเดียวกับหลักสูตรสำหรับเด็กปกติแต่วิธีการสอนตลอดจนสื่อ และอุปกรณ์การสอนอาจแตกต่างไปจากเด็กปกติบ้าง ควรมีการปรับหลักสูตรเพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการและความสามารถของเด็กและเพิ่มเติมสิ่งที่ยังขาด เพื่อให้เด็กได้รับประโยชน์มากที่สุด เช่น การดัดแปลงโปรแกรมทางการศึกษาจากกการใช้สายตาสู่การได้ยินให้มากที่สุดเพื่อชดเชยกับการรับรู้ทางสายตาที่สูญเสียไป การจัดการเรียนการสอนควรใช้การรับรู้ทางการฟังเป็น ซึ่งรวมถึงการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการฟัง การใช้เทปบันทึกเสียง การสนทนา การอภิปราย เป็นต้น
1.3 หลักสูตรระดับมัธยมศึกษา
หลักสูตรสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นเป็นลักษณะเดียวกับหลักสูตรสำหรับเด็กปกติ เพียงแต่การปรับวิธีการสอน ขั้นตอน วัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นให้สอดคล้องกับความต้องการและความสามารถของเด็กและควรได้รับบริการเพิ่มเติมทางการแนะแนวและการให้คำปรึกษาในด้านการปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนปกติและเพื่อนที่มีความบกพร่องทางสายตาจากครูแนะแนวหลักสูตรระดับนี้ควรครอบคลุมด้านอาชีวศึกษานักเรียนควรได้รับการฝึกทักษะที่จำเป็นเพื่อการประกอบอาชีพเพิ่มเติมจนมีทักษะพอที่จะทำงานได้ ในหลักสูตรควรมีการปรับปรุงเรื่องการฝึกการเคลื่อนไหวและการสร้างความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมการฝึกทักษะสื่อสารและฝึกประสาทสัมผัสการรับรู้ด้วย
อุปกรณ์การสอนที่จำเป็นในระดับนี้ได้แก่
1. หนังสือที่มีตัวพิมพ์ขนาดใหญ่เพื่อให้เด็กมองเห็นได้ง่าย
2. หนังสือที่มีตัวอักษรนูน
3. อุปกรณ์ในการสื่อสารเฉพาะสำหรับคนตาบอด
4. เครื่องพิมพ์ดีดที่มีตัวพิมพ์ขนาดใหญ่กว่าเครื่องพิมพ์ดีดปกติ
5. เครื่องเล่นแผ่นเสียง เครื่องบันทึกเสียง วิทยุ เทป เป็นต้น (เนื่องจากเด็กที่เรียนรู้ได้ดีจากการฟัง)
6. แว่นขยาย เครื่องฉายภาพข้ามศีรษะ สไลด์ กล้องจุลทรรศน์ จะช่วยให้เด็กมองเห็นได้ชัดเจน
7. สมุดหรือกระดาษที่เขียนควรมีเส้นบรรทัดที่ห่าง เขียนได้สะดวก กระดาษควรมีผิวค่อนข้างหยาบ สีของกระดาษควรเป็นสีขาวแก่ หรือ ครีม ซึ่งได้แก่การมองเห็น
8. ขนาดของอุปกรณ์ ควรมีขนาดใหญ่ เช่น ลูกโลกแผนภูมิต่างๆ เป็นต้น
9. โต๊ะและเก้าอี้ ซึ่งสามารถเคลื่อนที่ และปรับให้เหมาะสมกับสายตาของเด็ก
2.การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น
การ์วูด(Garwood 1983) กล่าวว่าหลักสูตรและกิจกรรมการเรียนการสอนสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นควรครอบคลุมถึงกิจกรรมเพื่อพัฒนาการทางด้านต่างๆดังต่อไปนี้
1.การพัฒนาประสาทสัมผัสทางการรับรู้ sensory Development
1.1 การฟังและการสัมผัสที่เด็กเหล่านี้ใช้มากที่สุดคือการฟังดังนั้นเด็กควรจะพัฒนาทักษะในการฟังเพื่อให้ประสาทสัมผัสทางด้านทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นกิจกรรมในการฟังได้แก่
1.1.1 การให้เด็กบอกลักษณะและทิศทางของเสียงประเภทต่างๆ เช่น เสียงสูง-เสียงต่ำ
เสียงดัง-เสียงค่อย เสียงใกล้-เสียงไกล เป็นต้น
1.1.2 การฝึกให้เด็กมีสมาธิในการฟังนานขึ้น โดยการเล่นเกมต่างๆที่มีคำสั่งเป็นลำดับขั้นตอนหรือ เล่นเกมส์นำปัญญาโดยครูออกคำสั่งให้เด็กปฏิบัติตาม
1.1.3 ฝึกฟังเสียงต่างๆและให้เด็กบอกว่าเสียงนั้นมาจากทิศใด
1.1.4 ฝึกบอกความแตกต่างหรือความเหมือนของเสียงในระยะทางที่ต่างกัน โดยเริ่มจากเสียงของวัตถุต่างๆไปสู่เสียงคน
1.2 การสัมผัส
เด็กที่มีความบกพร่องทางด้านการมองเห็นจะใช้ประสาทสัมผัสจากการจับต้องสำรวจและเรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบตัวในที่สุดทักษะการอ่านจากการสัมผัสกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสัมผัสควรรวมถึงการให้เด็กสัมผัสวัตถุและเปรียบเทียบวัตถุที่มีผิวสัมผัสต่างกัน เช่น หยาบ ขรุขระ แข็ง แห้ง เปียก เป็นต้น และให้เด็กเคลื่อนไหวส่วนต่างๆของร่างกายบนพื้นผิวที่มีลักษณะต่างกัน เช่น ให้เด็กวิ่งเล่น กระโดด หรือ กลิ้งบนเสื่อ หญ้า พื้นดิน บนเนิน เป็นต้น
1.3 การดมกลิ่น ประสาทสัมผัสจากการดมกลิ่นจะช่วยเตือนให้เด็กที่มีความบกพร่องทางสายตาให้ทราบถึงสิ่งที่เป็นอันตรายหรือสิ่งที่พึงปรารถนาได้ กิจกรรมเพื่อพัฒนาประสาทสัมผัสจากการดมกลิ่ยอาจรวมถึงกิจกรรมต่างๆ
2.พัฒนาการของกล้ามเนื้อใหญ่
2.1ฝึกเอื้อมจับวัตถุโดยให้เด็กสัมผัสวัตถุที่มีเสียงแล้วค่อยค่อยดึงวัตถุออกจากตัวแล้วให้เด็กพยายามจับวัตถุตามเสียงของวัตถุทั้งๆทั้งนี้จะช่วยให้เด็กรู้จักสำรวจ
2.2 ฝึกให้เด็กจับวัตถุด้วยมือทั้งสอง
2.3 ฝึกการคืบและคลานตามเสียงของวัตถุนั้นๆทั้งนี้จะช่วยให้เด็กรู้จักสำรวจ
2.4 ฝึกการคืบและคลานตามเสียงของของเล่นหรือเสียงคนเพื่อกระตุ้นให้เด็กเคลื่อนไหว
2.5 ฝึกให้เด็กปีนป่ายบันไดโดยมีคนเฝ้าดูอย่างใกล้ชิด
2.6 จูงเด็กเดินรอบห้อง
3.พัฒนาการของกล้ามเนื้อย่อย
3.1 ใช้วัตถุที่มีรูปทรง ผิวสัมผัสและอุณหภูมิที่ต่างกันไป(เย็นหรืออุ่น) แตะตามลำตัว แขนขา และวางไว้ที่ส่วนของร่างกายให้ไวต่อการรับรู้จากการสัมผัสวัตถุชนิดต่างๆ(Body sensitive to object) และให้เด็กบอกชื่อของวัตถุนั้น
3.2 ฝึกจับสิ่งของต่างๆเพื่อพัฒนากล้ามเนื้อย่อย เช่น การเล่นปั้นแป้ง เป็นต้น
3.3 ฝึกการประสานงานของกล้ามเนื้อมือและตา โดยการใช้กรรไกรตัดตามเส้นตรง เส้นโค้ง และเส้นซิกแซกสำหรับเด็กที่มีสายตาเหลืออยู่น้อยมากอาจใช้กาวติดเชือกให้เป็นรูปร่างต่างๆแล้วให้เด็กตัดกระดาษรอบรอบเชือกนั้น
3.4 ฝึกสัมผัสสิ่งของใช้ต่างๆและให้บอกชื่อของสิ่งของตามนั้น
4. พัฒนาการทางสติปัญญา
4.1 การแยกประเภท โดยให้เด็กเล่นเกมสัมผัสวัตถุและบอกลักษณะของวัตถุทั้งนั้นแล้วให้ แยกประเภท 3 มิติ รูปทรง ขนาด ผิว และน้ำหนัก เป็นต้น
4.2 เหตุผล ฝึกเล่นเกมที่ให้เด็กรู้จักใช้เหตุผลโดยมีข้อสรุปที่สามารถตรวจสอบได้ตามความเป็นจริงให้เด็กได้ตัวอย่างที่เป็นของจริงและประสบการณ์ตรง เช่น ถ้าเราเปิดตู้เย็นเราจะรู้สึกอย่างไร เป็นต้น
4.3 การแก้ปัญหา เด็กที่มีความบกพร่องทางสายตาจะเข้าใจได้ช้าว่าวัตถุในสภาพแวดล้อมสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ครูควรส่งเสริมว่าวัตถุต่างๆนำมาใช้ได้หลายวิธีและควรกล่าวถึงการเชื่อมโยงของวัตถุนั้นน้ำกับสิ่งอื่น เช่น เก้าอี้ตัวเตี้ย อาจใช้งานได้หลายลักษณะนอกเหนือจากการนั่งแล้วอาจใช้ยืนหยิบสิ่งของในที่สูงได้เป็นต้น
5 พัฒนาทางอารมณ์และสังคม
5.1การตอบสนองทางอารมณ์เด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น ควรได้รับการกระตุ้นให้แสดงออกในการตอบสนองทางอารมณ์อย่างเหมาะสมโดยการแสดงออกทางสีหน้า
5.2 การพลัดพรากจากกัน เด็กอาจเกิดความกังวลใจถ้าไม่มีผู้ใหญ่อยู่ใกล้ๆ ดังนั้น ผู้ใหญ่ต้องลดความกังวลใจของเด็กโดยบอกเด็กว่าผู้ใหญ่ยังอยู่ในบริเวณนั้นๆถึงแม้ว่าจะอยู่ไกลออกไปก็ตาม
5.3 การกลัวคนแปลกหน้า เด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นควรได้รับการสัมผัสกับคนแปลกหน้าขณะที่สมาชิกในบ้านอยู่ด้วย โดยค่อยๆแนะนำให้เด็กรู้จักคนแปลกหน้าไม่ควรจู่โจมเด็ก
5.4 อิทธิพลของพ่อแม่ ปัญหาทางสังคมของเด็กที่มีความบกพร่องทางสายตาส่วนใหญ่คือเรื่องของการปรับตัวของพ่อแม่ให้เข้ากับเด็กการแนะแนวให้กับผู้ปกครองจึงเป็นสิ่งจำเป็นตลอดจนการแนะแนวให้ผู้ปกครองรู้จักผู้ปกครองคนอื่นในลักษณะเดียวกัน ดังนั้นครูควรสนับสนุนความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ และลูก
6.พัฒนาทักษะในการช่วยเหลือตนเอง
ควรมีการสนับสนุนให้เด็กช่วยเหลือและเป็นตัวของตัวเองมากที่สุด ดังนี้
6.1 หลักโดยทั่วไป ก่อนที่จะเริ่มกิจกรรมใหม่ต้องบอกให้เด็กรู้ล่วงหน้า
-พยายามวางของให้เป็นทุกครั้ง เช่น วางช้อนทางขวาของจาน หรือ แปรงหวีผมวางบนโต๊ะเครื่องแป้งทุกครั้ง
6.2 การรับประทานอาหาร
-ให้เด็กเรียนรู้ชื่ออาหารชนิดต่างๆจากการดมกลิ่น
-ก่อนที่เด็กจะหัดรับประทานอาหารเองเราควรบอกว่าอาหารวางตรงไหนของจาน
-สำหรับเด็กที่เข้าใจเรื่องเวลาเราอาจใช้นาฬิกาเป็นแม่แบบ
6.3 การแต่งตัว
-พยายามให้เด็กแต่งตัวเอง
-ทำตำหนิเสื้อจากหน้าและหลัง
3. การจัดสภาพแวดล้อมในการเรียน
สปันจิน (Spungin 1981)
กล่าวถึงการจัดสภาพแวดล้อมในการเรียนอาจทำได้หลากหลายลักษณะ คือ
1 การจัดโปรแกรมสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นระดับก่อนประถมศึกษาอายุ 0-5 ปีควรรวมถึงการจัดประสบการณ์ที่กระตุ้นประสาทสัมผัสด้านต่างๆ การฝึกทักษะการใช้กล้ามเนื้อใหญ่และกล้ามเนื้อย่อย การสร้างความรู้สึกต่อตนเอง(Body image) กิจกรรมเสริมพัฒนาการทางสติปัญญา ภาษา กิจกรรมเกี่ยวกับการรับรู้ทางประสาทสัมผัส และการเคลื่อนไหว ขณะเดียวกันโปรแกรมการครอบคลุมการให้การศึกษาผู้ปกครองทางด้านความคาดหวังเรื่องของความเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็ก
2. ครูแนะแนว สำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นที่เรียนในชั้นเรียน(ที่ไม่ต้องการการบริการทางการศึกษามากนัก) จะได้รับบริการทางการศึกษา เช่น การแนะแนวพ่อแม่ แนะแนวครูประจำชั้น ตลอดจนการทำสื่อประเมินผล การประสานงานของบริการอื่นที่เกี่ยวข้อง
3. ครูสัญจร เด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นจะได้รับการบริการด้านการเรียนการสอนจากครูแนะแนวมากกว่า 50% ในการสอนทั้งหมด
4. ห้องเสริมความรู้ เด็กที่มีความบกพร่องทางสายตาที่เรียนในชั้นเรียนปกติจะได้รับความช่วยเหลือด้านการเรียนการสอนแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความต้องการของเด็กแต่ละคน เช่น การรับบริการทางการศึกษาทุกวัน( Diary Sport services) และบริการการสอนเฉพาะด้าน( Specialized Instruction)
5. ชั้นพิเศษ เด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นที่เรียนในชั้นเรียนพิเศษ จะได้รับการบริการในการจัดการเรียนการสอนที่เน้นเนื้อหาทางวิชาการและการฝึกทักษะพิเศษต่างๆ เช่น การฝึกใช้ตัวอักษรเบลล์จากครูและผู้มีความชำนาญเฉพาะด้านซึ่งเด็กเหล่านี้อาจได้ประโยชน์จากการมีส่วนร่วมในชั้นเรียนปกติในบางวิชาที่เหมาะสมกับความต้องการของเด็ก
6. โรงเรียนพิเศษ เด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นเรียนในโรงเรียนพิเศษที่ต้องการการเรียนการสอนและการบริการต่างๆนอกเหนือจากที่โรงเรียนปกติได้จัดให้ได้อาจจะเป็นการมาโรงเรียนทุกวันหรือจัดในลักษณะของโรงเรียนประจำก็ได้
7. การเรียนร่วมในชั้นเรียนปกติ เด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นอาจเรียนร่วมกับเด็กปกติได้หากมีความพร้อม ซึ่งมีความพร้อมที่จำเป็น ได้แก่ วุฒิภาวะทางสติปัญญา ร่างกาย อารมณ์ สังคม และความสามารถทางภาษา การเคลื่อนไหว ตลอดจนทักษะพื้นฐานที่ใกล้เคียงกับระดับชั้นที่เด็กจะเข้าไปเรียนร่วม
10. สื่อสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับบุคคลที่บกพร่องทางการเห็น
1.เครื่องพิมพ์ดีดอักษรเบรลล์ คือ อุปกรณ์ผลิตสื่ออักษรเบรลล์ ซึ่งบุคคลที่บกพร่องทางการเห็นมีความจำเป็นต้องใช้ในการพิมพ์ เอกสาร หรืองานต่าง ๆ เพื่อจดบันทึกข้อมูลลงบกระดาษ หรือแผ่นพลาสติก
2.กระดานหรือแผนรองเขียน( Slate ) และดินสอ(Stylus )
คือ อุปกรณ์พื้นฐานของการเขียนอักษรเบรลล์ด้วยมือ เพื่อใช้ในการจดบันทึกข้อมูลต่าง ๆ และสามารถพกพาได้สะดวก
Slate ลักษณะเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมผืนผ้าประกบกัน มีรูเพื่อการกดทำอักษรนูน
Stylus มีลักษณะเป็นโลหะปลายแหลมมีด้ามจับกระชับอุ้งมือ เพื่อกดเข้าไปรูบน Slate
3.ไม้เท้าขาว คือ อุปกรณ์ที่ช่วยนำทางคนตาบอดให้ไปในสถานที่ต่าง ๆ ได้อย่างอิสระและปลอดภัย ไม้เท้าขาวมีหลายลักษณะ เช่น แบบพับได้ แบบพับไม่ได้ ฯลฯ
4.ลูกคิด
คือ อุปกรณ์ที่ใช้เพื่อช่วยในการคำนวณสำหรับคนตาบอด เช่น บวก ลบ คูณ หาร ทศนิยม รากที่สอง ฯลฯ
5.แว่นขยาย คือ อุปกรณ์ที่ช่วยขยายสิ่งต่าง ๆ ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นโดยเลนส์ของอุปกรณ์ที่ช่วยในการขยาย มีหลายขนาดขึ้น อยู่กับความเหมาะสมของแต่ละบุคคล
การเขึยนครอบคลุมได้ดี แต่ยังเป็นแนวทางเพื่อการสอนเด็กตาบอดมากกว่าเด็กสายตาเลือนราง ซึ่งบางคนที่ผ่านการกระตุ้นสายตาหรือแก้ไขฟื้นฟูทางการแพทย์์จากการกระตุ้นสายตาจนพัฒนาเต็มที่แล้ว เด็กจะแยกประเภทได้เองจากศักยภาพของสายตาที่คงเหลืออยู่ว่าเขาควรเรียนในสถานศึกษาแบบไหน ในโรงเรียนตาบอดหรือโรงเรียนปกติ การที่คุณครูสามารถจัดสื่อสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อช่วยเด็กในการเรียนได้ เด็กก็สามารถเรียนได้จนประสบ ความสำเร็จเช่นเด็กสาตาปกติได้ ปัจจุบันมีเด็กที่จบการศึกษาระดับป.ตรีเพิ่มขึ้น แต่ยังมีโิอกาสน้อยในการทำงาน