เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจภูมิภาคกับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย


เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจภูมิภาคกับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ (วปม.๗)

๒๔ พ.ย.๖๐

……………………………………….

 

หลักพื้นฐานทางเศรษฐกิจ  มี ๓ ประการ คือ  ๑. ทรัพยากรในโลกนี้จำกัด   ดังนั้นต้องมีการจัดการ จัดสรรที่ดี ๒. ในโลกนี้ไม่มีอะไรเป็นของฟรี ทุกอย่างมีต้นทุน (ต้นทุนการเสียโอกาส)  จากทรัพยากรที่มีจำกัด  การจัดการคือต้องตัดสินใจเลือกทำในสิ่ง หรือโครงการที่มีค่าตอบแทนสูงภายใต้ทรัพยากรที่ตนเองมี  ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อไม่ให้เสียโอกาส เพราะหากพลาดไปเลือกทำในสิ่งที่ได้ค่าตอบแทนต่ำ ก็เสียโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนสูง  และ ๓. เงินและเวลา หมายถึงค่าเงินในเวลาที่ต่างกัน  ค่าเงินจะไม่เท่ากัน  นอกจากนี้ยังมีหลักพื้นฐานที่เกี่ยวข้องอีกเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ คือเรื่องกลไก Demand และ Supply เช่น เหตุผลที่ราคาสินค้าต้องอิงตลาดโลก เพราะเป็นราคาดุลภาพ  ดังนั้นประเทศที่สร้างกลไกการแข่งขันได้ดี ราคาสินค้าจะถูก ก็จะทำให้มีผู้ซื้อมาก ขายของได้มาก

ระบบเศรษฐกิจ จะมีระบบปิดกับระบบเปิด ระบบเปิด จะเปิดด้วยระบบท่อการค้ากับการลงทุน  เชื่อมโยงเศรษฐกิจกับต่างประเทศ เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจโลกจะส่งผลต่อประเทศที่เป็นระบบเปิด เช่น   หลังปี ๒๕๔๐ ประเทศไทยระบบเศรษฐกิจของไทย พึ่งพาตนเองเพียง ๒๘% เพราะกำลังซื้อลดลง ที่เหลือพึ่งพาจากต่างประเทศ  คือส่งออก หากไม่มีคนซื้อ ขายไม่ได้  ก็จะผลิตไม่ได้ คนตกงาน เป็นต้น

เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจภูมิภาคในปัจจุบัน

ขนาดเศรษฐกิจของประเทศ/โลกดูจากค่า GDP (รายได้ของคนทั้งประเทศ/โลก รวมกัน หรือ กำลังซื้อของคนในประเทศ/โลก)  ขนาดเศรษฐกิจของโลกในปัจจุบันเท่ากับ ๑๒๐ ล้านล้านเหรียญ เมื่อการเปรียบเทียบสัดส่วนขนาดเศรษฐกิจของแต่ละประเทศในปัจจุบันพบว่า  ใหญ่สุดคือจีน รองลงเป็นสหรัฐ อินเดีย และญี่ปุ่น การดูทิศทางเศรษฐกิจโลก เราสามารถดูได้จากประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ การเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจของ ภาวะเศรษฐกิจประเทศเหล่านี้ย่อมส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจของทั้งโลก ปัจจุบัน ประเทศไทย มีขนาดเศรษญกิจโลกเพียง ๑% ซึ่งขนาดเศรษฐกิจเล็กมาก  ASEAN ๑๐ ประเทศรวมกันมีขนาดเท่ากับ ๖.๒% (ประชากรรวม ๖๕๐ ล้านคน) สหรัฐ ๓๐๕ ล้านคน ขนาดเศรษฐกิจเท่ากับ ๑๕.๕ %ยุโรป ๓๕๐  คน  ขนาดเศรษฐกิจเท่ากับ ๑๖ % แสดงว่า ASEAN ประชากรมาก แต่รายได้น้อยตรงข้ามกับ สหรัฐและยุโรป  แต่ ASEAN เป็นประเทศเกิดใหม่ จะมีลักษณะสำคัญคือการเติบโตสูง คาดการว่าในอีก ๒๐ ปีข้างหน้า ASEAN จะมีขนาดเศรษฐกิจเท่ากับ ๑๒ % จึงเป็นที่หมายปองของผู้ทำการค้าโลก  ในขณะที่สหรัฐ ยุโรป เปรียบเหมือนคนใกล้เกษียน คือการเติบโตน้อย เพราะอิ่มตัวแล้ว คาดว่าเต็มที่ก็ไม่เกิน ๒% ซึ่งต่างกับ ASEAN ส่วนญี่ปุ่นเปรียบเหมือนวัยกลางคน (๔๐+)  จึงยังมีศักยภาพในการเติบโตมากกว่า สหรัฐ ยุโรป   จีนเปรียบเหมือนวันทำงาน (๒๐+) ยังมีศักยภาพในการเติบโตมาก ส่วนอินเดียเปรียบเหมือนวัยรุ่น  (๑๕+) ยังมีศักยภาพในการเติบโตมากเช่นกัน  จะเห็นได้ว่า กลุ่มที่มีศักยภาพในการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจในสองทศวรรษหน้าจึงเป็นจีน อินเดีย ญี่ปุ่นและ ASEAN ประชากรรวมกันกว่า ๓๐๐๐ ล้านคน  

ปี ๒๐๐๘ สหรัฐประสบปัญหาเศรษฐกิจ จากตัวชี้วัด อัตราการว่างงาน  ๑๐.๕ % สหรัฐ แก้ต้องให้มีการจ้างงาน โดยมาตรการ QE  โดยธนาคารกลางลดอัตราดอกเบี้ย โดยเติมเงินเข้าไปในระบบ แล้วซื้อตราสารจากสถาบันการเงิน  ให้เงินในระบบมากขึ้น  ดอกเบี้ยก็จะลด  สหรัฐพิมพ์ธนบัตรเพิ่มเข้าไปในระบบ ดอกเบี้ยลด เอกชนลงทุนสูงขึ้น เกิดการจ้างงาน  เศรษฐกิจก็ดีขึ้น เศรษฐกิจโลกก็ดีขึ้น  ผลข้างเคียงคือ เงินจะเกิดการย้ายจากที่มีผลตอบแทนต่ำไปสู่ที่ๆมีผลตอบแทนสูง โดยเงินจะย้ายเข้ามาที่ ASIA ถ้ามาไทย จะส่งผลให้ความต้องการเงินบาทสูงขึ้น ค่าเงินบาทก็จะแข็งขึ้น  ไทยพึ่งพิงการส่งออก ทำให้ของของเราจะแพงขึ้น  ไทยจะมีปัญหาการส่งออก ในขณะสหรัฐมีการจ้างงาน เศรษฐกิจเขาดีขึ้น  เศรษฐกิจโลกก็จะดีขึ้น แต่ประเทศอื่นๆ ต้องเตรียมรับมือในการประคองตัวให้ผ่านพ้นวิกฤตินี้   ยุโรปช่วงนั้นก็พลอยกระทบไปด้วย โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ PIIGS มีหนี้สาธารณะสูง (หนี้ของรัฐบาลเป็นผู้กู้ยืมโดยตรง ด้วยการขายพันธบัตร หรือ กิจการของรัฐเช่นรัฐวิสาหกิจ ไปกู้ยืมเงินจากต่างประเทศ โดยให้กระทรวงการคลังเป็นผู้คำประกัน: หนี้สาธารณะของประเทศไทยปัจจุบันเท่ากับ ๔๒% ) จึงเป็นตัวถ่วงยุโรป กรีซมีหนี้สี่แสนล้านยูโร  ยุโรปแก้ปัญหาเหมือนสหรัฐคือใช้มาตรการ QE โดยธนาคารกลางเติมเงินเข้าไปในระบบ  ทำให้เงินอ่อนลง นักท่องเที่ยวมากขึ้นเพราะของราคาถูก  ในขณะที่กลุ่ม BRICS เป็นกลุ่มดาวรุ่ง มีขนาดเศรษฐกิจเป็น ๑/๓ ของ เศรษฐกิจโลก

ต้นปี ๒๐๑๗ โดนัล ทรัม รับตำแหน่ง มีนโยบายเชิงรุกเพื่อให้สหรัฐกลับมาเป็นเบอร์หนึ่งด้านเศรษฐกิจ โดยกำหนดนโยบาย จะทำให้เกิดการจ้างงาน ๑๒๕ ล้านตำแหน่งภายใน ๑ ปี  ทำการลดภาษีรายได้ส่วนบุคคลจาก ๓๕% เหลือ ๑๕% เพื่อเพิ่มกำลังซื้อ และวางแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานกว่า ๑ ล้านล้านเหรียญให้เกิดในสี่ปีข้างหน้า ปรับค่าแรงขั้นต่ำ จาก ๗.๕ เป็น ๑๐ เหรียญต่อ ชม. ตั้งกำแพงภาษีสินค้าจากจีน ๔๕%  เพราะเป็นผู้ส่งออกเบอร์๑ ของโลก มาตรการดังกล่าวจีนต้องย้ายฐานการผลิต เพื่อลดภาษี และทรัม ยกเลิกนโยบาย Tran Pacific Partnership: TPP ของโอบามา ( ๑๒ สมาชิกส่งสินค้าไปสหรัฐไม่เสียภาษี)

ในส่วนของประเทศญี่ปุ่น  มีการใช้มาตรการ QE มาแก้ปัญหาเศรษญกิจเช่นกัน โดยเติมเงินเข้าไปในระบบ ๘๐ ล้านล้านเยนต่อปี เพื่อให้ดอกเบื้ยลง พบว่าในปัจจุบัน ดอกเบี้ยญี่ปุ่นติดลบ ค่าเงินอ่อนลง  ของถูก และนักท่องเที่ยวสูงขึ้น

จีน เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ ปัญหาเศรษฐกิจของจีน ใช้มาตรการ QE แก้ไม่ได้เพราะเงินหยวนไม่เป็นสากล จีนจึงแก้ด้วยการเปลี่ยนกลไกการแลกเงินหรือปรับค่าเงินแทน โดยให้ค่าเงินหยวนอยู่ที่ ๖.๕ หยวนต่อ ๑ ดอลล่าสหรัฐ   ร่วมกับใช้นโยบายการคลังแบบขาดดุล (รายจ่ายมากกว่ารายรับ เน้นการลงทุนมากขึ้น กู้เงินมาลงทุนมากขึ้น)  การจัดการเป็นแบบเบ็ดเสร็จ  ส่งผลให้การขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจยังไปได้ดี    จีนมีประชากรจำนวนมาก (๑๓๕๐ ล้านคน ว่างงาน ๓๐๐ ล้านคน)  จึงวางแผนเตรียมโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมทั้งประเทศด้วยรถไฟความเร็วสูงยาวแสนกว่ากิโลเมตรในห้าปี  ปัจจุบันผ่านมาแล้วหนึ่งปี ดำเนินการไปแล้วประมาณหมื่นกิโลเมตร  ในส่วนการขนส่งทางอากาศ มีการสั่งซื้อเครื่องบิน Air Bus จาก ยุโรป มา ๑๖๐ ลำ (ปัจจุบัน Air bus ไปเปิดฐานการผลิตที่จีน) อนาคตการเติบโตของจีนจะสูงมากจะเป็นผู้นำเข้าและส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของโลก จึงเกิด FTA ระหว่าง ASEAN กับ จีน (การค้าเสรี คือ การยกเว้นภาษี ภายใต้กรอบต้องปลูกหรือผลิตในประเทศสมาชิก) ยุทธศาสตร์จีนจะผูกมิตรทิศใต้ 

อินเดีย ขนาดเศรษฐกิจ เท่ากับ  ๗.๓ การเติบโตอยู่ที่ ๗% ต่อปี  ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจา FTA ระหว่าง ASEAN กับอินเดีย ยุทธศาสตร์อินเดียจะผูกมิตรกับตะวันออก

 ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

ทั้งยุทธศาสตร์จีนซึ่งเป็นมหาอานาจทางเศรษฐกิจ และยุทธศาสตร์อินเดีย ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับ ๓ ของโลกต่างมุ่งมาที่ ASEAN โดย ASEAN มีการรวมตัวเป็น AC มาเหลือบ ๕๐ ปี และเน้น AEC มาประมาณ ๒ ปี นับเป็นโอกาสของไทยอย่างชัดเจน จากที่ตั้งของไทย หากลากเส้นไปยังเมืองหลวงและเมืองท่าของประเทศต่างๆ จะมีระยะทางเฉลี่ยสั้นที่สุด หมายถึง กรุงเทพ จะเป็นศูนย์กลาง Logistic โลกด้วยทำเลที่ตั้ง  และหากเขียนวงกลมรอบๆ กรุงเทพ ด้วยระยะทางการบิน ๑ - ๑.๓๐ ชม. จะครอบคลุมอินโดจีนทั้งหมดด้วยประชากร ๓๐๐ ล้าน  วงที่ ๒ ด้วยระยะทางการบิน ๓ ชม. จะครอบคลุมจีนตอนใต้ (ประชากร ๕๐๐  ล้าน)  อินเดียบางส่วน  (ประชากร ๓๐๐ ล้าน) ASEAN ทั้งหมด  วงที่ ๒ ด้วยระยะทางการบิน ๕ ชม. จะครอบคลุมจีน และอินเดียทั้งหมด ญี่ปุ่นครึ่งประเทศ และ ASEAN ทั้งหมด  (ประชากร ๓๒๐๐  ล้าน) ซึ่งหมายถึงประชากรเกลือบครึ่งหนึ่งของโลก  นี่คือศักยภาพของ ประเทศไทย ด้วยกรอบ ASEAN จะมีผลต่อไทย  มี ๓ ข้อคือ

  •  Custom union กำแพงภาษี  คือไม่มีกำแพงภาษีระหว่างกัน   โดยสินค้าที่ค้าที่ส่งออกระหว่าง ASEAN นั้นต้องปลูกหรือผลิตใน ASEAN เท่านั้น ถ้าผลิตที่อื่น แต่ละประเทศสามารถกำหนดกรอบกำแพงภาษีเองได้ ส่วนภาษีอื่นๆ ก็ให้อิสระในการกำหนด  ผลที่ได้คือสินค้าเราส่งไป ASEAN ก็จะราคาถูกเพราะไม่มีภาษี  คาดว่าจะขายได้มากขึ้น เพราะสินค้าไทยได้เปรียบเพื่อนบ้านเนื่องจากมีมาตรฐานสูงกว่า นับเป็นโอกาสของประเทศไทย
  • Common market ตลาดเดียวกัน หมายถึง สินค้าเราสามารถส่งออกได้โดยไม่ข้อกีดกัน ทำให้ส่งสินค้าง่ายขึ้น ตลาดใหญ่ขึ้น ทั้งนี้พฤติกรรมผู้บริโภคจะเป็นตัวสำคัญในขยายตลาด
  • Economic  union ปัจจัยการผลิต ทุน และประชาชน เคลื่อนย้ายโดยเสรี  ไม่ต้องใช้ Visa และอนาคต ต่างชาติมาก็จะใช้ Visa เดียวทั้ง ASEAN ประเทศไทยเชื่อมติด ASEAN มากที่สุด เช่น เชื่อมต่อกับลาว ถนนเราดีกว่า  การเดินทางดีกว่า สินค้ามากกว่า การค้าขายก็จะดีขึ้น น่าจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทย     

ทั้งสามข้อข้างต้น ประเทศไทยได้ประโยชน์มากที่สุด เพราะอยู่ภาคพื้นดิน และติดพรมแดนอื่นมากที่สุด มี ๓๓ จังหวัดติดชายแดนต่างประเทศ และมี ๓๔ ด่าน ที่เปิดเชื่อมรอบบ้าน  ประเทศที่เติบโตมากก็จะได้เปรียบด้วยเช่นกัน  แต่ประโยชน์เหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นหากไม่มีการพัฒนาใน ๓ เรื่องคือ โครงสร้างพื้นฐาน ด้าน Logistic ด้าน ICT ต้อง Platform เดียวกัน  และด้านพลังงาน ASEAN ต้องเสริมศักยภาพกันและ  โอกาสของไทยจึงมีมากเพราะเรากำลังเติบโต คาดว่าอนาคตอีก ๑๐ ปีข้างหน้า นักท่องเที่ยวไทยจะเพิ่มจาก ๓๐ เป็น ๑๗๕ ล้านคน เราจึงต้องพัฒนาศักยภาพของสนามบิน และระบบโครงสร้างพื้นฐานมารองรับ เพื่อเชื่อมศักภาพของสนามบินด้วย

ปัจจุบันประทศไทยมีขนาดเศรษฐกิจอยู่ในระดับปานกลาง (ต่ำ)  ดูจากรายได้ต่อหัวของไทยอยู่ที่ ๕๗๐๐ เหรียญ/ ปี (ไทยตั้งเป้าว่าอีก 20 ปีข้างหน้าเราจะขยับเป็น ระดับปานกลาง (สูง)  ๑๒๐๐๐ เหรียญ/ ปี) ในขณะที่กัมพูชา ลาว

เมียนมาร์ และเวียดนาม จะต่ำกว่าเส้นความยากจนที่ธนาคารโลกกำหนด (น้อยกว่า ๒๐๐๐ เหรียญ/ ปี ) จึงถูกจัดให้เป็นประเทศยากจน จึงเกิดกลุ่ม CLMV ซึ่งต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ โดยได้สิทธิพิเศษทางการค้าจากยุโรปและสหรัฐ สินค้าของกลุ่มประเทศเหล่านี้ที่มีการใช้ปัจจัยพื้นฐาน (Unskilled labor)  ถ้าส่งไปยุโรปและสหรัฐ จะไม่มีข้อกำหนดด้านโควต้า เช่นเสื้อผ้า สิ่งทอ รองเท้า ส่งผลให้เวียดนามเป็นเมืองที่ต่างชาตินิยมไปลงทุนเนื่องจากการเมืองนิ่ง  ไทยไม่ได้โอกาสจากประเด็น CLMV นี้  

แนวทางการปรับตัวของประเทศไทย

การขับเคลือนเศรษฐกิจ จะมีกลุ่มที่เกี่ยวข้อง ๓ กลุ่มคือ ภาคครัวเรือน จะเป็นผู้จับจ่ายใช้สอย ภาคธุรกิจ และภาครัฐ จะมีบทบาทในการลงทุน

ภาคครัวเรือน

ภาคครัวเรือนจะเป็นผู้จับจ่ายใช้สอย เพื่อตอบโจทย์ความพึงพอใจตัวเองภายใต้กรอบงบประมาณที่มี  (Maximize Utility)  หากจะให้ภาคครัวเรือนใช้จ่ายมาก โดย  1. การกระตุ้นการใช้จ่ายด้วยมาตรการภาษี เช่นการลดภาษีรายได้บุคคล เพื่อให้ภาคครัวเรือนมีเงินเหลือมากขึ้น    2. ทำให้ของถูกลง 3. คนทำงานก็ให้มีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้น  โดยการเพิ่มคุณค่าของงาน ให้แรงงานสามารถเพิ่มมูลค่าผลผลิต ให้กับนายจ้าง เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการเพิ่มค่าแรงงาน  โดยการพัฒนาฝีมือแรงงานให้เขามีศักยภาพมากขึ้น เช่นการส่งไปอบรมเรียนรู้เพิ่มเติม (การศึกษา) เพื่อให้สามารถทำงานได้มากขึ้น เร็วขึ้น  หรือสร้างสรรค์ผลงานได้ปราณีตขึ้น ผลิตภาพเพิ่มขึ้น (Productivity เพิ่มขึ้น) ค่าแรงก็เพิ่มขึ้น  ซึ่งประเด็นนี้สำคัญที่สุด ความยากจนจะแก้ไม่ได้หากการพัฒนาในข้อนี้

                              ปีเตอร์ ดรักลาส กล่าวว่า การลงทุนในทุนมนุษย์ด้วยการศึกษานั้น จะช่วยเพิ่ม Productivity ให้กับสังคม และจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในที่สุด  และการศึกษาเป็นการลงทุนที่มีแต่กำไร ไม่มีขาดทุน กำไรจะมากหรือน้อยอยู่ที่เวลาที่เหลืออยู่ของแต่ละบุคคล ใครเหลือมากกำไรมาก เหลือน้อยก็กำไรน้อย นั่นคือใครลงทุนก่อนก็กำไรมาก

                              การศึกษาจึงเป็นเรื่องจำเป็นในการแก้ปัญหาความยากจน การศึกษาพื้นฐานเป็นที่มาของความสามารถ ความสามารถจะเป็นที่มาของรายได้  รัฐต้องดูแลให้ เศรษฐกิจดี  เศรษฐกิจดี การใช้จ่ายก็จะเพิ่มขึ้นตามมา

ภาคเอกชน

ในภาคธุรกิจ บริหารเพื่อตอบโจทย์ Maximize Profit  ภายใต้เงินทุนจำกัด การเปิดธุรกิจต้องเลือกโครงการที่ผลตอบแทนสูงสุดเป็นอันดับแรก ถ้าต้องการให้เอกชนลงทุนมากๆ เพื่อให้เกิดการจ้าง  ภาครัฐสามารถกระทำได้โดย 1. การลดภาษี เพื่อให้เกิดแรงจูงใจ  กท.การคลังเป็นผู้ดูแล 2. ดอกเบี้ยต่ำ การลงทุนก็จะสูง  ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดูแล  3. เพิ่มความสามารถในการบริหารจัดการของภาคเอกชน (Productivity) ต้นทุนก็จะต่ำ กำไรก็จะมากขึ้น 4. ทำให้เศรษฐกิจเติบโต  5.ใช้ตลาดทุนเป็นกลไกในการส่งเสริมการลงทุน  โดยให้บริษัทที่มีความพร้อมเข้าระดมทุนจากประชาชนทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ต้นทุนทางการเงินต่ำลง ไม่ต้องไปกู้เงินจากธนาคาร

รัฐบาล

บริหารประเทศเพื่อตอบโจทย์ Maximize social welfare คือดูแลประชาชนให้ประชาชนมีงานทำ มีรายได้ อยู่ดีกินดี มีความสุข  รัฐก็อาจมีข้อจำกัดเรื่องเงิน การลงทุนภาครัฐจึงอาจต้องมีการทะยอยดำเนินการ ถ้ารัฐมีเงินทุนมาก ลงทุนมาก ก็เกิดการจ้างงาน เกิดรายได้ รัฐจะมีเงินมาก ก็จะได้จากการเก็บภาษีให้มากขึ้น จัดการให้เก็บได้ครบถ้วน ทำให้เศรษฐกิจเติบโต หรือการไปกู้เงินมาลงทุน ทั้งนี้การกู้ของไทยกำหนดเพดานไม่เกิน  ๖๐% ของ GDP

การขับเคลือนเศรษฐกิจ จะเกิดขึ้นได้เมื่อทั้งสามภาคส่วนคือ ภาคครัวเรือน เกิดการผู้จับจ่ายใช้สอย ภาคธุรกิจ และภาครัฐ เกิดการลงทุน  เกิดการจ้างงาน ผลผลิต เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะโต  เกิดเป็นรายได้ หรือ GDP

ปัจจุบัน ภาคครัวเรือนไทยมีหนี้ครัวเรือนค่อนข้างมาก ตกประมาณ ๘๐% ของ GDP ส่งผลให้กำลังซื้อลดลงภาคเอกชนกำลังผลิตของภาคอุตสาหกรรมยังใช้งานไม่เต็มที่ มีการใช้งานเพียง ๖๕%  จึงยังไม่มีความจำเป็นในการลงทุน ต้องรอกำลังซื้อให้มากกว่านี้จึงจะเพิ่มกำลังการผลิต สุดท้าย รัฐจึงต้องลงทุนแต่รัฐบาลไม่กู้แต่ใช้โครงการ PPP (Public and Private Partnership) เป็นการลงทุนร่วมระหว่างรัฐและเอกชน มาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fundamental) มาช่วยแบ่งเบาภาระการลงทุนของภารคัฐ เพื่อให้ GDP สูงขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ กระจายรายได้ให้เท่าเทียม ศักยภาพทางเศรษฐกิจ ดูแลค่าเงินให้มีศักยภาพ ประชาชนก็จะอยู่ดีกินดี

................................................

คำสำคัญ (Tags): #hr
หมายเลขบันทึก: 646507เขียนเมื่อ 17 เมษายน 2018 22:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 เมษายน 2018 22:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท