โรงเรียนที่เป็นองค์กรเรียนรู้



วันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๖๑ ผมไปร่วมงาน ชื่นใจได้เรียนรู้ (ภาคครูเพลิน) ครั้งที่ ๑๓  ที่โรงเรียนเพลินพัฒนา     ไปร่วมงานนี้ทีไร ผมได้ความสุขความชื่นใจไปด้วย

ที่จริงงานนี้มี ๒ วัน คือวันที่ ๒๘ และ ๒๙ มีนาคม ๒๕๖๑  ตามกำหนดการ

นี่คือวงเรียนรู้ของครู    ที่เมื่อผมไปถึง และได้อ่านโปสเตอร์แสดง reflection  จากประสบการณ์ในห้องเรียน และพฤติกรรมและผลงานของศิษย์ ของหลากหลายวิชา หลากหลายเป้าหมาย     ผมก็บอกตัวเองว่าสิ่งที่อยู่ในโปสเตอร์สะท้อนความก้าวหน้าในการเรียนรู้ของครู    ครูโรงเรียนเพลินพัฒนามีการเรียนรู้จากห้องเรียน    และฝ่ายบริหารก็บริหาร PLC เป็นหลักสำคัญ    ตรงตามที่แนะไว้ในหนังสือ บันเทิงชีวิตครู สู่ชุมชนการเรียนรู้

ครูของโรงเรียนเพลินพัฒนาได้รับการฝึกเป็น Learning Person   เป็นคนที่มีทักษะเรียนรู้จากการทำงานประจำวัน   โดยการทำ reflection / AAR  ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในห้องเรียน  หาความหมายในด้านการเรียนรู้/ไม่เรียนรู้ ของศิษย์    นำมาเป็นข้อเรียนรู้ของตน และใช้ความรู้นั้นในการพัฒนาวิธีจัดการเรียนรู้ให้แก่ศิษย์   จากการอ่านโปสเตอร์ AAR เหล่านี้   ผมเกิดความรู้สึกว่า ครูโรงเรียนเพลินพัฒนามีความก้าวหน้ามากในการพัฒนาทักษะนี้      

ในการประชุม มีการเสนอว่าโรงเรียนเพลินพัฒนาใช้  OLE (Objective, Learning Experience, Evaluation)  และ PLC เป็นเครื่องมือพัฒนางาน และพัฒนาครู    ผมได้เห็นพฤติกรรมของครู ที่มีการเรียนรู้จากการปฏิบัติหน้าที่อยู่ตลอดเวลา    ผมถามครูใหม่เรื่องการกำหนดภารกิจของครู    ได้ความว่า มีการจับคู่ครูเป็นบั๊ดดี้กัน   ผลัดกันเข้าสังเกตชั้นเรียนซึ่งกันและกัน   และตกตอนเย็นก็มา AAR กันทุกวัน    การทำงานกับการเรียนรู้ของครูจึงเป็นสิ่งเดียวกัน        

ผมได้เรียนรู้ว่า    สิ่งใหม่สำหรับปีนี้คือ การจัดระบบสื่อเพื่อการเรียนรู้ของนักเรียน   

  

ครูชั้น ๖ ถอดรหัส โครงงานดีๆ มีขึ้นได้อย่างไร

เรื่องนี้เริ่มจากมีระบบถามเจตคติของนักเรียน    พบว่าเจตคติต่อการบ้านเชิงโครงงานของเด็กนักเรียน ป. ๖  คะแนนต่ำตลอดหลายปี    คณะครูชั้น ป. ๖ จึงจับกลุ่มร่วมกันคิด   และดำเนินการแก้ไข   

ผลสรุปจากการดำเนินการคือ โครงงานที่ดีเกิดจากโจทย์ที่ดี   เดิมโจทย์มาจากครู    พบจากการปรับวิธีการว่า โจทย์ที่ดีมาจากนักเรียน    ช่วยให้นักเรียนเป็นเจ้าของการเรียน  มีแรงบันดาลใจต่อการเรียน    ค้นคว้าความรู้ นำมานำเสนอ   ใช้ความรู้หลากหลายด้านที่นักเรียนสะสมมา ในการสร้างสรรค์    ทำให้ผมนึกถึงคำ “การเรียนขาออก”        

ฟังจากกระบวนการที่ครูมาเล่า เห็นชัดว่าครูโรงเรียนเพลินพัฒนามีวงเรียนรู้ (PLC) เป็นชีวิตประจำวัน  “พบกันตอนเย็นๆ ร่วมกันขบคิดวิธีแก้ปัญหา  นักเรียนส่วนหนึ่งไม่สนใจวิชาการบ้านเชิงโครงงาน”    ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะนักเรียนชั้น ป. ๖ ต้องใช้เวลาเตรียมกวดวิชาเพื่อสอบเข้าชั้น ม.๑ ในโรงเรียนที่ต้องการ      

ครูเล่าว่า ครูต้องคำนึงถึง Met before ของนักเรียน   ใช้ทำ scaffolding / Coaching ของครู      และการออกภาคสนาม ช่วยลดความเครียด สร้างแรงบันดาลใจ  เปิดความสร้างสรรค์ ไม่ใช่แค่ได้ผลงาน    แต่ นร. ได้ฝึกทักษะภาวะผู้นำ    ทักษะตั้งเป้า แล้วร่วมกันฟันฝ่า (Grit)   

เปลี่ยนแผน “แป้ก” ให้ “ปัง”

เป็นการประชุมกลุ่ม ลปรร. แผนการสอนที่ “แป้ก” ให้ “ปัง”    ตามด้วยการ “เปิดชั้นเรียน” โดยสมมติครูจำนวนหนึ่งเป็นนักเรียน  ช่วงแรกเป็นบทเรียน “สร้างสัตว์น้ำจากเส้นตรงแนวตั้ง”   และช่วงที่ ๒ เป็นบทเรียน  “นำสิ่งที่กำลังจะเป็นขยะมาชุบชีวิตไม่ให้เป็นขยะ”   ซึ่งเวลาล่วงเลยไปมาก ผมมีภารกิจของครอบครัวที่จะต้องทำในตอนเย็น   จึงต้องลาจากมาระหว่างกิจกรรมช่วงที่ ๒ ด้วยความเสียดาย   ยังไม่ได้ AAR ให้ที่ประชุมฟัง

จึงขอ AAR ลงบันทึกนี้ ดังต่อไปนี้

  • ผมไปร่วมงานนี้ด้วยเป้าหมายไปสังเกตความก้าวหน้าของการเรียนรู้ของครูโรงเรียนเพลินพัฒนาแผนกประถม    ก็ได้เห็นความก้าวหน้าชัดเจนในด้านทักษะการเรียนรู้ของครู    ทั้งจากโปสเตอร์  และจากกิจกรรมในห้อง   ที่ครูแสดงความคิดเห็นอย่างเป็นธรรมชาติมากขึ้น    
  • หากกิจกรรม PLC บนฐานของ OLE ของโรงเรียนเพลินพัฒนาดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง    ภายใต้โค้ชชิ่งคุณภาพสูงเยี่ยมของครูใหม่และครูปาด    คุณภาพของผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนจะสูงยิ่ง   และที่สำคัญยิ่งกว่านั้น นักเรียนจะมีความสุขและสนุกกับการเรียน    รวมทั้งครูจะเกิดการเรียนรู้สูงมาก
  • ผมขอเสนอแนะต่อครูใหม่และครูปาดว่า   น่าจะลองทำ matching ระหวางครูเพลิน กับคณะศึกษาศาสตร์/ครุศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยบางแห่ง    ให้ครูเพลินเรียนปริญญาโท (ต่อไปอาจทำปริญญาเอก) แบบทำวิจัยอย่างเดียว   โดยทำวิจัยในชั้นเรียน   โรงเรียนเพลินพัฒนาจะกลายเป็น “โรงเรียนสร้างครูชั้นเลิศ” แบบเดียวกันกับโรงเรียนในฟินแลนด์
  • การเปิดชั้นเรียนคราวนี้ สู้คราวที่แล้วไม่ได้    เพราะคราวที่แล้วเป็นการเรียนจริงสอนจริง นักเรียนจริงครูจริง     ตื่นเต้นกว่ากันอย่างเทียบไม่ได้    กับคราวนี้ที่รู้สึกว่าทำกันแบบจำลอง  เอาครูมาสมมติเป็นนักเรียน
  • โรงเรียนเพลินพัฒนาน่าจะโฟกัสการฝึกทักษะการตั้งคำถาม ของครู (และนักเรียน)     ที่เป็นคำถามเชิงจุดประกายจินตนาการ  เชิงกระตุ้นแรงบันดาลใจ  เชิงกระตุ้นความสนใจใคร่รู้   เชิงกระตุ้นให้เห็นคุณค่าของเรื่อง/สิ่งนั้นๆ   เชิงกระตุ้นให้เห็นความเชื่อมโยง   เชิงกระตุ้นให้มองลึกซึ้ง  ฯลฯ  
  • ขอเสนอให้ครูตั้งคำถามจากชิ้นงานของนักเรียน ว่าส่วนนั้นมีความหมายอย่างไร    ใช้ความรู้อะไรที่ได้เรียนมา     และคิดว่าข้อเรียนรู้นั้นเอาไปใช้ประโยชน์อะไรในอนาคต    คือให้นักเรียนสะท้อนคุณค่าออกมา   
  • ขอเสนอให้ทำ AAR กับพ่อแม่ ตอนจบภาคเรียน    เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไร    เอามาเป็นข้อมูลการเรียนรู้ของครู   รวมทั้งเอามาสังเคราะห์เป็นส่วนหนึ่งของประเด็นปรับปรุงด้วย    เรื่องนี้เข้าใจว่าทางโรงเรียนทำอยู่แล้ว    ขอเสนอให้นำมาเป็นข้อมูลในวัน KM ครูประจำเทอมด้วย 
  • ขอเสนอให้ครูร่วมกันสะท้อนว่า “เด็กมีศักยภาพมากกว่าที่คิด”  อย่างไรบ้าง    จากเหตุการณ์ในชั้นเรียน และจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับครูนอกห้องเรียน    แล้วนำมาตีความด้วยความรู้เชิงทฤษฎีว่าด้วยพัฒนาการเด็ก    ผมเชื่อว่าจะเกิดการเรียนรู้แก่ครูเพิ่มขึ้นอย่างมาก 

 

ผมขอขอบคุณครูใหม่ที่กรุณาชวนไปร่วมกิจกรรม “ชื่นใจได้เรียนรู้ ภาคครูเพลิน” ครั้งนี้    ทำให้ผมได้เห็นพัฒนาการของการใช้ KM ในโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง

โรงเรียนเพลินพัฒนาน่าจะเป็นแหล่งเรียนรู้ดูงาน ของหน่วยงานที่ต้องการเรียนรู้วิธีประยุกต์ใช้ KM อย่างต่อเนื่อง    นำองค์กรสู่ Learning Organization ได้อย่างได้ผล

วิจารณ์ พานิช        

๒๘ เม.ย. ๖๑


Agenda plearn from Pattie KB
หมายเลขบันทึก: 647359เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2018 21:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2018 21:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท