หมอประจำตัวที่ดีที่สุด คือ ... (โปรดตอบ)


อังคารที่  ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑  สถานที่ห้องสวัสดิ์ สัมพาหะ  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองคาย 

คุณหมอล่า  ทันตแพทย์วัชรพงษ์  หอมวุฒิวงศ์  หัวหน้ากลุ่มงานทันตสาธารณสุข  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองคาย  ให้มาช่วยจัดกระบวนการเรียนรู้แบบกลุ่ม  เพื่อพัฒนาทีมเฝ้าระวังโรคในช่องปาก  จังหวัดหนองคาย 

 ผู้เข้าร่วมประชุมเช้าวันนี้  ทันตแพทย์ ๖ คน  จาก ๕ อำเภอ  อีก ๓ คน เป็นนักวิชาการสาธารณสุข  ๒๐ คนเป็นเจ้าพนักงานทันตสาธารณสุข (จากทั้ง ๙ อำเภอ)

ทันตแพทย์  ๓ คน คือ คุณหมอล่า   หมออ้อจากสระใครและหมอแก้มจากท่าบ่อ  เป็นวิทยากรกระบวนการ  ช่างภาพ  และ Note-taker

หมอจ๋า  น้องเนสท์  นักวิชาการทันตสาธารณสุข  และพี่นิต  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองคาย  อำนวยความสะดวกทั่วไป

^_,^

หมอจ๋า  และน้องเนสท์  นำเสนอตารางการเก็บข้อมูลเฝ้าระวังพฤติกรรมและสภาวะสุขภาพช่องปาก  ของกลุ่มอายุ ๑๘ เดือน, ๓ ปี, ๑๒ ปี  และผู้สูงอายุ  นำเสนอภาพด้วย slides  จำแนกลักษณะฟันตั้งแต่ปกติจนถึงการผุระยะต่าง ๆ  สัมพันธ์กับวิธีการรักษา  Update วิชาการ ... เป็น Input เข้าสำหรับการทำงานในปี ๒๕๖๑

 แล้วค่อยต่อด้วยกระบวนการทบทวนตนเอง  แลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านประสบการณ์แบบผู้ใหญ่  การเรียนรู้ด้วยกระบวนการกลุ่ม  ด้วยการฟังอย่างลุ่มลึก (บ้าง)  ให้ได้อารมณ์ดี  อารมณ์สุนทรีย์อย่างมีความสุข

ฟังอย่างหาเรื่อง (บ้าง) ... จับประเด็นให้ได้ใจความ  เนื้อหาสาระที่พอมีประโยชน์ต่อตัวเรา  ต่อผู้อื่นต่อไป 

กิจกรรมแรก  ปลดปล่อยจินตนาการ  อุปกรณ์ คือ กระดาษ A๔  และสีชอล์ค

วาดภาพ  ระบายสี  “ความสุขจากการทำงานสร้างเสริมป้องกันสุขภาพช่องปาก”

เขียนชื่อตัวเอง  ที่ทำงาน  ใช้เวลา  ๑๐ นาที

 แล้วค่อยแนะนำเทคนิค world café  ร่วมกับการฟังอย่างลึกซึ้ง  ซึ่งบางคนมีมากน้อยต่างกันติดตัวมา  วันนี้ยังไม่ได้เน้นมาก  เหลือเวลาทำกิจกรรมทั้งหมด ๒ ชั่วโมง

 ประเด็นสนทนารอบที่ ๑

  • ความสุขจากการทำงาน สร้างเสริมป้องกันสุขภาพช่องปาก 
  • แบ่งปันให้ทุกคนในกลุ่มย่อย ๕ คนได้พูดครั้งละหนึ่งคน  เวลารวมของกลุ่ม ๒๐ นาที 

ครบเวลา  ย้ายวง 

  • เลือกตัวแทน ๑ คน  เป็นเจ้าบ้าน  นั่งที่โต๊ะเดิม

              บอกเล่าเรื่องราว สาระสำคัญ  จากการพูดคุยของกลุ่ม  ให้สมาชิกใหม่ฟัง

  • สมาชิกที่เหลือ กระจายไปกลุ่มใหม่  ไม่ซ้ำกลุ่มเดิม

          นำเรื่องราว สาระสำคัญ  จากโต๊ะที่แล้ว

          ไปบอกเล่า  ขยายผลให้สมาชิกในกลุ่มใหม่ฟัง

 

ประเด็นสนทนารอบที่ ๒

  • แบ่งปันเรื่องราวของทุกคน   จากโต๊ะที่ ๑  ให้กับเพื่อนในโต๊ะใหม่
  • บันทึก/วาดเรื่องราวใหม่  เพิ่มลงบนกระดาษแผ่นเดิมได้
  • รวมเวลา  ๑๕  นาที

 

ประเด็นสนทนารอบที่ ๓

ค้นหานวัตกรรมร่วมกัน

  • สิ่งที่ทำมาแล้วที่พื้นที่อื่น  แต่ใหม่สำหรับพื้นที่เรา / สิ่งประดิษฐ์ใหม่
  • สิ่งที่ปิ๊ง  เพื่อจะปรับปรุงให้งานดีขึ้น
  • กระบวนการ / ขั้นตอน  / ระบบ  รูปแบบใหม่  แตกต่าง / ต่อยอดจากที่เคยทำ
  • ในการพัฒนาทีมเฝ้าระวังโรคในช่องปาก
  • เวลารวม  ๒๐  นาที

^_,^

ผลนำเสนอกลุ่ม ๑

น้องแจ๋ว  นุจรีย์  ปาณราช  โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) นาทับไฮ  อำเภอรัตนวาปี

ทำตามความถนัด  ออกนอกห้องสี่เหลี่ยม

สร้างกระแสสังคม  เห็นทันตาเรานึกถึงการดูแลช่องปาก

ไปสร้างกระแสกับใคร เช่น เครือข่าย  อาสาสมะครสาธารณสุข (อสม.)  คุณครู   ครูผู้ดูแลเด็ก (ผดด.)  ผู้นำท้องถิ่น  เทศบาล  องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)

ไปครั้งแรก  แนะนำตัว  พื้นที่ไม่มีทันตาภิบาลนานแล้ว

เห็นอั้ม พัชราภา  นึกถึงมาม่า  เห็นทันตา (ภิบาล) นึกถึงช่องปาก

แสวงหางบประมาณ จากสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.)  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.)  อบต.  กองทุน  แหล่งทุนต่าง ๆ

กองทุนทันตกรรม  ปฏิญญาหมู่บ้าน  ของทีมเฝ้าระวัง (ทันตบุคลากร  อสม.  เครือข่ายในชุมชน  ครอบครัว  คุณครู  ทีมสหวิชาชีพ)

สร้างกระแสอย่าให้หยุด  ตีข่าว  ตีกระแสไปเรื่อย ๆ ... ทำได้ตลอด  จะยั่งยืน

^_,^

ผลนำเสนอกลุ่ม ๒

  • คุณรัฐพร  ศรีเชียงใหม่  พัฒนาคน  พัฒนางาน  จุดประกาย  สร้าง idol ฟันดี
  • แลกปลี่ยนเรียนรู้ทักษะความเชี่ยวชาญในบุคคล
  • กิจกรรมพัฒนาองค์กร OD  รวมใจเป็นหนึ่งเดียว
  • เครือข่ายทุกกลุ่มวัย  รวมสถานศึกษา
  • สร้างขวัญกำลังใจจากระดับสูง
  • คนเลี้ยงไม่ใช่พ่อแม่โดยตรง  เทคโนโลยีสื่อสาร  smart phone, group line สั้น ๆ จำง่าย
  • ทำในโรงเรียน เช่น  การแปรงแห้ง  สำหรับบางพื้นที่ที่อ้างน้ำไม่พอ
  • กิจกรรมสร้างกระแส  มหกรรมฟันดี  ที่โรงเรียน  ให้มีการตื่นตัว
  • Idol เด็กฟันดีระดับจังหวัด
  • เงินกองทุนตำบล  หมวด ๒  โรงเรียน (เรา) ก้าวก่ายไม่ได้  โรงเรียนทุกสังกัดประมาณ  ๓๕ บาท/หัว  เขียนขอท้องถิ่น มาจัดกิจกรรมได้  ที่ผ่านมารณรงค์ยาเสพติด  ต้องใช้การประชิดตัว  ได้ใจครูอนามัย  จึงจะมีโครงการด้านช่องปาก 

^_,^

ผลนำเสนอกลุ่ม ๓

  • น้องอ้อม  รพ.สต.ชุมช้าง  โพนพิสัย
  • ภาพ  นวัตกรรม  โมเดลฟัน
  • จากอุปกรณ์ที่คุ้นเคย ใน รร.   เด็กทำเอง  เรียนรู้ร่วมกัน
  • ผ่าครึ่งลูกบอล  อ้าปาก  ดินน้ำมัน  บีบจับ  ฝึกกล้ามเนื้อ
  • สีต่าง ๆ เป็นชั้น ๆ  ตัดโฟม  นับจำนวนซี่ฟัน
  • ฟันผุเป็นแบบไหน  ทำให้เห็นเลยในตัวฟัน

 

 ^_,^

ผลนำเสนอกลุ่ม ๔

  • น้องอ็อบ กมลมาลย์  รพ.สต.คอกช้าง  อำเภอสระใคร
  • สร้างเสริมจริง ๆ  บันดาลใจจากปัจจัยบวก  ที่มีต้นทุนอยู่แล้ว
  • ทำกลุ่มเล็กลง  control  เห็นผลงานชัดขึ้น
  • เข้าไปในชุมชน  กลุ่มที่สนใจงานกับเรา  ใจเราตรงกัน  งานเราขยายได้
  • กระบวนการหาคนที่สามารถปฏิบัติตัวได้ดี  เป็น idol ในชุมชน
  • (คุณหมอล่า) ผู้ร่วมพัฒนา  ๕D   ดีแรก Discovery

 

^_,^

ผลนำเสนอกลุ่ม ๕

  • หมอปูน  โรงพยาบาลหนองคาย  บอกว่าไม่ค่อยได้ทำหรอก  ฟังพี่น้องในแต่ละกลุ่มเล่า  ฟังความสุขจากทุก ๆ คน คือ ความสุขจากฟันดี
  • เริ่มต้น KPI  เป็นเป้าหมายการทำงาน  ส่วนกลาง  จังหวัดมีปัญหาจากอะไร
  • ดูตั้งแต่ต้นปี  การเก็บข้อมูลที่ดี  พี่ ๆ ทันตาภิบาลอายุเยอะ ๆ เก็บละเอียด  เพราะลงโปรแกรมหลายโปรแกรม  มากกว่าที่นำไปใช้ก็มี
  • ป.๑, ๒, ๓  เก็บมากกว่า KPI   ได้ใช้ติดตามความก้าวหน้างาน
  • OT  ทำเคลือบหลุมร่องฟันนอกเวลา   เพื่อคืนข้อมูลผู้ปกครอง  ได้บอกว่ามีฟันผุ  ต้องดูแลต่อ  ได้เพื่อน  ได้ญาติ  มาทำฟันต่อ
  • การทำงานเป็นทีม  หลายหน้าที่  ในหนึ่งกลุ่มเป้าหมายอายุ  รวมทีมทำไปกับคนอื่น
  • (ขณะฟังหมอปูนเล่า  คิดในใจว่า  นี่แหละคือเสน่ห์ของการคละทักษะที่แต่ละคนมีไม่เท่ากัน  พอมานั่งอ่านที่พิมพ์ไว้ตามคำพูด  ยิ่งเห็นว่าหมอปูนมีทักษะการฟัง  จับประเด็น  มองภาพกว้าง  เห็นความเชื่อมโยง  มีทักษะ conceptual thinking   พอมาเล่าต่อใช้ภาษาง่าย ๆ  ฟังเพลิน  เห็นได้ว่าถ่ายทอดออกมาผ่านใจที่มีทัศนคติบวกต่อเพื่อนร่วมแต่ละกลุ่ม  ต่อ KPI  แต่ละ bullet คือ keyword ในการพัฒนาทีมเฝ้าระวังโรคในช่องปากทั้งนั้น) 

^_,^

ผลนำเสนอกลุ่ม ๖

  • น้องกุ้ง  วิภาดา  รพ.สต.กุดบง  อำเภอโพนพิสัย
  • ความสุข คือ เห็นรอยยิ้ม  สุขภาพช่องปากที่ดี
  • ไปที่ชุมชน  ไม่ต้องรอให้เจ็บปวด  ศพด. วันประชุม  ตรวจ  โดยผู้ปกครอง (ผปค.) จับคู่กับเด็ก  สอนตรวจช่องปากลูก  ต้องการรักษาต่ออะไร  จะเห็นความสำคัญมากขึ้น
  • Group line  แทรกความรู้เคลือบหลุมร่องฟัน  สอบถามกลับได้  คืนข้อมูล  ส่งภาพอวดกัน  ลูกฉันแปรงฟัน  ลูกคุณแปรงหรือยัง
  • เด็ก มีครอบครัว  ออกไปตรวจฟัน  ต้องนัดรักษาต่อ  ตรวจแม่ด้วย  พาคุณตาคุณยาย  พี่สาวมาด้วย  พี่เขย  สามีเขาตามมารักษา  ความสุขในการทำงาน  ไม่ได้หลายคน  ยกตัวอย่างครอบครัวฟันดี
  • จุดเริ่มจากงานบริการ  เพิ่มช่องทางสื่อสาร  กล้าคุย  เพิ่มความไว้วางใจ

 

^_,^

คุณหมอล่า

  • Concept  งานเฝ้าระวังในช่องปาก
  • สนิทใคร  ไปทำกับกลุ่มนั้น  ผู้สูงอายุ  NCDs  เด็ก
  • กระบวนการต่อเนื่อง  ติดตามผล  มี การเปลี่ยนแปลง  เด็ก  ครู  โรงเรียน  ไม่ใช่แค่วันเดียว
  • ปัจจัยต่อความสำเร็จ  พฤติกรรม  การปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน
  • เด็ก  ครอบครัว  ชุมชน  เพื่อนบ้านใกล้เคียง  ขยายเป็นตำบล  อำเภอ  จังหวัดฟันดี

 

^_,^

หมออ้อ  สะท้อนต่ออีกหน่อย

  • นวัตกรรม  เห็นทันตานึกถึงการดูแลช่องปาก  จะไปเชื่อมต่อยอดกับระบบเฝ้าระวังช่องปากได้อย่างไร  นอกจากทันตบุคลากร  เครือข่ายในชุมชน  ครอบครัว  คุณครู  ทีมสหวิชาชีพ  รวมเป็นระบบเฝ้าระวังสุขภาพช่องปาก  โดยชุมชน  เช่น  อสม.  พ่อแม่  คนเลี้ยงดู  ผู้ปกครอง 
  •  สร้างกระแสอย่าให้หยุด  เฝ้าระวังสุขภาพช่องปากโดยชุมชนไปต่อเนื่องทำอะไร  พ่อแม่  ผู้เลี้ยงดู  ผู้ปกครองเด็ก  ไม่จำเป็นต้องทันตแพทย์  ทันตาภิบาล  พ่อแม่  ผู้เลี้ยงดูเด็ก  อ้าปากดูลูกทุกวัน  เป็นระบบผู้ปกครองดูแล เฝ้าระวังสุขภาพช่องปากเด็กได้ไหม ?

 

กลุ่ม ๒ idol ฟันดี  คิดต่อ idol ฟันดีแล้ว  เก่งแค่คนเดียวหรือสามารถไปสร้างกระแส  แล้วมีผลกระทบต่อสื่อ  ชุมชน  สุขภาพช่องปากคนในหนองคายได้อย่างไร ?

กลุ่ม ๓  สิ่งประดิษฐ์ลูกบอล

คิดค้นนวัตกรรม  ติดตามผลของการนำไปใช้  นำไปสู่ มีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสุขภาพช่องปากอย่างไร ? เป็น R2R  ในแนวพัฒนานวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์

 กลุ่ม ๔  ค้นหาที่มีกลุ่มสนใจ  ที่มีต้นทุนอยู่แล้ว  ทำในกลุ่มเล็ก ๆ แล้วขยายงานออกไป  จนเป็นแบบอย่างเกิดการเปลี่ยนแปลง  ทีม อสม.  ทีมนำองค์กรชุมชน  ไปทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชุมชนเป็นต้นแบบ  ได้อย่างไร ? = นวัตกรรมกระบวนการ

 กลุ่ม ๕  เป้าหมายชัดเจนความสุขจากการฟันดี คือ อะไร มีเกณฑ์  KPI  วิธีมองเรื่องเดียวกัน  แต่มีมุมมองให้เกิดความสุขจากสิ่งที่เป้าหมายกำหนดมา  มีวิธีการทำให้มีความสุข 

กลุ่ม ๖  เด็กเป็นศูนย์กลางขยายต่อจากตัวเด็ก  แม้เริ่มจากงานบริการ  สามารถขยายมาครอบครัว  ครอบครัวฟันดี  มากันทั้งตระกูล  ตระกูลฟันดี  ขยายจนเป็นชุมชนฟันดี

^_,^

 

สิ่งที่ตัวเองได้เรียนรู้

๑. สมาชิกอำเภอต่าง ๆ ที่มากันเยอะก็จะดีหน่อย  เอากลับไปเล่าสู่กันฟัง  มีแรงบันดาลใจและมองเห็นความคิดที่ผุดบังเกิดขึ้นใหม่  เห็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่  เห็นขั้นตอน  เห็นแนวคิดใหม่ ๆ ที่อำเภอเราอาจจะไม่คิดถึงมาก่อน  การใช้ Smart phone ที่มีแทบทุกบ้าน  ถ่ายภาพ  สื่อสารให้เกิดประโยชน์ 

  • ฝันนะคะฝัน  พ่อแม่ที่ชอบถ่ายภาพอิริยาบถลูก  ถ่ายภาพฟันด้วย  เก็บภาพเป็นระยะ ๆ  สร้างระบบเฝ้าระวังช่องปากลูกด้วยพ่อแม่เอง

๒. อำเภอใดมีผู้นำทางความคิด  มีทักษะการนำความคิดที่ล่องลอยวนในอากาศ  จากวงสนทนา world café ในวันนี้  ไปต่อยอดจากแผนงาน  จากโครงการ  จากความคิดดีๆ  ต้นทุนดี ๆ ที่อำเภอเรามีอยู่แล้ว

บวกกับภาคบ่าย  วิทยากรรับเชิญจากจังหวัดบึงกาฬ  โรงพยาบาลบุ่งคล้า  คุณหมอต้อม  ทพ.อดิศักดิ์  จรัสเมธาวิทย์  ที่มาเพิ่มเติมความรู้การพัฒนาระบบข้อมูลทันตสาธารณสุข  การใช้ประโยชน์จาก HDC (Health Data Center)

 น่าจะเป็นนิมิตหมายที่ดี  ในภาพรวมสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองคายเอื้ออำนวยทิศทางให้เรามีกระบวนการทำงานที่สะดวกขึ้น  จากที่เรามีความรู้เข้าถึงข้อมูลของอำเภอเราเองเป็นรายตำบล

 

๓.  หวังนะคะ  หวังว่าเราจะทำงานได้สนุกขึ้น  ทำงานในพื้นที่จริง  พัฒนาทีมระบบเฝ้าระวัง  ไม่เฉพาะทันตบุคลากร  มีทิศทางการผสมผสานทำงานกับทีมสหวิชาชีพ   เลยออกไปทำร่วมกับสหสาขาวิทยาการกับหน่วยงานอื่น ๆ  ภาคีอื่น ๆ 

ออกแบบระบบเฝ้าระวังโรคในช่องปากกลุ่มอายุต่าง ๆ  เลยออกไปถึงคนที่เป็นเจ้าของสุขภาพ  มีกระบวนการพัฒนาศักยภาพให้ดูแลตัวเองได้อย่างเหมาะสม  (Self care)  และรู้จุดพอดีที่ต้องแสวงหาบริการสุขภาพ (Professional care)  จากระบบบริการสุขภาพแบบต่าง ๆ รวมถึง จากภาครัฐอย่างเรา

 ตอบคำถามชื่อบันทึกได้หรือยังคะ  ใครควรเป็นหมอประจำตัวเราที่ดีที่สุด

^_,^

 

ดีใจ  ที่มีประโยชน์นำกระบวนการกลุ่ม  เทคนิค world café มาใช้ที่จังหวัดตัวเอง

ค่อยติดตามต่อโอกาสข้างหน้า  แต่ละอำเภอจะมีการเปลี่ยนแปลงนวัตกรรมรูปแบบ  นวัตกรรมขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง  หรือพลิกกระบวนการใหม่ ๆ  ออกแบบระบบการทำงานแบบใหม่ ๆ บ้างไหม

 ตัวชี้วัดตามจังหวัดบอกให้ทำ  ก็เป็นผลสำเร็จขั้นหนึ่ง  ผลลัพธ์ต่อสุขภาพช่องปาก  สุขภาวะ  คุณภาพชีวิตคนในอำเภอของเรา  ก็มีความหมาย 

โดยเฉพาะความสุขในใจเราเอง  ที่มีโอกาสยังประโยชน์ต่อผู้คนอื่น ๆ นอกจากคนไข้ของเรา  ทีมของเรา  พื้นที่ของเรา  ... ได้พัฒนาความรู้  ความคิด  ความรู้สึกว่าใจเรากว้างขึ้น  พร้อมจะให้ผู้อื่นได้ในสิ่งที่เรามี 

ฟังจากวันนี้  รอ ๆ ๆ ๆ ๆ ให้อำเภอต่าง ๆ ที่ของดีเยอะมาก  ได้มีทักษะการเล่า  เป็นผู้ให้ด้วยใจที่ยินดี  และเพิ่มทักษะการฟังด้วยใจที่อ่อนน้อมอีกหน่อย  เหมือนรวงข้างที่ยิ่งเต็มยิ่งโค้งลงหาผืนดิน  เราก็ยิ่งจะถึงพร้อมที่จะรับสิ่งใหม่ ๆ เข้าไปไว้ในเนื้อตัว  บางครั้งอาจจะไม่ถึงพร้อมที่จะแสดงพลัง ณ วันนี้ 

ต่อเมื่อผ่านวันเวลา  สิ่งแวดล้อม  การสนับสนุน  การแสวงหาเพื่อนมาร่วมทำงานอย่างสนุก  แสวงหาทรัพยากรในแบบต่าง ๆ หลากหลาย  ภูมิปัญญาในพื้นที่  หรือสถานการณ์บ่มเพาะอย่างพอเหมาะ ...

เราทุกคนก็จะเจริญเติบโต  ออกดอกออกผลสวยงาม  แต่งเติมความสมบูรณ์ของการมีชีวิตบนโลกใบนี้ 

วันนี้ลาก่อนนะคะ  ยังทำงานที่หนองคาย ได้พบเพื่อน  พี่  น้องอีกแน่นอนค่ะ

รอติดตามความสุข  ความภาคภูมิใจ  ความหมายในการมีชีวิตของพี่น้องทุกคน

สวัสดีค่ะ



ความเห็น (5)

สวัสดี ค่ะ คุณหมอธิ  ยายธี มีเรื่องเล่าเจ้าค่ะ..ปวดฟันมาสองปี  เสียตังค์ ครั้งแรกเมืองไทย หลายพัน  อุดให้อย่างรวดเร็ว..กลับ นอก ปวด รื้อออก  ทำใหม่  ใส่ฟันใหม่ ยังปวดอยู่เหมือนเดิม..!55555555..สงสัยสาเหตุ  ไม่รู้จะไปถามใคร  เจ้าค่ะ  จวนจะหมดตัว  ไม่ว่า 5555  แต่ฟันไม่หาย ปวด เนี่ยะ มันทรมาณ จริง ๆ ..ขอบอก ..555 

โปรดตอบ...อิอิ 

สวัสดีค่ะ คุณยายธี

ยังปวด  แปลว่ายังมีสาเหตุ  หาสาเหตุได้  เช่น มีเชื้อโรคอยู่ปลายราก  (x-ray อาจจะเห็น) ก็จะมีวิธีแก้ไขต่อไปค่ะ

ถ้าหมอฟันทั่วไปยังหาสาเหตุไม่พบ  ก็จะมีหมอฟันเฉพาะทาง วินิจฉัยโรคช่องปาก  อยู่ตามมหาวิทยาลัย  โรคพยาบาลฟัน/คลินิก ที่อาจต้องนัดล่วงหน้าค่ะ

ถ้ายังไม่พบ  ปรึกษาร่วมกับแพทย์  มีบางโรคจากเส้นประสาท เช่น Trigemenal neuralgia ค่ะ  ซึ่งบางคนรักษาไม่ได้  ไล่ถอนฟันหลายซี่ก็ไม่ได้ช่วย  เพราะเป็นที่ตัวเส้นประสาทมารากฟันและใบหน้าค่ะ

ขอให้คุณยายเป็นแบบหาสาเหตุได้นะคะ  อย่างน้อยก็มีความพร้อมด้านเศรษฐกิจที่จะรักษาได้ 

โชคจะดีกว่าแบบ Trigemenal neuralgia ที่ต้องทรมานไปเรื่อย ๆ

ขอบคุณค่ะที่สนใจ

มีกิจกรรมตลอดปีจริง ๆ ครับ คุณหมอธิ 555

เสียงหัวเราะตอนท้ายเนี่ย มันแหม่งๆ ไงก็ไม่รู้อ่ะ  คุณครูเงา  ท่าจะเข้าใจชะตาชีวิตกันดี ^_,^

แหม่ง ๆ อีกละ  trigeminal  นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท