ชีวิตที่พอเพียง : 3104. อารมณ์เป็นสิ่งประดิษฐ์



    หนังสือ HowEmotions Are Made : The Secret Life of the Brain  เขียนโดย Lisa Feldman Barrett บอกมุมมองใหม่ของอารมณ์ ว่าเป็น construct หรือสิ่งที่สมองและสังคมสร้างขึ้น    และเราสามารถกำกับหรือควบคุมการแสดงออกของอารมณ์ได้

 เป็นหนังสือที่เขียนขึ้นเพื่อแก้ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับอารมณ์ที่ยึดถือกันมาหลายพันปี   ว่าอารมณ์เป็นเรื่องของสัญชาตญาณ หรือเป็นธรรมชาติของสมอง   หรือธรรมชาติของมนุษย์    ที่เรียกว่า Classical Theory   ตามแนวคิดนี้ เชื่อว่ามีอารมณ์ชุดหนึ่งที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์   พบได้ในมนุษย์ทุกวัฒนธรรม    เรียกแนวคิดนี้ว่า essentialism   ซึ่งมีสมมติฐานว่ามนุษย์ทุกคนไม่เพียงมีธรรมชาติของการแสดงอารมณ์เหมือนๆกัน แต่ยังรับรู้อารมณ์ของคนอื่นได้เหมือนๆ กันด้วย   

ผู้เขียนถึงขนาดโจมตีโจทย์วิจัยเรื่องอารมณ์แบบเดิมๆที่ต้องการเชื่อมโยงระหว่างอารมณ์กับสัญญาณทางกายภาพเช่นการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ ว่าเป็นการวิจัยที่สูญเปล่า  

ความรู้ด้านประสาทวิทยาของสมองบอกว่าClassicalTheory และ essentialism ไม่เป็นความจริง    เราไม่ได้มีพื้นที่จำเพาะในสมองสำหรับอารมณ์แต่ละชนิด  และเราแสดงออกทางอารมณ์ได้แตกต่างกันต่อเหตุการณ์เดียวกัน    เรื่องของสมองและอารมณ์มีความซับซ้อนกว่าที่คิด   ตัวอย่างเช่นเมื่อเราเห็นคนยิ้ม  ก็ไม่แน่เสมอไปว่าขณะนั้นเขามีความสุข  

ผู้เขียนทำงานที่InterdisciplinaryAffective Science Laboratory () ได้ศึกษาผล lab จากการทำbrain imaging ที่ทำตอนคนมีอารมณ์กลัว เศร้า โกรธและสุข   พบว่าตอนมีอารมณ์สมองส่วนเกี่ยวข้องกับอารมณ์ “ตื่นตัว” ทั้งหมด  

อารมณ์ขึ้นกับประสบการณ์ตรงของปัจเจก    โดยผู้เขียนเสนอทฤษฎีใหม่เรื่องอารมณ์ เรียกว่าtheoryof  constructed emotion    อารมณ์เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น   โดยมี “ความรู้เดิม”จากประสบการณ์ในอดีตเป็นฐาน  ช่วยกลไกการ “ทำนาย” ผลในเสี้ยววินาทีจากผัสสะที่ได้รับ

เมื่อมีสิ่งเร้าจากเหตุการณ์ที่มากระทบ    มนุษย์รับรู้จาก “ผัสสะทั้งหก”และส่งสัญญาณสู่สมอง   หลายพื้นที่ในสมองรับรู้สัญญาณเหล่านั้นพร้อมๆ กัน    สัญญาณเหล่านั้นเข้าไป ยืนยัน หรือเปลี่ยนแปลง “การทำนาย” ที่สมองของผู้นั้นมีอยู่เดิม    

ทุกอารมณ์มีกลไกการเกิดในทำนองเดียวกัน    คือ มีประสบการณ์เดิม (หรือความรู้เดิม)กับสัญญาณจากผัสสะ เป็นชนวน

อ่านถึงตรงนี้ผมคลับคล้ายคลับคลาว่า ไปในทางเดียวกันกับคำอธิบายทางพุทธว่าด้วยอิทัปปัจยตา หรือปฏิจจสมุปปบาท   

แต่การแสดงออกทางอารมณ์ซึ่งเกิดขึ้นโดยเราไม่รู้ตัว จะแตกต่างออกไปตามบริบท   ซึ่งมีรายละเอียดมาก  

ยกตัวอย่างอารมณ์โกรธไม่ได้มีอารมณ์แบบเดียว และมีความโกรธหลายระดับ   การตอบสนองต่ออารมณ์โกรธก็มีได้หลายแบบ  รวมทั้งมีกลไกกรองว่าการตอบสนองแบบไหนเหมาะสมต่อสถานการณ์นั้นๆ   

อารมณ์ไม่ใช่สัญชาตญาณหรือเป็นสิ่งที่คงที่   คนเราสร้างแบบแผนของอารมณ์ตามประสบการณ์ของตนเอง   ดังจะเห็นว่า เรามีประสบการณ์ตรงที่ตนเองว่าเมื่ออายุมากขึ้น อารมณ์ของเราเย็นลง   

ร่างกายของคนเรามี “ระบบทำนาย”(predictive system) สภาพของร่างกาย  รวมทั้งสภาพอารมณ์ของเรา  

การดำรงชีวิตต้องใช้พลังงาน   ไม่ว่าจะทำอะไร ต้องใช้พลังงานทั้งสิ้น 

สมองของคนเรามีหลักกำกับการใช้พลังงานของร่างกายให้“ประหยัดพลังงาน” โดยการเข้าสู่สภาพเคยชิน   ตามกลไกที่หนังสือเรียกว่า interoception  ในสภาพดังกล่าว ระบบประสาทระบบฮอร์โมน ระบบอิมมูน ดำเนินไปอย่างราบรื่น   คืออยู่ภายใต้ “การทำนาย”ว่าเราไม่ต้องตั้งสติระแวดระวังมากมาย  

ระบบ interoception ของสมองจะทำหน้าที่ตรวจสอบผัสสะทั้งภายในและภายนอกร่างกาย    เพื่อจัดสรรพลังงานของร่างกายให้ประหยัดที่สุดตามสภาพแวดล้อมที่เรากำลังเผชิญ    ผ่าน interoceptive network   โดยมี ๒ กลไกสมองคือ (๑) สมองส่วนประหยัดพลังงานของร่างกาย(body-budgeting region) ทำหน้าที่นำเอาประสบการณ์ในอดีตมากำหนดสภาพที่ร่างกายประหยัดพลังงานที่สุดในการทำกิจกรรมต่างๆ    และทำหน้าที่ส่งสัญญาณให้อวัยวะต่างๆเตรียมรับมือสภาพที่กำลังเผชิญ   เช่นเมื่อจะออกกำลัง ร่างกายก็เตรียมเผาผลาญกลูโคสไปเป็นพลังงาน  (๒) สมองส่วนรับผัสสะภายใน (primaryinteroceptive cortex) เช่นรับรู้ว่าหัวใจเต้นไม่เป็นส่ำ

Interoceptive networkทั้งสองกลไก ประสานกันเป็น feedback loop   รวมกันเป็น “ระบบประหยัดพลังงานของร่างกาย”(body-budgeting system) ควบคุมแหล่งพลังงาน ได้แก่ กลูโคส  ฮอร์โมนคอร์ติซอล  และอัตราการเต้นของหัวใจ    และนี่คือฐานที่มาของอารมณ์   ระบบนี้เองที่เป็นตัวกระตุ้นอารมณ์     

อ่านมาถึงตรงนี้ผมนึกถึงคำว่าhomeostasisหรือสมดุลร่างกายที่ผมเรียนสมัยเป็นนักศึกษาแพทย์เมื่อเกือบหกสิบปีมาแล้ว    น่าจะใกล้กับคำว่า interoception   

กลไก interoception คอยสร้างสมดุลเพื่อประหยัดพลังงานที่สุด  แต่ในบางเหตุการณ์สมดุลนี้เสียไป   เช่น ได้รับผัสสะกระตุ้นจากภายนอกด้านความกังวลใจอันเนื่องจากร่างกายหมดพลังที่จะรับมือต่อสถานการณ์   เมื่อสมดุล interoception เสียไป  สมองจะบอกความไม่สมดุลนี้โดยปล่อยสัญญาณอารมณ์ เช่น ความกลัว ออกมา   

ผู้เขียนยกตัวอย่างคำที่แสดงอารมณ์บางแบบว่าไม่มีในบางภาษา  เช่นไม่มีคำภาษาอังกฤษที่แสดงอารมณ์พึงพอใจเมื่อเห็นความยากลำบากของผู้อื่น(สะใจ?)  จนต้องรับเอาคำภาษาเยอรมันมาใช้    ภาษาตาฮิติไม่มีคำที่บอกความเศร้า   ภาษากรีกและโรมันโบราณไม่มีคำที่มีความหมายว่ายิ้ม   เป็นต้น  เขาใช้หลักฐานเหล่านี้สรุปว่า อารมณ์เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาจากสภาพแวดล้อมรอบตัวและขึ้นกับวัฒนธรรม  

อารมณ์ไม่ใช่สภาพดั้งเดิมของมนุษย์   แต่เป็นสภาพปรุงแต่ง    จากข้อตกลงหรือมาตรฐานทางสังคมรอบตัวที่เรียกว่าวัฒนธรรม    ในการให้ความหมายของการรับรู้ผัสสะของร่างกายและจิตใจ   

อารมณ์ไม่ใช่สิ่งที่เกิดตามธรรมชาติ   แต่เป็นผลของการตีความสัญญาณในร่างกาย  ว่า “หมดพลังที่จะรับมือสถานการณ์ที่เผชิญแล้วนะ”   สัญญาณอารมณ์ก็จะถูกปลดปล่อยออกมา   

อารมณ์คือผลของการหมดพลัง   คล้ายๆ แบตหมด   ดังนั้นวิธีแก้ปัญหาอารมณ์คือหันไปทำอย่างอื่นที่เราพอใจว่าช่วยให้ผ่อนคลาย  สมัยผมเป็นเด็กๆ อ่านหนังสือจนหมดแรง ผมหันไปอาบน้ำ   อาศัยความเย็นของน้ำช่วยให้ผ่อนคลาย      

วิจารณ์ พานิช                                   

๒๐ ม.ค. ๖๑


     

หมายเลขบันทึก: 644534เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2018 22:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2018 22:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

This "อารมณ์ไม่ใช่สภาพดั้งเดิมของมนุษย์   แต่เป็นสภาพปรุงแต่ง    จากข้อตกลงหรือมาตรฐานทางสังคมรอบตัวที่เรียกว่าวัฒนธรรม    ในการให้ความหมายของการรับรู้ผัสสะของร่างกายและจิตใจ" rings around Buddhists' concept of the 5 "khandhas". All those 'cittas" [moments of awareness/emotion?] and "cetasikas" [types of awareness/emotion?] says in essence that we are (as our cittas are aware) "conditioned"!

The West once again wake up and accept the East philosophy?

This "อารมณ์ไม่ใช่สภาพดั้งเดิมของมนุษย์   แต่เป็นสภาพปรุงแต่ง    จากข้อตกลงหรือมาตรฐานทางสังคมรอบตัวที่เรียกว่าวัฒนธรรม    ในการให้ความหมายของการรับรู้ผัสสะของร่างกายและจิตใจ" rings around Buddhists' concept of the 5 "khandhas". All those 'cittas" [moments of awareness/emotion?] and "cetasikas" [types of awareness/emotion?] says in essence that we are (as our cittas are aware) "conditioned"!

The West once again wake up and accept the East philosophy?

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท