​ประเด็น เรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่น 2561


ประเด็น เรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่น 2561

20 มกราคม 2561

ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

            กระแสการปลดล็อกท้องถิ่นในช่วงนี้ไม่มีอะไรแรงไปเท่า กระแสการเตรียมการเลือกตั้งท้องถิ่น [2]  หรือ ที่เรียกว่า การเลือกตั้งสนามเล็ก [3] ลองมาดูประเด็นการ “ปลดล็อกท้องถิ่น” ว่ามีอะไรที่น่าสนใจบ้าง

ประเด็นแรก เหตุใด คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) เห็น ปัญหาอะไรที่เป็นประเด็นว่า “ต้องรีบดำเนินการเลือกตั้ง” เพราะท้องถิ่นเองก็รักษาเนื้อรักษาตัว ทำดี ทำงานต่อเนื่องด้วยดีมาตลอด แม้ว่าจะรักษาการหรือ “ปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว” [4] ทั้งตัวนายก อปท. เอง หรือ สมาชิกสภา อปท. ก็ตาม  เช่นเดียวกับ คสช. ที่รักษาการปฏิบัติหน้าที่ “คณะรัฐมนตรี” ด้วยดีมาตลอด แม้บางกระแสจะบอกว่าเป็นช่วง “ขาลง” ก็ตาม  ในเมื่อประชาชนไม่ได้เรียกร้องให้ “ท้องถิ่นมีการเลือกตั้ง” หากแต่ประชาชน “อยากให้มีการเลือกตั้งระดับชาติ” [5] มากกว่า แต่ปรากฏว่ารัฐบาลกลับเห็นว่า “ต้องมีการเลือกตั้งท้องถิ่น” มันเกิดอะไรขึ้น เหตุใดรัฐบาลไม่แก้ปัญหาตรงที่ “ใจกลาง” หรือส่วนกลางของปัญหา นั่นก็คือ “การคืนอำนาจให้แก่ประชาชน” โดยการให้มีการเลือกตั้งระดับชาติเสียก่อน  ส่วนการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้น มันไม่ใช่ประเด็นปัญหาที่ประชาชนเรียกร้องกันนัก เป็นการแก้ปัญหาที่ผิดประเด็นไปหรือไม่ แล้วจะตอบประชาชนว่าอย่างไร แม้ตัวท่านนายกฯ จะยิงคำถามคืนประชาชนรวมแล้ว 10 ข้อ [6] ก็เป็นเรื่องการเลือกตั้งระดับชาติ มิใช่เรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่นแต่อย่างใด เพราะการจะแก้ปัญหา “โครงสร้าง” มันต้องเลือกตั้งระดับชาติก่อนอื่นทั้งหมด

ประเด็นที่สอง ในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้นแน่นอนว่า “แล้วแนวทางปฏิรูป (Reform) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ว่าจะมีโครงสร้าง อำนาจหน้าที่อย่างไร” ที่ต้องแน่นอน ชัดเจน ไม่ว่าการจะเป็นยุบรวม อปท. ให้มีขนาดที่เหมาะ เพื่อการบริการประชาชน (Public Service) ที่มีประสิทธิภาพ หรือ จะมีการปรับปรุงเปลี่ยน แต่งเติมประการใดให้แก่ อปท. ก็ตาม มิใช่ว่า “ไม่ทำอะไรเลย หรือ ปล่อยไว้คงเดิม” เพราะ มันเสียของกับคำว่า “ปฏิรูป” เหตุใด ทำไมเรื่องเหล่านี้รัฐบาลจึงไม่ทำก่อน หรือ จะเอาแค่ให้เหลือแค่สมาชิกสภา อบต. เพียงหมู่บ้านละหนึ่งคน ตามที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) เสนอ แล้วเรื่องอื่น ๆ อีกตั้งเยอะแยะเกี่ยวกับท้องถิ่น ไม่เห็นมีการพูดถึง หรือมีการแก้ไขเลย เท่ากับว่าการยึดอำนาจมาเสียเปล่าเลย

ประเด็นที่สาม พรบ. การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น (สถ.ผถ.) เป็นไปตามกฎหมายเดิม ตามรัฐธรรมนูญเดิม เพราะตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 250 [7] วรรคท้าย ที่บัญญัติว่า ... ”ต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์ และการป้องกันการก้าวก่ายการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการส่วนท้องถิ่นด้วย”... ทำให้ต้องมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องในเรื่องคุณสมบัติของ สถ.ผถ. ถึง 6 ฉบับ [8] (รวม กทม. และเมืองพัทยาด้วย) นอกจากนี้กฎหมายสำคัญของท้องถิ่นที่ฝ่ายประจำท้องถิ่น หรือ “ข้าราชการส่วนท้องถิ่น” เฝ้าคอยมาอย่างยาวนานถึง 18 ปี คือ “ พรบ. ระเบียบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น” หรือ จะเรียกว่า “พรบ.ระเบียบข้าราชการส่วนท้องถิ่น” ก็น่าจะดูดีกว่า เป็นการยกศักดิ์ศรีของข้าราชการส่วนท้องถิ่นให้เท่าเทียมกับข้าราชการพลเรือน หรือ ข้าราชการอื่น ๆ นอกจากนี้ พรบ. จัดตั้ง อปท. หรือ ที่เรียกว่า “ประมวลกฎหมายท้องถิ่น”  ก็ยังไม่เสร็จ ฉะนั้นการเลือกตั้งท้องถิ่น ต้องมีการเลือกตั้งถึง 2 ครั้ง [9] เหตุใด ทำไมต้องรีบร้อนเลือกตั้งท้องถิ่นก่อน เหตุใดจึงไม่รอให้การจัดทำกฎหมายเสร็จเสียก่อน

ประเด็นที่สี่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ยังไม่นิ่ง ยังคงเหลือ กกต. ชุดเก่า ทำงานอยู่ด้วยความห่อเหี่ยวในหัวใจ เพราะ กำลังจะหมดอายุ โดยมี กกต.ชุดใหม่ 7 คน [10] เฝ้ารอวันเวลาเข้ามาทำหน้าที่แทน อย่างนี้ภารกิจการร่างหรือการตรากฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น “ร่างระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด” [11] ที่ กกต. ชุดเก่ากำลังตั้งหน้าตั้งตาร่างอยู่ คงเป็นหมัน เพราะ กกต. หมดไฟในการร่าง ประมาณนั้น แล้ว ยังจะมาเลือกตั้งท้องถิ่นอีก หัวใจของ กกต. ชุดเก่าคงทำด้วยเหล็กเท่านั้น จึงจะสานงานให้ภารกิจการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้สำเร็จอย่างราบรื่น ไหนจะเรื่องการมอบอำนาจให้หน่วยงานอื่นดำเนินการเลือกตั้งท้องถิ่นแทน [12] ก็ยังไม่นิ่ง ประมาณว่า ติดขัดไปหมด

ประเด็นที่ห้า นัยว่า การที่ชิงเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้เทนราษฎร (สส.) หรือ “การเลือกตั้งใหญ่” นั้น มีผู้แซวว่า เพราะ หากปล่อยให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น (เลือกตั้งเล็ก) หลังการเลือกตั้งใหญ่ เมื่อมีรัฐบาลแล้ว ก็เกรงว่ารัฐบาลใหม่หากเป็นฝ่ายตรงข้าม ก็เกรงว่าจะครอบงำการเลือกตั้งเล็ก หรือท้องถิ่นได้ เพราะเส้นสายโยงใยทางการเมือง ระดับชาติ ระดับท้องถิ่น ต่างก็มี “หัวคะแนน” คนเดียวกัน นี่คือการชิงปลดล็อกท้องถิ่น ท่านผู้รู้ว่ามาอย่างนั้น 

ที่จริง ก็อยากทราบเหตุผลว่า เลือกตั้งท้องถิ่นไปทำไม ในเมื่อปัญหาการเมืองในระดับพรรคการเมือง หรือในระดับโครงสร้างของชาติ ยังไม่เรียบร้อย การเชียร์ให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นจึงเสมือนเป็นการ “กลบเกลื่อนปัญหาความล้มเหลวระดับชาติหรือไม่ อย่างไร”

          นอกจากนี้ ปัญหาระหว่าง การให้มีการเลือกตั้ง อปท. หรือว่า จะให้มีการรักษาการ อปท. ต่อไปอย่างไม่มีกำหนด ก็เป็นประเด็นคำถาม ที่ต้องหาคำตอบให้ได้ ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะอะไร นอกจากนี้คุณสมบัติของ นายก อปท. และสมาชิก อปท. ที่ประชาชนต้องการเป็นอย่างไร ก็ยังไม่เสร็จเรียบร้อย การทำการใดที่ด่วน ๆ รีบทำ มันคงเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเฉพาะคราวไปพอผ่าน ๆ เท่านั้น แต่ ในระยะยาวน่าจะไม่เป็นผล หรือ คสช. เห็นว่า มันถึงเวลาที่จะจัดให้มีการเลือกตั้ง อปท. หรือ มันจบเวลาของการรักษาการ อปท. แล้ว หรือ จะให้มีการรักษาการต่อไปเท่านั้น ประโยชน์และความคุ้มค่าของประชาชน อันเป็นสาธารณะมีแค่ไหน เพียงใด คงไม่ใช่คำตอบอย่างง่าย ๆ ว่า มันถึงเวลา เวลามันจบแล้ว โดยไม่มีคำอธิบายใด ๆ ที่เป็นเชิงตรรกะเหตุผลรองรับ เรียกว่า “กำปั้นทุบดิน”

[1]Phachern Thammasarangkoon & Ong-art saibutra & Panya Raha, Municipality Officer, เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2560 เผยแพร่ในเฟซบุ๊คเมื่อ 1 มกราคม 2561

[2]หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ, เลือกตั้ง 2561: เราจะทำตามสัญญา ?, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย, 2 มกราคม 2561, http://www.bbc.com/thai/thailand-42509500

[3]คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มีการสำรวจพบว่า ในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นจะต้องเลือกตั้งทุกประเภท รวม 8,410 อัตรา, คอลัมน์ กรองสถานการณ์: เลือกตั้งท้องถิ่น 8,410 อัตราศึกใหญ่ ชิง ‘ผู้ว่าฯ กทม.’, ไทยโพสต์. 14 พฤศจิกายน 2560 อ้างใน การเลือกตั้งท้องถิ่น, โชคสุข กรกิตติชัย, การเลือกตั้งท้องถิ่น, สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, Hot Issue, ธันวาคม 2560, http://library2.parliament.go.... & เลือกตั้งท้องถิ่น กลางปี61 เช็กกระแสครั้งสุดท้าย, 15 มกราคม 2561, https://www.posttoday.com/anal...  

[4]ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 85/2557 เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2557, ราชกิจจานุเบกษา, หน้า 12 - 14, เล่ม 131 ตอนพิเศษ 134 ง วันที่ 21 กรกฎาคม 2557, http://library2.parliament.go....  & http://thainews.prd.go.th/cent...  & http://www.ratchakitcha.soc.go...

& คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 1/2557 เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2557 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไป โดยมิให้คำสั่งนี้มีผลบังคับกับกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา, ราชกิจจานุเบกษา หน้า 48-52 เล่ม 132 ตอนพิเศษ 1 ง วันที่ 5 มกราคม 2558, http://library2.parliament.go....  & http://www.bangkokbiznews.com/...

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 85/2557 เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 86/2557 เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครและสมาชิกสภาเขตเป็นการชั่วคราว ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 ให้งดการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นทั่วประเทศ รวมทั้งงดการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) และสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) เป็นการชั่วคราว แต่ให้ใช้การสรรหาแทน

[5]ปัจจัยที่อาจทำให้ปี 2561 ไม่มีเลือกตั้ง ในทัศนะของนายอภิสิทธิ์มีอยู่ 2 ประการคือ กฎหมายถูกรื้อ กับกฎหมายถูกล้ม คือ ปัจจัยแรก เห็นผลเป็นรูปธรรมเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ปัจจัยที่สอง การผ่าน-ไม่ผ่านร่างพระราชบัญญัติประกอบ (พ.ร.ป.) รัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.… และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.… ดู หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ, 2 มกราคม 2561, อ้างแล้ว

[6]นายกรัฐมนตรีตั้งคำถาม 4 ข้อ ปมเลือกตั้ง ให้ ปชช. ส่งคำตอบผ่านศูนย์ดำรงธรรม, เดลินิวส์,  27 พฤษภาคม 2560, http://www.commandcenter.moi.go.th/moiapp/prapp/th/view/LR6005363/นายกรัฐมนตรีตั้งคำถาม-4-ข้อ-ปมเลือกตั้ง-ให้-ปชช.-ส่งคำตอบผ่านศูนย์ดำรงธรรม.html

& นายกฯตั้งคำถาม 4 ข้อก่อนพาประเทศสู่การเลือกตั้ง...., Pantip, 29 พฤษภาคม 2560,

https://pantip.com/topic/36501...

คำถาม 4 ข้อถึงประชาชนก่อนพาประเทศไปสู่การเลือกตั้ง....

(1) ท่านคิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไป จะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่

(2) หากไม่ได้ จะทำอย่างไร

(3) การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียวที่ไม่คำนึงถึงอนาคตของประเทศ และเรื่องอื่นๆ เช่น ประเทศชาติจะมียุทธศาสตร์และการปฏิรูปหรือไม่นั้น ถูกต้อง หรือไม่ถูกต้อง

(4) ท่านคิดว่า กลุ่มนักการเมือง ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในทุกกรณี ควรจะมีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่ หากเข้ามาได้อีก เกิดปัญหาอีก แล้วจะให้ใครแก้ไข และแก้ไขด้วยวิธีอะไร

& 'บิ๊กตู่'ถามปชช. 6 ข้อ จำเป็นต้องมีพรรคทางเลือกหรือไม่? คสช.หนุนพรรคใดก็ได้ ..., 8 พฤศจิกายน 2560,

https://www.khaosod.co.th/poli...

ฝากอีก 6 ข้อ

คำถามข้อที่ 1 คือเราจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองใหม่ๆ ขึ้นมาหรือไม่ในวันนี้ หรือนักการเมืองหน้าใหม่ๆ ที่มีคุณภาพ ให้ประชาชนได้พิจารณาในการเลือกตั้งครั้งต่อไป การมีพรรคเดิม นักการเมืองหน้าเดิมๆ มีรัฐบาลจะทำให้ประเทศชาติเกิดการปฏิรูปและทำงานต่อเนื่อง ตามยุทธศาสตร์หรือไม่ ตนไม่ได้ว่าใครสื่ออย่าเขียนให้ทะเลาะกัน เพราะตนพูดกับประชาชนไม่ได้พูดกับนักการเมือง

คำถามข้อที่ 2 การที่ คสช.จะสนับสนุนพรรคใดหรือตนจะสนับสนุนใครเป็นสิทธิ์ของตนหรือไม่ แล้วตนต้องไปลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ ก็เปล่าเพราะลงสมัครเลือกตั้งไม่ได้ เนื่องจากตนไม่ได้ลาออก (ลาออกจากนายกฯ) ก็จบแล้ว สิทธิ์ของตนมีไม่ใช่หรือ ตนจะไปสนับสนุนใครก็ได้ หรือไม่สนับสนุนใครเลยก็ได้ ถ้าไม่มีอะไรใหม่ๆมาตนก็ไม่สนับสนุน

คำถามข้อที่ 3 สิ่งที่ คสช.และรัฐบาลนี้ดำเนินการ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ประชาชนมองเห็นอนาคตที่ดีของประเทศชาติบ้างหรือไม่

คำถามข้อที่ 4 การเอาแนวทางจัดตั้งรัฐบาลในอดีต ที่วันนี้พูดว่าเอารัฐบาลในอดีตสมัยโน้นสมัยนี้มาเปรียบเทียบกับการจัดตั้งรัฐบาลวันนี้ มันเหมือนกันหรือไม่ สถานการณ์ภายนอกและประชาชนเหมือนกันหรือไม่ สถานการณ์วันนี้โซเซียลมีเดียพัฒนามากไปหรือไม่ มันเป็นคนละเวลาหมด ก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนและพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีมากยิ่งขึ้น ซึ่งในอดีตก็ดีอยู่แล้วในบางรัฐบาล หรือบางช่วง แต่วันนี้อย่าลืมว่า คสช.และรัฐบาลนี้เข้ามาในสถานการณ์อะไร เราได้พบเห็นแต่ความขัดแย้ง ความรุนแรง การแบ่งแยกประเทศเป็นกลุ่มๆ เพื่อมาสนับสนุนทางการเมืองใช่หรือไม่?

คำถามข้อที่ 5 รัฐบาลและการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยที่ผ่านมาของไทย ได้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพ มีธรรมาภิบาล และมีการพัฒนาประเทศที่มีความต่อเนื่องชัดเจนเพียงพอหรือไม่

คำถามข้อที่ 6 ข้อสังเกตเพื่อพิจารณา เหตุใด พรรคการเมือง นักการเมืองจึงออกมาเคลื่อนไหว ด้อยค่า คสช. รัฐบาล รัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี มีการบิดเบือนข้อเท็จจริงช่วงนี้มากผิดปกติเพราะอะไร อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยทั้งประเทศ ที่ตนถามเพราะอยากให้ทุกคนที่เป็นคนไทยได้พิจารณาตัดสินใจตอบคำถามมาตามช่องทางกระทรวงมหาดไทย ที่ให้บริการตอบ 4 คำถามก่อนนี้ และนี้คือ 6 ข้อที่ตนถามประชาชน

[7]มาตรา 250 วรรคห้า (วรรคท้าย) “กฎหมายตามวรรคหนึ่งและกฎหมายที่เกี่ยวกับการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ต้องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอิสระในการบริหาร การจัดทำบริการสาธารณะ การส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษา การเงินและการคลัง และการกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งต้องทำเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นหรือประโยชน์ของประเทศเป็นส่วนรวม การป้องกันการทุจริตและการใช้จ่ายเงินอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและความแตกต่างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละรูปแบบ และต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์ และการป้องกัน การก้าวก่ายการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการส่วนท้องถิ่นด้วย”

[8]แก้ไขกฎหมาย ทั้ง 6 ฉบับ ประกอบด้วย (1) พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545, (2) พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 (อบต.), (3) พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 (อบจ.), (4) พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ. 2496, (5) พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการ กทม. พ.ศ. 2528 และ (6) พ.ร.บ.บริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542

ดู กกต.ชงแก้ กม.เลือกตั้งท้องถิ่น4ประเด็น เสนอรัฐบาล26ก.พ.นี้, 16 มกราคม 2561, http://www.naewna.com/politic/... & จับตา !! แก้กม.เลือกตั้งท้องถิ่น.. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เสนอลด อบต.เหลือหมู่บ้านละ 1 คน, 5 ธันวาคม 2560, http://www.tnews.co.th/content...  &  ‘วิษณุ’ แง้มแก้กม. 6 ฉบับ ก่อนเลือกตั้งท้องถิ่น พร้อมนำข้อห่วงใยของอภิสิทธิ์หารือ, 16 พฤศจิกายน 2560, https://www.matichon.co.th/new...

[9]อ้าง สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ดู 'สมชัย' ยก 4 เหตุผล ฟันธงเลือกตั้งท้องถิ่น เกิดหลังเลือกตั้งใหญ่, ไทยรัฐออนไลน์, 20 พฤศจิกายน 2560,  https://www.thairath.co.th/con...

& และอ้าง  รศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ ดู ผ่าแผน คสช.ปลดล็อกท้องถิ่น, มีดีลลับ-เจรจาต่อรอง แลก คสช.ปลดล็อกท้องถิ่น, 26 พฤศจิกายน 2560, http://www.thaipost.net/?q=nod...

[10]กกต.ชุดใหม่ 7 คน ประกอบด้วย

การสรรหาจาก 41 คน คัดเลือกจากคุณสมบัติจนเหลือเพียง 15 คน เพื่อเลือกเป็นบุคคลที่มีโอกาสได้รับการเสนอชื่อให้ สนช.อนุมัติเป็น กกต. ได้จำนวน 5 คน ออกมาดังนี้ (1)  นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. (2)  ศ.ดร.เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ (3)  นางชมพรรณ์ พงษ์เจริญ สุธีรชาติ ที่ปรึกษากฎหมายบริษัทวรวิสิฏฐ์ จำกัด (4)  นายประชา เตรัตน์ อดีตผู้ว่าฯชลบุรี และอดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย (5)  รศ.ดร.อิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์

และจากการคัดเลือกของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 2 คน คือ (6) นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลฎีกา และ (7) นายปกรณ์ มหพรรณพ ผู้พิพากษาศาลฎีกา (รายที่ 2 ครั้งนี้มีผู้สมัคร 2 คนคือ นายปกรณ์ มหรรณพ ผู้พิพากษาศาลฎีกา และนายประพาฬ อนมาน ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์)

[11]ผู้ตรวจการเลือกตั้ง, บนความเคลื่อนไหว, กรุงเทพธุรกิจ, 27 ธันวาคม 2559, http://www.bangkokbiznews.com/...  & กกต.สั่งทุกหน่วยเตรียมพร้อมจัดเลือกตั้ง, กรุงเทพธุรกิจ, 17 กรกฎาคม 2560, www.bangkokbiznews.com/news/de...

[12]มท. แจงอำนาจจัดเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นของ กกต. ให้คนอื่นทำแทนได้, 19 พฤศจิกายน 2560, https://www.thairath.co.th/content/1130835 & กกต.ชงศาล รธน.ชี้อำนาจจัดเลือกตั้งท้องถิ่น, 14 พฤศจิกายน 2560, https://www.voicetv.co.th/read... 

& รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 224 กำหนดไว้ว่า “ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้ (1) จัดหรือดำเนินการให้มีการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การเลือกสมาชิกวุฒิสภา การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น และการออกเสียงประชามติ (2) ควบคุมดูแลการเลือกตั้งและการเลือกตาม (1) ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม...”

หมายเลขบันทึก: 644076เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2018 19:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มกราคม 2018 22:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท