มหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ เพื่อเด็กด้อยโอกาสชุมชนสุวรรณประสิทธ์2


มหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์

เพื่อเด็กด้อยโอกาสชุมชนสุวรรณประสิทธ์2

          "ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเป็นพื้นที่สำคัญในการดูแลและพัฒนาเด็กช่วงวัย 2-5 ขวบ ซึ่งเป็นวัยที่สมองเจริญเติบโตสูงสุดกว่า 80% ของชีวิต" ซึ่งพัฒนาการของเด็กจะเกิดขึ้นได้ต้องมาจากกระบวนการเรียนรู้ที่ศูนย์ฯ ได้จัดให้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะสื่อและพื้นที่สร้างสรรค์ที่จะส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการดีครบถ้วน

          แต่กับพื้นที่ขาดแคลนแล้ว การสร้างปัจจัยที่เพื่อการเรียนรู้นั้นถือว่าทำได้ค่อนข้างยาก ดังเช่นชุมชนสุวรรณประสิทธิ์ 2 เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นชุมชนแออัด เพราะเป็นชุมชนที่อพยพผู้อาศัยชุมชนใต้ทางด่วนถึง 4 แห่ง มารวมกันไว้ที่นี่ ผู้คนมากมายหลายอาชีพแบบหาเช้ากินค่ำ จนไม่มีเวลาดูแลบุตรหลานเท่าที่ควร เด็กๆ ที่นี่จึงแทบจะเรียกได้ว่า ขาดแคลนและขาดโอกาสในหลายๆ สิ่ง

          ในความขาดโอกาสยังพอมีความโชคดีอยู่บ้าง เมื่อในชุมชนมี ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก(ศพด.)ก่อนวัยเรียนชุมชนสุวรรณประสิทธิ์ 2 ซึ่งเป็นทั้งสถานที่ดูแลเด็กและยังเป็นศูนย์กลางของการสร้างความร่วมมือต่างๆ ให้เกิดขึ้นในชุมชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นในกระบวนการจัดการเรียนการสอนของ ศพด. ด้วยการสร้างสื่อและพื้นที่สร้างสรรค์ให้กับเด็กๆ ซึ่งเป็นผลมาจากการเข้าร่วมโครงการมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ปี 2 (2558-2559) ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) โดยเน้นพัฒนาการผ่านการจัดกระบวนการการเรียนรู้และพื้นที่สร้างสรรค์ ภายใต้แนวคิด “สื่อดี พื้นที่ดี และภูมิดี”  

          อรรถสิทธิ์ ไชยบุรินทร์ ผอ.ศพด.ก่อนวัยเรียนชุมชนสุวรรณประสิทธิ์ 2  กล่าวว่า เราอยากได้งบประมาณ โดยเฉพาะสื่อเรียนรู้มาให้เด็กๆ ที่อยู่ในความดูแลทั้งหมด 180 คน เพราะเราไม่มีงบประมาณมาทำตรงนี้ได้ เมื่อเห็นว่า สสส. เปิดรับเข้าร่วมโครงการจึงได้เข้าร่วม สอดคล้องกับแนวทางของศูนย์ฯ ที่มุ่งเน้นเรื่องสื่อสร้างสรรค์มาตั้งแต่แรก อย่างหลายที่มั่งเน้นเรื่องการอ่านออก เขียนได้ แต่เราทำควบคู่กับการทำสื่อ ศิลปะ ดนตรี กีฬา เด็กๆ ทำกิจกรรมที่มีความสุข มีจิตนาการ เสริมสร้างวินัย คุณธรรม เสริมสร้างคามเชื่อมั่น  กล้าคิดกล้าแสดงออก เติบโตอย่างพึงประสงค์  เพราะเราเชื่อว่าการฝึกให้เด็กมีวินัยจะทำให้เด็กประสบความสำเร็จในชีวิต  

          เราเชื่อว่า สสส.มีองค์ความรู้ในการจัดทำสื่อสร้างสรรค์ได้ดี ประกอบกับทางศูนย์ฯมีกิจกรรมที่ทำร่วมกับชุมชนมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยเฉพาะพื้นที่ 3 ดี คือ สื่อดี ภูมิดี และพื้นที่ดี ซึ่งเราอยากจะขยายพื้นที่ 3 ดี ไปยังผู้ปกครองให้นำกลับไปทำที่บ้านให้ลูกหลานด้วย

          ภายหลังจากที่ครูได้เข้ารับการอบรมและนำความรู้ที่ได้มาใช้ในการสร้างสื่อสร้างสรรค์ จัดมุมอ่าน มุมเรียนรู้ให้กับเด็ก รวมถึงพื้นที่สนามเรียนรู้ BBL โดยทุกขั้นจะตอนนั้นจะต้องมีผู้ปกครองเข้ามาร่วมด้วยทุกระบวนการทั้งช่วยกันคิด ช่วยกันออกแบบ ช่วยกันทำ และช่วยกันประเมินผลลัพธ์ ซึ่งสื่อที่เราช่วยกันทำขึ้นจะเน้นวัสดุอย่างง่าย ไม่ต้องใช้งบประมาณมากมาย ทำแล้วน่าสนใจ จับต้องได้ และเชื่อมโยงไปยังหลาย ๆ กิจกรรมได้ ง่ายๆ คือ หน้ากาก ที่เป็นสื่อเพียงชิ้นเดียวแต่สามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เด็กได้มากมาย ทั้งบทบาทสมมติ การเลียนเสียงสัตว์ การนับจำนวน ศิลปะ และจิตนาการต่างๆ  ส่วนพื้นที่สนาม BBL เนื่องจากพื้นที่เรามีจำกัด จึงใช้พวกยางรถมาทำเครื่องเล่น และที่สำคัญต้องเคลื่อนย้ายเคลื่อนที่ได้ ปรับเปลี่ยนรูปแบบตามพื้นที่ที่มีจำกัดได้

           “ พ่อแม่จะต้องเข้าใจเด็ก เพราะเดี๋ยวนี้พ่อแม่ผู้ปกครองยังมีความรู้ความเข้าใจการการเลี้ยงลูกน้อยมาก ซึ่งทำให้พัฒนาการของเด็กบางอย่างหยุดชะงักลง รวมไปถึงความเชื่อมั่น ความเป็นผู้นำของเด็กก็ลดน้อยลง ดังนั้นเราจะทำอย่างไรที่จะส่งเสริมศักยภาพเด็กได้ทำตามวัย การให้ความรู้ และจะต้องเรียนรู้ไปกับสภาพสังคมจริง เขาจะได้มีภูมิคุ้มกันชีวิตที่ดีได้

            ด้าน มาลัย  ไชยบุรินทร์ ครูประจำ ศพด.ก่อนวัยเรียนชุมชนสุวรรณประสิทธิ์ 2 บอกว่า โครงการทำให้เรามีอิสระในการสร้างสื่อให้เด็ก เพราะต้องยอมรับว่างบประมาณจากส่วนกลางที่ได้รับน้อยมาก และบางอย่างล่าช้า ไม่ตรงความต้องการ แต่จากโครงการนี้ทำให้เราเผลิตสื่อที่ตรงความต้องการให้กับเด็กๆ ได้ เพราะเรามองว่าสื่อเรียนรู้ถือเป็นเรื่องสำคัญและเราเน้นย้ำมาตลอด ทำให้เรามั่นใจเรื่องวิชาการมากขึ้น บางครั้งเราลองผิดลองถูก ไม่ถูกหลักวิชาการ พอเราได้อบรมจาก สสส. เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพ ครูมีความรู้ความเข้าใจในการผลิตสื่อมากขึ้น  

          ขณะเดียวกันเราส่งเสริมพ่อแม่ ผู้ปกครองนำองค์ความรู้ที่ได้ไปใช้ที่บ้านของตัวเองด้วย เพราะการเรียนรู้ของเด็กนั้นเกิดขึ้นตลอดเวลา โดยที่สิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้เด็กจะทำเด็กเรียนรู้และมีพัฒนาการรวดเร็ว เช่น การจัดมุมเล่น มุมอ่านหนังสือให้ลูกที่บ้าน ขณะเดียวกันเราก็ให้ยืมหนังสือกลับไปอ่านที่บ้านกับลูกได้

นอกจากนี้ยังขยายผลลงไปในชุมชน เช่น การเปิดมุมเล่นมุมอ่านในชุมชน เพื่อให้เด็กๆ ในชุมชนได้มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้  เรามีกิจกรรมเสาร์สนุกเพื่อให้พ่อแม่ มาทำกิจกรรมร่วมกันกับเด็ก เช่น การจัดฐานความรู้เรื่องหารโภชนาการ การประดิษฐ์สื่อเรียนรู้จากวัสดุเหลือใช้ การออกกำลังกาย การดูแลเด็กต่างๆ เป็นต้น

          ด้าน เปรมทิพย์  แสงสวิทย์ ผู้ปกครองของ “น้องไออุ่น” เล่าถึงการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับลูก ว่า ที่เห็นได้ชัด คือ การทานผัก ซึ่งครูจะมีการทำสื่อเพื่อสอนให้เด็กๆ กินผักและผลไม้ ซึ่งพบว่าเมื่อก่อนลูกจะไม่ค่อยกินผักเลย แต่พอได้กินกับเพื่อนทำให้เขากล้ากิน และกินผักมากขึ้น อีกอย่างคือ เวลากลับไปบ้านลูกก็จะมีเรื่องมาพูดให้เราฟังทุกวันว่าวันนี้ทำอะไรมาบ้าง  นอกจากนี้แล้วยังพบในสมุดสื่อสารที่ครูจะบันทึกมาให้ทุกๆ สัปดาห์ เราก็เห็นพัฒนาการลูกดีขึ้นเป็นลำดับ ขณะเดียวกันเราก็ต้องเขียนตอบกลับไปให้ครูด้วยว่า อยู่ที่บ้านลูกมีพฤติกรรมอย่างไรบ้าง เหมือนเป็นการบ้านร่วมกัน และเป็นช่องทางหนึ่งของการสื่อสารระหว่างผู้ปกครองกับครู

          ศพด.ก่อนวัยเรียนชุมสุวรรณประสิทธิ์ 2 แม้จะเป็น ศพด.ในพื้นที่ชุมชนแออัด แต่ด้วยความตั้งใจของคณะครู และผู้ปกครอง ตลอดจนคนในชุมชนที่ช่วยกันคนอย่างจริงจัง ทำให้ที่นี่กลายเป็น 1 ใน 8 พื้นที่ต้นแบบ “การสร้างเมืองเป็นมิตรกับเด็ก” ซึ่งได้รับคำชื่นชมทั่วประเทศในขณะนี้ 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท