สืบทอดศิลปะมวยไทยนายขนมต้ม สานสัมพันธ์คนสองวัยตำบลบ้านกุ่ม


สืบทอดศิลปะมวยไทยนายขนมต้ม

สานสัมพันธ์คนสองวัยตำบลบ้านกุ่ม

             ความสัมพันธ์ระหว่างผู้สูงอายุกับเด็ก ดูจะเป็นช่องว่างและเป็นเส้นขนาน ทั้งความคิดความอ่านและทัศนคติที่แตกต่างกันสิ้นเชิง

            การลดช่องว่างระหว่างคนสองวัยถือเป็นเรื่องยากที่จะทำได้ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีหนทาง การร้อยความสัมพันธ์ของผู้สูงอายุกับเด็กผ่านการทำกิจกรรมร่วมกัน เป็นวิธีการหนึ่งที่คนสองวัยจะได้เรียนรู้กันและกันมากขึ้น

            ตำบลบ้านกุ่ม อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นอีกพื้นที่หนึ่งซึ่งใช้กระบวนการทำกิจกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างผู้สูงอายุและเด็กให้ได้ใกล้ชิดกันมากขึ้นกว่าเดิม และยังช่วยส่งเสริมการสร้างเสริมสุขภาพอีกด้วย โดยได้จัดทำโครงการ สืบสานศิลปะมวยไทยช่วยเสริมสร้างสุขภาพผู้สูงอายุและเยาวชนในตำบลบ้านกุ่ม อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อให้ผู้สูงอายุและเยาวชนได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ร่วมกันผ่านกิจกรรมการออกกำลังกาย และสืบสานศิลปะแม่ไม้มวยไทย

            อภิชาต คำสด ประธานชมรมผู้สูงอายุ ต.บ้านกุ่ม กล่าวว่า ตำบลบ้านกุ่มมีประชากรเกือบ 5,000 คน มีผู้สูงอายุประมาณ 815 คน และอีกจำนวนมากกำลังเข้าสู่วัยผู้สูงอายุในไม่ช้า ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลด้านสุขภาพพบว่า ผู้สูงอายุไม่ค่อยออกกำลังกายทำให้เกิดโรคต่างๆ เช่น เบาหวาน ความดัน หัวใจ ข้อเข่าเสื่อม เป็นต้น ในส่วนของจำนวนเยาวชนใน ต.บ้านกุ่ม มีอยู่ประมาณ 400 คน ซึ่งมีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงต่อการเปิดปัญหาวัยรุ่นต่างๆ มากมาย ส่วนหนึ่งมาจากความอบอุ่นจากครอบครัวหรือครอบครัวไม่มีเวลาดูแลบุตรหลาน  ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุกับเด็กและเยาวชนไม่ค่อยได้อยู่หรือทำกิจกรรมร่วมกัน ที่จะช่วยขัดเกลาจิตใจ และประพฤติแต่ในสิ่งที่ดีงาม

            ดังนั้นเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างผู้สูงอายุและเยาวชนให้ได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น จึงได้จัดทำโครงการสืบสานศิลปะมวยไทยขึ้น ซึ่งจะทำให้คนสองวัยได้ทำกิจกรรมร่วมกัน สืบสานและอนุรักษ์ศิลปะมวยไทย  เกิดความรักความเข้าใจ และได้ออกกำลังกายด้วยศิลปะมวยไทย นำมาซึ่งสุขภาพร่างกายแข็งแรง จิตใจ แจ่มใส ของคนสองวัย

            เมื่อถามถึงเหตุผล ว่าทำไมถึงเลือกศิลปะมวยไทยมาเป็นกิจกรรมเชื่อมสัมพันธ์ของคนสองวัย ประธานชมรมผู้สูงอายุตำบลบ้านกุ่ม บอกว่า ตำบลบ้านกุ่มมีความเกี่ยวโยงกับมวยไทย คือปรากฏหลักฐานว่าเป็นบ้านเกิดของนายขนมต้ม ตำนานแห่งมวยไทย เมื่อครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ซึ่งใช้ศิลปะเชิงมวยชกชนะนักมวยพม่าได้ถึง 9 คน เพื่อแลกกับอิสรภาพของตนเพื่อนเชลยศึกชาวไทย เมื่อวันที่ 17 มี.ค.2317 เพื่อเชิดชูเกียรตินายขนมต้มนักมวยไทยผู้พิชิตนักมวยพม่า จึงกำหนดให้วันที่ 17 มี.ค.ของทุกปีเป็นวันนายขนมต้ม และได้มีการสร้างอนุสาวรีย์นายขนมต้มเพื่อเป็นเกียรติประวัติในหลายๆ แห่ง รวมถึงที่ ต.บ้านกุ่ม ด้วย

            นอกจากกิจกรรมที่คนสองวัยจะได้ออกกำลังกายร่วมกันเพื่อสร้างเสริมสุขภาพแล้ว ยังเป็นการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่สำคัญของตำบลบ้านกุ่ม หรือบ้านกุ่มดอง ตามชื่อเรียกเดิมซึ่งเป็น 1 ใน 3 ที่ตั้งค่ายของทัพพม่าเมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 อีกด้วย ดังนั้นบ้านกุ่มจึงมีต้นทุนทางศิลปะและวัฒนธรรม สังคม วิถีชีวิตมาตั้งแต่โบราณ

            “เราต้องการให้คนผู้สูงอายุได้มีกิจกรรมทำร่วมกับเด็กและเยาวชน เชื่อมสัมพันธ์คนสองวัย เพราะปัจจุบันต้องยอมรับว่า เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าวมากขึ้น และไม่สนใจสังคมคนรอบข้าง จึงต้องสืบสานศิลปะและวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ ดีกว่าทิ้งไว้เปล่าๆ ตายไปไม่ได้อะไรขึ้นมา เพราะคนรุ่นหลังๆ จะไม่รู้อะไรเลย ว่า ประวัติ ต.บ้านกุ่ม เป็นมายังไง หรือนายขนมต้ม เกิดขึ้นมายังไง” ประธานชมรมผู้สูงอายุตำบลบ้านกุ่ม กล่าว

            ขณะที่ พงศ์พาณิช ตนุพันธ์ ประธานสภาองค์กรชุมชน ต.บ้านกุ่ม ซึ่งเป็นผู้ร่วมขับเคลื่อน กล่าวถึงกิจกรรมภายในโครงการ ว่าขั้นแรกคือการเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการผู้สูงอายุจำนวน 50 คน และเยาวชนจากโรงเรียนวัดจุฬามณี (ชุณหะจันทนประชาสรรค์) จำนวน 50 คน จากนั้นจึงจะดำเนินกิจกรรมต่อไป เช่น กิจกรรมสืบทอดและอนุรักษ์ศิลปะมวยไทย อบรมแม่ไม้มวยไทย จำนวน 15 ท่า และรำไหว้ครูมวยไทยเพื่อประยุกต์ใช้เป็นท่าทางในการออกกำลังกาย ซึ่งท่าแม่ไม้มวยไทยที่ใช้ต้องเป็นท่าที่ผู้สูงอายุและเยาวชนทำพร้อมๆ กันได้

ขณะเดียวกันเพลงที่ใช้ประกอบเราก็จะเขียนและเรียบเรียงขึ้นใหม่เพื่อให้เหมาะสมและมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับ ต.บ้านกุ่ม โดยตรง จากนั้นอบรมการทำประเจียด ขณะเดียวกันยังมีการสอดแทรกการอบรมความรู้ด้านยาเสพติดอีกด้วย

          “เมื่อเสร็จสิ้นโครงการแล้ว เราคาดหวังให้เกิดครูพี่เลี้ยงเพื่อสอนในรุ่นต่อไปอย่างน้อยกลุ่มละ 1 คน และทุกคนต้องรำแม่ไม้มวยไทยได้อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 5 ท่า ออกกำลังกายด้วยท่าทางศิลปะแม่ไม้มวยไทยร่วมกันอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ตลอดจนสามารถออกงานแสดงเพื่อประชาสัมพันธ์ศิลปะแม่ไม้มวยไทยและประวัติศาสตร์ ต.บ้านกุ่ม ได้” พงศ์พาณิช กล่าว

            ส่วน ณรงค์ บัวขจร เลขาชมรมผู้สูงอายุ ต.บ้านกุ่ม เชื่อว่า โครงการสืบสานศิลปะมวยไทยฯ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ให้ชุมชนได้เห็นความร่วมมือ สามัคคีกัน ในการต่อยอดไปทำเรื่องอื่นๆ ต่อไป

            “ถ้าเรามาร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ก็ต้องมีงานมาเรื่อยๆ ขอเพียงเรารวมตัวกันได้ อย่างเรื่องการปลูกผักปลอดสารที่เราพยายามจะทำต่อไปในอนาคต ซึ่งนอกจากชาวบ้านจะได้บริโภคผักปลอดสารแล้วดีต่อสุขภาพแล้ว สามารถสร้างรายได้ให้กับครัวเรือนอีกด้วย” ณรงค์ กล่าว

          ช่องว่างระหว่างวัยของผู้สูงอายุกับเด็กจะยิ่งถ่างห่างออกไป หากคนในชุมชนไม่ร่วมด้วยช่วยกันร้อยกระชับความสัมพันธ์ของคนสองวัยให้แนบแน่น เพราะผู้สูงอายุคือคลังปัญญาที่ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้มากหมายหลายสิ่ง และเป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิต ดังเช่น ที่ ต.บ้านกุ่ม ได้หยิบยกต้นทุนทางสังคม วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ ผ่านการทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อให้คนสองวัยได้ผูกพันกันยิ่งขึ้น



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท