๗๒๒. เครื่องทอผ้า..ภาษาไทย และเด็กหญิงแตงโม


ผมกับแตงโม..เดินทางโดยอาศัยรถตู้ของเทศบาลเลาขวัญ ไปรับรางวัลกับท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในเดือนกันยายน ๒๕๕๒ ที่ห้างสยามพารากอน..ผมกับแตงโมตื่นเต้นกับบรรยากาศของการจัดงานที่ยิ่งใหญ่ ผู้คนมากมาย..ผมได้เห็นห้างสยามพารากอน..เป็นครั้งแรก

           หนึ่งสัปดาห์ก่อนเปิดภาคเรียน มีสิ่งดีๆเข้ามาในชีวิตมากมาย ไม่นับรวมเรื่องราวของการถอนฟัน..ตามที่หมอเอ๊กซเรย์และนัดหมาย ผมก็ต้องไปตามนัดแล้วก็ฉีดยาชา เมื่อฟัน ๒ ซี่ที่มีปัญหาหลุดไปแล้ว ราว ๔ ชั่วโมง..ในช่วงค่ำคืน..จึงปวดดีเหลือเกิน

            การเปิดเรียน..ให้ครูมาก่อนกำหนด ก็เพื่อจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา เมื่อครูทุกคนมากันครบ ผมซึ่งนั่งอยู่หัวโต๊ะ ก็บอกเลยว่า..ขอมอบเรื่องนี้ให้หัวหน้าฝ่ายวิชาการเป็นประธานดำเนินการ มอบหมายครูศึกษาค้นคว้า ปรับปรุงและพิมพ์ให้เรียบร้อย

            ใช้เวลา ๕ วัน จึงได้เสร็จเป็นรูปเล่มสมบูรณ์ เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจและความรับผิดชอบของคณะครู ผนวกกับความรู้ความสามารถที่ครูมีอยู่ จึงทำให้โรงเรียนเปิดภาคเรียนได้..อย่างมีความพร้อมที่สุด

            ขณะที่ติดตามและสังเกตการณ์ทำหลักสูตรของครู ก็มีผู้ปกครองนำเครื่องทอผ้าใส่รถบรรทุก ๖ ล้อมาให้ และบอกว่า คุณทองทรัพย์ เกิดบุญมี ให้นำมามอบให้โรงเรียน..

           ผู้ปกครองที่อาสายกมา ช่วยกันจัดสถานที่สำหรับวาง ให้ดูสวยงามเป็นที่เป็นทาง โดยจัดวางใกล้กับเครื่องสีข้าวโบราณ..

            ผมพิจารณาดูแล้ว พบว่า..เครื่องทอผ้าอันนี้ใหญ่โตได้มาตรฐาน มีอายุการใช้งานมาไม่ต่ำกว่า ๕๐ ปีแน่นอน แต่สภาพยังดีเยี่ยมทุกอย่าง ทำจากไม้ประดู่ มีอุปกรณ์และด้ายครบครัน..สักครู่..คุณทองทรัพย์ก็โทรมา บอกว่า..

            “ผอ.ฉันน่ะแก่แล้ว ทอผ้าไม่ไหว จะขายก็เสียดาย มอบให้โรงเรียนเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ ฉันผ่านไปผ่านมา เข้าไปดูก็ยังได้เห็น..เป็นสมบัติของพ่อแม่ฉัน..ฉันไม่อยากขายเลย..ฝาก ผอ.ดูแลสอนเด็กด้วยนะ...”   “ครับ ขอบคุณครับ”

            ปี ๒๕๔๙..ตอนที่ผมมาอยู่โรงเรียนนี้ใหม่ๆ..คุณทองทรัพย์..ทำไร่ทำนา มีฐานะปานกลาง มีลูก ๓ คน ส่งเรียนหมดทุกคน

            ช่วงนั้น..ประมาณปี ๒๕๕๑ – ๒๕๕๒ ครูมีไม่มาก ผมต้องสอนประจำชั้น ๒ ห้อง คือ ป.๕ – ๖ ลูกสาวคุณทองทรัพย์อยู่ ป.๕ ชื่อเด็กหญิงแตงโม “ธัญสุดา เกิดบุญมี”  เรียนดี ลายมือสวย ผมเห็นแววของพัฒนาการมาตลอด

            พอเด็กหญิงแตงโม..ขึ้นป.๖ ผมที่สอนทุกวิชา และเน้นภาษาไทยเป็นพิเศษ จะฝึกให้นักเรียนทุกคน เขียนเรื่องจากจินตนาการ และแตงโม..ก็เขียนได้ดีทุกครั้ง..

            จำได้ว่า..ตอนนั้น เป็นรัฐบาลของพรรค”ประชาธิปัตย์” มีรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ชื่อ คุณจุลินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ ท่านเน้นนโยบาย ๓ D ให้เกิดขึ้นในวงการศึกษาและในสถานศึกษาทุกสังกัด...

            ๓ D เมื่อแปลถ้อยคำภาษาอังกฤษ เป็นไทย ผมจำได้ไม่หมด รู้แต่ว่า..รณรงค์เรื่องประชาธิปไตย..ห่างไกลยาเสพติด..และส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม

            ท่านรัฐมนตรี..สั่งให้ สพฐ.จัดประกวดเรียงความในระดับประถมศึกษา หัวข้อไม่กำหนด แต่ต้องเขียนครอบคลุม  ๓ D ความยาวไม่เกิน ๒ หน้ากระดาษ จะมีโล่ เกียรติบัตรและเงินรางวัลให้ ๕๐,๐๐๐ บาท.. ถ้าชนะเลิศ

            ผมฝึกให้แตงโม..เขียนอยู่หลายวัน เขียนแล้วเขียนอีก..ในหัวข้อที่ส่งไป ..แตงโมใช้ชื่อเรื่อง “ครูดีที่ฉันประทับใจ” ผมช่วยปรับแก้ไขอยู่ ๓ ครั้ง  แล้วส่งในวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๒...

            ประกาศผลรางวัล..ในเดือนสิงหาคม ..ปรากฎว่าเด็กหญิงแตงโม หรือ ธัญสุดา เกิดบุญมี นักเรียนชั้น ป.๖ โรงเรียนบ้านหนองผือ ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับชาติ

            ผมกับแตงโม..เดินทางโดยอาศัยรถตู้ของเทศบาลเลาขวัญ ไปรับรางวัลกับท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในเดือนกันยายน ๒๕๕๒ ที่ห้างสยามพารากอน..ผมกับแตงโมตื่นเต้นกับบรรยากาศของการจัดงานที่ยิ่งใหญ่ ผู้คนมากมาย..ผมได้เห็นห้างสยามพารากอน..เป็นครั้งแรก

            เป็นช่วงเวลา แห่งความประทับใจ..ผมได้กระทบไหล่คนดัง..มีผู้สื่อข่าวมาสัมภาษณ์ ได้ถ่ายรูปกับ..คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ซึ่งตอนนั้น ท่านเป็นปลัดประทรวง..เดือนสุดท้าย..เสร็จภารกิจเรียงความ ท่านก็เกษียณอายุราชการพอดี

            พูดถึงเครื่องทอผ้าอยู่ดีๆ ย้อนรอยไปถึงเด็กหญิงแตงโม ลูกสาวคุณทองทรัพย์ ก็เพื่อจะบันทึกไว้ว่า..ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา โรงเรียนและแตงโม ก็เริ่มมีอนาคที่สดใส ผมนำเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท ไปให้คุณทองทรัพย์ที่บ้าน

            คุณทองทรัพย์ก็มีน้ำใจเหลือเกิน มอบเงินให้โรงเรียน ๒๐,๐๐๐ บาท ผมก็นำไปสร้างศาลาท่าน้ำเป็นหลังแรก ชื่อ ศาลา ๓ D จากวันนั้น..สายธารแห่งศรัทธาของผู้ปกครองรวมทั้งคุณทองทรัพย์ก็มาไม่ขาดสาย...ผมทำงานได้อย่างสบายใจ..

            ทุกวันนี้..คุณทองทรัพย์เป็นกรรมการสถานศึกษา เป็นวิทยากรประจำโรงเรียนเกี่ยวกับการทำนาและการปลูกงาดำ ช่วยเหลือโรงเรียนอย่างเข้มแข็ง ต่อเนื่องและสม่ำเสมอ...

            ผมก็ยังเป็นครูและผู้บริหารอยู่บ้านหนองผือ..ไปจนกว่าจะเกษียณ และเป็นที่ยอมรับของชุมชนมากขึ้น โดยเฉพาะเทศบาลได้ให้ความอนุเคราะห์ในการเตรียมการก่อนเปิดภาคเรียนทุกปี

            นี่คือ..ความรู้สึกส่วนลึก..ที่ผมภาคภูมิใจในความสำเร็จเล็กๆ เหนืออื่นใดที่เข้าใจได้และไม่เยินยอตัวเอง แต่เป็นเรื่องจริง.ก็คือ..ผมยังเร่งรัดการสอนภาษาไทย และสอนได้ดีด้วย

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๑๒  พฤษภาคม  ๒๕๖๑

 

หมายเลขบันทึก: 647139เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2018 07:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤษภาคม 2018 07:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท