การบริหารที่หน้างาน


ถอดบทเรียน
การบริหารที่หน้างาน
(ความเห็นส่วนบุคคล)
ดร.ถวิล อรัญเวศ
รอง ผอ.สพป.นครราชสีมา เขต 4
------------------------
มีคำพูดที่กำลังพูดถึงอยู่ปัจจุบัน คือ “หน้างาน” โดยเฉพาะการประชุม
ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สัญจร ครั้งที่ 1//2561 
ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 
จัดประชุมที่หอประชุมสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 4
ระหว่างวันที่ 8-9 กุมภาพันธ์ 2561 

ท่าน ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการ
การศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้มอบนโยบายการบริหารงานหน้างาน
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และหน้างานโรงเรียน ให้ไปทำความเข้าใจในเรื่องนี้และบริหารให้ดีที่สุดเพื่อคุณภาพของผู้เรียน
จากนโยบายดังกล่าว ทำให้ผู้เขียนมีความรู้สึกว่า เมื่อเจ้านายให้การบ้าน เราต้องไปศึกษาค้นคว้าเรื่องนี้ให้เข้าใจ
และก็ได้นำมาถอดเป็นบทเรียนเพื่อ
แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันและกัน ซึ่งอาจจะไม่สมบูรณ์นัก แต่ก็เพื่อเป็น
การจุดประกายในเรื่องนี้ ใครมีแนวคิดดี ขอนำมาแบ่งปันเพราะ
พุทธองค์ตรัสว่า “การให้ธรรม หรือวิทยาทาน ชนะการให้ทั้งปวง” การบริหารงานที่ “หน้างาน” ถือว่ามีความสำคัญ และเป็นหัวใจที่สำคัญซึ่งผู้บริหารการศึกษาและผู้บริหารสถานศึกษาไม่ควรจะมองข้ามไป เพราะแม้ว่า หน่วยงานจะได้กำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าประสงค์ไว้อย่างดีเลิศ แต่ไม่เข้าใจหน้างานของตนเอง ก็ยากที่จะทำให้การทำงานประสบผลสำเร็จได้
มีท่านผู้รู้ได้กล่าวไว้ว่า จากประสบการณ์ในการทำงาน ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่นั้น มีสาเหตุมาจากการการปฏิบัติงานที่หน้างาน โดยส่วนใหญ่จะมีดังนี้
1. คนในองค์กรยังไม่ทราบหรือไม่ทำความเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ เป้าหมาย หรือนโยบายต่างๆ ของหน่วยงาน ทำให้ขาดเป้าหมายในการปฏิบัติงาน
2. คนในหน่วยงานขาดการติดต่อสื่อสาร หรือประสานงานกันอย่างมีประสิทธิภาพ
3. คนในหน่วยงานไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง หรือวิธีการทำงานตามเอกสารประกอบการทำงาน (Work Instruction)
4. คนในหน่วยงานยังไม่คำนึงถึงผู้ที่จะต้องปฏิบัติงานต่อจากพวกเขา
5. คนในหน่วยงานปฏิบัติงานลัดขั้นตอน เพราะคิดว่าจะทำให้สามารถปฏิบัติงาน
ได้รวดเร็วกว่า แต่ไม่คำนึงถึงผลกระทบที่ตามมา เช่น โอกาสที่จะเกิดความเสียหาย หรือทำให้คุณภาพต่ำลง
6. คนในหน่วยงานขาดการตรวจสอบ และติดตามผลการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง
7. บุคลากร มักมีความคิดที่ว่าสิ่งที่ตนปฏิบัตินั้นถูกต้อง และเหมาะสมอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนปลงอะไรอีก
8. ผู้บริหาร บริหารงาน โดยอาศัยอารมณ์หรือความรู้สึก ลางสังหรณ์ หรือประสบการณ์เก่าๆ ที่เคยชินมาก่อน
9. คนในหน่วยงานขาดการปรับปรุงและพัฒนาการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง
10. ่บุคลากรในหน่วยงาน ยังไม่ให้ความร่วมมือ เพราะขาดความสามัคคีกันภายในหน่วยงาน
การบริหารหน้างานอย่างมืออาชีพ นั้น ควรกำหนดเป้าหมายที่แท้จริงไว้ (Actual Goals) หมายถึง นโยบาย เป้าหมาย ดัชนีชี้วัดผลงาน หรือ KPI (Key Performance Indicators) ความคาดหวังจากหัวหน้า หรือลูกน้องของตน คนในองค์กร หรือพนักงานจะต้องมีความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติงานให้บรรลุ ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ จะลืมเป้าหมายไม่ได้ ท่าน ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ชี้ให้เห็นว่า หน้างานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา คือ “โรงเรียน” หน้างานของโรงเรียน คือ “ห้องเรียน” ทำอย่างไร จึงจะทำให้โรงเรียนในสังกัดสำนักงานของแต่ละเขตพื้นที่การศึกษาสามารถพัฒนาคุณภาพนักเรียนให้บรรลุวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายตามเจตนาของหลักสูตรหรือมาตรฐานการจัดการศึกษา ทำอย่างไร ครูจึงจะสามารถจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้ผู้เรียนบรรลุวัตถุประสงค์ ทั้งวัตถุประสงค์ทั่วไป และวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม ทำอย่างไรบุคลากรจึงจะมีจิตอาสางาน สอนเต็มเวลา เต็มหลักสูตร เต็มความสามารถและเต็มใจ ทำอย่างไรบุคลากรจึงจะทำดี ทำชอบ ทำเก่ง เคร่งวินัย และเอาใจใส่ต่อผู้เรียน พากเพียนในการทำงานและมีจิตอาสา
แนวทางการพัฒนาหน้างาน 1. สร้างความตระหนักในการรับรู้เป้าหมายร่วมกัน ระดับเขตพื้นที่การศึกษา ตัวอย่าง เป้าหมาย
โรงเรียนมีนักเรียนอ่านออกเขียนได้ร้อยเปอร์เซ็นต์
มุ้งเน้นผลสัมฤทธิ์เป็นเลิศ
ก่อเกิดงานอาชีพ
เร่งรีบพัฒนาเทคโนโลยี มีการพัฒนาหลักสูตร
อ่านพูดภาษาอังกฤษ
ส่งเสริมการคิดวิเคราะห์
บ่มเพาะคุณธรรม
น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
เคียงคู่ระบบดูและช่วยเหลือนักเรียน
2. สร้างคุณลักษณะของบุคลากรครูที่ต้องการให้เกิด
เช่น ทำดี ทำชอบ ทำเก่ง เคร่งวินัย เอาใจใส่ต่อผู้เรียน เพียรรู้จักนักเรียนรายบุคคล คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ
3. สร้างคุณลักษณะของผู้บริหาร
1. กล้าตัดสินใจ
นักบริหารมืออาชีพ ต้องมีข้อมูลเพียงพอในการตัดสินใจ เป็นคนสุขุม รอบคอบ มีเหตุผล โดยยึดหลักที่ว่า
“ก่อนจะเชื่อสิ่งใดให้พิสูจน์ก่อนจะพูด ให้ยั้งคิดวินิจฉัย ก่อนจะทำ
กิจการงานใด ๆ จงคิดให้ถ้วนถี่จะดีเอย”
2. ไวต่อข้อมูล
นักบริหารมืออาชีพต้องเป็นคนทันสมัย ไวต่อข้อมูล หรือการเปลี่ยนแปลง ใหม่ ๆ ต้องติดตามข่าวสารต่างๆ อยู่เสมอ เป็นผู้ทันเหตุการณ์ สืบค้นข้อมูลจากสื่อสังคมออนไลน์และจากสื่อข่าวสารต่าง ๆ ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ และข้อมูลจากเว็บไซต์ Facebook เป็นต้น
3. เพิ่มพูนวิสัยทัศน์
นักบริหารมืออาชีพจะต้องเป็นคนมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล สามารถ มองเห็นภาพฝันในอนาคต และแนวทางที่จะแก้ปัญหาในอนาคตได้เป็นอย่างดี
4. ซื่อสัตย์และสร้างสรรค์ผลงานนักบริหารมืออาชีพจะต้องเป็นคนซื่อสัตย์สุจริต และมีการสร้างสรรค์ผลงานให้เป็นที่ปรากฏอยู่เสมอ มีผลงานไม่หยุดนิ่งเป็นบุคคลที่สร้างศรัทธาด้วยผลงานที่ได้กระทำ
5. ประสานสิบทิศนักบริหารมืออาชีพ ต้องเป็นผู้ที่สามารถประสานงานกับหน่วยงานหรือบุคคลต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี สามารถไกล่เกลี่ยข้อกรณีพิพาทและสามารถขจัดปัญหาต่าง ๆ ใน หน่วยงานได้เป็นผู้มีทักษะในการขจัดความขัดแย้งในองค์การได้อย่างสันติ
6. คิดสร้างสรรค์วิธีการทำงานใหม่ ๆ นักบริหารมืออาชีพ ต้องคิดหาวิธีการทำงานแบบใหม่ ๆ ที่เป็นวิธีปฏิบัติที่ดีที่สุดหรือ Best Practice อยู่เสมอ เช่น
6.1 ต้องรู้ว่า “จะต้องทำอะไร” และมี“เป้าหมายอย่างไร” ต้องกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนว่าจะทำอะไร
6.2 ต้องรู้ว่า “จะทำอย่างไร” โดยเลือกวิธีการหลาย ๆ วิธีแล้วตัดสินใจนำวิธีการดังกล่าวมาเป็นแนวทางในการดำเนินงาน
6.3 ต้องตั้งใจทำ มุ่งมั่นและมีความจริงใจในการทำงานั้น ๆ ให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
6.4 เต็มใจทำงาน ทำงานให้สนุก มีความสุขกับงานที่ทำและรักงานประดุจชีวิต
6.5 มีความสุขุมรอบคอบในการทำงานมีความสุขุมรอบคอบ ใจเย็น
ไม่วู่วามใช้คติน้ำร้อนปลาเป็น น้ำเย็นปลาตาย
6.6 มีใจเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ในการทำงานไม่ลังเลที่จะดำเนินงานตามที่ได้วางแนวทางไว้ไปสู่ความสำเร็จ
6.7 ประเมินผลการปฏิบัติงานของบุคลากรด้วยใจเป็นกลางยุติธรรม และเปิดเผย ไม่ลุอำนาจของ อคติ 4 คือ ลำเอียงเพราะรักชอบพอกันลำเอียงเพราะโกรธไม่ชอบพอกัน ลำเอียงเพราะกลัวในอำนาจ ลำเอียงเพราะหลงขาดปัญญาไตร่ตรอง
7. จูงใจเพื่อร่วมงาน นักบริหารมืออาชีพ ต้องมีความสามารถในการโน้มน้าว หรือจูงใจเพื่อนร่วมงานให้
เกิดความกระตือรือร้นในการทำงานและมีความรับผิดชอบต่องานที่ทำ เช่น ประเมินผลการปฏิบัติงานด้วยความโปร่งใสยุติธรรม ให้การยกย่องชมเชยผู้ที่ปฏิบัติงานและปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี เพื่อจูงใจให้ปฏิบัติงานเป็นต้น
8. ทนทานต่อปัญหาอุปสรรค นักบริหารมืออาชีพ จะต้องมีความอดทนต่อสู้กับปัญหาและอุปสรรคที่กำลังเผชิญอยู่ และพร้อมที่จะหาแนวทางแก้ไขปัญหาอุปสรรคเหล่านั้นไม่หนีปัญหา
9. รู้จักยืดหยุ่นตามสถานการณ์ นักบริหารมืออาชีพจะต้องยืดหยุ่น ไม่ตึงเกินไป
หรือไม่หย่อนเกินไป บางครั้งก็ต้องดำเนินการในสายกลางแต่บางครั้งก็ต้องมีความเด็ดขาดเพื่อแก้ไขปัญหาให้สงบเรียบร้อยตามแต่สถานการณ์นั้น ๆ
10. บริหารแบบมีส่วนร่วม นักบริหารมืออาชีพ จะต้องบริหารงานเป็นทีมโดยให้ทุกคนมีส่วนร่วมร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ ร่วมประเมินผลในความภูมิใจในความสำเร็จของงาน 


ส่วนระดับโรงเรียนก็ล้อเอาจากระดับเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อจะได้ประสานกลมกลืนกันใน


ในการปฏิบัติงาน

หมายเลขบันทึก: 644834เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2018 21:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2018 21:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท