การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในสถาบันวิชาชีพด้านสุขภาพ


                                                                              ข้อเสนอแนะ

               หนังสือ การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในสถาบันวิชาชีพด้านสุขภาพ

                                                                           วิจารณ์ พานิช

                                                                          .......................

 

ผมขอแสดงความชื่นชม และแสดงความยินดี ต่อคณะอนุกรรมการ I-Reform ที่มี ศาสตราจารย์ นายแพทย์ พงษ์ศักดิ์ วรรณไกรโรจน์ เป็นประธาน  และต่อคณะทำงานทั้งสองชุด   ที่ได้รวบรวมข้อมูลและสังเคราะห์ข้อเสนอแนะที่ครบถ้วน ลุ่มลึก เชื่อมโยง และทรงคุณค่ายิ่งนี้    รายงานชิ้นนี้จะมีประโยชน์ยิ่งต่อการพัฒนาการศึกษาของบุคลากรในวิชาชีพสุขภาพ   และต่อสถาบันอุดมศึกษาในภาพรวม    เพราะโลกในศตวรรษที่ ๒๑ ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงด้วยพลังแห่งเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นพลังหลักอย่างหนึ่ง   

การศึกษาและรายงานนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี  เป็นการหาข้อมูลเพื่อใช้เป็นฐานในการพัฒนาต่อ   ดังนั้นคำนิยมนี้จะเขียนแบบเน้นการให้ข้อเสนอแนะเพื่อการร่วมกันดำเนินการของสถาบันต่างๆ    ในการใช้พลังของไอซีที เพื่อพัฒนาผลงานหรือคุณภาพของสถาบัน เป็นหลัก   อันจะส่งผลดีต่อวงการศึกษาของวิชาชีพสุขภาพ ต่อการพัฒนาระบบสุขภาพ และต่อการพัฒนาประเทศในภาพรวม   

ผมขอเสนอให้คณะอนุกรรมการชุดนี้ทำงานระยะยาว    โดยในโอกาสต่อไปควรศึกษาพฤติกรรมของผู้เรียน ในการใช้ ไอซีที เพื่อการเรียนรู้ระดับ mastery และระดับ transformative ของตน     และหาทางส่งเสริมการใช้อย่างทรงคุณค่า โดยใช้กลุ่มนักศึกษาที่มีวิธีใช้ที่ดี เป็นพลังขับเคลื่อนหลัก    โดยใช้หลักการว่า นักศึกษาเป็นผู้ร่วมสร้างสรรค์ (co-producer) ไม่ใช่เป็นเพียง user    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักศึกษาที่มีวิธีปฏิบัติที่ดี (best practice)

ผมเข้าใจว่าคณะอนุกรรมการมีกรณีตัวอย่าง วิธีปฏิบัติที่ดี ของสถาบันอุดมศึกษา  ของคณะ ของภาควิชา และของอาจารย์เป็นรายคน    จึงขอเสนอให้นำกรณีตัวอย่างเหล่านั้นขึ้นเว็บไซต์ของสถาบันเจ้าของเรื่อง และของมูลนิธิเพื่อพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพ    และนำลิ้งค์เหล่านั้นมาแนะนำในเอกสารนี้  

สิ่งที่ควรพิจารณาศึกษา และเสนอแนะเพิ่มเติม   คือ การใช้ไอซีที เพื่อการศึกษาต่อเนื่องของแต่ละวิชาชีพ  และการเรียนหรือฝึกร่วมวิชาชีพ (IPL – Inter-professional Learning)    และใช้ไอซีทีเอื้อระบบ feedback สู่การพัฒนาเชิงระบบ

การจัดการระบบไอซีที พึงระวังติดกับดักเทคโนโลยี (technology trap)  คือปล่อยให้นักเทคโนโลยีเป็นผู้กำหนดทิศทางการพัฒนา    เป็น technology-led development   ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่ผิด อันจะก่อการลงทุนมาก มีคนใช้น้อย ก่อผลประโยชน์น้อย    ที่ถูกต้อง การพัฒนาระบบไอซีที พึงพัฒนาตามความความต้องการของผู้ใช้ หรือตามที่ผู้ใช้สามารถใช้ได้อย่างคล่องแคล่วและก่อผลลัพธ์ตามที่กำหนดไว้    คือใช้ยุทธศาสตร์ผู้ใช้เป็นหลัก นักเทคโนโลยีเป็นผู้สนอง   

ในเรื่องการพัฒนาผู้บริหาร อาจารย์ และเจ้าหน้าที่สายสนับสนุน ให้มีสมรรถนะด้านไอซีทีนั้น    ผมมีความเห็นต่างจากที่เสนอไว้    ผมคิดว่าเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้บริหาร อาจารย์ และบุคลากร ที่จะต้องพัฒนา ICT literacy ของตนเอง ให้ทันต่อการทำหน้าที่ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป    โดยสถาบันจัดระบบเอื้อต่อการเรียนรู้และฝึกฝนของท่านเหล่านั้น   ผมมีคำถามต่อ ว่าควรใช้ผลการประเมินสมรรถนะนี้ในการพิจารณาความดีความชอบด้วยหรือไม่   

ในเรื่องการประยุกต์ใช้ไอซีทีต่อการเรียนการสอน ผมสนับสนุนข้อเสนอในเอกสารนี้ ว่าสถาบันอุดมศึกษาต้องใช้พลังไอซีที ช่วยให้นักศึกษาพัฒนาสมรรถนะที่ต้องการได้จริง ในระดับ mastery  และเกิด transformative learning ได้ในนักศึกษาทุกคนหรือเกือบทุกคน    และที่สำคัญที่สุด ทำได้โดยประหยัดแรงงานสมอง (cognitive load)   คือไม่เป็นเรื่องยากที่นักศึกษาจะบรรลุผลการเรียนรู้ในระดับดังกล่าว

หัวใจสำคัญในเรื่องไอซีทีคือการดำเนินการอย่างเป็นระบบทั่วทั้งองค์กร และร่วมมือกันข้ามองค์กร   เพื่อให้ใช้ทรัพยากรน้อย ได้ผลมาก   ผมมีคำถามว่า จำเป็นต้องเปลี่ยนกติกาด้านระบบให้ความดีความชอบ (reward system) เพื่อหนุนการคิดเชิงระบบ และทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ ตามแนวทางที่เสนอในเอกสารนี้หรือไม่

ผมขอแสดงความชื่นชมต่อผลงานชิ้นนี้ และแสดงความยินดีต่อทุกท่านที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่ได้ร่วมกันผลิตผลงานที่มีคุณภาพสูงชิ้นนี้     หากมีการนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง จะก่อคุณูปการต่อการศึกษาไม่เฉพาะต่อนักศึกษาในวิชาชีพสุขภาพเท่านั้น    แต่จะยังประโยชน์แก่นักศึกษาทุกสาขาวิชา   รวมทั้งจะช่วยให้ชีวิตการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยในศตวรรษที่ ๒๑ เป็นชีวิตที่ให้ความสนุกสนานและทรงคุณค่ายิ่งกว่ายุคสมัยใดๆ

                                                                                                                                                  วิจารณ์ พานิช

                                                                                                                                         ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑

อ่านรายงาน การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในสถาบันวิชาชีพด้านสุขภาพ ได้ที่ (๑)

 

 

การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในสถาบันวิชาชีพด้านสุขภาพ from Pattie KB


หมายเลขบันทึก: 644997เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2018 08:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2018 08:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท