พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา



วันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๖๑ มีการประชุมเวทีปฏิรูปการศึกษาไทยที่ ทีดีอาร์ไอ เรื่อง พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา : Sandbox เพื่อการปฏิรูปการศึกษาไทย    โดยคุณณิชา พิทยาพงศกร นักวิจัยของ ทีดีอาร์ไอ นำเสนอแนวคิดในการดำเนินการลงรายละเอียดมาก    เน้นการเปลี่ยนแปลงที่ ๖ ระบบ คือ (๑) หลักสูตร  (๒) สื่อการเรียนการสอน  (๓) การประเมินการเรียนรู้  (๔) การประเมินโรงเรียน  (๕) บุคลากร  (๖) การเงิน  

เป็นการนำเสนอเพื่อขอรับฟังข้อคิดเห็นว่าแนวทางที่เสนอเหมาะสม ตรงความต้องการของพื้นที่ และมีความเป็นไปได้ที่จะประสบความสำเร็จหรือไม่    จากผู้ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุม ๒ กลุ่ม คือ (๑) กลุ่มจากพื้นที่ จังหวัดระยอง  ศรีสะเกษ  แม่ฮ่องสอน  บุรีรัมย์  (๒) ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งผมอยู่ในกลุ่มนี้  

กลุ่มจากพื้นที่ศรีสะเกษ และครูใหญ่วิเชียรจาก รร. ลำปลายมาศพัฒนา บอกว่าเขาทำกันอยู่แล้ว    และเลยช่วงที่ต้องดิ้นรนไปแล้ว เพราะจัดการศึกษาแนวใหม่ คือแนวลำปลายมาศพัฒนามาหลายปี    สามารถทำได้โดยไม่ขัดนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ   แต่ติดขัดตรงที่ถูกมองเป็นตัวประหลาด

ทีมจากระยองเสนอให้ดำเนินการสร้างการยอมรับจากประชาชนและวงการศึกษา ปลุกให้พื้นที่ลุกขึ้นมาจัดการตนเอง    แล้วประกาศให้เป็นเขตการศึกษาพิเศษทั้งจังหวัด

ทีมจากแม่ฮ่องสอนบอกว่า สภาพพื้นที่และสังคมในจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีลักษณะพิเศษ   คือมีชนเผ่า ๗ ชนเผ่า อยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร    การทำเหมือนกันทั้งจังหวัดทำได้ยาก   และควรเน้นการศึกษาเพื่ออาชีพ              

รศ. ดร. ประวิต เอราวรรณ์ ผู้มีความเข้าใจในระบบเดิมของกระทรวงศึกษาธิการ เตือนให้ทำแบบใจเย็นๆ ระวังแรงต้านในช่วงแรก   ต้องมีช่วงทำงานคู่ขนานกับระบบเดิม   ต้องทำงานกับ สพฐ.   ระบบพนักงานจะไม่ได้ผล  คนเป็นครูต้องการความมั่นคง    ซึ่งประเด็นนี้ผมคิดต่าง  ผมเห็นว่าควรยืนยันระบบบริหารงานบุคลากรแบบใหม่เพื่อหาครูที่มี mindset ใหม่ และสร้างระบบ incentive ใหม่

นพ. สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์  ชี้ให้เห็นว่ามีเป้าใหญ่ ๒ เป้า ที่ไม่ตรงกันนัก (๑) พท. ทดลอง เพื่อขยาย  (๒) พท. ที่สนองความต้องการของ พท. เอง    คุณสมศักดิ์ พะเนียงทอง จากระยอง เสนอ กศจ. พิเศษ เป็นกลไกใหม่   อาจต้องกลับไปแนวทางเดิมที่เคยคุยกัน คือส่งเสริมกลไกไม่เป็นทางการใน จว. ให้ทำงานเสริม   สร้างความสัมพันธ์ใหม่ๆ    สร้างกลไกนอกระบบที่ช่วยกลไกในระบบ   ทำงานเป็น   สร้างกลไกนี้ขึ้นมาในแต่ละ จว.     

ผมเสนอว่าโมเดลที่เสนอ   ยังเป็นแนวใช้อำนาจมากไป    กลไกกลาง ควรทำหน้าที่ประสานงาน (coordinator)    และ communicator โดยเฉพาะสื่อสารเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อความอยู่รอดของบ้านเมืองในอนาคต    ต้องทำวิจัย evidence synthesis เอามาสื่อสาร    ผมชอบแนวทางไม่ใช้อำนาจแต่ใช้การประสานงาน และสร้างแรงจูงใจแบบที่อังกฤษใช้เป็นกลไกเปลี่ยนกระบวนทัศน์และวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัย    มาเป็น public engagement culture    ดังเล่าไว้ ที่นี่

เลยเวลาเที่ยงเล็กน้อยผมต้องออกจากที่ประชุม ไปงานอื่นต่อ    จึงไม่ทราบข้อสรุปจากการประชุม  

จะเห็นว่า การแก้ปัญหาคุณภาพการศึกษา เป็นเรื่องซับซ้อนยิ่งนัก    ที่คุยกันวันนี้ พอจะสรุปตรงกันได้ว่า    ต้องสร้างกลไกไม่เป็นทางการให้เข้มแข็ง    และเปิดโอกาสให้เขตพื้นที่การศึกษาพิเศษมีได้หลายโมเดล  

วิจารณ์ พานิช

๑๔ มี.ค. ๖๑       


 

หมายเลขบันทึก: 646362เขียนเมื่อ 10 เมษายน 2018 01:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 เมษายน 2018 14:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท