ปรับปรุงการสอนเล็กน้อย ได้ผลยิ่งใหญ่ : 1. บทนำ



บันทึกชุด ปรับปรุงการสอนเล็กน้อย ได้ผลยิ่งใหญ่ นี้ ตีความจากหนังสือ Small Teaching : Everyday Lessons from the Science of Learning (2016)  เขียนโดย James M. Lang ผู้เป็นศาสตราจารย์ด้านภาษาอังกฤษ และผู้อำนวยการ Center for Teaching Excellence ของ Assumption College  เมือง Worcester  รัฐ Massachusetts   สหรัฐอเมริกา    มีผลงานหนังสือ ๔ เล่ม และบทความอีกจำนวนมาก    เกี่ยวกับการเรียนรู้ในภาคปฏิบัติ 

 ผมชอบที่ผู้เขียนบอกว่าตนเขียนจากการอ้างอิงศาสตร์ด้าน “the Science of Learning” และจากประสบการณ์การสอนของตน    รวมทั้งจากการสังเกตการณ์เรียนรู้ของลูกๆ ๕ คน    ทำให้ผมคาดหวังว่า สาระในหนังสือเล่มนี้จะเดินเรื่องเน้นที่การปฏิบัติ  แต่ก็อิงศาสตร์ว่าด้วยการเรียนรู้ ซึ่งก้าวหน้าอย่างรวดเร็วมาก   ซึ่งเมื่ออ่านหนังสือก็พบวิธีเขียนที่อ่านง่าย และเน้นที่วิธีปฏิบัติ 

ยิ่งเมื่อได้อ่านคำนำในหนังสือ ก็เห็นได้ชัดเจนถึงวิญญาณความเป็นครูของผู้เขียนที่มีพ่อแม่เป็นครู  พี่สาวและพี่ชายเป็นครู และภรรยาเป็นครูประถม    ทำให้ผมบอกตัวเองว่า นี่คือครอบครัว “ครูเพื่อศิษย์”    ผมชอบมากที่ผู้เขียนเล่าว่าระหว่างเขียนหนังสือเล่มนี้ ตนใช้เวลาวันศุกร์ ไปเป็นอาสาสมัครสอนชั้นอนุบาลที่โรงเรียนที่ภรรยาสอน    ทำให้ได้แรงบันดาลใจเขียนหนังสือเล่มนี้    และได้พลังคุณค่าของการเป็นครูผู้เสียสละเพื่อศิษย์   

เมื่อเข้าไปเยี่ยมเว็บไซต์ของผู้เขียน (http://www.jamesmlang.com ) และอ่าน บล็อก บันทึกที่เขียนเมื่อวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๖๑ ผมก็ยิ่งชื่นชมใน “ความเป็นครู” ของผู้เขียน    ที่บอกว่า การเดินทางเป็นวิธีเรียนรู้ที่ดีที่สุดอย่างหนึ่ง สำหรับ การเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑   ทำให้ผมนึกถึงครูเรฟ ที่เล่าเรื่องการพาศิษย์ชั้น ป. ๕ เดินทางไปเรียนรู้ตามที่ต่างๆ    ในหนังสือ ครูนอกกรอบกับห้องเรียนนอกแบบ

“ปรับปรุงการสอนเล็กน้อย” (small teaching) ในที่นี้หมายถึงการปรับปรุงวิธีสอนแบบที่ไม่ยาก ใช้การลงแรงน้อย    โดยผู้เขียนใช้เกณฑ์ ๓ ประการในการคัดเลือกวิธีการมานำเสนอ คือ (๑) เป็นวิธีการที่มีหลักฐานยืนยันตาม  “ศาสตร์ว่าด้วยการเรียนรู้” (learning sciences)  (๒) เป็นวิธีการที่ให้ผลในสภาพแวดล้อมตามปกติของการศึกษา  และ (๓) ผู้เขียนมีประสบการณ์ตรงต่อผลของวิธีการดังกล่าว    จะเห็นว่าผู้เขียนระมัดระวังข้อแนะนำที่จะเสนอแนะเป็นอย่างมาก 

แนวทางปรับปรุงการสอนเล็กน้อยมี ๓ แนวทาง คือ  (๑) เป็นกิจกรรมที่ใช้เวลาเพียง ๕ - ๑๐ นาที ในกิจกรรมในชั้นเรียน หรือในการเรียน ออนไลน์  (๒) เป็นกิจกรรมที่จัดครั้งเดียวในรายวิชา โดยที่กิจกรรมนั้นอาจกินเวลาทั้งคาบเรียน หรือสั้นกว่าก็ได้  (๓) เป็นการปรับรูปแบบของการออกแบบรายวิชา หรือรูปแบบการสื่อสารกับนักศึกษา เพียงเล็กน้อย  

หลักการสำคัญของคำแนะนำในหนังสือเล่มนี้คือ    การปฏิบัติตามข้อแนะนำแต่ละข้อไม่ต้องการความพยายามของผู้สอนมากมาย ไม่ก่อความยุ่งยาก    โดยตระหนักว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ที่มีงานมากอยู่แล้ว    ยิ่งกว่านั้น ยังมีจุดมุ่งหมายว่า    การปฏิบัติตามข้อแนะนำเหล่านี้จะช่วยให้อาจารย์ต้องทำงานน้อยลง    เพราะสามารถใช้แต่ละวิธีการในหลายชั้นเรียนหรือในการสอนหลายแบบ   และวิธีการที่แนะนำบางข้อแทบไม่ต้องมีการเตรียมการเลย    แต่กลับช่วยส่งผลต่อการเรียนรู้ของศิษย์มากอย่างไม่น่าเชื่อ    

หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่เป็นเพียงคู่มือ  แต่ยังเชื่อมโยงสู่ทฤษฎีที่อยู่เบื้องหลังวิธีการนั้นๆ    ดังนั้นเมื่อใช้ซ้ำๆ ในหลากหลายสถานการณ์    การ “ปรับปรุงการสอนเล็กน้อย นี้จะมีผลสะสม” นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงภาพใหญ่ของการสอนของท่าน   ซึ่งจะนำไปสู่การบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ของศิษย์ที่มีความลึกและเชื่อมโยงยิ่งขึ้น    และทำให้การเรียนรู้เป็นสิ่งที่สนุกสนานน่าสนใจยิ่งขึ้น    ทั้งต่อศิษย์และอาจารย์    รวมทั้งอาจารย์จะคิดวิธีการใหม่ๆ ขึ้นเองได้ด้วย  

คำแนะนำเพิ่มเติมคือ  ให้หาทางประเมินผลการประยุกต์ใช้แต่ละวิธีการที่แนะนำ    สำหรับใช้เป็น feedback เพื่อปรับปรุงวิธีการให้เหมาะสมและทรงพลังยิ่งขึ้น เมื่อนำไปใช้ในโอกาสต่อไป      

วิจารณ์ พานิช

๙ ม.ค. ๖๑


 

หมายเลขบันทึก: 644036เขียนเมื่อ 18 มกราคม 2018 22:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มกราคม 2018 22:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท