วิกฤติการเงินกับอุดมศึกษา


เมื่อมีวิกฤติใดๆ เกิดขึ้น ทั้งสิ่งมีชีวิต องค์กร และประเทศ จะดิ้นรนสุดฤทธิ์เพื่อการดำรงอยู่ในท่ามกลางวิกฤติ และหาทางฟื้นตัวสู่สภาพใหม่ ที่ไม่เหมือนเดิมในช่วงก่อนและระหว่างวิกฤติ ประเทศที่แข็งแรง วงการที่แข็งแรง จะต้องฟื้นขึ้นพร้อมกับสร้างระบบใหม่เงื่อนไขใหม่ ที่ช่วยให้สังคมภาพรวมมีความเข้มแข็ง พร้อมเผชิญสภาพ VUCA (volatile, uncertain, complex, ambiguous) ในอนาคต

วิกฤติการเงินกับอุดมศึกษา

               ผมถาม “อาจารย์กู๋” ว่า higher education in financial crisis เป็นอย่างไร    ได้คำตอบมากมายที่     รายงาน Impact of the Financial Crisis on Education in the United States (2)  ในวารสาร International Higher Education  เล่าผลกระทบจากวิกฤติการเงินปี 2008 – 2009 ในสหรัฐอเมริกา    บอกว่าผลกระทบมีทั้งระยะสั้นและระยะยาว    และที่น่ากลัวกว่าคือผลกระทบระยะยาวที่ทำให้ระบบอุดมศึกษาอ่อนแอลงไป

ทำให้ผมหวนกลับมาตั้งคำถามต่ออุดมศึกษาไทยว่า เวลานี้อุดมศึกษาไทยกำลังแข็งแรงขึ้น หรือเสื่อมลง    และปัจจัยหลักๆ ที่ก่อความเข้มแข็ง และที่ก่อความเสื่อม คืออะไรบ้าง

ผมตอบว่า (ไม่ทราบว่าตอบถูกหรือผิด) อุดมศึกษาไทยแข็งแรงขึ้นกว่าสมัย ๖๐ ปีก่อน  ตอนผมเข้าเรียนมหาวิทยาลัยอย่างแน่นอน    แต่เมื่อเทียบกับโลก และเทียบกับภาคอื่นๆ (เช่นภาคเศรษฐกิจ) ของประเทศ  อุดมศึกษาไทยถดถอยลง     คือเราก้าวไม่ทันโลก ไม่ทันสังคม   

ที่จริงอุดมศึกษาไทยได้ผ่านวิกฤติการเงินปี ๒๕๔๐ มาแล้ว    ต้องมีการปรับตัวมากมาย    แต่เราขาดการทำวิจัยสร้างบทเรียนที่ลุ่มลึกจากประสบการณ์ตรง    เราจึงไม่เห็นภาพรวมว่าอุดมศึกษาปรับตัวอย่างไรบ้าง   

ผลเชิงระบบของอุดมศึกษาจากวิกฤติต้มยำกุ้งคือเราถูกไอเอ็มเอฟตั้งเงื่อนไขให้ต้องปล่อยมหาวิทยาลัยออกจากระบบราชการ    เข้าสู่ระบบตลาด    และเราทำตามเงื่อนไขนั้นคือ มจธ. มีพระราชบัญญัติใหม่ในปี ๒๕๔๑ ออกไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ    แล้วหลังจากนั้นจึงมีมหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาฯ บูรพา ออกนอกระบบราชการในระลอกถัดมาห่างกันเกือบสิบปี    จนเวลานี้มหาวิทยาลัยของรัฐออกนอกระบบราชการแล้ว ๒๓ แห่ง      

การเปลี่ยนแปลงสำคัญของระบบอุดมศึกษาไทย คือการเปลี่ยนภาระทางการเงินสนับสนุนอุดมศึกษาจากภาครัฐไปยังผู้เรียนหรือพ่อแม่โดยตรง ในนามของ กยศ. (กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา)

สิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวคือ “ปริญญาเฟ้อ”   เดี๋ยวนี้คนที่จะหางานดีๆ ทำ มีความรู้สึกว่าปริญญาตรีไม่พอ   ต้องมีปริญญาโทเป็นอย่างต่ำ    และในหลายกรณีมีการเปิดรับคนเข้าทำงานในวุฒิปริญญาตรี    แต่มีคนที่เรียนจบปริญญาโทไปสมัครสอบแข่งขันจำนวนมาก   

ผมเคยได้ยินคำบอกเล่าว่ามีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยหนึ่งหางานทำตามวุฒิไม่ได้    ในที่สุดต้องไปทำงานเป็นลูกจ้างรายวันที่ไม่ต้องมีวุฒิเลย    ในช่วงเวลาหนึ่งคนขับรถของผมก็จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยกลุ่มนั้น  

ปริญญาเฟ้อ น่าจะมีนัยยะว่าคุณภาพของอุดมศึกษาจำนวนหนึ่งด้อยลง    ซึ่งยืนยันโดยข้อมูลจากภาคธุรกิจเอกชน    เขารู้ว่าในสาขาใดควรรับบัณฑิตจากสถาบันใด   

ในชีวิตจริง เมื่อเราเข้าไปคลุกคลีกับสถาบันอุดมศึกษาหลากหลายกลุ่ม    เราจะพบความแตกต่างมากมายในด้านวัฒนธรรมองค์กร    ที่สะท้อนระดับความเอาจริงเอาจังลุ่มลึกทางวิชาการ    ที่ผมสงสัยว่า เขาดำรงอยู่ได้ด้วยความสามารถในการหาแหล่งอุปถัมภ์ หรือหาพวก ใช้การวิ่งเต้นต่างตอบแทนเป็นพลัง    ไม่ใช่ใช้ merit หรือผลงานที่สะท้อนความสามารถ เป็นพลัง    ซึ่งสำหรับสถาบันเหล่านี้ ความเข้มแข็งทางวิชาการไม่ใช่ปัจจัยหลัก

เมื่อมีวิกฤติใดๆ เกิดขึ้น ทั้งสิ่งมีชีวิต องค์กร และประเทศ จะดิ้นรนสุดฤทธิ์เพื่อการดำรงอยู่ในท่ามกลางวิกฤติ   และหาทางฟื้นตัวสู่สภาพใหม่ ที่ไม่เหมือนเดิมในช่วงก่อนและระหว่างวิกฤติ    ประเทศที่แข็งแรง วงการที่แข็งแรง จะต้องฟื้นขึ้นพร้อมกับสร้างระบบใหม่เงื่อนไขใหม่ ที่ช่วยให้สังคมภาพรวมมีความเข้มแข็ง พร้อมเผชิญสภาพ VUCA (volatile, uncertain, complex, ambiguous) ในอนาคต

ผมสงสัยว่า ระบบอุดมศึกษาไทยเดินสู่ความเข้มแข็งหรือความอ่อนแอในเชิงระบบกันแน่   

และวิกฤติใหม่ที่จะยืดเยื้อยาวนานสำหรับอุดมศึกษาไทยคือ วิกฤติประชากร

วิจารณ์ พานิช                            

๑๓ พ.ค. ๖๑ 

หมายเลขบันทึก: 647163เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2018 08:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤษภาคม 2018 13:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท