คุณภาพพลเมืองไทยเพื่อประเทศไทย ๔.๐



มูลนิธิเอเซีย ร่วมกับ ทีดีอาร์ไอ จัดการประชุม discussion forum เรื่องความท้าทายของการปฏิรูปการศึกษาของไทย    ตอนบ่ายวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๖๑   โดยมีวิทยากรกล่าวนำ ๒ ท่านคือ ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธาน ทีดีอาร์ไอ  กับ Lars Sondergaard แห่ง World Bank  โดยมี Thomas I. Parks แห่ง Asia Foundation เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย

Tom Parks กล่าวเปิดว่าคุณภาพการศึกษา เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยหลุดพ้นจาก  middle income trap   โดยไทยต้องการวิธีคิดใหม่เกี่ยวกับการศึกษา    

ดร. สมเกียรติให้ข้อมูลเป็นกราฟ ให้เห็นว่าขบวนการปฏิรูปการศึกษาที่ดำเนินการมาเกือบ ๒๐ ปี ไม่ให้ผลดีต่อผลลัพธ์การเรียนรู้เลย   โดยที่มีข้อมูลว่า ในวันเปิดเรียนปีละประมาณ ๒๒๐ วันนั้น   ครูต้องทำกิจกรรมอย่างอื่นรวม ๘๔ วัน   และชี้ว่าการบริหารระบบการศึกษาแบบควบคุมสั่งการจากส่วนกลางจะไม่มีวันให้ผลดี   จึงมีภาคประชาสังคมรวม ๑๕ องค์กรรวมตัวกันเป็น Thailand Education Partnership ขับเคลื่อนการปฏิรูปคุณภาพการศึกษา    โดยจะจัด ๓ กิจกรรม

  • Education Summit 5-6 พฤษภาคม 2561  เพื่อสร้างแนวทางร่วมของคนไทย
  • พัฒนาการศึกษาในพื้นที่  ช่วยให้โรงเรียนพัฒนาตนเอง
  • เขตการศึกษาพิเศษ เป็น education sandbox  


ส่วน Lars Sondergaard ให้ข้อมูลว่าจากผลการทดสอบ PISA 2015 เกือบครึ่งหนึ่งของนักเรียนไทยอายุ ๑๕ ปี จัดได้ว่าไม่มีความรู้ที่ใช้งานได้ในด้านการอ่านเขียนและคิดเลข  (functionally illiterate & innumerate)    และให้กราฟว่าในปี ค.ศ. 1980 ผลการทดสอบของนักเรียนไทยกับนักเรียนฮ่องกงใกล้เคียงกัน  แต่ ๓๕ ปีต่อมา ในปี 2015 ฮ่องกงทิ้งห่างมาก (Altinok N, Angrist N, Patrinos HA. A global dataset on education quality (1965-2015), World Bank 2018)  

 

เขาอ้าง WDR 2018 () ว่า หลักการแก้ไข ๓ ประการคือ

  • ประเมินผลการเรียน   เน้นที่ผลลัพธ์การเรียนรู้
  • ใช้ข้อมูลหลักฐานในการปรับปรุงให้โรงเรียนดำเนินการเพื่อนักเรียนทุกคน
  • หาทางทำให้ทุกฝ่ายทำงานไปทางเดียวกัน  ให้ระบบการศึกษาทั้งระบบทำเพื่อผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน  

เขายกตัวอย่างแนวทางปฏิรูปการศึกษาของประเทศมาเลเซีย ที่ดำเนินการอย่างเป็นระบบระยะยาว มี ๙ ขั้นตอน   ขั้นที่สำคัญที่สุดคือ implementation    เขาตั้ง Education Performance Delivery Unit (www.padu.edu.my/ ) ขึ้นมาทำหน้าที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง    

อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่ายังมีความหวังที่ไทยจะฟื้นคุณภาพการศึกษาได้    เพราะเราทำเรื่องระบบ คุ้มครองสุขภาพถ้วนหน้าได้ผลดีมาแล้ว    แม้ว่าตอนจะเริ่มเป็นการกระทำที่ขัดต่อคำแนะนำของธนาคารโลก

เขาแนะนำวีดิทัศน์ อนาคตที่สดใสสำหรับเด็กนักเรียนในประเทศไทยทุกคน ()    และ Uncovering Thailand’s small school challenge ()

ในช่วงอภิปรายถามตอบ ทพ. กฤษดา เรืองอารีรัตน์ ให้ข้อมูลว่า    การปฏิรูประบบสุขภาพของไทย ที่ทำได้ผลดีและมีชื่อเสียงไปทั่วโลกนั้น    เพราะมีภาคที่ไม่เป็นทางการ ประชุมระดมความคิดกันต่อเนื่องสม่ำเสมอ (กลุ่มสามพราน)  แล้วคนในภาคที่เป็นทางการนำไปดำเนินการ    ผลเป็นอย่างไรก็นำมาสู่การประชุมหารือต่อ    เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่นำไปสู่การก้าวกระโดดเป็นระยะๆ    ผมเติมในใจว่า ระบบสุขภาพมีการจัดตั้งองค์กรที่ทำหน้าที่เป็นสมอง ได้แก่ สวรส., IHPP, HITAP, และองค์กรที่ทำงานได้อย่างคล่องตัว เช่น สรพ., สสส., สปสช., สช.    องค์กรเหล่านี้ คสช. ไม่ชอบ   แต่เพราะระบบการศึกษาขาดกลไกขององค์กรแบบนี้ จึงไม่มีมิติการพัฒนาเชิงระบบทันการเปลี่ยนแปลง  

เมื่อมีคนตั้งคำถาม ดร. สมเกียรติโยนลูกมาให้ผม    ผมเสนอว่ายังไม่มีคนตั้งข้อสังเกตความแตกต่างอีกประเด็นหนึ่งระหว่างระบบสุขภาพกับระบบการศึกษา    คือบุคลากรของระบบสุขภาพมีความแตกต่างหลากหลาย มีกว่า ๑๐ วิชาชีพทำงานด้วยกัน    ทำให้มีหลายความคิดมามีปฏิสัมพันธ์กัน    แต่บุคลากรในระบบการศึกษามีวิชาชีพเดียวคือด้านการศึกษา    เมื่อจะเอาคนที่เนียนด้านอื่นมาเป็นครูก็มีการกีดกัน    ผลคือวงการศึกษามีลักษณะ inbreeding of ideas    เป็นลักษณะเชิงโครงสร้างที่ทำให้เกิดการพัฒนายาก 

คนที่แสดงความเห็นดีๆ หลายประเด็น ที่เตะตาผมมากคือคุณอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด   ที่เสนอให้ทดลอง sandbox หลายแบบ   ด้วยท่าทีของการทดลองเรียนรู้และปรับปรุง    และส่งเสริมให้ภาคประชาชนมีสิทธิ์มีเสียง    บริษัทเชฟรอนมีโครงการโรงเรียนเครือข่ายเชฟรอน และเครือข่ายโรงเรียนพัฒนา STEM    

ผมกลับมา AAR ที่บ้านว่า    ระบบสุขภาพไทยก้าวหน้า เพราะเป็นระบบที่เปิด    เปิดให้คนทั่วไปเข้ามาร่วมพัฒนาระบบ    โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านกลไกของ สช.   ในขณะที่ระบบการศึกษาเป็นระบบปิด    คนภายนอกพยายามเข้าไปช่วยขับเคลื่อน ก็เผชิญแรงต้าน

วิจารณ์ พานิช

๑๙ ม.ค. ๖๑


 

  

 

หมายเลขบันทึก: 644535เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2018 22:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2018 22:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

MOE has become too BIG and too SLOW to move freely. MOE needs to shed excess FAT and excess BAGGAGE. The same problem can be seen in police department, defence forces, public services,...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท