นิทานปรัมปรา เรื่อง เบียดบังค่าอาหารเสือ


นิทานปรัมปรา เรื่อง เบียดบังค่าอาหารเสือ

ดร.ถวิล อรัญเวศ
รอง ผอ.สพป.นครราชสีมา เขต 4

       ในการจัดการเรียนการสอนเพื่อปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมแก่ผู้เรียน การใช้นิทานเป็นสื่อก็ถือว่า ได้ผลไม่น้อย เพราะสมัยพุทธกาล เวลาพระพุทธเจ้าจะทรงเทศนาสอนโปรดใคร พระองค์ก็จะตรวจดูอุปนิสัยของคนนั้นก่อนแล้วจึงทรงสอน และก็วางแผนว่าจะสอนเขาอย่างไรจึงจะทำให้เกิดดวงตาเห็นธรรม โดยใช้นิทานชาดก หรือนิทานอดีตชาติของพระโพธิสัตว์มาสาธก

       สำหรับนิทาน เรื่อง เบียดบังค่าอาหารเสือ ก็สะท้อนให้เห็นความโลภมากของผู้เลี้ยงเสือหรือผู้คุมการเบิกจ่ายค่าอาหารเสือ ซึ่งมีมาว่า กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว สวนสัตว์แห่งหนึ่ง ได้เสือโคร่งใหญ่ตัวใหม่มาหนึ่งตัวเพื่อที่จะให้ประชาชนได้มาเข้าชม ทางผู้บริหารระดับสูงของสวนสัตว์จึงได้จัดตั้งงบประมาณเป็นค่าอาหารเสือตัวนั้นเป็นเงิน 1 บาทต่อวัน (ตามค่าเงินในสมัยนั้นซึ่งก็ถือว่าสูงพอสมควรสำหรับเงินในสมัยนั้น)

       ผู้ควบคุมดูแลเสือได้ขอเบิกเงินวันละ ๑ บาทเพื่อนำไปซื้อเนื้อมาเลี้ยงเสือ แต่เขาได้เบียดบังเงิน ๑ สลึงไปเป็นของตนในแต่ละครั้งที่ขอเบิก เขาจึงใช้เงินเพียง ๓ สลึงไปซื้อเนื้อมาเลี้ยงเสือในแต่ละวันเท่านั้น ผลปรากฏว่าเสือไม่อ้วนสักที ดังนั้น เมื่อคนเลี้ยงเสือได้เบิกเงิน 1 บาทไปซื้อเนื้อมาเลี้ยงเสือแต่ละวัน เขาได้ก็ยักยอกเงินค่าอาหารเสือไป 1 สลึงทุกวัน เท่ากับว่าเสือได้กินเนื้อในราคา 3 สลึงต่อวันเท่านั้น

      เสือไม่อ้วน ผู้คนมาชมสวนสัตว์เมื่อเห็นเสือไม่อ้วน จึงไปร้องเรียนต่อผู้อำนวยการสวนสัตว์ว่าเป็นเพราะตั้งงบประมาณค่าอาหารเสือไว้น้อยเกินไปจึงทำให้เสือกินไม่อิ่ม

ผู้อำนวยการสวนสัตว์คนนั้นก็แปลกใจเหมือนกัน แต่ด้วยการเป็นผู้มีความสุขุมรอบคอบ จึงได้ส่งผู้ตรวจการลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริง

      ครั้นผู้ตรวจการลงไปตรวจสอบสภาพความเป็นจริงก็พบว่า มีการยักยอกเงินค่าอาหารเสือไปวันละ 1 สลึง เขาจึงขอค่าปิดปากอีก 1 สลึง

        จากการเบียดบังค่าอาหารเสือต่อวัน จึงทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงไปกว่าเดิม เพราะคน 2 คน ยักยอกกันไปรวม 2 สลึง คงเหลือค่าอาหารเพียงวันละ 2 สลึงเท่านั้น

เสือก็ผ่ายผอมลงหนักเข้าไปอีก ต่อมามีผู้รายงานให้ผู้อำนวยการทราบว่าเสือผอมลงมาก ผู้อำนวยการจึงส่งผู้ตรวจการระดับสูงลงมาตรวจสอบข้อเท็จจริง ผู้ตรวจการระดับสูงไปตรวจสอบอยู่เพียง 3 วัน ก็พบความจริงว่า มีการทุจริตยักยอกเงินค่าอาหารเสือไปวันละ 1 สลึก เขาก็อยากได้ จึงขอค่าปิดปากอีก 1 สลึง

       จะเห็นว่าผู้ตรวจการ 3 คน ยักยอกเงินไปคนละ 1 สลึก รวม 3 สลึง เจ้าเสือคงเหลือค่าอาหารเพียงวันละ 1 สลึง มันจึงผอมโซลงมากเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก นอนหายใจรวยระริน ๆ

       มีคนไปรายงานผู้อำนวยการสวนสัตว์อีกว่าทำไมยิ่งส่งคนมาตรวจสอบ เจ้าเสือยิ่งก็ยิ่งผอมลงทุกที ผู้อำนวยการจึงตัดสินใจส่งผู้ตรวจการระดับสูงสุดไปตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้งเพื่อหวังจะได้ทราบความจริงว่ามันเกิดอะไรขึ้นกันแน่กับเจ้าเสือ ตัวนี้

ผู้ตรวจการระดับสูงสุดก็ลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ 3 วัน ปรากฎว่าเสือตาย

      เพราะอะไร ? ก็เพราะผู้ตรวจการระดับสูงสุด เขาขอแบ่งเงินสลึงสุดท้ายเป็นค่าปิดปาก

    โคลงโลกนิติได้ให้แง่คิดเรื่องนี้ไว้ว่า

๏ เบิกทรัพย์วันละบาทซื้อ มังสา

นายหนึ่งเลี้ยงพยัคฆา ไป่อ้วน

สองสามสี่นายมา กำกับ กันแฮ

บังทรัพย์สี่ส่วนถ้วน บาทสิ้นเสือตาย๚ะ๛

      จากนิทานปรัมปราเรื่องเบียดบังค่าอาหารเสือ ได้ตรวจพบว่ามีการทุจริต แต่ไม่ได้พูดถึงว่า ผู้ตรวจการรวมทั้งผู้เบิกเงินมาซื้ออาหารเลี้ยงเสือ ได้รับโทษอย่างไร เข้าใจว่า คงถูกปลดออกหรือไล่ออกนะครับ

 

         นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า

            การทำกิจการใดก็ตามหากมีคนเบียดบังผลประโยชน์ หรือโกงกิน คนโกงกินหนึ่งคน ผลงานของก็ย่อมไม่สมบูรณ์ และยิ่งมีคนโกงกินมากกิจการนั้นย่อมไม่สำเร็จ เช่นเดียวกับการเบียดบังทรัพย์สินส่วนราชการ ทำให้การพัฒนาลดน้อยถอยลง เพราะไม่ได้ใช้งบประมาณเต็มจำนวน ผลที่ได้รับคือความเสียหาย เช่นเดียวกับการเบียดบังอาหารเสือจากนิทานในเรื่องนี้

          ในการก่อสร้าง หรือทำถนนหนทาง ก็เช่นกัน ถ้าหากมีการเบียดบังงบประมาณหลวง ก็อาจจะทำให้คุณภาพของงานไม่ได้มาตรฐานตามที่กำหนดไว้ ทำให้ได้สิ่งก่อสร้างหรือถนนหนทางไม่ได้มาตรฐาน เพราะคนรับเหมาก่อสร้าง ก็สร้างตามงบประมาณที่ยังเหลืออยู่เท่านั้น เขาคงไม่สามารถสร้างตามแบบพิมพ์เขียวได้ ฉะนั้น จึงควรละเว้น ไม่เบียดบังเงินหลวงหรือรับสินบนมาเป็นเงินส่วนตน จึงจะทำให้การพัฒนาได้คุณภาพมาตรฐานตามที่กำหนดไว้ พุทธองค์ตรัสไว้ว่า “โลภมาก ลาภหาย” ก็คือจะได้รับโทษตามกฎหมายบ้านเมืองนั้นเอง เพราะ “ซื่อกินไม่หมด แต่ถ้าคด จะกินไม่นาน”

 

 

แหล่งข้อมูล

http://bit.ly/2t6Cx80

https://www.gotoknow.org/posts/434688

 

หมายเลขบันทึก: 645220เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2018 03:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มีนาคม 2018 03:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท